***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์***

สำหรับวัยรุ่นสมัยนี้ทั้ง Gen Z และ Gen Alpha ที่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น แค่หน้าตาดีหรือแต่งตัวดีอาจไม่เพียงพอให้ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้าง นี่คือสิ่งที่สะท้อนออกมาจากซีรีส์ TASTE เด็กเจนแซ่บ 

TASTE เด็กเจนแซ่บ เป็นซีรีส์วัยรุ่นจากช่อง one31 กำลังออกอากาศและจะจบลงในวันพฤหัสบดีหน้า กำกับโดย เอิง-นฤกร นทกุล และตั๋ง-พนิช พงษ์พานิช และอำนวยการสร้างโดย ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้ร่วมเขียนบทฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 1 (2556) และผู้กำกับฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 2 (2557) และฮอร์โมน วัยว้าวุ่น ซีซัน 3 (2558) ซึ่งเป็นภาพแทนวัยรุ่นสังคมเมืองในยุคสมัยนั้น

ผ่านไปกว่า 10 ปี ซีรีส์ชีวิตวัยรุ่นสังคมเมืองได้กลับมาอีกครั้งพร้อมกับค่านิยมใหม่ จากฮอร์โมนที่เล่าเรื่องราวนักเรียนในรั้วโรงเรียนสู่ TASTE เด็กเจนแซ่บ ที่สังคมของวัยรุ่นขยายใหญ่ไปยังโลกออนไลน์ที่กว้างขวางไร้ขอบเขต และถูกเล่าผ่านตัวละครเด็กมัธยมที่มีทั้งลูกนักการเมือง ลูกหลานไฮโซทายาทสายการบิน พระเอกซีรีส์วาย นักเรียนนอกเจ้าแม่แฟชั่น และเด็กฝึกจากค่ายเพลง ซึ่งตัวละครเหล่านี้ถูกจัดอยู่ในระดับที่สูงกว่าวัยรุ่นทั่วไป โด่งดัง มีหน้ามีตาในสังคม มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดียมากมาย และเป็นคนแบบที่ใครๆ ก็อยากไปยืนในจุดเดียวกัน โดยเฉพาะ ‘แบมบี้’ รับบทโดย มาเบล-สุชาดา สอนพันธ์ สมาชิกวง PiXXiE ที่ต้องการไปอยู่ร่วมกับคนกลุ่มนี้เพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง แต่การตะเกียกตะกายขึ้นไปบนที่สูงไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด และเส้นทางนี้ได้พาเธอไปเจอกับสถานการณ์ที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็อาจรับมือไม่ไหว

เมื่อกฎข้อเดียวของการเป็น ‘Someone’ คือต้องมีรสนิยมดี

ไม่นานมานี้คำว่า ‘วัยรุ่นเทสต์ดี’ ได้ถูกใช้เป็นคำจำกัดความวัยรุ่นที่แต่งตัวในสไตล์สมัยนิยมที่ผสมผสานระหว่างสตรีทแฟชั่นกับชุดสุภาพ ทว่าคำว่าวัยรุ่นเทสต์ดีไม่ได้ถูกกล่าวด้วยความชื่นชมเท่านั้น แต่แฝงนัยเสียดสีว่า เป็นวัยรุ่นที่อาจไม่ได้มีรสนิยมดีอย่างแท้จริง แต่พยายามแต่งตัวเลียนแบบใครบางคน ตามกระแสแฟชั่นเพื่อให้ได้รับคำชม และการยอมรับจากสังคมหรือคนวัยเดียวกัน

อย่างไรก็ตามคำว่าเทสต์หรือรสนิยม ไม่ได้หมายถึงเพียงการแต่งตัว แต่ยังรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ สื่อที่เสพ กิจกรรมที่ทำ หรือการรวมกลุ่มทางสังคม ดังนั้นในโซเชียลทุกวันนี้เราจึงได้เห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่โด่งดังขึ้นมาจากรสนิยมและไลฟ์สไตล์ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งรูปร่างหน้าตาอีกต่อไป ซึ่งแบมบี้ตัวละครในเรื่องได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะแม้เธอจะเกิดมาเป็นเด็กสาวที่หน้าตาดี แต่เธอไม่ได้ป็อปปูลาร์ในโรงเรียน เพราะสิ่งที่เธอยังขาดไปคือตำแหน่งหรือคำพ่วงท้ายอะไรสักอย่าง เช่น แบมบี้ที่เป็นลูกสาวของใครสักคน แบมบี้ที่เป็นศิลปิน หรือแบมบี้ที่เป็นนางแบบ เธอไม่มีสถานภาพเหล่านี้ที่จะช่วยเสริมให้เธอโดดเด่นขึ้นมาจากเด็กวัยรุ่นรอบตัว

มองย้อนไปในยุคสมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เชื่อว่าเด็กผู้หญิงที่หน้าตาน่ารักอย่างแบมบี้คงมีคำพ่วงท้ายว่า ‘ดาวโรงเรียน’ แต่ในปัจจุบันที่คนมองมาตรฐานความงามเปลี่ยนไป เป็นยุคที่ก้าวหน้าเกินกว่าจะมานั่งจัดอันดับว่า ใครสวยที่สุดในโรงเรียน แบมบี้จึงต้องพยายามเป็นอะไรสักอย่างให้ได้ เพื่อให้คนหันมาให้ความสนใจเธอบ้าง โดยเธอเริ่มต้นจากการไปคัดตัวเป็นดรัมเมเยอร์ของโรงเรียน แต่เมื่อคิดได้ว่าดังแค่ในโรงเรียนมันไม่พอ เพราะเธอต้องการเป็นคนดังในโซเชียลฯ ด้วย แต่การเป็นคนดังในโลกออนไลน์ หน้าตาไม่สำคัญดีไม่สำคัญเท่าคอนเทนต์ เธอจึงเริ่มสร้างสถานการณ์จนมีคลิปไวรัลของตัวเองบนโลกออนไลน์

คอนเทนต์ที่ทำให้แบมบี้กลายเป็นไวรัลคือ ‘ใส่ชุดผิดวันมาโรงเรียน’ แต่ชุดที่เธอใส่ผิดไม่ใช่ชุดพละ หรือชุดลูกเสือเนตรนารี แต่เป็นชุดเดินแบบที่ทำจากขยะรีไซเคิลที่มีซิลลูเอตฟูฟ่อง และไวรัลนี้ก็ทำให้เธอมีคำพ่วงท้ายแรกคือ ‘แบมบี้ เจ้าหญิงขยะ’

แม้ในช่วงแรกเธอจะรู้สึกดีที่กลายเป็นคนดังในโซเชียลฯ เสียที และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัยรุ่นชั้นสูงที่ประกอบด้วยคนดังที่มีรสนิยม แต่คำว่าเจ้าหญิงขยะสำหรับเธอมันไม่ใช่คำที่สื่อว่า เธอมีรสนิยมดีแม้แต่น้อย เธอจึงพยายามสลัดคำนี้ทิ้งไว้ด้วยการมองหาเส้นทางใหม่คือการเป็นนักร้อง ออกเพลงเป็นของตัวเอง จนขยับขยายไปสู่การเป็นนางเอกโฆษณา และเป็นนางแบบให้กับแบรนด์เสื้อผ้าที่มีชื่อเสียง แต่ตลอดเส้นทางที่ทำให้เธอต้องหักเลี้ยวไปเรื่อยๆ เป็นเพราะอยากเข้าใกล้คำว่ามีรสนิยม

เพราะทุกวัยอยากได้รับการยอมรับจากคนวัยเดียวกัน

หากผู้ใหญ่ได้ดูซีรีส์เรื่องนี้อาจตั้งคำถามว่า วัยรุ่นอย่างแบมบี้ทำไปเพื่ออะไร ทำไมต้องพยายามทำตัวเองให้เทสต์ดี ทำไมต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้รับการยอมรับขนาดนี้ แต่ถ้าลองมองย้อนไปเมื่อวันที่เราเป็นวัยรุ่น หลายคนเองก็ต้องการการยอมรับจากเพื่อนตอนเรียนมัธยม บางคนอาจลองอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นตามเพื่อน ดูซีรีส์เกาหลีเพื่อจะได้มีเรื่องมาคุยกับเพื่อน หรือลองหาดูหนังกับฟังเพลงแนวทางใหม่ๆ ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำเพื่อค้นหาตัวเองแล้ว เรายังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมสักกลุ่ม เพื่อทำให้รู้สึกว่า เรามีตัวตนในกลุ่มที่เราเลือก

และหากพิจารณาชีวิตตัวเองในวัย 30 ปี หรือ 40 ปี จะพบว่า แม้เราจะเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังอยากได้รับการยอมรับหรือคำชื่นชมจากคนวัยเดียวกัน ถ้วยรางวัลของการเป็นผู้ใหญ่ของใครหลายคนอาจเป็นบ้านหรือรถ แต่สำหรับวัยรุ่นยุคนี้ต้องการเหรียญประดับชีวิตเป็นชื่อเสียงและคำชมบนโซเชียลมีเดีย ที่ต้องผ่านการเปิดเผยตัวตนและรสนิยมที่น่าสนใจ

ทว่าวัยรุ่นยุคนี้ต้องการการยอมรับจากสังคมโซเชียลฯ ซึ่งกว้างใหญ่เกินจินตนาการ ยิ่งสังคมประกอบสร้างด้วยคนจำนวนมาก การจะเป็นคนที่โดดเด่นจึงต้องตะเกียกตะกายมากเป็นพิเศษ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ความทะเยอทะยานของวัยรุ่นในช่วงชีวิตหนึ่งเพื่อไปสู่จุดที่อยากอยู่ อยากเป็นคนที่อยากเป็น ไม่ใช่เรื่องผิด และเมื่อเติบโตถึงจุดหนึ่ง มนุษย์จะตั้งคำถามกับตัวเองโดยธรรมชาติอยู่ดีว่าเราทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร และความจริงแล้วเราต้องการมีชีวิตแบบไหนกันแน่

Tags: , ,