เมื่อพูดถึงเรื่องนักแสดงวัยกลางคน (Middle Age) ในอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลี ช่วงปีที่แล้วมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จากแฟนซีรีส์ชาวไทยถึงนางเอกซีรีส์เรื่อง โรแมนซ์ฉบับเร่งรัด หรือ Crash Course in Romance (2023) ที่รับบทโดย จอน โดยอน (Jeon DoYeon) วัย 50 ปีว่า เธอดูแก่เกินไปสำหรับการเป็นนางเอกละครแนวรอมคอม (Rom-Com) แต่ในทางกลับกันก็มีอีกฝ่ายออกมาโต้แย้งว่า เรื่องนี้เป็นซีรีส์ของผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว และทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกสาวกับน้องชายออทิสติกมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่ต้องเป็นนางเอกวัยกลางคนและอาจดูแก่กว่าวัย
แม้จะมีซีรีส์หลายเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตคนวัยกลางคน แต่พิจารณาจากคิวฉายซีรีส์เกาหลีของเดือนสิงหาคมนี้ ได้เน้นย้ำอย่างชัดเจนว่า เกาหลีเจาะกลุ่มเป้าหมายคนดูวัยกลางคนเป็นพิเศษ เมื่อช่องอีเอ็นเอ (ENA) ได้ปล่อยทีเซอร์ซีรีส์เรื่องใหม่ชื่อ Your Honor (2024) มีนักแสดงนำคือ ซน ฮยอนจู (Son Hyun Joo) วัย 59 ปี และคิม มยองมิน (Kim Myung Min) วัย 51 ปี
ในขณะที่ช่องเจทีบีซี (JTBC) ปล่อยทีเซอร์เรื่อง Romance in the House (2024) นำโดย คิม จีซู (Kim Ji Soo) วัย 51 ปี และจี จินฮี (Ji Jin Hee) วัย 53 ปี มีประสบการณ์ด้านการแสดงมากมากกว่า 25 ปี และช่องเคบีเอส (KBS) ก็กำลังฉายซีรีส์วันพุธ-พฤหัสบดี เรื่อง Perfect Family (2024) นำแสดงโดย คิม บยองชอล (Kim Byung Chul) วัย 50 ปี และยุน เซอา (Yoon Se Ah) วัย 46 ปี
เมื่อนำอายุของนักแสดงนำทั้ง 6 คน จากซีรีส์ 3 เรื่องนี้มาหาค่าเฉลี่ยจะได้ 51.6 ปี สะท้อนว่า การแข่งขันทางเนื้อหาช่องโทรทัศน์เกาหลีพุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยกลางคน หรือกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย 40 ปีและช่วงวัย 50 ปีเป็นหลัก
หลายคนอาจจะคิดว่า เหตุผลของการเลือกนักแสดงวัยกลางคน เป็นเพราะคนดูโทรทัศน์คือ กลุ่มคนวัยกลางคนหรือคนสูงวัย แต่ผลผลิตจากอุตสาหกรรมบันเทิงเป็นภาพสะท้อนของสังคมเกาหลี ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปอีกขั้น เพราะจากสถิติในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จำนวนประชากรเกาหลีที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 10 ล้านคน และอายุเฉลี่ยของคนเกาหลีทั้งประเทศในปีนี้คือ 45.7 ปี ต่างจากปี 1980 ซึ่งมีอายุเฉลี่ยของทั้งประเทศแค่ 21 ปีเท่านั้น
ไม่เพียงแต่นักแสดง เพราะในอาชีพหรือองค์กรอื่นก็มีจำนวนคนสูงอายุมากกว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่ง ยุน ซอกจิน (Yoon Suk Jin) ศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมเกาหลี จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชุงนัม (Chungnam National University) ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า
“เมื่อคนในสังคมอายุมากขึ้น จึงทำให้มายาคติที่ว่า อายุ 50 ปีคือวัยที่แก่แล้วค่อยๆ จางลงไป รู้สึกว่าวัย 50 ปี ก็ไม่แก่ขนาดนั้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบันเทิงยังมีนักแสดงประสบการณ์ 20-30 ปียังคงได้รับบทนำอยู่”
นอกจากโปรแกรมที่ฉายบนโทรทัศน์แล้ว ซีรีส์ที่ลงเฉพาะในสตรีมมิงออนไลน์ล่าสุด บทนำมักเป็นนักแสดงวัยกลางคนเช่นกัน จึงเป็นช่วงขาขึ้นอีกครั้งของเหล่านักแสดงนำในวัย 40 ปีและ 50 ปี อย่าง ยอม จองอา (Yum Jung Ah) กับโจ จินอุง (Cho Jin Woong) ในเรื่อง No Way Out: The Roulette (2024) ออกอากาศบนดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์ (Disney Plus Hotstar) และคิม ฮีเอ (Kim Hee Ae) กับซอล คยองกู (Sul Kyung Gu) ในเรื่อง The Whirlwind (2024) ทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix)
ละครที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับคนวัยรุ่นเริ่มมีน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้แทบไม่มีพื้นที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตคนรุ่นใหม่ เพราะแม้แต่ซีรีส์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในครึ่งปีแรก ยังมีประเด็นหลักคือ ความขัดแย้งระหว่างสามีภรรยา อย่างเรื่อง Queen of Tears (2024) หรือ Marry My Husband (2024) ที่เป็นเรื่องของการแก้แค้นสามีกับชู้รัก
แม้จะพอมีซีรีส์แสดงภาพชีวิตวัยรุ่นอยู่บ้างอย่าง Lovely Runner (2024) แต่กลับเป็นวัยรุ่นในยุค 2010 เป็นช่วงวันเวลาที่ทำให้ผู้ใหญ่ดูแล้วหวนคิดถึงอดีต ซึ่ง คิม ฮอนชิก (Kim Heon Sik) นักวิจารณ์วัฒนธรรมเกาหลี กล่าวว่า “เนื่องจากซีรีส์ในโทรทัศน์มีแต่เรื่องราวของคนวัยกลางคน คนหนุ่มสาวจึงต้องหาความบันเทิงจากสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมากกว่า”
แม้จะดูเป็นเรื่องดีที่ดารานักแสดงเกาหลีได้ยืดอายุการทำงาน จนแม้จะมีอายุมากขึ้นก็ยังมีบทบาทคอยรองรับ แต่มองในอีกแง่หนึ่ง เรื่องนี้กลับทำให้นักแสดงหน้าใหม่ที่ยังอายุน้อยไม่สามารถไต่เต้าขึ้นมาได้ หรืออุตสาหกรรมบันเทิงกลับไม่มีบทบาทสำหรับคนอายุน้อยเท่าไร จนทำให้เกิดการแข่งขันสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และแม้แต่ไอดอล K-Pop ที่เบนเข็มไปทางการแสดง ก็เติบโตในเส้นทางนี้ได้ยากเช่นกัน
ที่มา:
–https://koreatimes.co.kr/www/news/nation/2024/08/688_380946.html?utm_source=scmp
Tags: KDrama, MiddleAge, วัยกลางคน, สังคมผู้สูงวัย, AgingSociety, ซีรีส์เกาหลี, Entertainment