ช่วงเย็นวันศุกร์ก่อนวันหยุดสุดสัปดาห์เช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้รับคำถามจากทั้งเพื่อนสนิท และเพื่อนร่วมงานว่า ‘เย็นนี้ไปไหน’ เพื่อชักชวนให้ออกมาร่วมสังสรรค์หลังปลดเปลื้องภาระงานที่แบกรับมาตลอดทั้งสัปดาห์ ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานติดต่อกัน 5 วัน แต่เรายังมีเชื้อไฟในออกไปโลดแล่นในคืนวันศุกร์ได้ เพราะถึงอย่างไรเราจะได้หยุดพักผ่อนในวันเสาร์อยู่แล้ว ตามสเต็ป ‘ศุกร์เมา เสาร์นอน’ 

แม้แต่ละคนจะมีเหตุผลส่วนตัวมารองรับ แต่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า ทำไมการสังสรรค์ในวันศุกร์จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของวัยทำงานมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องนี้คงต้องเล่าย้อนไปถึงการกำหนดวันหยุดให้เป็นวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งสุดสัปดาห์จำนวน 48 ชั่วโมง สำหรับการพักผ่อนนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1930 หรือเมื่อ 94 ปีที่แล้ว โดย แบรด บีเฟน (Brad Beaven) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ (University of Portsmouth) ให้ข้อมูลว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แรงงานฝีมือต้องทำงานต่อเนื่อง 6 วัน โดยมีวันหยุดวันเดียวในวันอาทิตย์เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จึงกำหนดวันหยุดงานกันเองอย่างไม่เป็นทางการในวันจันทร์ หรือที่เรียกว่า ‘Saint Monday’ เพื่อเป็นอีก 1 วันในการพักผ่อนหลังจากเฉลิมฉลองในคืนวันเสาร์หลังเลิกงานถึงวันอาทิตย์ เป็นการเริ่มต้นทำงาน 5 วัน หยุด 2 วันอย่างไม่เป็นทางการ

ต่อมาเมื่อถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในปี 1842 กลุ่มนักรณรงค์เรียกว่า The Early Closing Association ที่ตั้งขึ้นในประเทศอังกฤษ เกิดการรณรงค์กดดันให้รัฐบาลกำหนดให้วันเสาร์หยุดครึ่งวัน เพื่อให้คนงานได้พักผ่อนในวันเสาร์ แลกกับการที่ไม่ต้องหยุดวันจันทร์อีกต่อไป ทั้งยังสามารถใช้เวลาไปกับกิจกรรมพัฒนาตัวเอง ในขณะที่ทางศาสนจักรเองก็เห็นพ้องต่อกันว่า การหยุดงานในวันเสาร์จะช่วยพัฒนา ‘วัฒนธรรมทางจิตใจและศีลธรรม’ 

การรณรงค์ให้หยุดวันเสาร์ดำเนินไปตลอดศตวรรษที่ 19 โดยการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายสหภาพแรงงาน ศาสนจักร และผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงที่เริ่มเติบโต รวมถึงนายจ้างเองก็ยอมรับว่า การหยุดงานในวันเสาร์-อาทิตย์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ในปี 1930 จึงได้มีประกาศอย่างเป็นทางการให้หยุดงานในวันเสาร์-อาทิตย์ เหตุนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ทำให้เกิดการสังสรรค์หลังเลิกงานในคืนวันศุกร์ และสำนวน Thank God It’s Friday หรือขอบคุณพระเจ้าที่วันนี้เป็นวันศุกร์ (เสียที)

สำนวน Thank God It’s Friday ยังแผ่อิทธิพลไปยังสถานประกอบการต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ตอกย้ำความสำคัญของวันศุกร์สำหรับเหล่าแรงงานที่จะได้เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการผ่อนคลาย หนึ่งในนั้นคือ ร้านอาหารที่มีหลายสาขาทั่วโลกอย่างร้าน TGI Fridays ที่ชื่อร้านมาจาก Thank God It’s Friday ร้านอาหารกึ่งบาร์แห่งแรกเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1965 ในย่านแมนฮัตตัน (Manhattan) รัฐนิวยอร์ก (New York) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อลัน สติลล์แมน (Alan Stillman) ซึ่งมีแนวคิดที่อยากให้เหล่าชายหญิงวัยทำงานในแมนฮัตตันได้มาดื่มที่บาร์ หรือมีพื้นที่สำหรับพบปะสังสรรค์กันหลังเลิกงาน และยังคงเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ภาพการสังสรรค์ในคืนวันศุกร์ ยังปรากฏในภาพยนตร์ตลกมิวสิคัลเรื่อง Thank God It’s Friday กำกับโดย โรเบิร์ต เคลน (Robert Klane) ในปี 1978 ในห้วงนิยมแห่งกระแสดิสโก้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นเฉพาะคืนวันศุกร์ ในคลับดิสโก้ชื่อ The Zoo ในเมืองลอสแอนเจลิส (Los Angeles) รัฐแคลิฟอร์เนีย (California) ภาพบรรยากาศแห่งการเต้นรำกลางฟลอร์ดิสโก้ในคืนวันศุกร์ยังปรากฏในหนังและเพลง Last Dance ของ ดอนนา ซัมเมอร์ (Donna Summer) ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการสังสรรค์ในคืนวันศุกร์ในศตวรรษที่ 20 ที่แม้จะผ่านพ้นไป อย่างไรก็ตาม แต่ความสนุกสนานในคืนวันศุกร์ได้ดำเนินมาอย่างยาวนาน และได้เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ จนถึงวันนี้ โดยสิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ภาพของผู้คนในชุดทำงาน ดนตรีสนุกสนาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แล้วเย็นวันศุกร์นี้ คุณออกไปสังสรรค์ที่ไหน

อ้างอิง

https://theconversation.com/history-of-the-two-day-weekend-offers-lessons-for-todays-calls-for-a-four-day-week-127382 

https://www.businessinsider.com/tgi-fridays-secrets-facts-2018-8 

Tags: , , , , , ,