เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา The Crown ซีซันใหม่ ออกฉายรวดเดียวทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) พร้อมด้วยทีมนักแสดงชุดใหม่ หลังจากว่างเว้นมานานกว่า 2 ปี สำหรับซีซันนี้เป็นซีซันแรกที่จะออกฉายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ และการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นั่นทำให้แฟนๆ คาดหวังกับซีซันนี้เป็นอย่างมาก ว่าจะถ่ายทอดราชวงศ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุด และสลักสำคัญที่สุดของโลกอย่างไร

สำหรับซีซันที่แล้วจบลงด้วยความระหองระแหงของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พร้อมๆ กับการเข้ามาพัวพันของ คามิลลา ปาร์กเกอร์ โบลส์ และการลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของหญิงเหล็ก มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ หลังจากพรรคอนุรักษนิยมไม่ไว้วางใจให้เธอไปต่อ เป็นการค่อยๆ พังพาบของ 2 สุภาพสตรีสหราชอาณาจักรแห่งยุค คือทั้งเจ้าหญิงไดอาน่าและแธตเชอร์

แน่นอนว่าซีซันนี้เปิดเรื่องในทศวรรษ 1990 ทศวรรษที่มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย และแน่นอนว่านักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่าเป็นยุคตกต่ำที่สุดของราชวงศ์วินด์เซอร์ และเป็นยุคที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรง ‘หนักใจ’ มากที่สุดว่า ราชวงศ์อันเก่าแก่อาจมีอันต้องสูญสลายไปในทศวรรษนี้

และนี่คือเหตุการณ์สำคัญที่อยู่ใน The Crown ซีซัน 5

ไฟไหม้พระราชวังวินด์เซอร์

ในปี 1992 เป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงตรัสว่าเป็นปีแห่งหายนะ หรือ Annus Horribilis (ภาษาละตินที่มีความหมายเดียวกัน) และหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญก็คือเหตุเพลิงไหม้พระราชวังวินด์เซอร์ในสกอตแลนด์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 1992 ก่อนพิธีฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 40 ปีของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพียงไม่กี่วัน เพลิงได้โหมไหม้พระราชวังวินด์เซอร์ หนึ่งในที่ประทับหลักของพระบรมวงศานุวงศ์ นานกว่า 9 ชั่วโมง กว่าจะสามารถควบคุมต้นเพลิงได้ สำหรับต้นเพลิงอยู่บริเวณโบสถ์ที่เมื่อสปอตไลท์ทำงานหนักเกินไป ทำให้เพลิงเกิดลุกไหม้ผ้าม่านและลามทั่วบริเวณเป็นวงกว้าง ทำให้พื้นบางส่วนพังถล่ม ทรัพย์สินมีค่าและสมบัติพัสถานอันเก่าแก่ ซึ่งเป็นสมบัติสำคัญของชาติจำนวนมากอันประเมินค่ามิได้ถูกทำลายลง ต้องใช้งบประมาณในการบูรณะมากกว่า 36.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,551 ล้านบาท) ซึ่งในภายหลังมีการเปิดเผยว่า ราชวงศ์ต้องยอมเปิดบางส่วนของพระราชวังบักกิงแฮมให้สาธารณชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เพื่อแลกกับการบูรณะพระราชวังวินด์เซอร์ให้กลับมาคงสภาพเดิม

จอห์น เมเจอร์ เข้ารับตำแหน่งนายกฯ

เมื่อแธตเชอร์ลงจากตำแหน่ง เพราะพ่ายแพ้ให้กับการเมืองภายในพรรค ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ และผู้นำพรรคคนต่อมา คือ จอห์น เมเจอร์ (John Major) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของแธตเชอร์ โดยเมเจอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนานกว่า 7 ปี และผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปพร้อมๆ กับควีนเอลิซาเบธที่ 2 ว่ากันว่าเขาเป็นหนึ่งในนายกรัฐมนตรียุคหลัง ที่ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทรงโปรดมากที่สุด ด้วยผลงานที่รัฐบาลช่วยประคับประคองราชวงศ์ให้อยู่ต่อไปอย่างสง่างามได้ ทั้งยังไม่ได้ ‘ปะทะ’ กับราชวงศ์เหมือนนายกรัฐมนตรีคนต่อมาอย่าง โทนี แบลร์ (Tony Blair)

หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงไดอาน่า เมเจอร์ได้รับความไว้วางใจจากพระราชวงศ์ และเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ให้เป็น ‘ผู้ปกครองพิเศษ’ ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าชายแฮร์รี ขณะเดียวกัน เขายังเป็นนักการเมืองอังกฤษเพียงคนเดียวที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานแต่งงานระหว่างเจ้าชายแฮร์รีกับเมแกน มาร์เคิล (Meghan Markle) ในปี 2018

ทั้งนี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมามีรายงานว่าใน The Crown จะมีบทที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ร่วมกับเมเจอร์ ในการขอให้สมเด็จพระราชินีนาถฯ สละราชสมบัติ เขาได้ให้โฆษกประจำตัวออกมาปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่อง ‘ไร้สาระ’ เหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริง และบทสนทนาใดก็แล้วแต่ที่ปรากฏในเรื่องล้วนเป็น ‘จินตนาการ’ เพราะเป็นที่รู้กันว่าเรื่องระหว่างผู้นำประเทศกับพระประมุข ถือเป็น ‘ความลับ’ ที่ไม่ควรเผยแพร่ต่อสาธารณชน

การหย่าร้างในราชวงศ์

นอกเหนือจากเหตุการณ์เพลิงไหม้พระราชวังวินด์เซอร์แล้ว ในปี 1992 ยังมีเหตุการณ์ ‘หย่าร้าง’ ของพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนมาก คู่แรกคือ เจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก ได้ตัดสินใจแยกกันอยู่ (โดยยังมิได้หย่าร้าง) กับซาราห์ เฟอร์กูสัน (Sarah Ferguson) ดัชเชสแห่งยอร์ก อย่างเป็นทางการ หลังจากก่อนหน้านั้นมีข่าวว่าทั้งสองต่างก็มีความสัมพันธ์ลับๆ กับบุคคลที่สาม และในปีเดียวกันนั้น ดัชเชสแห่งยอร์กก็มีรูปเปลือยถ่ายโดยปาปารัสซีที่ฝรั่งเศส พร้อมกับ จอห์น ไบรอัน (John Bryan) กำลังจูบนิ้วเท้าของเธอ สร้างความตกตะลึงให้กับพระบรมวงศานุวงศ์

ในปีเดียวกัน เจ้าหญิงแอนน์ พระราชกุมารีของสมเด็จพระราชินีนาถฯ ยังได้ตัดสินใจหย่าร้างกับ มาร์ก ฟิลลิป (Mark Phillip) อย่างเป็นทางการ และเข้าพิธีเสกสมรสครั้งใหม่กับ ทีโมธี ลอว์เรนซ์ (Timothy Lawrence) นายทหารเรือผู้ใกล้ชิดพระองค์ทันที แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็ปรากฏข่าวที่ใหญ่กว่า นั่นคือ แอนดรูว์ มอร์ทัน (Andrew Mortan) ได้ออกหนังสือที่ชื่อว่า ‘Diana and Her True Story’ เรื่องราวชีวิตสมรสระหว่างเธอกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส และคามิลลา พาร์กเกอร์ โบลส์ โดยเล่าทั้งเรื่องการคบชู้ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เรื่องอาการซึมเศร้าของเจ้าหญิงไดอาน่า และแรงกดดันจากพระบรมวงศานุวงศ์ที่ลงมายังตัวพระองค์โดยตรง จนทำให้ในปีเดียวกัน พระราชวังบักกิงแฮมได้ออกแถลงการณ์ว่าทั้งคู่ต่างก็แยกกันอยู่โดยสมบูรณ์แล้ว

บทสัมภาษณ์สะเทือนราชวงศ์ในรายการ Panorama

“เมื่อมีคนสามคนอยู่ในชีวิตสมรสนี้ ทุกอย่างเลยดูแออัดไปทั้งหมด” คือบทสัมภาษณ์ ‘ช็อกโลก’ ที่เจ้าหญิงไดอาน่าเปิดใจอย่างหมดเปลือกกับ มาร์ติน บาเชียร์ (Martin Bashir) ในรายการ Panorama ซึ่งออกฉายทางสถานีโทรทัศน์บีบีซี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1995

นอกจากเรื่องชีวิตสมรสแล้ว เจ้าหญิงไดอาน่ายังวิพากษ์ราชวงศ์อย่างเผ็ดร้อน ในตอนหนึ่ง เธอบอกว่าตัวเธอเปรียบเสมือน “สินค้าชั้นดีที่วางอยู่บนชั้นวาง…และคนทำเงินได้มากมาย” ทั้งยังบอกด้วยว่ามีการ ‘คุกคาม’ บางอย่างจากทางวัง ซึ่งทำให้เธอหวาดกลัว นอกจากนี้ยังวิพากษ์วิจารณ์อดีตพระสวามีอย่างตรงไปตรงมา รายการดังกล่าวมีผู้ชมมากกว่า 23 ล้านคนทั่วสหราชอาณาจักร หรือคิดเป็นกว่า 39.3% ของประชากร

บทสัมภาษณ์ดังกล่าวถูกวิพากษ์ในภายหลังว่ามีการ ‘จัดฉาก’ ทั้งหมดเริ่มมาจากโปรดิวเซอร์ของรายการได้การปลอมแปลงบัญชีธนาคาร เพื่อให้ข้อมูลว่า 2 ข้าราชบริพารระดับสูงซึ่งใกล้ชิดพระองค์ ได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานความมั่นคงอังกฤษ เพื่อให้ติดตาม สอดแนม รวมถึงวางแผนร้ายกับพระองค์ ทั้งยังนำเรื่องของพระองค์ไปขายให้กับสื่อ

เรื่องอื้อฉาวดังกล่าวถูกเปิดเผยในอีก 25 ปีให้หลัง และกรรมการสอบสวนอิสระยืนยันว่าเป็น ‘เรื่องจริง’ มีการปลอมแปลงเอกสารของธนาคาร มีรายงานว่าเมื่อเดือนกันยายน 2022 บีบีซีได้บริจาคเงินกว่า 1.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 59 ล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินค่าลิขสิทธิ์ของรายการนี้ ที่ขายให้กับสถานีโทรทัศน์ช่องอื่นๆ ไปยังองค์กรการกุศล 7 แห่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทั้งยังได้ประกาศขอโทษต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ และจ่ายเงินกว่า 6 หมื่นปอนด์ (2.5 ล้านบาท) ให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปรากฏชื่อในสเตทเมนต์และบัญชีธนาคารปลอม

ส่งมอบฮ่องกงให้กับจีน

หนึ่งในฉากที่ปรากฏในภาพยนตร์ตัวอย่างของ The Crown คือพิธีเฉลิมฉลองการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 หลังจากที่ฮ่องกงตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษมาเป็นเวลายาวนาน นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยข้อตกลงคืนเกาะเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยแธตเชอร์ ภายใต้คำสัญญาที่จีนจะรักษาการปกครองฮ่องกงในฐานะ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ และจะให้อิสรภาพกับฮ่องกงไปอีกอย่างน้อย 50 ปี

พิธีดังกล่าวมีเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นตัวแทนของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เข้าร่วมพิธี โดยพิธีเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 มิถุนายน 1997 ซึ่งมีการสวนสนามโดยนายทหารอังกฤษ มีการลดธงชาติอังกฤษจากยอดเสา และเริ่มกระบวนการถอน ‘สัญลักษณ์’ ของการเป็นเจ้าอาณานิคมออกจากฮ่องกงทั้งหมด โดยภาพสุดท้ายเกิดขึ้นในเวลาราว 24.00 น. ของวันเดียวกัน ที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์พร้อมด้วย คริส แพตเทน (Chris Patten) ผู้ว่าการเกาะฮ่องกงชาวอังกฤษ ขึ้นเรือรบหลวงออกจากฮ่องกง พร้อมด้วยน้ำตาคลอเบ้า

นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นตรงกันว่า เหตุการณ์ในวันนั้นถือเป็นการปิดฉากของอังกฤษในฐานะ ‘เจ้าอาณานิคม’ ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ เคยล่าอาณานิคมประเทศน้อยใหญ่ในเอเชียในศตวรรษก่อนหน้า ไปสู่การเป็นราชอาณาจักรธรรมดา แม้ว่าอังกฤษจะยังเป็นเจ้าอาณานิคมอีกหลายประเทศก็ตาม

เจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์

หลังการส่งมอบเกาะฮ่องกงคืนให้กับจีนเพียง 1 เดือนเศษ คืนวันที่ 31 สิงหาคม 1997 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ทั่วโลกตกตะลึง เมื่อรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอสคลาส สีดำ เกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรงภายในอุโมงค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ภายในรถมีเจ้าหญิงไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ประทับอยู่ในรถด้วย พร้อมกับ โดดี ฟาเยด มหาเศรษฐีชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นคู่รักของเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในขณะนั้น บอดีการ์ด และคนขับรถอีก 2 คน โดยเจ้าหญิงไดอาน่าสิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา

ทั้งหมดนำมาซึ่งข้อสงสัยหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมาก ว่าด้วยพระราชวงศ์อังกฤษอยู่เบื้องหลังการสังหารโหด บรรดาปาปารัสซีที่คอยตามติดชีวิตไดอาน่า และฟาเยดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตหรือไม่ และรถยนต์อีกคันที่อยู่ในอุโมงค์ ซึ่งอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ เป็นรถยนต์ของใคร ทั้งหมดนี้นำมาซึ่ง ‘จุดตกต่ำ’ อีกครั้งของราชวงศ์

ณ เวลานั้น ในปี 1997 พระราชวงศ์ปฏิเสธที่จะจัดพิธีศพอย่างยิ่งใหญ่ให้กับเจ้าหญิงแห่งเวลส์ในฐานะสมาชิกราชวงศ์ โดยพิจารณาจากเหตุที่ว่า เจ้าหญิงไดอาน่าทรงหยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระราชวงศ์แล้ว และควรให้เป็นพิธีศพอย่างเงียบๆ ที่จัดโดยตระกูลสเปนเซอร์ แต่ด้วยความนิยมส่วนตัวของเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งสาธารณชนมองว่าเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งปวงประชา’ และด้วยแรงกดดันจากสาธารณชน ทำให้สุดท้ายพระบรมวงศานุวงศ์ต้องเดินทางกลับจากพระราชวังบัลมอรัลมายังลอนดอน มีการจัดพิธีศพของเจ้าหญิงไดอาน่าอย่างยิ่งใหญ่ และสมเด็จพระราชินีนาถฯ ต้องมีพระราชดำรัสต่อสาธารณะเพื่อไว้อาลัยเจ้าหญิงไดอาน่า อดีตสมาชิกราชวงศ์ที่หลายคนมองว่า ‘สร้างปัญหา’ มากที่สุด

ปฏิกิริยาดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการ ‘ปรับตัว’ ของสถาบันกษัตริย์ให้เข้ากับยุคสมัย และกลับมาสร้างความสง่างาม รวมถึงทำให้ราชวงศ์หลุดพ้นจากกระแสความนิยมที่ตกต่ำในช่วงทศวรรษ 1990 ได้ในที่สุด

Tags: , , , ,