วันนี้หลายคนคงขับรถโดยปราศจากเสียงเพลงคลอไปไม่ได้ หรือในบางคนก็เติบโตมากับการฟังเพลงโปรดของพ่อแม่บนรถ ตั้งแต่ยุคที่ผลัดกันหมุนหาคลื่นวิทยุที่ชอบ แย่งกันเลือกเทปคาสเซต หรือซีดีเพลงเพื่อฟังตอนรถเคลื่อนตัว จนถึงทุกวันนี้ที่เราสามารถเชื่อมต่อมือถือเข้ากับรถยนต์และฟังเพลงจากสตรีมมิงได้แล้ว ทำให้การเลือกเพลย์ลิสต์บนรถเป็นเรื่องง่ายและรวดเร็วขึ้น 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ เราเริ่มฟังเพลงในรถกันตั้งแต่เมื่อไร

แม้คนจำนวนไม่น้อยจะทราบว่าโทรศัพท์มือถือเครื่องแรกของโลกคือ แบรนด์ ‘โมโตโรลา (Motorola)’ ซึ่งประดิษฐ์ออกมาในปี 1973 และวางจำหน่ายในปี 1983 แต่หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านั้นในปี 1930 หรือประมาณ 87 ปีที่แล้ว หลายคนไม่รู้ว่า พอล วี. แกลวิน (Paul V. Galvin) ผู้ก่อตั้งโมโตโรลา ได้ประสบความสำเร็จในการนำวิทยุในบ้านมาติดตั้งในรถยนต์ เพื่อให้สามารถฟังวิทยุทั้งข่าวสารและเพลงขณะขับขี่ได้ โดยโมเดลวิทยุในรถยนต์นี้ชื่อรุ่นว่า ‘Motorola 5T71’ ซึ่งได้รับความนิยมมากจนแกลวินกับวิศวกรต้องเดินทางไปทั่วสหรัฐอเมริกา เพื่อขายและติดตั้งวิทยุให้กับรถยนต์ทั่วประเทศ และความสำเร็จนี้ก็เป็นที่มาของชื่อแบรนด์โมโตโรลา จากคำว่ามอเตอร์ (Motor) และโอลา (Ola) หมายถึงเสียงที่เคลื่อนที่

โดยเจ้า Motorola 5T71 ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่รถยนต์ และเสาอากาศรับสัญญาณ ด้วยความที่เป็นวิทยุระบบ AM (Amplitude Modulation) จึงสามารถส่งสัญญาณคลื่นเสียงได้ในระยะไกล ทว่าอาจถูกคลื่นแทรกรบกวนได้ง่าย

ต่อมาในปี 1952 บริษัทบลาวฟุงค์ (Blaupunkt) จากฟากฝั่งเยอรมนีได้เปิดตัววิทยุในรถระบบ FM (Frequency Modulation) แน่นอนว่ามีสัญญาณที่เสถียรกว่าระบบ AM ในขณะที่แบรนด์วิทยุอย่างเบคเกอร์ เม็กซิโก (Becker Mexico) ก็ได้เริ่มทำวิทยุสำหรับรถยนต์บ้างในปี 1953 ที่สามารถรับสัญญาณ และค้นหาสถานีวิทยุได้ทั้งคลื่น AM และ FM

ในช่วง 1930s -1950s เป็นทศวรรษแห่งการฟังเพลงบนรถจากวิทยุ แต่เมื่อเข้าสู่ 1960s คนบนรถจึงได้เริ่มเลือกเพลงฟังได้ด้วยตนเอง เมื่อ เอิร์ล “แมดแมน” มุนซ์ (Earl “Madman” Muntz) นักธุรกิและวิศวกรชาวสหรัฐฯ ได้พัฒนาเทป 4 แทร็ก (4 Track) เรียกว่า ‘Stereo-Pak’ ซึ่งสามารถเล่นเพลงทั้งอัลบั้มในรถได้อย่างต่อเนื่อง อีกด้านหนึ่ง บิล เลียร์ (Bill Lear) นักประดิษฐ์ซึ่งอดีตเคยทำงานให้กับโมโตโรลา ก็ได้เริ่มทำระบบเทป 8 แทร็ก (8 Track) หรือ ‘สเตอริโอ 8’ (Stereo 8) ซึ่งรถรุ่นแรกที่มาพร้อมกับเครื่องเล่น 8 แทร็ก คือ ‘ฟอร์ด มัสแตง’ (Ford Mustang) 

ในปีไล่เลี่ยกันแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ฟิลลิปส์ (Philips) ก็ได้เปิดตัวเทปคาสเซต (Cassette Tape) ในปี 1964 และได้รับความนิยมมากกว่าเทป 8 แทร็ก เพราะสามารถกรอเทป กดข้ามเพลงได้ ความดีงามของเทปคาสเซ็ตในยุคนั้นคือ สามารถเอาเพลงที่เราชอบมาจัดเรียงเป็นเพลย์ลิสต์ลงในเทปได้ หรือว่ามิกซ์เทป (Mixtape) จนในที่สุดเทปคาสเซ็ตจึงกลายเป็นไอเท็มสำคัญสำหรับความบันเทิงในบ้านและรถยนต์ตั้งแต่ยุค 60s-70s ก่อนการมาของแผ่นซีดี (Compact Disk: CD) ในเวลาต่อมา

จนเมื่อเข้าสู่ช่วงยุค 1980s เริ่มเข้าใกล้ปัจจุบันมากขึ้นที่หลายคนคุ้นเคยกับการมีแผ่นซีดีกว่า 10 แผ่นในรถยนต์ เราจะได้ฟังเพลงจากแผ่นซีดีที่เราเลือกเปิด ซึ่งตัวเครื่องเล่นแผ่นซีดีบนรถสามารถกดข้ามเพลงได้ตามใจ และมีคุณภาพเสียงที่ดีกว่าเทปคาสเซ็ตมาก ในขณะที่รถยนต์เองก็เริ่มมีระบบสเตอริโอหลายลำโพงเพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟัง และเกิดการแข่งขันของแบรนด์ต่างๆ ที่ผลิตเครื่องเล่นแผ่นซีดีออกมาจำหน่ายในห้วงเวลานั้นหลายแบรนด์ทั้งไพโอเนียร์ (Pioneer) โซนี (Sony) และฟิลลิปส์ (Phillips) 

และแม้ในยุค 1990s-2000s เราจะสามารถฟังเพลงได้จากเครื่องเล่นซีดีแบบพกพา หรือเครื่องเล่น MP3 แต่สำหรับรถยนต์เกือบทั้งหมดยังเป็นการฟังจากเครื่องเล่นแผ่นซีดีอยู่ จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ที่อุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนามาจนถึงการฟังเพลงด้วยระบบสตรีมมิงได้ ทำให้การฟังเพลงหรือกดข้าม เปลี่ยนเพลงบนรถยนต์ง่ายดายขึ้น

จุดนี้อาจทำให้ใครหลายคนหวนคิดถึงบรรยากาศของการช่วงชิงพื้นที่ทางสุนทรียภาพบนยานพาหนะ 4 ล้อกับครอบครัว หรือโหยหาเสน่ห์ของเสียงเพลงบนรถจากเทปคาสเซ็ตหรือแผ่นซีดีที่ระบบไม่ได้ชัดเจนสมบูรณ์แบบเท่าสตรีมมิง

อย่างไรก็ตาม การฟังเพลงบนรถไม่เพียงแค่สร้างบรรยากาศความบันเทิงเริงรมย์ แต่ยังช่วยให้มีสมาธิในการขับขี่ ซึ่งจังหวะเพลงที่เหมาะสมในการฟังเพลงขณะขับรถคือจังหวะเดียวกับการเต้นของหัวใจเรา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 60-80 ครั้งต่อนาที 

แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าคุณจะชอบฟังเพลงแนวไหนบนรถ แต่การขับขี่อย่างระมัดระวัง เพื่อความปลอดภัยเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสุนทรียภาพจากเสียงเพลง

Tags: , , , , , ,