ชายอายุ 21 ปี ก่อนหน้านี้สุขภาพแข็งแรงดีมาตลอด
เริ่มมีอาการหายใจหอบเหนื่อย 1 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล ร่วมกับอาการไอ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เอ็กซเรย์ปอดพบลักษณะของน้ำเข้าไปอยู่ในเนื้อปอดทั้ง 2 ข้าง แพทย์สงสัยโรคปอดอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย จึงให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ แต่อาการของเขากลับแย่ลงจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
แพทย์ได้ส่องกล้องเข้าไปสวนล้างเอาเซลล์ในหลอดลมและถุงลมมาตรวจพบเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่จับกินสิ่งแปลกปลอมที่มี ‘เม็ดไขมัน’ อยู่ข้างใน ในขณะที่ผลการตรวจอื่นกลับไม่พบการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา (แสดงว่าไม่ใช่โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ) แพทย์จึงตัดสินใจให้ยากดภูมิคุ้มกัน ทว่าปอดของเขาก็ยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ สุดท้ายต้องอาศัยเครื่อง ECMO ทำงานแทนหัวใจและปอดเป็นเวลา 7 วัน อาการจึงค่อยๆ ดีขึ้นและสามารถถอดท่อช่วยหายใจได้สำเร็จ รวมระยะเวลานอนโรงพยาบาลถึง 2 สัปดาห์
ผู้ป่วยรายนี้เป็น 1 ใน 6 รายของรัฐยูทาห์ ที่สงสัยว่ามีอาการปอดอักเสบรุนแรงจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า (E-cigarette) และนอกจากนี้ยังมีรายงานผู้ป่วยลักษณะเดียวกันนี้ 450 รายจาก 33 รัฐในอเมริกา
บุหรี่ไฟฟ้า
บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดละอองลอยในอากาศด้วยการให้ความร้อนกับน้ำยา โดยอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แทนการจุดไฟบุหรี่แบบเดิม ถึงแม้น้ำยาที่นำมาบรรจุจะมีสารพิษน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป แต่ผู้ใช้อาจสัมผัสกับอนุภาคขนาดละเอียดพิเศษ (ultra-fine particles) โลหะหนัก สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds) จากการเผาไหม้ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำสารสกัดจากกัญชา ได้แก่ THC, CBD และน้ำมันกัญชา (Butane hash oils หรือ Dabs) มาผสมเป็นน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า นอกเหนือจากสารนิโคตินด้วย
ในอเมริกาเริ่มมีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2007 และได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น โดยพบว่าในปี 2018 ที่ผ่านมา 1 ใน 5 ของนักเรียนมัธยมปลายใช้บุหรี่ไฟฟ้า ในขณะที่ผู้ใหญ่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียง 2%
การสอบสวนโรค
ต้นเดือนกรกฎาคม 2019 โรงพยาบาลเด็กแห่งรัฐวิสคอนซิน ได้รายงานความผิดปกติในผู้ป่วยวัยรุ่น 5 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้แข็งแรงดีมาตลอด แต่กลับป่วยหนักด้วยอาการหายใจเหนื่อย อ่อนเพลีย และมีภาวะขาดออกซิเจนในช่วง 30 วันที่ผ่านมาจนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล โดยที่ 2 รายในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
2 สัปดาห์ต่อมาหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐวิสคอนซินได้แจ้งแพทย์ในโรงพยาบาลให้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกันนี้ รวมถึงได้แจ้งเตือนไปยังหน่วยงานด้านสาธารณสุขของรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งอยู่ติดกันทางทิศใต้ นำมาสู่การสอบสวนหาสาเหตุของโรคนี้ร่วมกันในเดือนสิงหาคม
‘ผู้ป่วยที่สงสัย’ คือผู้ที่มีประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในช่วง 90 วันก่อนที่จะมีอาการ ร่วมกับเอ็กซเรย์ปอดหรือสแกนคอมพิวเตอร์ปอดพบความผิดปกติ ไม่พบการติดเชื้อจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และไม่มีสาเหตุอื่นที่เป็นไปได้ เช่น หัวใจล้มเหลว รูมาตอยด์ หรือมะเร็ง (ตัดความเป็นไปได้จากโรคอื่นออกไปแล้ว)
ภาพเอกซเรย์และสแกนคอมพิวเตอร์ปอดของผู้ป่วย
มีฝ้าขาวทั้งสองข้าง แทนที่จะเป็นสีดำของอากาศในปอด (ที่มา: NEJM)
พบผู้ป่วยที่มารับการรักษาที่รพ.ทั้งหมด 53 ราย แบ่งเป็นรัฐวิสคอนซินและอิลลินอยส์จำนวน 28 และ 25 รายตามลำดับ เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชาย โดย 1 ใน 3 มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่ไม่มีโรคประจำตัว เริ่มมีอาการตั้งแต่กลางเดือนเมษายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลของไข้หวัดใหญ่ และไม่มีประวัติการเดินทางข้ามรัฐทั้งสอง
ถึงแม้บางคนจะมองว่ามีจำนวนผู้ป่วยไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรือประชากรทั้งหมด แต่ถ้าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัยก็ไม่ควรมีผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงรุนแรงมากถึงขนาดนี้
นอกจากนี้ทีมสอบสวนโรคยังได้ทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการที่ห้องฉุกเฉินย้อนหลังก็พบว่าในปีนี้มีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่แพทย์ไม่สามารถระบุสาเหตุได้ (ไม่ใช่บุหรี่ไฟฟ้าอย่างเดียว) เฉลี่ยเดือนละ 8 รายต่อการใช้บริการ 10,000 ครั้ง ซึ่งเพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงมกราคม-สิงหาคมของปีที่แล้ว
สาเหตุที่เป็นไปได้
ผู้ป่วยทั้งหมดมีประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (เพราะทีมสอบสวนกำหนดเกณฑ์ไว้เช่นนี้) ส่วนใหญ่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำทุกวัน และใช้ครั้งล่าสุดภายในสัปดาห์เดียวกันกับที่มีอาการ
โดยผู้ป่วย 60% ใช้น้ำยานิโคติน (แตกต่างกัน 14 ยี่ห้อ)
80% ใช้น้ำยา THC (แตกต่างกัน 13 ยี่ห้อ) และ 7% ใช้น้ำยา CBD
แต่มีน้ำยา THC ยี่ห้อหนึ่งชื่อ ‘Dank vape’ ที่ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยใช้เหมือนกัน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสาเหตุของเหตุการณ์ความผิดปกติครั้งนี้ ทว่าก็มีผู้ป่วยอีก 17% ที่ระบุว่าใช้น้ำยานิโคตินเพียงอย่างเดียว สาเหตุที่เป็นไปได้จึงอาจเป็นส่วนประกอบอื่น สารที่ปนเปื้อนหรือสารแต่งกลิ่นในน้ำยา สารที่ผู้ป่วยนำมาผสมหรือสิ่งผิดกฎหมายที่ผู้ป่วยปกปิดไว้ ทั้งนี้สาเหตุที่แท้จริงยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้มีการสอบสวนโรคปอดอักเสบจากไขมันที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา ซึ่งพบผู้ป่วย 5 ราย โดยทั้งหมดมีประวัติการใช้น้ำมันกัญชาหรือสารสกัดเข้มข้นในบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งพวกเขาซื้อมาจากร้านข้างถนน แพทย์ได้ส่องกล้องเข้าไปสวนล้างเอาเซลล์ในหลอดลมและถุงลมของผู้ป่วย 3 รายมาตรวจก็พบ ‘เม็ดไขมัน’ ในเม็ดเลือดขาวเช่นเดียวกับรัฐอื่นที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้
ในขณะที่รัฐนิวยอร์ก ซึ่งมีผู้ป่วยอาการเดียวกัน 30 กว่าราย หน่วยงานด้านสาธารณสุขได้รายงานผลการตรวจน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยพบวิตามินอีอะซิเตท (Vitamin E acetate) ปริมาณมากในตัวอย่างน้ำยากัญชา ส่วนน้ำยานิโคตินกลับไม่พบวิตามินอีเลย สารนี้จึงมีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่ยังต้องรอผลการทดสอบตัวอย่างในรัฐอื่นเพิ่มเติมก่อนจึงจะสรุปความเชื่อมโยงได้
คำแนะนำระหว่างนี้
ผลการสอบสวนโรคเบื้องต้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการเมื่อวันที่ 6 กันยายน ในวันเดียวกันศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา (CDC) ก็ได้ออกคำแนะนำแก่ประชาชนให้หลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าระหว่างที่รอผลการสอบสวน โดยเฉพาะอุปกรณ์และน้ำยาที่ซื้อมาจากร้านค้าที่ไม่มีใบอนุญาต
ที่สำคัญกลุ่มที่ไม่ควรใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างยิ่งคือวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ และผู้ใหญ่ที่ไม่เคยใช้บุหรี่มาก่อน ส่วนผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ควรใช้วิธีการที่ได้รับการพิสูจน์แล้วแทน อย่างไรก็ตามน้ำมันกัญชาเพื่อสันทนาการยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายรัฐของอเมริกา รวมถึงนิวยอร์ก วิสคอนซินและอิลลินอยส์
สำหรับประเทศไทยถึงแม้ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าจะยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่เมื่อค้นหาใน Google กลับพบร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ ผู้ใช้สังเกตอาการของตัวเอง ถ้าหากมีอาการควรรีบไปโรงพยาบาล และอย่าลังเลที่จะแจ้งให้แพทย์ทราบประวัติการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
Tags: สหรัฐอเมริกา, บุหรี่ไฟฟ้า, การสอบสวนโรค, น้ำมันกัญชา