เมื่อขยะพลาสติกกลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทในประเทศญี่ปุ่นจึงเริ่มคิดหาวิธีพัฒนาภาชนะใส่อาหารที่บริโภคได้เพื่อทดแทนพลาสติกแบบที่ใช้แล้วทิ้ง ทั้งจานชามหรือหลอดพลาสติก
“หากจานชามที่ใส่อาหารสามารถกินได้ และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลกแทนที่พลาสติก มันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล”
นี่คือสิ่งที่คัตซึฮิโกะ ซากากิบาระ กรรมการผู้จัดการของ Marushige Seika บริษัททำขนมในจังหวัดไอจิ ในประเทศญี่ปุ่นคิด เป้าหมายของเขาคือการช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกทั่วโลกให้ได้
บริษัท Marushige Seika เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ผลิตเวเฟอร์ (เช่น โคนไอศกรีม) ขนมโมนากะ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 และเมื่อไม่นานมานี้ได้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่าอี–เทรย์ (e-tray ภาชนะใส่อาหารที่กินได้ในแบบเวเฟอร์) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ยอดขายในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นสามเท่าจากปี 2018
ภาชนะใส่อาหารที่กินได้ หรืออี–เทรย์ ผ่านการคิดค้นและวิจัยเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่แตกหักหรือยุ่ยสลายเมื่อใส่อาหารที่มีองค์ประกอบที่เป็นของเหลว โดยใช้เทคนิคในการทำที่เรียกว่า ebi-senbei ที่ได้มาจากการทำข้าวเกรียบกุ้งที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารของ Hekinan
สำหรับส่วนผสม ซากากิบาระยังเลือกแป้งมันฝรั่งแทนแป้งสาลีและแป้งข้าวโพดซึ่งมักใช้ในเวเฟอร์ไอศกรีม
“แป้งมันฝรั่งมีแนวโน้มที่จะพองเมื่อถูกอบ ผมคิดว่าการอบด้วยแม่พิมพ์โลหะและใช้แรงดันสูง จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาแข็งและทนต่อความชื้น”
ซากากิบาระ ใช้เวลาหนึ่งปีครึ่งในการออกแบบถาดอี-เทรย์ และใช้กระบวนการทดลองเพื่อหาข้อผิดพลาดต่างๆ ก่อนจะสมบูรณ์และสร้างวิธีการผลิตขึ้นมาได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้
นอกจากอี–เทรย์แล้ว ตะเกียบที่กินได้ ยังเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เริ่มวางจำหน่ายในปี 2017 และซากากิบาระวางแผนจะขยายผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นช้อนส้อมกินได้ โดยจะเปิดตัวในฤดูร้อนนี้
ภาชนะใส่อาหารที่กินได้กลายมาเป็นเทรนด์ที่มาแรง สายการบิน Air New Zealand เองก็มีการทดลองใช้ แก้วน้ำ ผลิตภัณฑ์ห่ออาหาร ถ้วยชาม และแม้กระทั่งถ้วยกาแฟที่กินได้เสิร์ฟบนเครื่องแล้วในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ปัญหาหลักของภาชนะใส่อาหารที่กินได้ในตอนนี้ก็คือ ราคา ถาดอี-เทรย์ 1 ใบ มีราคา 50 เยน ซึ่งสูงกว่าพลาสติกประมาณ 10 เท่า
อ้างอิง
https://www.japantimes.co.jp/life/2020/03/23/lifestyle/japan-confectionery-marushige-seika/
https://bioplasticsnews.com/2020/03/02/edible-packaging-in-japan/
https://english.kyodonews.net/news/2020/02/7dffa32a04f7-feature-japanese-company-turning-the-tables-on-plastic-waste.html
ภาพ : Marushige Seika
Tags: พลาสติกใช้ครั้งเดียว, ภาชนะพลาสติก, ภาชนะที่กินได้, พลาสติก