เมื่อกลางเดือนก่อน มูลนิธิเทอร์การ์ เอเชีย จัดการอบรมภาวนา ‘ชีวิตที่เบิกบาน’ ระดับหนึ่ง (Joy of Living) ที่มีเนื้อหาการอบรมว่าด้วยการภาวนาด้วยสติระลึกรู้เพื่อให้จิตสงบและมีหัวใจที่เบิกบาน ตามกระบวนการและแนวคำสอนของยองเจ มิงยูร์ ริมโปเช ธรรมาจารย์สายทิเบต
The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.เอลิซา จาง (Dr. Eliza Cheung) นักจิตวิทยาคลินิกชาวฮ่องกง กระบวนกรของการอบรมภาวนาดังกล่าว
นอกจากงานด้านจิตวิทยาคลินิก ดร.เอลิซายังเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านสุขภาพจิตของผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย เคยร่วมปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ขององค์การนานาชาติในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาทิ การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลาในเขตประเทศไลบีเรีย ค่ายผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ในบังกลาเทศ ภัยพิบัติในเนปาล ภูฏาน สิงคโปร์ และจีน และเธอก็เคยได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสิบของ Hong Kong Outstanding Young Persons ในปี 2015
อันที่จริง ปัญหาสุขภาพจิตไม่ได้เกิดขึ้นแต่เพียงกับผู้ประสบภัย แต่เป็นปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งของคนทั่วโลก เช่น สภาวะจากโรคซึมเศร้า ที่องค์การอนามัยโลกคาดว่าจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับหนึ่งของโลกภายในหนึ่งทศวรรษข้างหน้า
จิตวิทยา และการภาวนาเพื่อให้มีสติระลึกรู้นั้น—สัมพันธ์กับสุขภาพจิตและการเยียวยาจิตใจอย่างไร ดร.เอลิซามีคำตอบให้อย่างกระจ่างแจ้ง
ทำไมคุณเลือกเรียกจิตวิทยา
ครอบครัวเราเป็นชาวพุทธ พ่อเป็นครูสอนพุทธศาสนาสายมหายาน ตั้งแต่เด็กๆ จะได้ยินพ่อพูดเสมอว่า ปรากฏการณ์ในโลกนี้เป็นผลผลิตของจิต จึงสนใจอยากเรียนจิตวิทยาซึ่งเป็นศาสตร์ตะวันตกเพื่อจะรู้ว่าจิตทำงานอย่างไร
ตอนเรียนไฮสกูลฉันได้มีโอกาสไปทำงานอาสาสมัครในชนบท ได้พบกับครอบครัวหนึ่งซึ่งน่ารักและใจดี แต่มีเรื่องหนึ่งที่ทำให้กระอักกระอ่วนใจมาก คือเขาล่ามลูกคนหนึ่งไว้กับประตู เด็กคนนั้นมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ภาพที่เห็นทำให้คิดว่าคนเราไม่ว่ามีความบกพร่องหรือข้อจำกัดในเรื่องใด ก็ควรมีสุขภาวะที่ดีและมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพของเขา ยิ่งทำให้คิดว่าถ้าเรียนจิตวิทยา ฉันอาจใช้ความรู้ความสามารถที่มีช่วยเหลือคนไม่ว่าในเมืองหรือชนบทให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในพื้นที่ประสบภัยหรือคนที่ตกอยู่ในวิกฤตการณ์บางอย่าง
ตอนสมัครเข้าเรียนมหา’ลัย ฉันเขียนไว้ในหนังสือแนะนำตัวเลยว่า ต้องการเป็นนักจิตวิทยาคลินิก ทำงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและรู้สึกโชคดีว่าทุกวันนี้ก็ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้
เมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว สึนามิ หรือการแพร่ระบาดของโรคร้ายแรง นอกจากทีมกู้ภัย ทีมบรรเทาทุกข์ นักจิตวิทยามีบทบาทสำคัญอย่างไร
หลังภัยพิบัติหรือวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ แน่นอนว่าเราต้องมีทีมกู้ภัยเข้าไปช่วยชีวิตคนซึ่งอาจจะติดอยู่ในซากปรักหักพัง ทีมแพทย์และพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย คนบาดเจ็บ รวมถึงทีมบรรเทาทุกข์ที่จะช่วยสร้างที่พักชั่วคราวสำหรับคนที่สูญเสียที่อยู่อาศัย แต่ถ้าเราไม่ดูแลสภาพจิตใจของคนเหล่านั้น ก็เหมือนเรายังไม่ได้ช่วยเหลือเขาอย่างรอบด้าน ที่เราเรียกว่า ‘mental health and psycho-social well-being’ คือเราอาจจะให้ยา แต่ยาก็ไม่ใช่สุขภาพ
สุขภาพหรือสุขภาวะประกอบด้วยมิติทางกาย สังคม และจิตใจ ยกตัวอย่างเช่น เราให้ผ้าห่มหรือที่นอนแก่พวกเขาได้ แต่เขาจะหลับดีหรือไม่ เราให้กันไม่ได้ บ่อยครั้งหลังประสบภัยพิบัติ ผู้ประสบภัยจะกินไม่ได้นอนไม่หลับ สภาพจิตใจจึงสำคัญ คือเมื่อบ้านเขาวอดวาย เราอาจช่วยสร้างบ้านหลังใหม่ได้ แต่ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพจิตและสุขภาวะทางสังคม บ้านหลังใหม่นั้นก็อาจไม่ใช่บ้านในความหมายที่แท้จริงของเขา
ฉะนั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา องค์กรนานาชาติที่ส่งทีมบรรเทาทุกข์เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรณีต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับงานเชิงจิตวิทยาด้วย แม้แต่ในสถานการณ์อย่างการระบาดของไวรัสอีโบลา สิ่งที่เราเรียกว่า การช่วยเหลือทางจิตวิทยา (Psychological Intervention) ถือเป็นส่วนสำคัญของปฏิบัติการดังกล่าว เพราะคนเราเวลากลัวมากๆ และมีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เขาอาจจะทำสิ่งที่เราไม่เข้าใจ และส่งผลกระทบต่อการติดตามการระบาดและการควบคุมโรคได้
ในสถานการณ์อย่างการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา การสร้างความเชื่อใจในชุมชนน่าจะเป็นเรื่องสำคัญ
ใช่แล้ว เพราะในสถานการณ์นั้นชาวบ้านจะเต็มไปด้วยความหวาดระแวง ชุมชนไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ที่รัฐส่งเข้าไป ตอนที่ฉันลงพื้นที่ในไลบีเรีย คนจำนวนมากเชื่อว่าคนป่วยและตายเพราะวิญญาณชั่วร้าย ทำให้เกิดความเข้าใจผิดๆ เราต้องรับมือกับข่าวลือ ความกลัว และความวิตกกังวลของชาวบ้าน แม้แต่เวลาที่รัฐบาลขอให้ชาวบ้านส่งตัวคนไข้ไปโรงพยาบาล หรือยินยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาติดตามในกรณีสงสัยว่ามีคนได้รับเชื้อ ชาวบ้านก็ไม่ไว้ใจ แต่กลับพาคนไข้ไปหาหมอผีหรือทำอะไรอื่นที่แปลกประหลาด ซึ่งบางทีก็ทำให้การแพร่ระบาดเลวร้ายลง ดังนั้น ถ้าเราสามารถฟื้นคืนความเชื่อใจในหมู่ชาวบ้านได้ ทีมทำงานก็จะสื่อสารกับชาวบ้านได้ดีขึ้น แก้ไขความเข้าใจผิดๆ ได้ง่ายขึ้น ชาวบ้านเองก็พร้อมจะรับความช่วยเหลือจากพวกเขา
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว เรายังต้องทำงานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หรืออาสาสมัครในท้องถิ่นด้วย เพราะเราอาจจะไปอยู่ได้แค่หนึ่งหรือสองเดือน จึงต้องทำให้แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่อไปได้ บางครั้งต้องช่วยพวกเขาวางระบบการให้บริการ ยกตัวอย่างเช่น ในการรับมือกับคลื่นผู้อพยพจากเมียนมาร์ไปยังบังกลาเทศในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เราเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสร้างพื้นที่พิเศษที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ รวมถึงผู้ชายและผู้หญิงได้มารวมกลุ่มและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกเรื่องที่สำคัญคือกลไกและเครือข่ายสำหรับการส่งตัวผู้ประสบภัย เพราะเราคงไม่สามารถรองรับปัญหาทุกเรื่องได้เอง หากมีกรณีร้ายแรง ไม่ว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยหรือปัญหาจิตใจ เราก็สามารถส่งตัวเขาไปยังโรงพยาบาลหรือองค์กรท้องถิ่นเพื่อรับบริการอย่างทันท่วงทีได้
แล้วภาวะจิตใจของทีมบรรเทาทุกข์เองล่ะ ต้องดูแลพวกเขาอย่างไรบ้าง
คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความตาย อันตราย และสภาพการณ์เลวร้ายทุกรูปแบบ แม้เขาจะเข้าไปในฐานะผู้ช่วยเหลือ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ส่งผลต่อจิตใจพวกเขาอย่างหนัก ฉันเองยังจำประสบการณ์ครั้งแรกที่ต้องพาครอบครัวผู้เสียชีวิตไปชี้ศพได้ ภาพเหตุการณ์ตอนนั้นยังติดตาอยู่เลย เวลาพูดถึงการสูญเสียหรือความตาย เรามักจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่งานที่พวกเราทำ ต้องเผชิญความตายในระยะประชิดอยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งเวลาเห็นร่างผู้เสียชีวิตเราก็อดคิดไม่ได้ว่า เมื่อไม่กี่อึดใจนี้ ก่อนที่ตึกจะถล่มลง หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็คงยังมีลมหายใจอยู่ ยังทำกิจวัตรหรือการงานของตัวเองอยู่เลย
บ่อยครั้งคนทำงานภาคสนามจึงเครียด หดหู่ และพลอยเสียขวัญกำลังใจ เพราะรู้สึกว่าทำสุดความสามารถแล้วแต่ก็เหมือนไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น ช่วยชีวิตคนไม่ได้ มีคนเจ็บมากมายเหลือเกิน เร่งมือเท่าไรก็เอาชนะความตายไม่ได้ บางทีพวกเขาถึงต้องพึ่งเหล้าพึ่งยาหรืออะไรอื่นที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง เพื่อข่มใจและสลัดความรู้สึกที่หนักอึ้งเหล่านั้น ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ได้ช่วย หรืออาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกด้วยซ้ำ
ฉะนั้น การดูแลตัวเองสำคัญมาก เวลาพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในทีมหรือเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ฉันมักจะใช้คำแจ้งเตือนความปลอดภัยที่เราได้ยินกันเวลาโดยสารเครื่องบินที่ว่า เมื่อหน้ากากออกซิเจนตกลงมา แรกสุดคุณต้องสวมให้ตัวเอง แล้วจึงหันไปสวมให้กับคนในความดูแล การทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็เช่นกัน เราต้องรู้จักดูแลตัวเองก่อนจึงจะสามารถไปช่วยเหลือผู้อื่นได้
แล้วตัวคุณเองล่ะ ดูแลกายใจอย่างไรบ้าง เพราะในหลายสถานการณ์คุณก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเหมือนกัน
ยอมรับว่างานแบบนี้ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะครั้งแรกๆ ที่เห็นศพ ซึ่งคนที่ตายในภัยพิบัติ ร่างมักจะไม่สมบูรณ์ การมองดูก็ยากแล้ว ในเวลาอย่างนั้น การสงบใจและตั้งสติสำคัญมาก เพราะรอบตัวจะมีแต่ความโกลาหล โศกเศร้า ชวนเสียขวัญ ถ้าไม่ตั้งสติดีๆ คุณจะโฟกัสกับสิ่งที่ต้องทำไม่ได้และตัดสินใจได้ไม่ดีพอ บอกได้เลยว่าถ้าไม่ได้ฝึกสมาธิภาวนาอยู่สม่ำเสมอ ฉันคงไม่สามารถทำงานนี้มาจนถึงทุกวันนี้ได้
แม้ว่าเรียนมาทางจิตวิทยาก็ตาม
ใช่ค่ะ
คุณเริ่มฝึกสมาธิภาวนาตั้งแต่เมื่อไร
อย่างที่เล่าว่าพ่อเป็นครูสอนพุทธศาสนา ตอนฉันอายุ 6-7 ขวบ พ่อพยายามสอนให้ฝึกสมาธิ แต่ตอนนั้นรู้สึกว่า โห…ยากจัง ฉันคงไม่ใช่คนที่จะฝึกสมาธิได้หรอก จะให้นั่งจดจ่ออยู่อย่างนั้น ทำไม่ได้หรอก แต่ระหว่างที่เรียนปริญญาตรี มีโอกาสเดินทางไปแสวงบุญกับแม่ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักและสัมผัสกับพุทธทิเบต ตอนนั้นเป็นช่วงเทศกาลบุญอย่างหนึ่ง ช่วงกลางวันที่วัดมีการสวดมนต์ ในตอนค่ำ มิงยูร์ รินโปเช จะมาสอนสมาธิภาวนา แม่กับฉันก็เข้าร่วม
ตอนที่ได้เรียนกับท่าน ฉันประหลาดใจมาก ไม่เคยนึกเลยว่าสมาธิภาวนาจะเป็นเรื่องง่ายอย่างนี้ ง่ายและสะดวกแบบที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและฝึกได้ เมื่อกลับมาฮ่องกง ฉันก็เริ่มเข้ากลุ่มภาวนาของมูลนิธิเตอร์การ์ ซึ่งตอนนั้นยังเป็นแค่คอมมิวนิตี้เล็กๆ ถือเป็นจังหวะที่ดี เพราะหลังจากนั้นฉันต้องเริ่มรับการอบรมและฝึกงานเพิ่มเติมเพื่อเป็นนักจิตวิทยาคลินิก สมาธิภาวนากลายเป็นเครื่องมือติดตัวที่มีประโยชน์มาก เราทุกคนเป็นมนุษย์ การรับฟังอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น การตกอยู่ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยการสูญเสียและความโศกเศร้า หลีกเลี่ยงไม่ได้หรอกที่เราจะซึมซับอารมณ์เหล่านั้นมา สมาธิภาวนาช่วยให้ฉันมีสติ ไม่ถลำไปกับความรู้สึกที่ถาโถมเข้ามา
สมาธิภาวนาและจิตวิทยามองการทำงานของจิตเหมือนกันหรือไม่
ต่างกันเพียงว่ามองจากมุมของใคร จิตวิทยาตะวันตกมองด้วยสายตาคนนอก (objective) สมาธิภาวนาเป็นการมองผ่านประสบการณ์ของตัวเอง เพราะว่าจิตก็ตั้งอยู่ตรงนั้น ทำไมไม่ลองดูด้วยมุมมองของบุคคลที่หนึ่งว่าจิตทำงานอย่างไร ทุกวันนี้ มีงานวิจัยมากมายที่แสดงถึงคุณประโยชน์ของสมาธิภาวนาต่อการทำงานของสมอง คิดว่าการทำความเข้าใจจิตด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์แบบตะวันตกและวิธีการแบบเอเชียกำลังเขยิบใกล้เข้ามาทุกที
คุณมากรุงเทพฯ คราวนี้เพื่อเป็นวิทยากรในการอบรมภาวนา ชีวิตที่เบิกบาน เนื้อหาหลักในการอบรมที่ผ่านไปแล้วนั้นคืออะไร
การอบรม Joy of Living มี 3 ระดับ ซึ่งการอบรมครั้งนี้เป็นระดับที่หนึ่ง เนื้อหาหลักๆ คือการฝึกสติระลึกรู้ (awareness) เพื่อทำความคุ้นเคยกับจิตของเราด้วยวิธีการและหนทางต่างๆ ระดับสองเป็นเรื่องความเมตตากรุณา และระดับที่สามเป็นการฝึกวิปัสสนาให้เห็นถึงความว่าง อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมทั้งสามระดับนี้ไม่ถือเป็นการอบรมทางศาสนา คนที่มีปูมหลังทางศาสนาอื่น ก็สามารถเข้าร่วมและรับประโยชน์ได้
สติระลึกรู้หรือ awareness นั้น ในมุมมองของจิตวิทยาแล้วคืออะไร
โดยทั่วไป นักจิตวิทยาจำนวนมากคงบอกว่าเป็นความรู้สึกตัว (consciousness) แต่สำหรับฉัน คิดว่ามันไม่ตรงกันเสียทีเดียว เพราะการมีสติระลึกรู้ นอกจากว่าเรารู้อะไรบางอย่าง เรายังรู้ว่าเรารู้ถึงสิ่งนั้น ในจิตวิทยาตะวันตกเรามีคำเรียกลักษณะเช่นนี้อีกคำว่า การรู้ (cognition) ตัวอย่างเช่น เวลาคุณยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม คุณมองเห็นแก้วใบนั้น แต่บางครั้งใจกลับไปอยู่ที่อื่น อาจกำลังคิดว่า เย็นนี้จะกินอะไรดีนะ หรือบางทีเราได้ยินเสียงบ่นของคนรอบข้าง ไม่ว่าแม่ ภรรยา หรือสามี แต่ใจกำลังนึกเรื่องอื่น ถามว่าคุณรู้สึกตัวอยู่ไหม รับรู้สัมผัสของแก้วน้ำไหม คุณก็รู้ทุกอย่าง แต่ประสาทรับรู้กับจิตรู้มันไปคนละทิศละทาง อันนี้ไม่ถือว่ามีสติระลึกรู้ เพราะถ้ามีสติ จิตกับประสาทรับรู้จะไม่แยกจากกัน
จิตที่แส่ส่ายซุกซนนี้ มิงยูร์ รินโปเชเรียกว่า ‘จิตลิง’ (monkey mind) และนั่นคือเหตุผลที่ฉันรู้สึกว่าสิ่งที่ท่านสอนมีค่ามากสำหรับคนยุคนี้ เพราะว่ามันช่างง่ายและสะดวก ทุกวันเรารับรส รับกลิ่น ได้ยินเสียง ความคิดความรู้สึกมากมายถาโถมสู่จิต ท่านบอกว่าเราสามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือ เป็นตัวช่วยในการภาวนาได้ พูดอีกอย่างก็คือทำความคุ้นเคยว่าจิตเราทำงานอย่างไรผ่านสิ่งเหล่านั้น ทุกสิ่งสามารถกลายเป็นตัวช่วยแทนที่จะเป็นปัญหา
การมีสติระลึกรู้สำคัญต่อสุขภาพจิตที่ดีของเราอย่างไร
มิงยูร์ รินโปเช สอนว่าจิตลิงนี้เองคือต้นเหตุของความทุกข์ความกังวลที่เราเผชิญอยู่ เพราะมันเต้นเร่า แส่ส่ายอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมันพะเน้าพะนอตามใจเรา แต่บางทีก็พยศ ทำให้จิตใจเราอลหม่าน ทุกวันนี้ปัญหาสุขภาพจิตกำลังเป็นเรื่องใหญ่ ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ภายในปี 2030 โรคซึมเศร้าจะกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับหนึ่งของโลก (Global Disease Burden) ในแง่ที่ว่าโรคหรือความป่วยไข้หนึ่งๆ อาจทำให้คนเสียชีวิต ไม่สามารถทำงานหรือประกอบอาชีพได้ และผลกระทบของโรคซึมเศร้าต่อสังคมโดยรวมจะนำหน้าผลกระทบจากมะเร็ง โรคหัวใจ หรืออุบัติเหตุที่เกิดบนท้องถนน
เราต้องเข้าใจว่าบ่อยครั้งปัญหาสุขภาพจิต ไม่ใช่ว่าปุบปับก็เกิดขึ้นมา หรือเป็นครั้งหนึ่งแล้วหาย มันมักจะสั่งสมมา ในช่วงแรกๆ อาจเป็นแค่รูปอารมณ์ ซึ่งไม่ได้มีผลทางบวกหรือลบ อารมณ์ทุกอย่างมีหน้าที่ของมัน แต่เพราะจิตลิงของเราต้องการกำจัดความรู้สึกหรือยอมตามความรู้สึกนั้น ไม่ว่ามันจะพาขึ้นเขาหรือลงห้วย ต่อมา ลูปอารมณ์แบบนั้นก็อาจเลวร้ายลง อาจไปถึงจุดที่หมุนดิ่งกลายเป็นอาการซึมเศร้า ในตอนแรก ถ้าเราระลึกรู้ว่าฉันไม่มีความสุข ฉันเศร้า ทุกข์ใจกับเรื่องบางเรื่อง แล้วยอมรับความรู้สึกนั้น เป็นเพื่อนกับมัน มันจะไม่พาเราดิ่งจนกลายเป็นปัญหาระยะยาว การระลึกรู้ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิตได้ เพราะมันช่วยให้เรารู้ตัวเวลาที่ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นในครั้งแรกและรับมือได้อย่างถูกวิธี
พูดได้ไหมว่า การระลึกรู้ ช่วยให้เราวินิจฉัยโรค (diagnose) หรือปัญหาได้เร็วขึ้น
การวินิจฉัยโรคทำเมื่อคุณป่วยด้วยโรคอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว แต่การระลึกรู้ช่วยให้เราคุ้นเคยและยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจเราเองอย่างเป็นมิตร ไม่เป็นปฏิปักษ์กับใจตัวเอง ซึ่งบ่อยครั้งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้
คือเราไม่จำเป็นต้องมองอารมณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นบวกหรือลบ
ใช่ เพราะคนที่มีปัญหาสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้าหรือโรคประสาทกังวล สิ่งที่พบก็คือว่า บ่อยครั้งพวกเขาไม่ชอบที่รู้สึกซึมเศร้า กังวล หรือเศร้าใจ จึงพยายามกดมันไว้ หนี หรือต่อสู้กับมัน และนั่นก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาว แต่ถ้าเราระลึกรู้ ว่าการมีอารมณ์เป็นเรื่องปกติ ใครมาด่าว่าฉัน ฉันย่อมโกรธ นั่นเป็นปฏิกิริยาปกติ ฉันระลึกรู้ และปล่อยให้ความโกรธอยู่ตรงนั้นสักพัก ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจิตของเรา เป็นธรรมดาที่จะผุดขึ้นแล้วจางหายไป ถ้าเราไม่หน่วงเหนี่ยวไว้ ปัญหาคือเราชอบที่จะทำตรงกันข้าม ฉันโกรธเหลือเกินแต่ฉันไม่อยากโกรธ ฉันอยากข่มมันไว้ อยากสลัดมันทิ้ง หรือไม่ก็ปล่อยใจเตลิดไปกับมัน มันเรียกร้องให้ทำอะไรก็ทำตาม ความโกรธไม่ใช่ปัญหา แต่การหน่วงเหนี่ยวหรือผลักไสนั่นล่ะคือตอนที่มันจะกลายเป็นปัญหา
ฟังดูง่าย แต่ทำจริงๆ ก็ยากอยู่นะคะ
จำได้ว่ามิงยูร์ รินโปเชก็เคยสอนเราเรื่องนี้ ตอนที่เราเริ่มฝึกสังเกตอารมณ์ของเรา บางครั้งเราจะเห็นว่าอารมณ์ก็ยังอยู่ตรงนั้น ไม่ไปไหน บางครั้งก็หายไป หรือแปรเปลี่ยนไป บางคนก็เห็นว่าอารมณ์ของตัวพองโตขึ้น ท่านบอกว่าอาจจะมีตัวแปรอื่นเข้ามากระทบมัน โดยเล่าถึงตัวท่านเองสมัยที่ชอบมีอาการตื่นตระหนก (Panic Disorder) ว่าบางครั้งความตื่นตระหนกพองโตขึ้นก็เพราะท่านกลัวว่าตัวเองจะตื่นตระหนก ฉะนั้นแทนที่จะมองดูความตื่นตระหนก ก็ให้หันมาดูความกลัวเสีย เพราะมันคือตัวการสำคัญ สมมติว่าความตื่นตระหนกคือไฟ ความกลัวว่าจะตื่นตระหนกก็เหมือนลม เพราะมันเป็นตัวกระพือให้ไฟลุกโหม
จริงอยู่ว่าการปล่อยให้อารมณ์ต่างๆ จางหายไปเอง ฟังดูง่ายแต่ทำยาก แต่ในการฝึกภาวนา เรามักจะเริ่มจากอารมณ์เล็กๆ สมมติสเกลจาก 1-10 ในช่วงเริ่มต้น เราจะบอกผู้เข้าอบรมว่า อย่าเพิ่งคาดหวังจะรับมือกับความโกรธระดับ 8-9 แต่ให้เริ่มจากระดับ 3-4 เมื่อคุ้นเคยกับการรับมือดีแล้ว จึงค่อยเขยิบขึ้นไป
ทำไมทุกวันนี้คนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากเหลือเกิน
นักจิตวิทยาก็พากันหาเหตุผลสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งหลายคนให้ข้อสรุปว่า ในอดีต เราอาศัยอยู่ในชนบท อยู่กันเป็นชุมชน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ทำได้ง่าย มีเรื่องทุกข์ร้อนใจก็เล่าสู่กันฟังได้ แต่เพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรม คนจำนวนมากมีวิถีชีวิตแบบปัจเจกมากขึ้น เราดูแลแต่ตัวเอง เราไม่มีชุมชนหรือครอบครัวขยายมาเกื้อหนุน ความรู้สึกโดดเดี่ยวจึงรุนแรงมากยิ่งๆ ขึ้นโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง
ในขณะเดียวกัน เราอาจรู้สึกว่าจู่ๆ เหมือนมีคนเป็นโรคซึมเศร้ากันมากเหลือเกิน อันนี้ก็อาจเป็นเพราะหนึ่ง—มีคนที่มีปัญหานี้มากจริงๆ สอง—อาจเป็นเพราะในอดีต เวลาคนมีปัญหาทางจิต เขาไม่อยากบอกใคร เพราะกลัวคนจะแปะป้ายให้เขาไปต่างๆ นานา และคิดว่าคงไม่มีใครเข้าใจ ที่ผ่านมา พวกเขาทนทุกข์อยู่ตามลำพังโดยไม่บอกใคร หรืออาจจะไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นอะไร แต่ในช่วงสองสามปีมานี้ สังคมโดยรวมเข้าอกเข้าใจปัญหานี้มากขึ้น เปิดใจรับมากขึ้น เขาจึงกล้าเดินไปหาแพทย์ เล่าให้คนใกล้ชิดฟัง และพร้อมที่จะบอกใครๆ ถึงปัญหาของตัวเอง
แต่บางทีการขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจถูกมองว่าคิดไปเองหรือเปล่า อ่อนแอเกินไปไหม ใครๆ ก็เครียด และมีเรื่องเศร้ากันทั้งนั้น
เราต้องแยกให้ชัดก่อนว่าความทุกข์ใจไม่ใช่โรคซึมเศร้า ความทุกข์ใจ ความเศร้าเป็นอารมณ์ความรู้สึกชั่วคราว แต่ ‘ความซึมเศร้า’ (Depression) เป็นภาวะโรค คนที่เป็นไม่ได้คิดไปเองหรือทำตัวให้มีอาการซึมเศร้า และในบางกรณี คนที่ซึมเศร้าไม่ได้รู้สึกเศร้า เขาไม่รู้สึกอะไรเลยต่างหาก เขารู้สึกชาแทนที่จะเศร้า คนที่รู้สึกเศร้าไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้า การวิเคราะห์ว่าบุคคลนั้นเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ลักษณะบ่งชี้อย่างหนึ่งก็คือ ก่อนมีอาการซึมเศร้าคนผู้นั้นมีสิ่งที่เคยชอบทำ เช่น เต้นรำ ร้องเพลง ทำอาหาร ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แต่ในช่วงที่มีอาการซึมเศร้า การทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ให้ความรื่นรมย์แก่เขาอีกต่อไป เขาไม่รู้สึกอยากทำกิจกรรมเหล่านั้นอีก จากอาการเช่นนี้ ถ้าเขานอนไม่หลับ กินไม่ได้ น้ำหนักลด และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าฉันเป็นแม่แต่มีอาการซึมเศร้า ก็คงไม่มีพลังจะดูแลลูกๆ ถ้าเป็นพนักงานบัญชีก็คงโฟกัสกับงานไม่ได้ ไม่มีแรงจูงใจ ก็อาจเป็นสัญญาณว่าเขามีอาการซึมเศร้า และควรไปรับคำปรึกษา
การรักษาโรคซึมเศร้า จำเป็นเสมอไปหรือไม่ว่าจะต้องใช้ยา
ถ้าไปพบจิตแพทย์ โดยส่วนใหญ่จะจ่ายยาให้ ส่วนนักจิตวิทยาคลินิกมักใช้กระบวนการทางพฤติกรรมหรือการบำบัดรูปแบบอื่นมาแก้ปัญหาให้กับคนไข้ แต่หลายกรณีนักจิตวิทยาจะไม่สามารถรับมือกับคนไข้ได้โดยตรง บ่อยครั้งจึงเป็นการทำงานคู่กันอย่างใกล้ชิด ในบางกรณี เช่น คนไข้มีอาการนอนไม่หลับรุนแรง (Insomnia) นักจิตวิทยาบำบัดจะส่งตัวไปพบจิตแพทย์ก่อนเพื่อรับยา เพราะคนที่นอนไม่ได้ เขาไม่มีเรี่ยวแรงหรือพลังใจจะทำอะไรอื่นหรอก การนอนหลับให้ได้ก่อนคือการรักษาเบื้องต้น เช่นเดียวกับคนที่มีอาการโรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งมีสาเหตุหลักจากสมดุลของสารสื่อประสาท Neurotransmitters) ในสมอง ยาจึงสำคัญมากในการรักษา แต่ในบางกรณี อย่างภาวะเครียดหลังประสบเหตุการณ์สะเทือนใจ (Post Traumatic Stress Disorder: PTSD) ตามแนวทางปฏิบัติสากลแล้ว การรักษาเบื้องต้นคือการบำบัดจิต ไม่ใช่ยา เพราะยาคงไม่สามารถแก้สิ่งที่เป็นต้นตอของปัญหาได้
สำหรับคนที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่อยากกินยา และเรารู้ว่าการบำบัดจิตบางวิธีอาจช่วยได้ ยกตัวอย่างเช่น มีลักษณะของ recurring depression คือเป็นแล้วรักษาหายแล้ว แต่กลับมาเป็นอีก ในทางการแพทย์ได้มีการศึกษาและเปรียบเทียบวิธีการต่างๆ ว่าแบบไหนดีที่สุด ยา พฤติกรรม หรือสิ่งที่เรียกว่าการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการเจริญสติ (Mindfulness-Based Cognitive Behavioral Therapy) เราพบว่าวิธีการหลังนี้ดีพอๆ กับการรักษาด้วยยา หรือในบางสถานการณ์ดีกว่ายาด้วยซ้ำ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องดูปัจจัยแวดล้อมเพื่อหาวิธีการที่เหมาะหรือดีที่สุด สำหรับคนไข้แต่ละราย
อย่างไรก็ตาม ถ้าคนไหนเริ่มใช้ยาแล้ว ขอแนะนำว่าอย่าหยุดยาด้วยตนเอง ต้องปรึกษาจิตแพทย์ของคุณก่อน เพราะการหยุดยาโดยกะทันหันอาจก่อปัญหายุ่งยากได้ โดยหลักแล้วยาจะทำงานกับสารสื่อประสาทซึ่งมีหลายตัว และต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งกว่าที่คุณจะหลั่งสารสื่อประสาทตัวนั้นๆ มากพอในระดับที่เห็นผล
นั่นก็แสดงว่าจิตกับกายแยกกันไม่ได้เลย
(ส่ายหน้า) มันเป็นหนึ่งเดียวกัน หลายครั้งคนถามฉันว่า เขามีปัญหาทางจิตและรับการรักษาอยู่ ถ้าเขามาฝึกภาวนา เขาก็ไม่ต้องกินยาแล้วใช่ไหม คำตอบคือ ไม่ใช่ สมาธิภาวนาไม่ใช่วิธีรักษาปัญหาสุขภาพจิต เวลาเราจัดอบรมสมาธิภาวนา เราจะบอกผู้เข้าร่วมอย่างชัดเจนว่าถ้าคุณมีปัญหาทางจิต อย่าหยุดยา เลิกไปพบแพทย์ หรือขาดนัดกับนักจิตวิทยา เพียงเพราะคุณฝึกภาวนาแล้ว ในบางกรณี มิงยูร์ รินโปเชแนะนำว่าคนที่มีปัญหาทางจิตร้ายแรง อย่างโรคจิตเภท สิ่งแรกที่เขาควรทำอาจจะไม่ใช่การฝึกสมาธิภาวนา แต่ควรไปทำกิจกรรมอื่นอย่างการออกกำลังกาย ไปฝึกกายก่อนจึงค่อยฝึกจิต ก่อนการอบรมเราจะย้ำเสมอว่า การภาวนาไม่ใช่สิ่งทดแทนการบำบัดรักษาวิธีอื่น
เราจะป้องกันอาการซึมเศร้าได้อย่างไร
ในแง่ส่วนตัว การป้องกันอาจทำได้ในระดับต่างๆ กัน อย่างที่บอก ถ้าเราระลึกรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกของเรา เข้าใจและฝึกที่จะปล่อยให้มันดับไปเอง อารมณ์ชั่วคราวเหล่านั้นก็จะไม่เลวร้ายลง ฝังรากลึก หรือพองใหญ่ขึ้นมา จนกระทบต่อตัวเราในระยะยาว ในอีกทางหนึ่ง ถ้าเราตระหนักว่าภาวะผิดปกติทางจิตบางครั้งก็เป็นผลจากสมดุลในร่างกายของเรา เช่นว่าสมดุลของสารสื่อประสาท การระลึกรู้จากสมาธิภาวนาอาจช่วยให้เรารู้ว่า ช่วงนี้ใจคอสั่นชอบกล วิตกกังวลแบบไม่รู้สาเหตุ แบบนี้ฉันควรต้องไปปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยา สิ่งนี้ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เราถลำสู่ปัญหาที่หนักข้อขึ้นไป
ในแง่การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าเราเห็นสัญญาณบางอย่างในคนใกล้ชิดหรือเพื่อนฝูง เราควรถามไถ่และยื่นมือเข้าไป เช่น รับฟังปัญหา พาเขาไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะการจับสัญญาณและให้การช่วยเหลืออย่างรวดเร็วมีความสำคัญมาก
ในฐานะนักจิตวิทยาบำบัด คุณคงต้องรับฟังปัญหาและทุกข์ของคนไข้อยู่ตลอดเวลา แล้วคุณเองมีวิธีเติมพลังให้ตัวเองอย่างไร
พูดคุยกับคนที่ไว้ใจก็เป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเล่าแค่คร่าวๆ โดยไม่ลงรายละเอียด เพราะงานที่ฉันทำเกี่ยวข้องกับความลับและความเป็นส่วนตัวของคนไข้ การฝึกภาวนาจึงเป็นหนทางหลักที่ฉันใช้เติมพลังในกับตัวเอง นอกเหนือจากการฝึกภาวนากลุ่มที่มูลนิธิเตอร์การ์จัดอยู่เป็นระยะ เรายังมีการภาวนาย่อยที่ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ ในแต่ละสัปดาห์ ฉันจะพยายามอยู่กับตัวเองอย่างน้อยหนึ่งวันเพื่อฝึกภาวนา
Fact Box
- ดร.เอลิซา จาง จบปริญญาตรีสาขาจิตวิทยาคลินิก จาก The Chinese University of Hong Kong และปริญญาเอกสาขาสาธารณสุข ที่ผ่านมา เธอร่วมทีมบรรเทาทุกข์ลงไปดูแลผู้ประสบภัยพิบัติในหลายพื้นที่ทั่วโลก อาทิ ไลบีเรีย เนปาล ภูฏาน สิงคโปร์ จีน และในฮ่องกง ในปี 2015 เธอได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในสิบ Hong Kong Outstanding Young Persons
- หนังสือของท่านมิงยูร์ ริมโปเช ชื่อ The Joy of Living - Unlocking the Secret & Science of Happiness ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศกว่า 20 ภาษา สำหรับภาษาไทยจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ในชื่อ ชีวิตที่เบิกบาน ไขรหัสสู่ศาสตร์แห่งความสุข แปลโดย พินทุสร ติวุตานนท์ บรรณาธิการโดย พจนา จันทรสันติ
- ติดตามกิจกรรมและการอบรม ชีวิตที่เบิกบาน ได้ที่ www.tergarasia.org