จุดหมายปลายทางของ ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ อยู่ที่ไหน?
สำหรับคนส่วนใหญ่ นี่อาจไม่ใช่คำถามที่จำเป็นต้องหาคำตอบ ในเมื่อเรามีถังขยะอยู่แล้ว เพียงแค่หย่อนมันลงถัง เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ก็จะคัดแยกแล้วนำไปขายต่อ หรือไม่ก็เก็บไว้รอขายให้พ่อค้ารับซื้อของเก่าหรือซาเล้งนำไปถอดแยกชิ้นส่วนเพื่อขายเป็นวัสดุรีไซเคิลต่อไป
ทว่าในความเป็นจริง รู้หรือไม่ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายและกลไกที่จะจัดการกับซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงของเสียอันตรายอื่นๆ ที่มีปริมาณเกือบสี่แสนตันต่อปีอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ขยะอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร?
‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ (electronic waste) คือของเสียจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เสื่อมสภาพหรือไม่เป็นที่ต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภทที่ใช้กระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการทำงาน
30 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นของทุกครัวเรือน เมื่อบวกรวมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการแข่งขันทางการตลาดที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีราคาลดต่ำลง จนกระทั่งผู้คนในทุกระดับสามารถเป็นเจ้าของได้
การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทำให้ผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่เร็วขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในกลุ่มคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือที่ผู้บริโภคจำนวนมากนิยมเปลี่ยนเครื่องก่อนที่เครื่องเดิมจะเสื่อมสภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อายุการใช้งานเฉลี่ยของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หดสั้นลง นำไปสู่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกน่าจะมีปริมาณมากกว่า 40 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี
สำหรับสหภาพยุโรป ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เก็บรวบรวมได้มากที่สุดคือเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขนาดใหญ่ (เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) รองลงมาคืออุปกรณ์เพื่อความบันเทิงของผู้บริโภค (เช่น โทรทัศน์ ชุดเครื่องเสียง) และอุปกรณ์สารสนเทศและการสื่อสาร (เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ)
นอกจากประเทศพัฒนาแล้ว ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศกำลังพัฒนาก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน คาดการณ์ว่าภายในปี 2561 ประเทศกำลังพัฒนาจะทิ้งขยะประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว และภายในปี 2573 ปริมาณซากคอมพิวเตอร์ในประเทศกำลังพัฒนาจะมีมากกว่าในประเทศพัฒนาแล้วถึงสองเท่า
เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะยังไม่มีกฎหมายและระบบจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้อง สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิดที่อยู่ในชิ้นส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนและคุณภาพของสิ่งแวดล้อม
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ดำเนินไปบนเส้นทางเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ คือมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ก็ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความเข้าใจว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นของเสียอันตรายที่ต้องมีการจัดการอย่างถูกวิธี และยังทิ้งรวมกับขยะทั่วไป
ที่สำคัญคือ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีเพียงกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับการจัดการของเสียอันตรายและการประกอบกิจการอุตสาหกรรม และกฎหมายสิ่งแวดล้อม
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในช่วงปี 2556-2559 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนโดยเฉลี่ย 380,605 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2.2 ต่อปี ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 64.8 ของปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งหมด
ขณะที่ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่าในปี 2559 ประเทศไทยมีของเสียอันตรายจากชุมชน 606,319 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.54 จากปี 2558 โดยเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 393,070 ตัน (ร้อยละ 65) และของเสียอันตราย (เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย ภาชนะบรรจุสารเคมี และกระป๋องสเปรย์) 213,249 ตัน (ร้อยละ 35) อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนมีสัดส่วนการเก็บรวบรวมเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพียงร้อยละ 7.1 ของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากชุมชน
แล้วที่เหลือหายไปไหน?
สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ ขยะอิเล็กทรอนิกส์คือ ‘ของเก่า’ ที่รอพ่อค้าหรือซาเล้งมาตระเวนรับซื้อจากบ้านเรือน ก่อนที่มันจะถูกส่งต่อไปยังแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเกือบ 100 แห่ง โดยแหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ที่แหล่งคัดแยก กิจกรรมที่เกิดขึ้นมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือ
- การถอดแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ด้วยมือ มีบางส่วนที่ใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล เช่น ถุงมือและหน้ากากอนามัย
- การเผาสายไฟและชิ้นส่วนพลาสติกเพื่อแยกทองแดงและโลหะ ทำให้เกิดไอทองแดง ฝุ่น สารไดออกซิน และฟิวแรนปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
- การทิ้งและทุบจอโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้โลหะหนักหลายชนิดปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
- การผ่าคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศและตู้เย็นเพื่อแยกทองแดง และทิ้งน้ำมันหล่อเย็นลงพื้น (บางรายเก็บรวบรวมน้ำมันหล่อเย็นไว้เพื่อขายต่อ)
- การตัดคอมเพสเซอร์ด้วยแก๊สเพื่อแยกทองแดงและเหล็ก
- การบดย่อยพลาสติกด้วยเครื่องจักร (ร้านค้าของเก่า)
- การเผาชิ้นส่วนที่ไม่สามารถขายได้
การจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการข้างต้น ทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักในดินและแหล่งน้ำ รวมทั้งเกิดการสะสมในร่างกายของผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งคัดแยกและในสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอันตรายทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังต่อทั้งคน พืช และสัตว์
ความหวังในการแก้ปัญหา
ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับเราว่า ภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการที่ทำให้จุดหมายปลายทางของขยะอิเล็กทรอนิกส์เปลี่ยนจากกลุ่มรับซื้อของเก่าเป็นโรงงานรีไซเคิล ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ คือการออกกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้ ในบทความเรื่อง ‘สถานการณ์ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ดร.สุจิตราระบุว่าการดำรงอยู่ของกลุ่มรับซื้อและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้โรงงานรีไซเคิลเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องลงทุนในระบบควบคุมสารอันตรายและมลพิษที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการ จึงมีต้นทุนในการดำเนินการสูงกว่ากลุ่มรับซื้อของเก่าที่มีต้นทุนเพียงค่าขนส่งและถอดแยก แต่มิได้รับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการทิ้งสารอันตรายและเศษชิ้นส่วนที่ปนเปื้อนโลหะหนักและสารอันตรายสู่สิ่งแวดล้อม โรงงานรีไซเคิลที่มีระบบการจัดการอย่างถูกต้องจึงไม่สามารถเสนอราคารับซื้อแข่งกับกลุ่มรับซื้อของเก่าได้
ดร.สุจิตราอธิบายเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า “ถ้ามีกฎหมาย ทุกคนต้องส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโรงงานรีไซเคิล เพราะกฎหมายถือกำเนิดขึ้นมาเพราะต้องการให้เกิดการจัดการอย่างปลอดภัย เมื่อซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ารับซื้อจากครัวเรือน เขาก็ต้องขายต่อให้กับโรงงานรีไซเคิล ห้ามขายให้กับแหล่งคัดแยกแบบที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการร่างกฎหมายเพื่อควบคุมดูแลขยะอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2547 แต่จวบจนปัจจุบันก็คงยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้ โดยเมื่อปี 2558 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้ยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ จึงส่งร่างพระราชบัญญัติฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) พิจารณา ซึ่ง สคก. ได้ตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายและมีการปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในร่างกฎหมายทั้งฉบับ และปรับชื่อร่างกฎหมายเป็นร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ….
ซึ่งจากการศึกษาเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไขโดย สคก. ดร.สุจิตราระบุว่า “มีเนื้อหาแตกต่างไปจากฉบับเดิมเป็นอย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่า สคก. ได้ยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ทั้งฉบับ และตัดหลักการและเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. เดิมออกไปเกือบหมดสิ้น”
ปัจจุบัน ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
เมื่อกลไกทางด้านกฎหมายยังไม่ชัดเจน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ และสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมกันผลักดันโครงการ ‘มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา’ เพื่อเป็นโครงการนำร่องสำหรับการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยรณรงค์ให้บริจาคโทรศัพท์มือถือเก่าในทุกสภาพ ซึ่งระยะเวลารับบริจาคของโครงการระยะที่ 1 คือระหว่างวันที่ 7 กรกฎาคมถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2560
สายฝน อภิธนัง หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์โครงการ ให้ข้อมูลว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับประชาชนทั่วไป จึงเริ่มต้นจากการรณรงค์ให้มีการส่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใกล้ตัวอย่างโทรศัพท์มือถือไปทำการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีโทรศัพท์มือถือเก่าตกค้างอยู่ในครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 200 ล้านเครื่อง
นอกจากเป็นการเปลี่ยนจุดหมายปลายทางจากกลุ่มรับซื้อของเก่าเป็นโรงงานรีไซเคิลเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดร.สุจิตราให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “มีข้อมูลว่าถ้ารวบรวมโทรศัพท์มือถือได้ 1 ตัน จะสกัดทองได้ประมาณ 300-350 กรัม ซึ่งถ้าเทียบกับการถลุงแร่ 1 ตัน จะสกัดทองได้แค่ 5 กรัม การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงให้เราไม่ต้องถลุงแร่เพิ่ม ไม่ต้องทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ต้องระเบิดภูเขา นี่คือประเด็นสำคัญ”
ขณะเดียวกัน หากประเทศไทยมีระบบการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจัดเก็บและรวบรวมขยะจากชุมชนเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ร้อยละ 20 ของปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากชุมชน รวมถึงมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสกัดโลหะมีค่าหายากได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยขยายตัวได้อย่างมีศักยภาพ โดยหากสถานการณ์ดำเนินไปในทิศทางดังกล่าว ในปี 2564 ตลาดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยน่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 10,290-11,420 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวราวร้อยละ 109.1-128.3 จากปี 2560
จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ นอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ยังช่วยเพิ่มช่องทางในการสร้างงานและสร้างรายได้ได้อีกมาก ดังนั้น ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ จึงเป็นทั้งปัญหาและโอกาสในเวลาเดียวกัน
คงต้องติดตามกันต่อไปว่าสังคมไทยจะคว้าโอกาสนี้ได้เมื่อใด
Fact Box
โครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา ระยะที่ 2 บริจาคโทรศัพท์มือถือที่ไม่ใช่แล้วทุกสภาพ ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ ได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี และนำรายได้มอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน 30 แห่งทั่วประเทศ และชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย โดยบริจาคได้ที่
- อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ทั่วประเทศ
- ศูนย์ ทสม. ประจำตำบลทั่วประเทศ
- จุดรับบริจาคโรงพยาบาลส่งเสริมคุณภาพตำบล (รพ.สต.)
- ร้านเจมาร์ท ทุกสาขา
- ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ
- ส่งไปรษณีย์ไปที่ ศูนย์ประสานงานจิตอาสาโครงการมือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา เลขที่ 333 ถนนสุขุมวิท 71
แขวงพระโขนงเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ 10110
ติดตามรายละเอียดและกิจกรรมต่างๆ ของโครงการฯ ได้ที่เฟซบุ๊ก ‘มือถือเก่าไป ชีวิตใหม่มา’