เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) ศิลปินสาวที่มารับบท ฮาร์ลีย์ ควินน์ ใน Joker: Folie à Deux ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The People โดยระบุว่า การเข้ามารับบาทตัวละครที่มีความคิด ความอ่านที่แตกต่างจากเธอเช่นนี้ ทำให้แม้จะถ่ายทำเสร็จสิ้นแล้ว กลับยังมีบางส่วนของตัวละครเจ้าหญิงอาชญากรรม หลงเหลือในตัวเธอ
“ที่ผ่านมาฉันมักมีตัวละครจากหนังเรื่องต่างๆ ที่เล่นด้วยกลับไปเสมอนะ ทั้ง A Star Is Born (2018) และ House of Gucci (2021) แต่สำหรับเรื่องนี้ ฉันพูดตามตรงว่า ไม่ได้ตั้งใจจะพาฮาร์ลีย์กลับบ้านแน่นอน แต่สุดท้ายแล้ว ฉันก็ไม่สามารถทิ้งตัวเธอทั้งหมดเอาไว้ในกองถ่ายได้
“สำหรับฮาร์ลีย์ ในความเป็นจริงเธอเป็นคนที่อ่อนไหวนะ เพียงแต่เธอถูกแรงกดดัน จนทำให้เธอมีความรู้สึกไม่มั่นคง และคล้อยตามกับอะไรบางสิ่งอยู่ตลอด ซึ่งมันยากมากสำหรับฉันที่เติบโตมาอีกแบบ ต้องคอยสร้างตัวตน คอยใส่ประสบการณ์และวัฒนธรรมบางอย่างเข้าไปในตัวเธอ
“ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้เลย ที่คุณจะไม่ตกหลุมรักตัวละครที่คุณได้รับบทบาท และฉันก็มักจะมีนิสัยเป็นแบบนั้นอยู่เสมอ” กาก้าอธิบายว่า เธอมักจะมีปัญหาในการสลัดตัวละครที่ได้เล่นออกไปอยู่บ่อยครั้ง
จึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า จริงๆ แล้วนั้น การที่นักแสดงไม่สามารถสลัดตัวเองออกจากบทบาทได้นั้น เป็นเพราะอะไรกันแน่
เรื่องนี้ มาร์ก เซตัน (Mark Seton) นักวิจัยจากภาควิชาการศึกษาด้านการละครและการแสดง มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้พูดถึงอาการนี้ว่า ‘Post-dramatic stress disorder’ หมายถึง ผลกระทบอันเกิดจากการเข้าไปสวมอยู่ในบทบาทใดบทบาทหนึ่ง จนละทิ้งอุปนิสัยส่วนตัวไปช่วงคราว ทำให้เมื่อกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง จึงมักจะมีนิสัยบางอย่างของตัวตนที่ได้รับมอบหมายหลงเหลืออยู่ คล้ายกับเป็นอาการเรื้อรังที่ต้องใช้เวลาในการเยียวยา
ซึ่งมาร์กยังได้ยกตัวอย่างของ เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (Benedict Cumberbatch) ที่แสดงซีรีส์เรื่อง Sherlock เป็นเวลานาน จนทำให้เขาให้สัมภาษณ์กับสื่อในเวลาต่อมาว่า ช่วงหลังจากถ่ายทำซีรีส์จบในแต่ละช่วง เขามักจะมีอาการใจร้อนและขี้หงุดหงิดง่ายกว่าปกติอยู่เสมอ
อีกทั้งยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ ในวารสาร The Journal of Experimental Psychology: General ซึ่งมีการทดลองให้นักแสดงทั้งชายและหญิง ลองประเมินตัวเองในเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะมอบหมายให้เขารับบทเป็น คนอื่นๆ ใกล้ตัวเช่น แฟน ญาติ ครอบครัว ว่าถ้าเจอสถานการณ์เดียวกันจะเป็นอย่างไร ก่อนที่จะให้กลับมาประเมินในฐานะตัวเองอีกครั้ง ผลปรากฏว่า แม้จะเป็นแบบทดสอบเดิม แต่คำตอบที่ได้กลับแตกต่างออกไปอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงจำนวน และความหลากหลายของผู้เข้าร่วมทดลอง โดยพวกเขามักจะให้คะแนนตัวเองใกล้เคียงกับตอนที่สวมบทบาทเป็นคนอื่นมากกว่า แม้ในการทดลองแต่ละครั้งจะมีระยะเวลาห่างกันถึง 24 ชั่วโมงก็ตาม
หรือในอีกหนึ่งการทดลอง ที่มีการให้นักแสดงโดยมีตัวแปรทั้งเพศ อายุ และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน มารับบทบาทเป็น โรมิโอ (Romeo) หรือจูเลียต (Juliet) ตัวละครจากวรรณกรรมชื่อดังของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) จากนั้นถึงทำสอบถามถึงเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อเรื่องที่ต้องทำการแสดงว่า พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไรบ้าง รวมถึงถามพวกเขาอีกครั้งในช่วงจังหวะที่ไม่ได้มีคำสั่งให้รับบทบาทดังกล่าว โดยระหว่างการทดลองที่มีการสแกนสมองอยู่ตลอด
ผลปรากฏว่า มีความแตกต่างของการทดลองทั้ง 2 ครั้งอย่างชัดเจน มีการตอบคำถามที่แตกต่างออกไป โดยในช่วงที่รับบทบาทเขาจะตอบคำถามในฐานะบุคคลที่หนึ่ง ที่มีน้ำเสียงที่ชัดเจน ยืนยันในคำตอบที่เพิ่งตัดสินใจไป ต่างกับในการทดลองช่วงหลังที่พวกเขามักใช้สรรพนามแบบบุคคลที่สาม และตอบแบบคาดการณ์ว่า เมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ ตัวละครนั้นจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำอย่างไร
สำหรับทั้ง 2 การทดลองนี้นั้น ถือเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนว่า ในขณะที่นักแสดงเข้ารับบทบาทนั้น ความคิด บุคลิก และนิสัยของเขาจะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกหากจะมีนักแสดงบางคนที่ยังคงสลัด ละทิ้งตัวตนที่ผู้ชมได้ดูภายในหนังเรื่องนั้นได้ เพราะครั้งหนึ่งมาเคยตัวตนของพวกเขามาก่อนด้วยเช่นกัน
ที่มา:
https://aeon.co/ideas/acting-changes-the-brain-its-how-actors-get-lost-in-a-role
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31033322/
https://royalsocietypublishing.org/doi/full/10.1098/rsos.181908
Tags: Entertainment