เรามาเริ่มต้นจากไฟจราจรที่กำลังลุกไหม้
ไฟจราจรมีไว้ควบคุมการสัญจรไปมาระหว่างแยก ฝั่งที่ไฟเขียวสามารถไปได้ ไฟแดงต้องหยุดรอ อำนาจของไฟจราจรจึงคือการควบคุม
หากตอนนี้มันลุกไหม้แล้ว ลุกไหม้เช่นเดียวกันกับรถคันที่จอด รูปปั้นครึ่งท่อนของคนสำคัญ ถังขยะสาธารณะ ชิงช้า และเครื่องเล่นสนามเด็กเล่น
หญิงสาวผมทองคนนั้นสวมชุดและหน้ากากกันไฟ เธอสะพายเครื่องพ่นไว้กับร่าง ยืนอยู่เหนือเมืองนี้ พ่นไฟไปในอากาศราวกับจะเผาทั้งเมืองให้วอดวาย เธอคือ EMA เธอเป็นแค่เด็กอีกคนที่เล่นกับไฟ
มีเด็กอีกคนที่เล่นกับไฟก่อนหน้านี้ เด็กคนนั้นชื่อ Polo เด็กคนที่เธอกับสามีรับมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมแล้วส่งคืนไป สามีของเธอเป็นนักออกแบบท่าเต้นสำหรับศิลปะร่วมสมัย เธอเป็นนักเต้นในสังกัดของเขา เต้นตามที่เขาออกแบบ ลูกชายของเธอเล่นไฟ ลามไปเผาบ้าน เผาใบหน้าพี่สาวของเธอจนเสียโฉม เธอส่งเด็กกลับ สร้างความร้าวฉานระหว่างเธอกับทุกคนรอบข้าง สามี ไปจนถึงเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ที่เสนอให้เธอไปหาตุ๊กตามาแต่งตัวแทนที่จะรับลูกบุญธรรม เธอต้องการลูกคืน แต่ไม่มีใครให้เธออีกแล้ว เจ้าหน้าที่ไม่ให้ สังคมไม่ให้เธอจึงต้องลงมือเอง
สามีของเธอเป็นหมัน เขาให้ลูกชายที่แท้กับเธอไม่ได้ ระหองระแหงและกล่าวโทษกันไปมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตอนนั้นเอง เธอจ้างทนายเพื่อฟ้องหย่า เธอและเพื่อนนักเต้นหันมาเต้นเพลง reggaethon ตามถนนหนทาง บนรถเมลล์ บนหลังคาตึก ในสนามกีฬา เต้นนอกโรงซ้อมด้วยเพลงป๊อปดาดๆ เธอยั่วยวนทนายสาวของตนและสามีของหล่อน ความสัมพันธ์พิลึกพิลั่นเร่าร้อนรอวันสุกงอมหรือระเบิดออกเพื่อการปลดปล่อยตัวเธอออกจากพันธนาการทุกชนิดทั้งต่อร่างกายและสังคม
ภาพยนตร์เรื่องล่าสุด Pablo Larrain หนึ่งในคนทำหนังร่วมสมัยคนสำคัญของประเทศชิลี เขาเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์ไตรภาค Pinochet หนังสามเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่พูดถึงความกดดันบ้าคลั่งของสังคมชิลีตลอดยุคเผด็จการของนายพล Pinochet ผ่าน ฆาตกรโรคจิต (Tony Manero, 2008) คนชันสูตรศพ (Post Mortem, 2010) และนักโฆษณาที่ต้องมาทำแคมเปญเลือกตั้ง (No, 2012) หนังของเขาที่เคยเข้าฉายในบ้านเราคือ Jackie (2016) หนังที่พูดถึงช่วงเวลาหลังจากถูกยิงไปจนถึงงานศพของประธานาธิบดี John F. Kennedy โดยไม่ได้เล่าเรื่อง JFK แต่เล่าเรื่องของ Jackie ภรรยาม่ายของเขาที่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สามีของเธอถูกจดจำ กล้องตามติดชิดใกล้ ฉายภาพความหวั่นไหว เหนื่อยล้า และการต่อสู้เท่าที่เธอจะทำได้ในขณะนั้น
ทั้ง Ema และ Jackie ต่างเล่าเรื่องของผู้หญิงเหมือนกัน ทั้งสองเรื่องเป็นการทดลองเทคนิกใหม่ๆ เหมือนๆ กัน เรื่องหนึ่งเป็นการใช้กล้องโคลสอัพเกือบกึ่งสารคดี อีกเรื่องหนึ่งใช้สีฉูดฉาดและสไตล์แบบมิวสิกวีดีโอ แต่ทั้งสองเรื่องพูดถึงผู้หญิงและการต่อสู้ระบบที่แตกต่างกัน คนหนึ่งเป็นคนดังแสดงโดยนักแสดงมืออาชีพจากฮอลลีวูด ว่าด้วยการพยายามสร้างให้สามีของเธอกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในระบบตลอดกาล แต่อีกคนเป็นหญิงสาวไร้ชื่อ แสดงโดยนักแสดงหน้าใหม่ และพยายามอย่างยิ่งที่จะทำลายระบบนั้นลง
ภายใต้ ‘ร่างกาย’ ของหนัง ผ่านความฉูดฉาดของแสงสี การเคลื่อนกล้อง การตัดต่อและดนตรีเร้าอารมณ์ สุนทรียศาสตร์ของคนรุ่นปัจจุปันที่เกือบจะสมาธิสั้นพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด เพราะหนังไม่ได้มีเพียง ‘ร่างกาย’ ในทางเทคนิกเท่านั้น แต่ ‘ร่างกาย’ ของหนังคือแก่นของมันด้วย อาจจะบอกว่าเปลือกกลายเป็นแก่น เพื่อต่อต้านแก่นดั้งเดิมซึ่งเมื่อถูกถอดรูปออกมาเพื่อพบว่ามันเป็นเพียงเปลือกกลวงเปล่าชนิดหนึ่งเท่านั้น
หากเราแบ่งแยก ร่างกาย กับ จิตใจออกจากกัน เรามักให้ศักดิ์ของจิตใจอยู่เหนือร่างกาย ดังคำกล่าว ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว กายเป็นแค่แรงงาน จิตคือปัญญา จิตจึงสูงส่งกว่า ศักดินาและชนชั้นในตัวปัจเจกบุคคลจึงเป็นเสมือนภาพสะท้อนของสังคมที่มีศักดินาของนายทุนและแรงงาน สมองกับแขนขา ร่างกายกลายเป็นเพียงสิ่งสกปรก ผัสสะดึงมนุษย์ลงสู่ความเสื่อม ศาสนาจึงมุ่งสอนฝึกจิตเพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ฝึกควบคุมจิตผ่านทางการควบคุมร่างกาย
เราควรเริ่มจากร่างกาย การที่ Ema เป็นนักเต้น เป็นการประกาศตั้งแต่แรกโดยตัวมันอยู่แล้วว่านี่คือเรื่องของ ‘ร่างกาย’ หนังแสดงภาพให้เห็นการเต้นสองแบบ คือการเต้นในฐานะศิลปะร่วมสมัย ของ Gaston เจ้าของบริษัทนักเต้น ผู้ออกแบบท่าเต้นและเป็นสามีของ Ema เขาเป็นเสมือนร่างทรงครบถ้วนของอำนาจไม่ว่าเขาจะมีมันหรือไม่ก็ตาม พร่องพิการหรือไม่ก็ตาม เขาคือ ปิตาธิปไตย—จิตของครอบครัวนิวเคลียร์ที่มีครรภ์ของภรรยาเป็นร่างกาย นายทุน—จิตของทุนนิยมที่มีลูกจ้างเป็นร่างกาย และจิตของศิลปินที่มีนักแสดงเป็นร่างกาย
หนังแสดงให้เห็นการเต้นสองแบบ การเต้นหมู่ในอาณัติอันเคร่งครัดของการออกแแบบท่าเต้นโดย Gaston ในช่วงต้นเรื่อง การเต้นนี้ถูกตัดซอยออกเป็นห้วงสั้นๆ ตัดสลับกับชีวิตของสองผัวเมียหลังจากคืนเด็กไป รอนพลังของมันลงผ่านการกล่าวโทษความเหลวไหลเหลาะแหละของ Ema และความอ่อนแอไร้ประสิทธิภาพของ Gaston ที่จะผลิต ‘ลูกชาย’ แท้ๆ ให้กับ Ema ดูเหมือนหนังเริ่มต้นจากครอบครัวพร่องพิการที่พยายามอุดรูรั่วของการไร้ทายาทด้วยการอุปถัมภ์ลูกบุญธรรมมาเลี้ยง ฉากเต้นหักพังเป็นเสี้ยวส่วนเหล่านี้ถูกท้ายในเวลาต่อมาด้วยการเต้น reggaeton เพลงที่มีสถานะเหมือนเพลงป๊อปสามช่าหน่าฮ่านในสังคมไทย การเต้น reggaeton ไม่ได้ดำเนินไปบนเวที แต่ลงไปบนถนน ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ
ในฉากหนึ่ง Gaston บอกว่า ‘ดนตรี reggaeton คือเพลงของคนคุก เพราะมันมีจังหวะเพียงแบบเดียวทำซ้ำไปซ้ำมา จังหวะซ้ำๆ เข้าควบคุม ครอบงำ ทำให้เชื่องและการเต้นยั่วยวนเปลี่ยนผู้หญิงให้เป็นวัตถุทางเพศ และผู้ชายเป็นสัตว์ป่า โดยเนื้อแท้เพลงแบบนี้จึงเป็น ‘วัฒนธรรมของความรุนแรง’ คำวิจารณ์ของ Gaston แหลมคมและทิ่มแทง ในขณะเดียวกันมันเป็นสายตาที่มองมาจากเหล่าจารีตนิยมอย่างไม่ปิดบัง (เราอาจเปลี่ยนคำว่า reggaeton เป็นรถแห่ ก็จะได้ภาพที่ชัดขึ้นสำหรับสังคมไทย) นั่นยิ่งทำให้การเต้นของ Ema และผองเพื่อนเป็นการปลดปล่อยมากขึ้น เพราะเธอเต้นเพื่อต่อต้านการเต้นที่เป็นที่ยอมรับ พวกเธอเต้นไปตามถนนหนทาง ในที่ชุมชน การเต้นเปลี่ยนมือจากผู้เชี่ยวชาญ กระฎุมพีไปสู่สามัญชนบนท้องถนน การเต้นของเธอขาดไร้แก่นทางปรัชญามาอธิบาย เป็นเพียงรูปแบบของไส้เดือนถูกขี้เถ้า แต่เปลือกไร้แก่นนี้เองคือแก่นของการต่อต้าน
หากการเต้นสองแบบนี้ก็แสดงให้เห็นพลวัตรที่ย้อนไปมาของการควบคุมและการปลดปล่อย ‘ร่างกาย’ ซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนัง การเต้นทั้งสองแบบทำหน้าที่เสมือนเป็นการปลดปล่อยจิตวิญญาณไปสู่อิสรภาพผ่านทางเสียงดนตรี แต่การเต้นเพียง ‘ดูเหมือน’ การปลดปล่อยหากที่จริงมันคือการควบคุม นักเต้นต้องควบคุมร่างกายของตนอย่างยิ่งทั้งเพื่อให้ ‘เต้นได้’ และ ‘เต้นพร้อม’ มันจึงเป็นเรื่องของความย้อนแย้งระหว่างการฝึกตนเพื่อปลดปล่อยและการควบคุมเพื่อเสรีภาพ ในนามของการปลดปล่อยมันจึงมีการควบคุมอยู่เสมอ ในการควบคุมมีผู้ควบคุม ผู้ควบคุมคือผู้มีอำนาจ อำนาจที่การปลดปล่อยต่อต้านจึงนำไปสู่อำนาจในอีกแบบหนึ่ง
แต่การเต้นเป็นเพียงภาพอุปมาเบื้องต้นเท่านั้น ร่างกายของเธอไม่ได้ใช้เพียงเพื่อเต้นหากเพื่อ ‘ร่วมรัก’ ด้วยเช่นกัน หากกิจกรรมทางเพศคือความกำซาบซ่านของร่างกาย และหาก ‘จิต’ ที่แท้ของการร่วมรักที่ใช้ ‘ร่างกาย’ คือการสืบพันธุ์ การที่เธอไม่สามารถมีลูกได้ คือการที่เธอไม่สามารถสมบูรณ์แบบได้ กายกับจิตไม่สอดคล้องกัน ร่างกายของเธอไม่ได้เป็นของเธอแต่เป็นครรภ์รวมของสังคมในการผลิตผู้สืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไป
การรับบุตรบุญธรรมเป็นการแก้ไขความขาดพร่องที่ยอมรับได้ในมาตรฐานของสังคม เพื่อนำไปสู่จิตที่สมบูรณ์ของการสร้างครอบครัว ตัดขาดร่างกาย (เพศรส) ออกจากจิต (ครอบครัว) ควบคุมร่างกายโดยสังคม (เพราะการรับลูกบุญธรรมทำให้ร่างกายไม่ต้องดิ้นรนไปมีลูกกับคนอื่น) แต่เช่นกันเธอไม่สามารถเข้ากันได้กับมิติทางสังคมแบบนั้น หนังเล่าข้ามๆ ว่าเธอน่าจะเปลือยกายต่อหน้าเด็ก หรือจับเด็กแต่งตัวแปลกๆ และหนักที่สุดคือปล่อยให้เด็กเผาบ้าน เธอส่งเด็กกลับไปด้วยความต้องการของเธอเอง แต่ก็สำนึกเสียใจอยากได้คืน เธอมีความสัมพันธ์ชิดใกล้กับแม่และเธออยากส่งต่อมายังลูกของเธอ ในมาตรฐานทางศีลธรรมของสังคมปัจจุบัน ในจิตอันควบคุมสังคมเธอเป็นร่างกายที่ใช้ไม่ได้ เป็นเพียงเด็กไม่รู้จักโต โตแต่ตัวก็ว่าได้ ซึ่งน่าสนใจมากว่าในขณะที่ร่างกายของ Gaston ใช้ไม่ได้จริงๆ เพราะเขาอาจเป็นหมัน แต่เขามีจิตแบบเดียวกับสังคมอนุรักษ์นิยมที่เขาสังกัด ร่างกายที่สมบูรณ์ของเธอกลับไม่สอดพ้องกับ ‘จิต’ ของสังคม ดังนั้น ถึงที่สุด Ema เหลือเพียงอาวุธเพียงชนิดเดียวสำหรับการต่อต้าน และนั่นคือ ร่างกายของเธอเอง
—————————————————————
จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
—————————————————————-
มันจึงเป็นร่างกายนี้เองที่ปฏิวัติและต่อต้านจิต ผ่านทางการคบชู้ เมื่อเธอตั้งใจจะหย่ากับ Gaston แต่กลับยั่วยวนทนายสาวของเธอเอง และยังไปยั่วยวนสามีของทนายสาวอีกด้วย กล่าวให้ถึงที่สุด Ema ร่วมรักกับทุกคนบนจอไม่เว้นแม้แต่เพื่อนสาวของเธอ ตามสโลแกน ‘orgasm can be danced’ เสรีภาพทางเพศเป็นการปลดปล่อยร่างจากการถูกผูกมัดด้วยจิตหรืออีกชื่อหนึ่งคือกฏหมาย ศีลธรรม ทุน โลกแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่เธอต้องการนั้นมากไปกว่าการปลดปล่อย หากคือการเป็นฝ่ายควบคุมเสียเองสร้างชุดศีลธรรมหรือ ‘จิต’ ชนิดใหม่ เธอยั่วยวนสามีของทนายที่เป็นนักดับเพลิง (ในขณะที่เธอเป็นนักเผา มันจึงเป็นการพิชิตสังคมไปในตัว) และทั้งคู่คือคู่ผัวเมียที่รับลูกชายต่อไปจากเธอ ถึงที่สุดเธอเปิดเผยความจริงไม่ใช่เพื่อการแตกสลาย หากเพื่อสร้างขึ้นใหม่ ในเมื่อร่างกายของเธอ เครื่องมือชนิดเดียวที่เธอมี บรรจุเด็กทารกอีกคนเอาไว้ เธอจึงใช้ร่างกายของเธอของเธอในการควบคุมจิตของคนที่เหลือให้ ‘เต้นตาม’ การนำของเธอ เธอกลับมาเป็นฝ่ายกุมอำนาจเสียเอง ในฉากสำคัญท้ายเรื่องจึงบังเกิดการกลับหัวกลับหางอำนาจดั้งเดิมอย่างรุนแรง เมื่อผู้หญิงสองคน (ที่มีฉากพลอดรัก รวดร้าว ร่ำลาราวกับคู่รักจริงๆ ) อยู่ในอีกห้องกับลูกๆ ลูกชายบุญธรรมของเหล่าเธอที่ถูกมาจับตัดผมให้ไร้เพศและเด็กทารกที่เกิดใหม่ พวกเธออยู่ในห้องนั่งเล่นที่มีแสงอาทิตย์สาดส่อง ขณะที่ผู้ชายสองคนอยู่ในห้องครัว ชงนมและทำกับข้าว
สิ่งที่เธอกระทำทำให้นึกถึงสิ่งที่ Karl Marx เคยเขียนไว้ใน ปรากฏการณ์วิทยาแห่งจิต (The Phenomenology of Mind) (ซึ่งเกิดจากการศึกษางานปรัชญาของ Hegel อีกทอดหนึ่ง) ว่า
‘สมมติว่าเรามีอิสรชน 2 คน ซึ่งต่างก็ตระหนักในอิสรภาพของตนเอง แต่หาได้ตระหนักไม่ว่าพวกตนมีธาตุแท้เหมือนกันในฐานะด้านต่างๆ ของจิตสากลหนึ่งเดียว แต่ละคนจึงเห็นอีกฝ่ายเป็นคู่แข่ง เป็นข้อจำกัดขัดขวางอำนาจของเขาเหนือสิ่งอื่นทุกสิ่ง ดังนั้นสถานการณ์จึงไม่เสถียร เกิดการต่อสู้กันตามมา ซึ่งคนหนึ่งพิชิต และเอาอีกคนลงไปเป็นทาส อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์แบบนายทาส/ทาสก็ไม่เสถียรเช่นกัน แม้กะแรกจะดูเหมือนว่านายทาสเป็นทุกสิ่งทุกอย่างและทาสไม่เป็นอะไรเลย แต่กระนั้นตัวทาสต่างหากที่ทำงานและเปลี่ยนโลกธรรมชาติไปด้วยงานของเขา การที่ทาสยืนกรานธาตุแท้และจิตสำนึกของตัวเขาเหนือโลกธรรมชาติ ทาสก็ได้บรรลุความพอใจละพัฒนาจิตสำนึกของตัวเองไปขณะที่นายทาสกลับกลายเป็นพึ่งพาทาสของตนเสียฉิบ ดังนั้นผลลัพธ์อันติมะจึงต้องได้แท้การปลดปล่อยทาสและการเอาชัยเหนือความขัดแย้งเริ่มแรกระหว่างอิสรชนทั้งสอง’ *1
(ผลลัพธ์อันติมะ หมายถึง ผลลัพธ์ในท้ายที่สุด —บรรณาธิการ)
เราอาจจับแพะชนแกะการต่อต้านของเธอ โดยเปลี่ยน นายทาส/ทาส เป็น สามี/ภรรยา ผู้ชาย/ผู้หญิง ศิลปิน/นักแสดงในงานของเขา นายทุน/ลูกจ้าง ระบบสังคม/มนุษย์ หาก Marx เปลี่ยนความคิดเรื่องของจิต/พระเจ้าไปสู่เงินตราและชนชั้นในเวลาต่อมา แต่เธอเป็นนักปฏิวัติหรือทรราชย์ ก็ไม่อาจตอบได้ เพราะในสุดเธอไม่ได้ปลดปล่อยผู้คนอย่างที่คอมมิวนิสม์วาดฝัน หากเธอเป็นตัวอันตราย เป็นจิตชนิดใหม่ที่กดข่มผู้คนเอาไว้ ไม่ต่างจากที่เธอเคยต่อต้าน เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นจากการล่อลวง เลยตามเลย ตกกระไดพลอยโจนมากกว่าการยอมรับโดยสมัครใจ และเธอเองก็ต้องเป็นเผด็จการในชุดความคิดนี้ต่อไป ซึ่งก็แปลว่าไม่มีการปลดปล่อยที่แท้จริงเมื่อมนุษย์อยู่ด้วยกันมากกว่าหนึ่งคน มันจึงน่าสนใจว่าเมื่อย้อนกลับไปฉากแรกสิ่งที่สำคัญไม่ใช่การสร้าง (ทารก / การเต้น / ร่างกาย หรือจิตใดๆ) แต่คือการทำลาย
บางทีเราอาจบอกได้อย่างไม่ค่อยถูกต้องว่า Ema เป็นนักปฏิวัติพอๆ กับนักทำลาย แต่ที่จริงแล้วเธอต้องการเพียงแค่ล้มล้างขนบเดิม ด้วยการใช้แรงกาย เรือนกาย ร่างกาย ต่อต้านความสูงส่งของจิต บางที่นี่คือสนามใหม่ นี่คือการต่อสู้ของหนุ่มสาวในรุ่นของ Ema ที่อาจจะไม่ใช่การเดินขบวนประท้วง การเข้าร่วมพรรคสังคมนิยม การจับปืนเป็นกองกำลังแต่เป็นการเต้นไปตามถนน การร่วมรักอย่างบ้าคลั่ง และการก้าวข้าม/ทำลายล้างระบบศีลธรรมดั้งเดิมลงด้วยความเป็นไปได้ใหม่ๆ ฉากสำคัญของเรื่องนอกจากการเต้นจึงคือการเผา ลูกชายของเธอเผาบ้าน เธอเผาเมือง การเผาไม่มีนัยยะอื่นใดมากไปกว่าการทำลาย ราวกับว่า Polo คือคู่หูที่แท้จริงของเธอ คู่หูของการไร้เพศ ไร้จิต และพร้อมจะทำลายล้าง ฉากจบของหนังจึงกลายเป็นฉากปิดที่สำคัญยิ่ง เพราะมันไม่ได้จบที่ครอบครัวชนิดใหม่ที่มีลูกและรักไขว้กันไปมาแต่มันคือฉากการเดินไปซื้อน้ำมันที่ปั๊ม และการเผาทำลายราวกับมีบางสิ่งรอคอยที่จะถูกเผาอยู่ ซึ่งอาจเป็นโลกพร่องพิการใบเดิมของเราทุกคน
*1 มาร์กซ์ ความรู้ฉบับพกพา (Peter Singer แปลโดย เกษียร เตชะพีระ)
*ชมภาพยนตร์ได้ที่ https://mubi.com/films/ema-2019 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 2 มิถุนายน
Tags: Karl Marx, EMA, Pablo Larrain