เอเวอเรสต์สูงเท่าไร ฤดูปีนเขาปีนี้เป็นครั้งแรกที่นักสำรวจชาวเนปาลจะได้วัดความสูงของยอดเขาด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอาศัยชาวต่างชาติ

ความพยายามวัดความสูงของเอเวอเรสต์มีมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 โดยเมื่อปี 1852 นักสำรวจชาวอังกฤษ เซอร์ จอร์จ เอเวอเรสต์ (Sir George Everest) ซึ่งมาทำงานในอินเดีย และ รัตนาถ สิกธาร์ (Radhanath Sikdar) นักคณิตศาสตร์ชาวอินเดีย ร่วมกันคำนวณความสูงของยอดเขาแห่งนี้ ใช้การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเหลี่ยม (triangulation) ที่ใช้วัตถุที่อยู่รอบภูเขาที่รู้ระดับความสูงเป็นจุดอ้างอิง ต่อมาในปี 1856 มีการบันทึกความสูงของยอดเขาที่ 15 ของเทือกเขาหิมาลัยว่าสูง 29,002 ฟุต แล้วตั้งชื่อว่าเอเวอเรสต์ มีชื่อของสิกธาร์ปรากฏอยู่ในเชิงอรรถของรายงานนั้น

แต่นักภูมิศาสตร์มีวิธีคำนวณไม่เหมือนกัน และมีคำถามที่เรานึกไม่ถึง เช่น เราควรจะรวมหิมะที่ปกคลุมบนยอดลงไปในความสูงไหม ความท้าทายยังอยู่ที่ว่า มีเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อปีเท่านั้นที่นักสำรวจจะไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ และการวัดความสูงของยอดเขาจากน้ำทะเลนั้นยากมาก เพราะเนปาลไม่ได้อยู่ติดทะเล

หลังจากที่เนปาลเปิดประเทศในช่วงทศวรรษ 1950 นักวิทยาศาสตร์สามารถพกเครื่องมือวัดเข้าใกล้ยอดเขาได้มากขึ้น และคำนวณความสูงเท่ากับ 29,029 ฟุต ซึ่งเป็นตัวเลขที่รับรู้กันจนถึงทุกวันนี้ แต่นักสำรวจจาก จีน เดนมาร์ก อิตาลี อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งมาสำรวจ คำนวณว่าความสูงไม่ใช่ตัวเลขนั้น ในปี 1992 ชาวอิตาลีบอกว่าต่ำกว่านี้ 7 ฟุต ปี 1999 นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันบอกว่าสูงกว่านี้ 6 ฟุต

ท่ามกลางการถกเถียงเกี่ยวกับความสูงของยอดเขา ผู้เชี่ยวชาญชาวเนปาลไม่ได้มีส่วนร่วมภารกิจเหล่านั้นเลย

ทางการเนปาลประกาศว่า จะเป็นผู้เลือกว่าจะใช้ความสูงเท่าไรจากข้อมูลของประเทศต่างๆ ตัวเลขความสูงของยอดเขาส่งผลต่อจำนวนนักปีนเขา แม้เพียงไม่กี่ฟุต และส่งผลต่อรายได้จากการท่องเที่ยวของเนปาลด้วยเช่นกัน

“ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นสมบัติของพวกเรา” พุทธิ นารยัน เชรษฐา (Buddhi Narayan Shrestha) อดีตผู้อำนวยการของสำนักสำรวจของเนปาลกล่าว จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้เชี่ยวชาญต่างชาติลดความสูงของเอเวอเรสต์ต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ชาวเนปาลไม่มีส่วนร่วมในการวัดความสูงเลย

การวัดความสูงนี้เป็นครั้งแรกหลังจากที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวระดับ 7.8 แมกนิจูดเมื่อปี 2015 ซึ่งมีคนวิเคราะห์ว่าน่าจะส่งผลต่อความสูงของยอดเขา

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา นักสำรวจชาวเนปาลหาวิธีวัดความสูงจากบริเวณทางใต้ของเทือกเขาหิมาลัย โดยคำนวณจากระดับน้ำทะเล จากนั้น ในฤดูปีนเขา ทีมนักปีนเขาที่ได้รับการฝึกอบรมมา จะนำเครื่องรับ GPS ขึ้นไปที่ยอดเขาด้วย และวางไว้บนน้ำแข็งหนึ่งชั่วโมงเพื่อคำนวณความสูงของระดับน้ำทะเลจากดาวเทียม และวัดแรงโน้มถ่วงที่ฐาน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ

ภารกิจนี้ต้องใช้เงินประมาณ 250,000 เหรียญสหรัฐ ทำให้มีการตั้งคำถามว่า ถ้านำเงินจำนวนนี้ไปใช้เพื่อสร้างงาน อาหาร และอากาศบริสุทธิ์หรือโครงการอื่นๆ ที่สำคัญต่อชาวเนปาล จะดีกว่าหรือไม่

 

ที่มา:

  • https://www.nytimes.com/2018/02/03/world/asia/mount-everest-how-tall-nepal.html
  • http://www.newsweek.com/how-tall-mount-everest-nepal-set-finally-measure-worlds-highest-mountain-799154
  • http://www.dailymail.co.uk/news/article-5353057/Nepal-measure-Everests-height-time.htm
Tags: , , ,