ในปีที่ผ่านมา เทรนด์คาเฟ่ในสไตล์วินเทจที่นำเอาห้องแถวเก่ามาปรับปรุงเป็นคาเฟ่ที่มีเอกลักษณ์

ทั้งแบบจีน ปารีส หรือโซโห นิวยอร์ก ผุดขึ้นทั่วกรุงเทพฯ มาแทนที่คาเฟ่ในแบบฮิปสเตอร์ สไตล์ลอฟท์อินดัสเทรียลที่เคยเป็นที่นิยมมาก่อนหน้านั้น

บนถนนหลานหลวงย่านเก่าแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ก็ปรากฎร้านในสไตล์ดังกล่าวหนึ่งในนั้นก็คือ ร้าน Eden’s ที่สวยเก๋ราวกับอยู่ในปารีสของ เด่นนิรามย์ วัฒนสิทธิ์ และหนึ่งปีต่อมา ร้าน Alex&Beth ของ ตูนกัญจน์ สุวรรณธาดา ก็ตั้งขึ้นเคียงกัน เหมือนกับความเป็นคู่หูของทั้งสองจากมิตรภาพและความเป็นเพื่อนร่วมงานกันมายาวนาน ทั้งเด่นและตูนผ่านงานสื่อนิตยสารมาหลากหลายฉบับ และหนึ่งในนั้นคือ นิตยสาร Lips Love ที่ทั้งคู่ร่วมกันปลุกปั้นขึ้นมา

การเปิดร้านอยู่ริมถนนหลานหลวง จะเรียกว่าอยู่ในความเสี่ยงระดับสูงก็ไม่ผิด เพราะถนนเส้นนั้นเดินรถแบบวันเวย์ ไม่มีที่จอดรถ ห่างไกลจากรถไฟฟ้า ไม่ใกล้กับตึกออฟฟิศใดๆ และเป็นย่านเมืองเก่าที่รายล้อมด้วยโรงพิมพ์ ร้านสายส่งหนังสือ ร้านขายไม้ ฯลฯ ตามวิถีธุรกิจเดิมของคนในชุมชนมายาวนาน

(ซ้ายไปขวา) เด่นนิรามย์ วัฒนสิทธิ์ เจ้าของร้าน Eden’s และ ตูน—กัญจน์ สุวรรณธาดา เจ้าของร้าน Alex&Beth

แต่ไม่น่าเชื่อที่ทั้ง Eden’s และ Alex&Beth กลับดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี เรียกว่าโต๊ะไม่กี่ตัวของทั้งสองร้านจะเต็มเสมอ โดยเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์ นอกจากรสมือของอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม การตกแต่งและบรรยากาศก็เป็นหัวใจสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนพากันไปเช็คอินที่ร้านเพื่อถ่ายภาพนำเสนอลงโซเชียลมีเดียตามปกติวิสัยคนยุคนี้

นอกเหนือจากการทำร้านอาหาร ทั้งคู่ยังริเริ่มโปรเจ็กต์ ‘Old Town East’ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในละแวกนอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันออกแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้คน ร้านรวงต่างๆ ไลฟ์สไตล์ และชีวิตที่เคลื่อนไหวผ่านเพจชื่อเดียวกับโปรเจ็กต์ รวมทั้งผลิตสินค้ากระจุกระจิกภายใต้แบรนด์เดียวกันออกจำหน่ายภายในณุปแบบไลฟ์สไตล์ช็อป

น่าสนใจว่าทั้งเด่นและตูนเห็นเสน่ห์ใดในย่านนี้ ทำไมพวกเขาถึงผละจากวงการสื่อสิ่งพิมพ์ที่ทำเป็นอาชีพมาเนิ่นนาน และลองเลือกเส้นทางใหม่ที่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายดายท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นในยุคนี้

เด่นกับตูนหนีตายจากวงการสิ่งพิมพ์ที่ล่มสลายหรือเปล่า ถึงตัดสินใจมาเปิดร้าน

เด่น : โอ๊ย คำถามยากจัง

ตูน : จะพูดอย่างไรดี สิ่งพิมพ์ไม่ล่มสลายหรอก เพราะว่ายังมีสิ่งพิมพ์คุณภาพอีกมากมายที่เรายังซื้ออยู่เป็นประจำ ของบางอย่างมันทดแทนด้วยดิจิทัลไม่ได้ แต่สิ่งพิมพ์ในเมืองไทยก็มีเงื่อนไขหลายอย่าง ซึ่งเรารู้สึกว่าเงื่อนไขต่างๆ เหล่านั้นมันทำให้สิ่งพิมพ์ในอุดมคติของเราสำหรับบริบทเมืองไทย มันไม่เป็นเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว แล้วเราก็ทำงานสิ่งพิมพ์มาจนรู้สึกว่าเราอิ่มตัว เราสามารถจบ chapter ของการทำสิ่งพิมพ์ได้แล้ว มาทำสิ่งใหม่ดีกว่า

เด่น : เรื่องอิ่มตัว—ไม่ได้พูดให้สวยด้วยนะ เรารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ ก่อนหน้าที่จะทำร้าน เคยคิดกับตูนมาก่อนเรื่องการทำคอนเทนต์บน Facebook และ Instagram ซึ่งเป็นคอนเทนต์ในแนวไลฟ์สไตล์นี่แหละ ไปถ่ายบ้านเพื่อนคนนู้นคนนี้ แล้วนำมาเล่าลงเพจหรืออินสตาแกรมก็ว่าไป แต่ก็คุยกับตูนว่า แน่ใจเหรอว่าเราอยากทำ เพราะพอกลับไปมองสิ่งที่เราเคยทำ เราสุดกับสิ่งที่เราเคยทำแล้ว เรารู้สึกว่าถ้าเราจะทำเราก็ทำได้ แต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำจริงเหรอ ก็รู้สึกว่ามันไม่ตื่นเต้นแล้ว แล้วถ้าจะทำอะไรเหมือน Lips Love อีก ทำไมเราไม่ทำในสิ่งที่มีความเป็นชาวบ้านมากขึ้น เป็นชีวิตจริงมากขึ้น

ตอนเลิกทำนิตยสาร เด่นวางแผนว่าจะทำร้าน Eden’s แต่แรกเลยไหม

เด่น : ร้านน่ะแพลนไว้ และตอนเปิดร้านใหม่ๆ เวลามีคนถามว่าแพลนต่อไปคืออะไร ไม่มีเลย คิดแค่ว่า ฉันเปิดร้านได้ พอดีร้านประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คิดไว้อีก ถ้าให้ตายก็ตายได้แล้ว แต่ฉันยังไม่อยากตาย ยังทำอะไรอีก แต่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร

ถึงขนาดตายได้แล้วเชียวหรือ

เด่น : ตอนนั้นรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ นะ เป้าหมายอื่นคืออะไรวะ นึกไม่ออก แต่รู้ว่ามันต้องอยู่เพื่อทำอะไรอื่นๆ อีก มันต้องมีอะไรให้ทำอีก

ตูน : คือจริง มันไม่ใช่อิ่มตัวในเชิงนั้น ไม่ทำสิ่งพิมพ์แล้ว แต่มันเหมือนกับว่า…ถ้าเกิดสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เนี่ย เอาไปตีพิมพ์ มันก็คือสิ่งพิมพ์อีกอันหนึ่ง แต่มันเหมือนกับว่า เรื่องที่เราเคยทำมา เรารู้สึกว่าเราทำมาหมดแล้ว แต่ถ้าจะให้เราไปทำสิ่งพิมพ์ในแง่มุมอื่น เราก็อาจจะอยากทำ อาจจะสนุกกับมัน เราอาจจะลองก็ได้ แต่ถ้าเกิดจะให้กลับไปทำในแง่มุมเดิม คิดว่าไม่น่าจะใช่แล้ว แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้มันยังเป็นศาสตร์ศาสตร์หนึ่ง มันก็ยังเป็น journalism อยู่ดี เพียงแต่ว่ามันไม่ได้อยู่ในฟอร์แมตเดิมอีกแล้ว

สรุปว่าอิ่มตัวจากการทำสื่อสิ่งพิมพ์ แต่ไม่ได้หนีตาย

เด่น : พูดตรงๆ เลยนะ พูดแบบมั่นหน้ามากก็คือฉันไม่มีวันตาย เพราะฉันรู้ว่าฉันมีดีอยู่ในตัวฉัน และเราอย่ามาฟูมฟายว่าหนังสือฉันเปิดมา 25 ปี ต้องปิดตัวลง ก็ต้องโทษคนทำด้วยว่าเอาจริงๆ แล้ว คนทำเก่งพอไหม อยากทำให้คนยังอยากอ่าน อยากซื้อหนังสืออยู่ไหม

ตูน : เรารู้สึกว่าอาชีพการเป็นนักเล่าเรื่อง การเป็น journalist หรือสื่อสารมวลชน คืออย่างไรมันจะอยู่ติดตัวเราสองคนไปตลอด อย่างเวลาเราไปรับงานฟรีแลนซ์ มันใช้หลักวิชาเดียวกัน มันคือตัวเราเลย แล้วคนที่เขาจ้างเราอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะให้ไปทำโปรเจ็กต์อะไร เขาก็จ้างจากการที่เรามีวิชาชีพนี้ วิธีคิดแบบนี้ การเป็นคนเล่าเรื่องมันติดตัวเราไปตลอด

ตั้งแต่เด็กเราอยากทำอะไร เราก็ทำทีละอย่างจนมันเสร็จ chapter นั้นไป เช่น เราอยากเรียนที่นี่เราก็ทำได้ ก็จบไป แต่ก่อนเรามอง career path ของเราไว้อย่างนี้ แล้วเราก็ทำตามสิ่งที่เรามองไว้ไปทีละเปลาะ ทีละเปลาะ อย่าง chapter ในฐานะบรรณาธิการของเรามันโอเคแล้ว เราแฮปปี้กับมันแล้ว จบไปแล้ว นี่ก็เป็นการเปิด chapter ใหม่ต่อไป อันนี้มันคือบทต่อไปที่เราจะทำ เพราะฉะนั้นอย่างไรมันก็ต้องทำ ส่วนได้ไม่ได้หรืออย่างไรก็ว่ากัน

ตอนที่คิดเปิดร้าน ทำไมถึงเลือกย่านหลานหลวง ทั้งที่มันไม่ใช่โลเคชั่นที่เหมาะต่อการทำธุรกิจเท่าไร

เด่น : ก่อนทำร้านก็คิดแล้วนะ ดื้อด้วย อยากได้โอลด์ทาวน์ คือจริงๆ ที่ไหนก็ได้นะ อย่างแถวตลาดน้อยจ๋อยกว่านี้อีก คอกวัวค่าเช่าก็พอๆ กัน แต่มันดูไม่ใช่เรา มันเหมือนมีอะไรมาบอกเราว่าต้องเป็นย่านนี้ ตอนนั้นคิดไว้แล้วว่า ถ้าร้านไม่รอด ด้านบนก็จะเปิดเป็นออฟฟิศทำงานหนังสือต่อ ใช้ถ่ายสไตลิ่งอาหาร จะคิดค่าเช่าสถานที่ คิดทางออกอื่นไว้ด้วย

มีผู้ใหญ่สองท่านที่เป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกิจบอกว่า ฉันเชียร์โปรเจ็กต์เธอทุกอย่าง แต่เราจะไม่พูดกันเรื่องโลเคชั่นอีกแล้วนะ ถ้าเป็นพี่พี่ไม่ทำสูตรนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องอื่นฉันเชื่อว่าเธอทำได้ แต่เราจะไม่พูดกันเรื่อโลเคชั่นนี้อีก ถ้าเธอยืนยันจะเปิดที่นี่ ก็แล้วแต่ เราจะไม่แตะเรื่องนี้ เขาบอกเราอย่างนั้น

แต่ 5 วันก่อนเปิดร้านเราร้องไห้เลยนะ คือบ่ายวันอาทิตย์ในหนึ่งชั่วโมงมีคนเดินผ่านหน้าร้านอยู่แค่ 5 คน แล้วอีก 5 วัน ร้านจะเปิดแล้ว ร้องไห้เลย มีความรู้สึกว่าถ้าเปิดมาแล้วเป็นอย่างนี้จะเป็นอย่างไรวะ แต่ร้องไห้แค่ครั้งเดียว แล้ววันนั้นก็สลัดความรู้สึกนั้นทิ้งทันที เพราะรู้สึกว่าอย่างไรก็จะทำ แล้วเชื่อว่าอย่างไรมันก็จะไปได้แหละ แค่นั้นเลยแล้วจบ

ตูน : ตอนเรารู้ว่าเด่นจะเปิดร้านที่หลานหลวง เราไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะเชื่อเซนส์ของเพื่อน เราทำงานกับเด่นมาตลอดชีวิต การทำงานของเด่น เด่นจะดูคน ดูที่ ดูอะไรอย่างอื่น ทั้งหมดใช้เซนส์ ไม่เคยพลาด ก็เลยยกให้เซนส์ของนางอย่างไม่ต้องสงสัย

แล้วที่ตูนตัดสินใจเปิดร้าน Alex&Beth ตามมา เป็นเพราะความสำเร็จของ Eden’s เป็นตัวกระตุ้นหรือเปล่า หรือคิดจะเปิดร้านอยู่แล้วเหมือนกัน

ตูน : พูดได้เลยว่าอย่างไรเราก็เปิดร้านของเราอยู่แล้ว จะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง ก็ขอให้ได้ทำก่อนอยู่ดี หมายความว่าถ้าเกิด Eden’s ไม่ประสบความสำเร็จ เราก็อาจจะไม่มาเปิดข้างๆ กันก็ได้ แต่อย่างไรในชีวิตนี้เราก็ต้องเปิดร้านให้ได้ บอกตรงๆ ว่าเรื่องโลเคชั่นเราไม่ได้คิด เรารู้แต่ว่า อย่างไรชีวิตนี้เราก็ต้องทำร้านให้ได้หนึ่งครั้ง ไม่ว่ามันจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยความบังเอิญหรือความโชคดีอะไรก็แล้วแต่ พอเด่นมาทำตรงนี้ แล้วเราเห็นว่ามันมีเซนส์ของคอมมิวนิตี้ที่มันจะเกิดขึ้นได้ เด่นก็เลยชวนมาอยู่ข้างๆ กัน เราก็โอเค

เราเริ่มเห็นภาพแล้วว่า เริ่มจากร้านเด่น แล้วกลายเป็นร้านเรา มีโรงแรมของอุ้มอยู่ข้างๆ (ปณิดา ทศไนยธาดา เจ้าของโรงแรม Bangkok Publishing Residence) ต่อมามีร้านมะม่วงของตั้ม (วิศุทธิ์ พรนิมิตร ศิลปินเจ้าของลายเส้นการ์ตูนมะม่วง) มันเริ่มเห็นสตอรี่ มีความเป็นคอมมิวนิตี้ใหม่ขึ้นมา ซึ่งก็เพอร์เฟ็กต์ ทำไมเราจะต้องไปหาโลเคชั่นใหม่ล่ะ ในเมื่อเรากำลังเห็นอะไรบางอย่างกำลังก่อตัวขึ้นตรงนี้ ในเมื่อเรามีเพื่อนที่ทำงานด้วยกันมาทั้งชีวิตอยู่ตรงนี้ มันคือเรื่องการทำงาน มันเข้าขากันในแบบที่แทบจะไม่ต้องคุยอะไรกัน เพราะฉะนั้นเลยรู้สึกว่าที่นี่เป็นทางเลือกที่เพอร์เฟ็กต์

เด่น : เรื่อง neighbourhood มันก็ชัดเจนมากเลยนะ อย่างร้านตรงนี้ ต้องให้เครดิตโรงแรมของอุ้มก่อน เขาทำมาตั้งนานแล้ว แล้วก็เปิดก่อนเราเดือนเดียว จริงๆ เขาเป็นเพื่อนของเพื่อนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ก็กลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด ตอนที่ได้ร้านตูน อันนั้นน่ะรู้สึกว่าเซนส์ของ neighborhood มันมาจริง ป้าเจ้าของบ้านมาถามว่ามีเพื่อนมีใครจะมาทำร้านอีกไหม ห้องนี้จะหมดสัญญา ซึ่งแปลว่าคนแถวนี้ก็เริ่มเชื่อเราแล้ว เขาเริ่มรู้สึกเห็นว่าสิ่งที่เราทำน่ะดี ถ้าเขาไม่โอเคกับสิ่งที่เราทำ เขาไม่บอกหรอกว่ามีห้องว่าง เพราะเขาไม่อยากได้เงินนะ เขามาบอกเพราะรู้สึกว่าเผื่อเราหรือเพื่อนเราจะทำอะไรตรงนี้ให้ดีขึ้นได้ เพราะเอาจริงๆ คนแถวนี้หวงบ้านนะ  

ในฐานะคนเคยทำสื่อมาก่อน มีการวางแผนประชาสัมพันธ์ก่อนเปิดร้านตามสูตรไหม

เด่น : คิดนะ เราคุยกับตูนตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน เราทำงานนิตยสารมา เรารู้วิธีพีอาร์ เรารู้วิธีการต่างๆ คิดไว้แล้วว่าเดี๋ยวจะถ่ายรูป เซ็ตอาหารกันหนึ่งวันก่อนเปิดร้าน ทำไฟล์แจกสื่อมวลชน ชวนคนนั้นคนนี้มารีวิวร้าน ชวนใครก่อน เล่มไหนต้องมาก่อนมาหลัง คิดถึงขนาดนั้นด้วยซ้ำไป แต่พอทำร้านแล้วทิ้งหมดเลย เพราะโซเชียลมีเดียพลังรุนแรงกว่าที่เราคิดเยอะมากนะ ทุกอย่างมันสอนเราภายใน 2 เดือนแรกที่เปิดร้านเลย ตอนเปิดร้านวันแรก เราชวนแค่เพื่อนมาลองกินแบบกันเอง มีลูกค้าที่เราไม่รู้จักเปิดประตูเข้ามา เราก็มองหน้ากัน เฮ้ย คนนี้คือใคร เขาบอกว่า นั่งรถผ่านมานานแล้วค่ะ วันนี้เห็นเปิดประตูแล้ว ก็เลยเข้ามา เราก็ขายเลย ลูกค้าจริงมาตั้งแต่วันที่ยังไม่ประกาศว่าร้านจะเปิดด้วยซ้ำ หลังจากนั้นผ่านไปอีก 3 วัน ลูกค้ามาเต็มร้านแล้ว สิ่งที่คิดไว้ทั้งหมดไม่ต้องทำแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยู่ในหัวมันกลายเป็นโจทย์ใหม่ สูตรใหม่เลย อย่างนั้นลองซิ ไม่ต้องเสียสตางค์สักบาท ไม่ต้องชวนใครมากินสักคน การทำพีอาร์แบบเดิมฉีกทิ้งไปเลย ทำได้ไหม ถ้าเราพีอาร์ด้วยวิธีอื่นล่ะ ลองพีอาร์ด้วยลูกค้าที่มาจริงๆ แล้วจะเป็นอย่างไร

แล้วผลลัพธ์เป็นอย่างไร

เด่น : มีทั้งบวกและลบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันไปไกลกว่าที่คิดไว้มาก เรียกว่าได้เจอลูกค้าทั้งที่น่ารักมากและไม่น่ารักเลย

ไม่เคยมีประสบการณ์การทำร้านอาหารมาก่อน แล้วมีวิธีรับมือกับลูกค้าอย่างไร

เด่น : จากการที่ได้ไปอยู่ที่ร้าน It’s Happened To Be A Closet ของพี่แจะ (ศิริวรรณ ธรณนิธิกุล) ช่วงเปิดร้าน ช่วยได้เยอะ ทำให้รู้ว่าการเปิดร้านจริงๆ มันต้องเจออะไรบ้าง ปัญหาที่ต้องเจอในครัวคืออะไร ทำทันไม่ทัน ความต้องการของลูกค้าคืออะไร แต่สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเจอคือ ลูกค้ามาร้านเพื่อถ่ายรูป เราทำร้าน เรารู้ว่าจะทำให้ photogenic อย่างไร แต่ไม่ได้คิดว่าคนจะมาร้านเพื่อถ่ายรูป ในฐานะที่เราเป็นคนทำอาหารและทำเพราะตัวเองอยากกิน ชอบกินอาหารแบบนี้ เลยคิดว่าเธอแวะมา—เธอก็มา appreciate รสชาติอาหารฉันสิ แต่เขาดัน appreciate อาหารที่ความสวย คือมัน mislead ถามว่าดีใจไหม มันดีใจ อยากเห็นคนเยอะๆ ไหม อยากเห็น แต่ไม่ได้อยากให้เยอะในแบบที่ดูแลไม่ได้ จัดการไม่ได้

ตูน :  ร้านเราก็ไม่ต่างกัน แต่เราทำงานในร้านเด่นมาก่อน 3 เดือน เรารู้แล้วว่าเราจะเจออะไรบ้าง เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่ร้านเราเจอ ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราก็ไม่ได้รู้สึกเนกาทีฟนะ เราก็จะอำนวยสะดวกให้มากหน่อยสำหรับคนที่ proper แต่สำหรับคนที่เขาเรียกว่าอะไรล่ะ คนที่เข้ามาเพื่อที่จะมาใช้ร้านเราเป็นที่ถ่ายรูปขายของ ก็เสียความรู้สึกนิดหน่อย มีบางคนเอาเสื้อผ้ามาเปลี่ยนแล้วถ่าย เปลี่ยนแล้วถ่าย แบบทำเพจขายเสื้อผ้าน่ะ เราแค่ไปเตือนเขาว่า ทางเราอาจจะต้องขอความกรุณาว่า เราอาจจะไม่สะดวกในการเป็นสถานที่ถ่ายรูปขายของ แต่ไม่ได้มีอะไรรุนแรง

เด่น : สิ่งที่ยากสุดตอนทำร้านในช่วงแรกคือ การจัดการกับคน แต่สิ่งที่รู้สึกอย่างหนึ่งคือ ในความที่เคยเป็นสื่อมวลชน พอคิดจะฉีกสูตรแล้วก็ต้องไปให้สุด ใครอยากมาถ่ายก็มา จะพยายามอำนวยความสะดวกให้มากที่สุด จะพยายามหามุมให้คุณถ่ายรูปให้ได้ ถ้ามาเพราะว่าอยากรีวิวร้าน ก็จะบอกว่าอย่างนั้นมาในฐานะลูกค้าแล้วกันนะคะ ถ้าชอบแล้วอยากจะบอกต่อเราก็ยินดี แต่ถ้ามาแล้วไม่ประทับใจอะไรอย่างไร เราก็ต้องขอโทษ เพราะเราต้องดูแลลูกค้าจริงๆ ก่อน ลูกค้าเราเยอะจริงๆ แล้วเรามีโต๊ะไม่เยอะ มีคนทำงานไม่เยอะ เราก็บอกเขาไปก่อนแบบนั้น เพราะช่วงแรกเราทำคนเดียวด้วยซ้ำไป

อย่างคนที่มาขอรีวิวโดยถามมาทางอินบ็อกซ์ของเฟซบุ๊ก บางทีอ่านแล้วไม่ได้ทันได้ตอบด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าเราไม่ได้อยากให้มารีวิวแล้ว เราอยากคุยเรื่องอื่นแล้ว ผ่านไป 3 เดือน จึงตอบข้อความกลับไปหาคนที่เคยบอกว่าอยากขอมารีวิวร้าน บอกเขาว่าตอนนี้พอมีเวลานั่งคุยได้แล้วนะคะ มาเลย ซึ่งก็รู้สึกว่าตอนนั้นเรามีอะไรที่จะคุยมากกว่าแค่เมนูในร้านมีอะไรบ้าง แรงบันดาลใจการแต่งร้านมาจากไหน รู้สึกไม่อยากคุยอะไรอย่างนี้แล้ว กลายเป็นว่าเขาก็หายเงียบไปเลย

คิดว่าการรีวิวร้านเแบบที่ลงตามสื่อยังคงน่าสนใจ หรือช่วยในการโปรโมตร้านอยู่อีกไหม เมื่อเทียบกับการเช็กอินตามเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมของคนทั่วไปที่แวะมากินที่ร้านเอง

เด่น : แบบหลังมัน effective กว่าเยอะเลย มันเร็วและได้คนมาเยอะ

ตูน : เราไม่อยากได้อะไรแบบนั้นแล้ว ถ้าเราทำสื่อที่เป็น traditional ต่อไป เราก็ต้องปรับตัวยกใหญ่กับการรีวิวร้าน เพราะว่าฟอร์แมตการรีวิวร้านแบบเดิมมันไม่ได้เซิร์ฟคนสมัยนี้แล้ว คนสมัยนี้รู้เยอะกว่าตัวสื่อเองอีก เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้อยากได้อะไรแบบว่า เมนูอะไรเป็นซิกเนเจอร์ เอาสูตรมาจากไหน ร้านตกแต่งสไตล์ไหน ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน คนสมัยนี้ไม่ได้อยากรู้อะไรแบบนั้นแล้ว เขามี Instagram มี Pinterest มีอะไรต่อมิอะไรที่เขาเห็นปุ๊บเขาก็รู้แล้วว่าอะไรเป็นสไตล์ไหน ไม่ต้องไปบอกเขาแล้ว เขาอยากรู้อะไรที่มันนอกเหนือไปจากนั้นแล้วล่ะ ถ้าเกิดเรายังทำสื่อ traditional อยู่ แล้วเด็กในกองฯ ส่งต้นฉบับมาว่า ร้านนี้มีแรงบันดาลใจอย่างนี้ เราก็คงโยนทิ้ง

เด่น : แต่นึกถึงในแง่ที่ให้เราไปทำงานสื่อตอนนี้ มันก็ไม่ง่ายนะ เราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเขียนถึงร้านนี้อย่างไร มันจะยังน่าอ่านไหมวะ เรารู้ว่าถ้ามาถ่ายร้านเราในแบบ Lips Love จะถ่ายอย่างไร แต่เอาจริงๆ เราเองก็ตั้งคำถามว่า เรายังอยากอ่านแบบนั้นไหม เราก็หาคำตอบไม่ได้นะว่าถ้าเราเป็นสื่อตอนนี้ เราควรจะทำคอนเทนต์ของร้านเราเองอย่างไร

ในฐานะที่เป็นเจ้าของธุรกิจเองแล้ว ตอนไหนที่เด่นกับตูนบอกตัวเองว่า ร้านไปรอดแล้ว กำไรแล้ว

เด่น : มันต้องเช็กตัวเองเรื่อยๆ นะ 3 เดือนแรก 6 เดือนแรก เดือนที่ 12 อย่างนี่เดือนที่ 20-21 ก็ไม่เหมือนเดิม 3 เดือนแรกมันเหมือนเซอร์ไพรส์ เดือนที่ 6 มันเริ่มอยู่ได้แบบหนึ่ง เดือนที่ 8 -12 มันก็อีกแบบหนึ่ง ต้องคอยเช็กเรื่อยๆ มันทำให้เรารู้ลูปของการทำร้าน เช่น ช่วงเดือนนี้คือโลว์ซีซั่น ไม่ค่อยมีคน มันก็ไม่มีคนจริงๆ เราก็จะได้ไม่ต้องตื่นเต้นประจำวันว่าทำไมไม่มีคนเลย

ตูน : คิดว่าน่าจะเกิดวงจรแบบเดียวกัน แต่เราเพิ่งจะเปิดมาได้แค่ 7-8 เดือนเอง เราอาจจะยังไม่สามารถบอกได้ แต่เราสองคนก็ไม่ได้ทุ่มทั้งชีวิตให้กับร้านอยู่แล้วไง เราก็ไปทำนู่นทำนี่ เรามีโปรเจ็กต์ที่อยากทำอยู่ตลอดเวลา อย่างผมเองมีอยู่ 3 อาชีพ ซึ่งมัน self sufficient อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะไม่ได้มีความกดดันทางธุรกิจมาก มันเป็นมุมมองที่เกิดจากการทำธุรกิจแบบส่วนตัวจริงๆ แต่สมมติว่าถ้ามีบริษัทบริษัทหนึ่งมาเปิดธุรกิจตรงนี้ เขาอาจจะมองอีกแบบหนึ่ง เขาอาจจะมองว่ามันทำกำไรได้ไม่มากพอ หรือมันไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งตรงนั้นเราบอกไม่ได้ เพราะว่าเราไม่ได้อยู่แบบนั้น แล้วเราก็ไม่ได้เริ่มทำร้านมาด้วยแนวคิดแบบนั้น เราคิดว่าเราอยู่ตรงนี้ มันบาลานซ์ชีวิตเราได้ อย่างเด่นเองเขาก็จะมีช่วงที่อยู่ร้านมากไปก็จะเริ่มฟุ้งซ่าน เริ่มเซ็ง เราสองคนไม่มีทางที่จะมีเพียงอาชีพเดียวได้

เด่น : ตูนยังมีอาชีพอื่น เราเองรายได้หลักก็คือการทำร้านนี่แหละ แต่เราก็ไม่ได้อยากขายเค้กอย่างเดียว เลยลองเปิดสเปซเป็นที่ดินเนอร์ โปรเจ็กต์แบบนี้มันงอกมาเอง รู้สึกว่าทำร้านเหมือนคนรุ่นยายรุ่นป้าทำ ไม่ได้มีบัญชี ไม่ได้เห็นตัวเลข รู้แต่ว่าพอสิ้นเดือนปุ๊บจ่ายนู่นนี่ออกไปยังมีสตางค์เหลืออยู่ เอาไปเที่ยวได้ เอาไว้ทำโปรเจ็กต์ Old Town East ได้  เรียกได้ว่ามีสตางค์พอใช้ มีคุณภาพชีวิตที่อยากได้ ตอนเช้าขี่จักรยานไปซื้อปาท่องโก๋ได้ บางทีมันก็ได้แลกกับสิ่งนั้น ไม่ได้คิดว่าตัวเลขมันสำคัญมาก แต่อย่างน้อยรู้ว่ามันมีสตางค์จ่ายตอนสิ้นเดือน

ตูน : มันก็คงกลับไปตอนแรกที่ว่าไม่มีสูตร มันเหมือนกับว่าเราเขียนสูตรเอง เราก็คงบอกไม่ได้หรอกว่า สูตรใครดีหรือไม่ดี หรือเราเอาสูตรมาจากไหน เพราะว่ามันก็ไม่เหมือนกันไง ถ้าให้คนที่เขามีสูตรแบบอื่นมองเรา เขาก็อาจบอกว่าสูตรเราไม่ดีก็ได้  เรามีสูตรแบบนี้ เรามองเขา เราก็อาจบอกว่าเขาไม่ดีก็ได้ อะไรคือผิด อะไรคือถูก เรารู้แค่ว่า ถึงแม้จะไม่ได้มาเปิดร้านที่หลานหลวง หรือถึงแม้จะไม่ได้เรียนรู้จากการทำร้าน Eden’s มาก่อน ชีวิตนี้อย่างไรเราก็ต้องเปิดร้านอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันก็เลยบอกไม่ได้ว่า ความสำเร็จในเชิงธุรกิจ ในเชิงการเงิน มันจะต้องระดับไหน

เราไม่ได้คาดหวังว่าร้านของพวกเราจะต้องเป็นร้านกาแฟที่มีความน่าตื่นเต้นและทำเงินอย่างมโหฬารมหาศาลนะ เพราะถ้าเกิดเราคาดหวังจุดมุ่งหมายแบบนั้นปุ๊บ การมาเปิดตรงนี้คือผิดสุดๆ ใช่หรือเปล่า เแต่เรามองเห็นอย่างอื่นมากกว่านั้น เราอยู่ตรงนี้มันเป็นแฟมิลี่ คือเรามีเช็กลิสต์ที่เราติ๊กถูกว่าโอเค อาชีพในฐานะที่เราเป็นฟรีแลนซ์ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ เป็นฟรีแลนซ์เอดิทอเรียลไดเร็กเตอ์ ก็ยังดำเนินไปได้ และ chapter ของการทำร้านก็ดำเนินไปได้ แถมยังเห็นลู่ทางในการที่จะทำสตอรี่อื่น อย่างเช่น Old Town East ที่เกิดขึ้นมาอีก คือหมายความว่าเช็กลิสต์มันถูกติ๊ก 1-2-3-4-5  มากกว่าที่จะมุ่งไปเป็นอะไรอย่างเดียว เพราะฉะนั้นสำหรับเราการเปิดร้านที่หลานหลวงก็โอเค

แล้วโปรเจ็กต์ Old Town East เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เด่น : เรื่องขายโปรดักต์สที่ทำด้วยกันนี่คิดไว้อยู่แล้ว ร้านที่เราจะทำกับตูนที่เคยฝันไว้เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว มันก็คือร้านกาแฟ ซึ่งในร้านกาแฟก็จะมีของจุ๊กจิ๊กขาย มีกระเป๋าแบบที่เราอยากได้ เรามีวิธีคิดคล้ายๆ กัน ตูนเป็นคนเดียวที่ไปเมืองนอกด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น สมุดโน้ตแบบนี้ ดินสอแบบนี้ คือเห็นปุ๊บก็เข้าใจกัน อย่างเราไปซื้อแป้งเม็ดมาเพราะชอบ มาบอกตูน มึงทำอะไรดีวะ แค่นั้น ตูนก็ไปคิดฉลากมาติดเรียบร้อย มันไม่มีใครที่จูนกันได้โดยอัตโนมัติขนาดนี้แล้ว โปรเจ็กต์นี้มันเหมือนอยู่ในหัวเราสองคนมาเป็นสิบๆ ปี เวลาไปเมืองนอกด้วยกัน หรือไปเจอโน่นเจอนี่ สิ่งเหล่านี้ค้างอยู่ในหัวตลอดเวลา แต่เราก็ไม่รู้ว่ามันจะไปรอดไหม ดูอย่าง Playground ที่ทองหล่อสิ คือเราไม่มีความเชื่อว่าไลฟ์สไตล์ช็อปจะอยู่ได้จริงในประเทศนี้ ร้านดอกไม้สวยๆ จะอยู่ได้เหรอ หรือบ้านเราต้องขายแค่พวงหรีดเท่านั้น เราเคยซื้อดอกไม้มา 12 ดอก ทุกคนชอบดอกไม้หมด แต่พอตั้งขาย เคยขายได้ดอกเดียวกับลูกค้าฝรั่ง ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ มันทำให้รู้เลยว่าถ้าเราจะต้องเปิดร้านเพื่อขายโปรดักต์สอย่างเดียว เจ๊งแน่ เรารู้ว่าจะทำร้านดอกไม้ให้สวยมากอย่างไรบนถนนเส้นนี้ หรือจะทำร้านขายของที่ระลึกอย่างไรให้น่าสนใจ แต่เราก็รู้สึกว่ามันจะอยู่ได้เหรอ เราเลยไม่ได้เปิดร้านขายของตั้งแต่แรก แต่ตอนนี้เรามีสเปซอยู่แล้วทั้งร้าน Eden’s และ Alex&Beth  ก็เลยเริ่มจากทำเชลฟ์วางสินค้าลองขายดู มันอาจจะไปของมันได้ก็ได้

ตูน : เรื่องพวกนี้มันแปลกดีเหมือนกันนะ มันอธิบายไม่ได้ มันเหมือนมันอยู่ในหัวเราสองคนมาเป็นสิบๆ ปี  สมัยก่อนที่เราเด็กมากๆ เราอยากทำหนังสือแบบนี้ อีก 10 ปีให้หลังมันเกิดขึ้นเป็น Lips Love แล้วขณะที่เราทำหนังสือเราอยากทำร้านแบบนี้ เราอยากทำของขายแบบนี้ แล้วตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว มันมีเซนส์อะไรลึกๆ อยู่ซึ่งอธิบายเป็นแผนธุรกิจไม่ได้เลย

แต่การผลิตสินค้ามันก็เป็นธุรกิจ มันก็ต้องควักเงินลงทุนอยู่ดีนะ

เด่น : นี่เป็นคนไม่เสียดายเงินเลย เวลาจะจ่ายกับอะไรแบบนี้ พิมพ์สมุดเกือบ 10,000 บาท ได้มา 1,500 เล่ม บอกตามตรงเงิน 10,000 บาท หาพรุ่งนี้ก็ได้ รู้สึกอย่างนั้นน่ะ เพราะฉะนั้นก็คือทำไปเถอะ อย่างน้อยเราได้ทำสมุดที่เราอยากจะใช้เอง มันเป็นความไม่กลัว บอกไม่ถูก

ตูน : อาจจะเรียกได้ว่า ชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยความเชื่อมั้ง ฟังดูอาจจะดูเชย  เราอาจจะมีความเป็นศิลปินมากเกินไป หรืออย่างไรก็ไม่รู้ เราอธิบายไม่ถูก แต่เรารู้สึกว่าชีวิตเราขับเคลื่อนด้วยความเชื่อ และเราก็ไม่ได้ทำอะไรที่มันเกินตัว ถึงแม้ว่าทำแล้วจะประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ ก็ขอให้ได้ลองทำแล้วกัน แล้วมันก็ไม่มีอะไรจะแย่ไปมากมายกว่านั้นหรอก เราอาจจะมองแบบไร้เดียงสามากๆ โรแมนติกมากๆ แต่มัน

เด่น : แต่มันดีสำหรับเรา มันเป็นสูตรแบบเรา

ตูน : มันช่วยไม่ได้ เพราะมันเป็นตัวเรา คือถ้าเป็นคนอื่น เขาเห็นแล้วเขาคงไม่ทำหรอก แต่เราไม่ใช่คนอื่นไง เราเป็นเรา

เด่น : มันไม่ได้ลงทุนเยอะด้วยแหละ อย่างร้านเนี่ยก็ชัดเจน ตั้งงบฯ ไว้หนึ่งล้านบาท พี่แจะบอกว่า เธอควรจะตั้งไว้แค่นี้ แล้วถ้ามันพัง เธอหาแป๊บเดียว อาจใช้เวลาหนึ่งปีไปทำจ๊อบ เธอก็หามาคืนแบงก์ได้แล้ว แต่ถ้ามันเวิร์กล่ะ มันก็ดี เราก็รู้สึกว่าแค่นี้มันหาได้แหละ มันไม่ได้ยิ่งใหญ่เกินที่เราจะทำได้

แล้วการทำคอนเทนต์เล่าเรื่องในเพจ Old Town East ล่ะ มันมาอย่างไร

เด่น : มันมาจากสิ่งที่เราไม่ได้แพลนอีกนั่นละ อย่างโปรดักต์สที่เราทำ บังเอิญสิ่งเหล่านี้มันสามารถผลิตได้ในแถวนี้ ทุกอย่างมันไปตามธรรมชาติ พอมาใช้ชีวิตที่นี่จริงๆ มันทำให้เราเห็นจริงๆ โรงพิมพ์ที่พิมพ์กระดาษรองจานหรือพิมพ์สมุดให้เรานี่ตบกันตีกันตลอด แต่สุดท้ายเราก็อยากใช้เขา เพราะรู้สึกว่าพอมาอยู่ตรงนี้ แมททีเรียลต่างๆ เหล่านี้เอามาใช้ได้หมดเลย

อย่างเมนูก็คิดตั้งแต่แรกเลย อยากมีอะไรที่ใช้ของข้างบ้านสักอย่างหนึ่ง ก็คือแซนด์วิชเนื้อ ก็ใช้เนื้อจากร้านไหหลำตรงนี้ ซึ่งก็บอกเขาตั้งแต่แรกว่าเราจะมาเปิดร้าน ชอบกินเนื้อร้านเขา จะเอาเนื้อร้านเขามาทำเมนูที่ร้านเรา แล้วก็จะบอกทุกคนว่า เราซื้อเนื้อมาจากร้านนี้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนี้ คือมันเป็นความซื่อ เราอาจจะรู้วิธีสร้างสตอรี่ด้วยมั้ง คิดแล้วว่ามันก็มีเรื่องให้เล่าได้ด้วย แต่พออยู่ไปจริงๆ มันไม่ใช่แค่สตอรี่ มันเป็นเรื่องจริง อย่างเรื่องน้องแวว แม่ค้าขายปลา ที่เขียนเล่าในเพจเป็นประจำ ก็เขียนสนุกๆ รู้สึกว่า เออเพื่อนชอบอ่าน เราเองก็สนุก คันมืออยากเขียนอยากเล่า แต่มันกลายเป็นว่า เรื่องที่นำมาเล่ามันก็เกิดเป็นเซนส์ของความเป็นชุมชนโดยอัตโนมัติ

ตูน : เราไม่ได้เข้าไปวุ่นวายอะไรกับเขาเลยนะ อย่างบางทีเรามองเห็นโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เข้าไป revamp ที่นั่นที่นี่ ยกตัวอย่างเจริญกรุง ให้เป็นดิสทริกต์อันโน้นอันนี้ เราเคยคุยกับน้องที่อยู่ในโปรเจ็กต์ เขาบอกว่า บางทีคนในชุมชนไม่ได้ต้องการให้คนนอกเข้าไปออกแบบหรือไปดีไซน์อะไรให้เขาใหม่เลยนะ เขาโอเคของเขาอยู่แล้ว อย่างย่านนี้เราไม่ได้เข้าไปเป็นเจ๊ระเบียบไปทำอะไรกับเขาเลย เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ แล้วก็ด้วยความที่เราเกิดมาเป็น journalist เราเห็นอะไรเราก็เลยอยากทำ อยากเล่าต่อ ง่ายๆ แค่นั้นเอง

เด่น : บวกกับความเป็นคนบ้านนอกด้วย เราอยู่ที่นี่ด้วยความรู้สึกว่าไม่ใช่คนนอกมาทำร้าน คนอื่นๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอีนี่มันเป็นใครมาจากไหน แต่มันกลืนกันไปโดยอัตโนมัติ ตอนเที่ยงๆ เพื่อนบ้านสามารถเดินไม่ใส่รองเท้าเอากล้วยไข่มาให้ 3 ถุง แล้วบอกหนูเอาไปกิน ซื้อมาฝากอะไรอย่างนี้ เราอยู่แบบชาวบ้านมาก ตอนมาเช่าห้องก็ดูกะโปโลมาก ใส่กางเกงขาสั้นมาเซ็นสัญญา จ่ายสตางค์ 50,000 บาท แต่ตอนนี้คนเริ่มมีการกระซิบกันแล้วว่า เด่นนี่มันคือใครเหรอ ทำไมคนที่มาร้านเป็นดาราเยอะจัง (หัวเราะ)

เด่นกับตูนตั้งเป้าหมายของการสร้างสิ่งที่เรียกว่า Old Town East ไว้ไกลแค่ไหนทั้งกับตัวเอง หรือกับชุมชนแห่งนี้

เด่น : ไม่มี เราไม่ได้คิดไกล และไม่ได้คิดให้สวย เหมือนที่บอก ง่ายๆ ก็คือชื่อแบรนด์ มันก็คือชื่อแบรนด์ ตอนที่คุยกับตูนว่า เฮ้ย มึงทำกระเป๋าผ้ากันเถอะ ตูนก็บอกว่าชื่อโอลด์ทาวน์อีสต์แล้วกัน ชื่อแบรนด์ก็มาเลย Old Town East มันคือรอบนอกทางตะวันออกของกำแพงเมือง ตอนแรกคือแค่นั้นเลย เวลาใครถามว่าปัจจุบันนี่โอลด์ทาวน์อีสต์คือใครบ้างก็ตอบไม่ได้หรอก เราชอบที่พี่คนหนึ่งบอกเราว่าที่นี่ก็คือกอง บ.ก.ของโอลด์ทาวน์อีสต์ เออ subject มันตรง แต่ถามว่า โรงแรมข้างบ้านอยู่ในโอลด์ทาวน์อีสต์ด้วยไหม เราไม่กล้าพูด เพราะเราไม่เคยบอกเจ้าของโรงแรมว่า เฮ้ย อุ้ม มาเป็นโอลด์ทาวน์อีสต์ด้วยกันนะ ตอนที่โปรเจ็กต์นี้ออกมาเป็นวัน Thanksgivings พอดี เราแค่อยากชวนเพื่อนมากินข้าว จริงๆ ก็คือแค่คัน—อยากใช้ที่รองแก้วใหม่ซึ่งเป็นโลโก้ Old Town East แต่ไม่ได้เชิญทุกคนมาเพื่อจะประกาศว่า เราคือโอลด์ทาวน์อีสต์นะคะ เราตั้งชื่อย่านนี้แบบนี้ ขอเชิญคุณเข้าร่วมสมาคมนี้ เราไม่ทำ เราไม่ได้เป็นอย่างนั้น

ตูน : เราไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์แบบนั้นที่จะต้องไป revamp ชุมชน ไปทำให้เป็นดิสทริกต์ชื่อสวยเก๋โน่นนี่ คือเขามีของดีของเขาอยู่แล้ว แต่บังเอิ๊ญบังเอิญว่าเราเป็น journalist แค่นั้นเอง แล้วเราก็เลยหยิบออกมาเล่า เราไม่ได้มีความคิดเลยว่า มันจะต้องเป็นชุมชนตัวอย่าง ซึ่งถามจริงว่าคนแถวนี้เขาอยากเป็นชุมชนตัวอย่างเหรอ เขาอยากจะเป็นดีไซน์ดิสทริกต์เหรอ เขาอยากจะเป็นครีเอทีฟดิสทริกต์เหรอ เขาแฮปปี้กว่าเราอีก เรามาอยู่กับเขาทุกวันนี่ เขาดูแฮปปี้กว่าพวกเราอีก บางทีเราเห็นได้เลยว่าชีวิตพวกเขาโคตรแฮปปี้เลย เขาพอเพียงมาก เขาขายไม้ ขายเสร็จ ทำนู่นก๊อกๆ แก๊กๆ ตกเย็นก็มานั่งหน้าร้าน แฮปปี้กว่าอะไรทั้งนั้น นึกออกหรือเปล่า นั่นแหละ มันก็อาจจะดูโรแมนติกไป แต่ว่าแล้วชีวิตจริงๆ มันต้องเป็นอย่างไรล่ะ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่ว่าจะต้องไปทำให้เป็นอะไร

เพราะระยะหลัง มันเกิดเทรนด์การสร้างชุมชนให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ มีชื่อนั้นนี้ แล้วเดี๋ยวก็จะมีการจัดเทศกาลต่างๆ ในชุมชน อยากรู้ว่า Old Town East จะขับเคลื่อนไปแบบนั้นไหม

ตูน : ตอบไม่ได้ โมเดลของชุมชนอื่น เราชื่นชมเขานะ เรารู้สึกว่า เขามี objective ชัดเจน แต่มันก็กลับมาที่ธรรมชาติของเราสองคนอีกแหละว่า เราไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนั้น เราทำตามเซนส์ ตามความรู้สึก ตามจังหวะชีวิตของเรามากกว่า มันไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนั้น แต่ว่าอย่างที่เราพูดไว้… คือให้แบบพูดเชยๆ เลยนะ ก็ประมาณว่า ให้มุมมองใหม่ๆ ให้แรงบันดาลใจใหม่ๆ เอาแค่นี้ก่อน เราไม่ต้องการถึงขนาดว่า ปีหน้าเบียนนาเล่ต้องจัดที่นี่ ต้องมีเม็ดเงินสะพัด ต้องอะไรอย่างนั้น เราแค่ทำตามสัญชาตญาณของเราก่อน เรารู้สึกว่าสตอรี่นี้มันสนุก มันอาจให้แง่คิด ให้อะไรได้บ้าง ทำตามสัญชาตญาณของสื่อมวลชน เราก็นำมาเล่า จบ แค่นั้นเอง

กลับมาที่เรื่องร้านทั้งของเด่นและตูน คิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต

เด่น : ไม่มีแพลนเลย เดาไม่ถูก บางทีเห็นร้านที่เป็นแบรนด์อย่างนี้อยู่มาได้ 5 ปี  10 ปี อยู่ได้ยังไงวะ คิดภาพไม่ออกเลยว่าอีก 10 ปี Eden’s คืออะไร เป็นอย่างไร จะยังอยู่ตรงนี้ไหม ไม่เห็นภาพตรงนี้จริงๆ แต่รู้สึกว่ามันก็คงอยู่ต่อไปได้ แต่เราจะไม่ได้อยู่เหมือนวันแรก มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วันนี้คืออย่างนี้ ปีหน้าอาจจะมีอะไรที่สนุกขึ้นอีกหน่อย แต่แพลนมากไม่ได้เลย อย่างโอลด์ทาวน์อีสต์เราไม่ได้แพลนว่ามันจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมด้วยซ้ำไป คือคุยกับตูนแค่ว่าทำของขวัญเถอะ คือทำแจก แต่บังเอิญว่าทำเสร็จแล้วของมีจำนวนมาก อย่างนั้นก็ประกาศขายเป็นโอลด์ทาวน์อีสต์เลยแล้วกัน ชื่อแบรนด์มันมาพอดี มันก็เป็นไปโดยอัตโนมัติ

ตูน : เรื่องพวกนี้มันเป็นสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจเรา อย่างเช่นพอเราไม่ได้ทำนิตยสาร Lips แล้ว เราก็มีความรู้สึกว่าเราจะต้องได้ทำอะไรอย่างนี้อีก แต่เรายังไม่รู้ว่าคืออะไร แต่รู้สึกว่าเราต้องได้ทำ แล้วมันก็มาของมันเอง ซึ่งก็คือโปรเจ็กต์ Old Town East ส่วนเรื่องร้านจะต้องอยู่ไปอีก 10 ปี 20 ปี เราไม่รู้สึกแบบนั้นเลย เพราะว่าเราโตมาเรื่อยๆ ชีวิตเรามาถึงจุดนี้ เราไม่คิดว่ามันจะมีอะไรที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สมัยก่อนเราอาจจะแพลน career path ของเราว่า เรียบจบแล้วเราอยากทำอะไร ปีนี้เราอยากจะทำตำแหน่งนี้ ปีนี้เราจะก้าวสู่ตำแหน่งนี้ ปีนี้เราจะได้เงินเดือนเท่านี้ เราจะซื้อบ้านซื้อรถ ฯลฯ แต่พอมาถึงตอนนี้ปุ๊บ มันกลายเป็นว่าเราเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ ยังคุยกับเด่นอยู่เลยว่าช่วงปีสองปีนี้มันเหมือนกับว่า เราไปอยู่ที่ไหนก็ได้แล้ว เราไม่จำเป็นจะต้องมีบ้าน มีที่ มีรถ อะไรอีกแล้ว เราอยู่บ้านเช่าก็ได้ เราอยู่ที่ไหนก็ได้ แล้วมันก็จะเป็นที่ของเรา ซึ่งแต่ก่อนเราสองคนเป็นคนบ้าสมบัติมาก ตอนนี้เรารู้สึกว่าสมบัติเป็นภาระของเรา คือไม่รู้จะอธิบายอย่างไร แต่มันเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ยังตอบไม่ได้ว่า ใน 5 ปี  10 ปี มันจะเป็นอย่างไร แต่รู้ว่ามันก็จะ revolve ไปเรื่อย

แต่ถ้าใครติดตามอ่านจากสเตตัสเฟซบุ๊กของทั้งคู่ ก็ดูเป็นชีวิตฮิปสเตอร์ที่น่าอิจฉานะ ตื่นนอน นั่งสูบบุหรี่ริมหน้าต่าง ปั่นจักรยานไปกินกาแฟกับปาท่องโก๋ แวะซื้อดอกไม้ที่ปากคลองตลาด

เด่น : บางทีสุดท้ายเราก็ต้องการอะไรที่มันเบสิกมากจริงๆ นะ บางทีก็รู้สึกเหมือนกันว่า ชีวิตฉันเป็นฮิปสเตอร์ไหมวะ ซึ่งพูดได้เลยว่า มันก็เหมือนจริงๆ นะ แต่ถ้าคนเพิ่งอายุ 25 ปีอยากจะเป็นฮิปสเตอร์แบบนี้ เราอยากจะบอกว่าหนูไปผ่านชีวิตมาก่อน เพราะตอนอายุ 25 พี่ไม่ได้ฝันแบบหนู พี่ฝันอีกแบบหนึ่ง เช่น วันหนึ่งฉันต้องได้ทำแมกกาซีนหัวนอก วันหนึ่งฉันต้องทำงานที่ได้พูดภาษาอังกฤษกับเจ้านาย แล้วเจ้านายต้องบอกว่า เธอเจ๋งมาก เราผ่านตรงนั้นมาหมดแล้ว ก่อนที่จะมาเป็นชีวิตที่เรียกว่าดูเป็นฮิปสเตอร์ ในตอนนี้การเริ่มต้นชีวิตจากการเป็นฮิปสเตอร์ เราไม่รู้ว่าจุดจบมันจะเป็นอย่างไร เราไม่ได้ฝันจะเป็นฮิปสเตอร์ตอนเด็ก เรามาเป็นฮิปสเตอร์ตอนที่เราผ่านชีวิตแบบอื่นมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าเราเป็นฮิปสเตอร์ที่ชีวิตแข็งแรงแล้วก็ได้  

ตูน : เรารู้สึกว่า คนที่มองเห็นอีกแบบหนึ่งก็เพราะมันมีคำพูดคำหนึ่งที่ว่า คนเราไม่เอาความทุกข์ยากลำบากอะไรของตัวเองมาลงโซเชียลมีเดียหรอก บางทีก็อยากจะบอกว่าเบื้องหลังของการตื่นมาสูดอากาศตอนเช้า มันคือเลือดและน้ำตา

เด่น : ถึงบอกไงว่าเราโชคดีที่เราไม่ได้เป็นฮิปสเตอร์ตอน 25 ถ้าเราอยากเป็นฮิปสเตอร์ฝันหวานตั้งแต่ตอนเด็ก ชีวิตเราไม่เป็นอย่างนี้ตอนอายุจะ 40 หรอก ลูปเราเหมือนคนแก่ที่เกษียณ แต่ก็ไม่หยุดเกษียณ ไม่หยุดเรียนรู้มากกว่า ตอนนี้ที่รู้สึกน่ะมันอาจจะเหมือนพวกฮิปปี้ก็ได้ แต่ฮิปปี้ตอนที่แก่ขึ้นมาหน่อย ซึ่งเราก็ผ่านชีวิตมาแล้วประมาณหนึ่ง

แต่ไลฟ์สไตล์ในแบบที่เล่ามานี่ มันเป็นอาชีพหรือการใช้ชีวิตที่เด็กยุคนี้ใฝ่ฝันกันเลยนะ

เด่น : มันเป็นสูตรของชีวิตเราเอง ของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ ถ้าตอนเราอายุ 25 ไม่เริ่มทำแมกกาซีน อายุ 32 ทำแมกกาซีนไลฟ์สไตล์ ชีวิตตอนนี้มันก็จะไม่เป็นแบบนี้ ถ้าไม่เคยเจอเจ้านายฝรั่งที่ bitchy มาก แต่ก็เก่งและแกร่งมากเนี่ย เราก็จะไม่เรียนรู้อย่างนี้ ถ้าไม่เคยทำงานแมกกาซีนมาก่อน เราจะไม่รู้หรอกว่า สิ่งที่เขียนอยู่ทุกวันนี้ เรื่องของน้องแวว ป้า ลุงโน่นนี่นั่น มันก็คือการพีอาร์หมดแหละ ซึ่เราก็เรียนรู้จากการทำแมกกาซีน จากการเป็น journalist มาก่อน ถ้าไม่ได้เป็น journalist มาก่อน ไม่ได้ไปเมืองนอก ไม่ได้มีฐานนันดรที่ห้าไปใช้ชีวิตหรูหรานอนโรงแรมห้าดาวที่ต่างประเทศ ไปนิวยอร์กปีละหนทุกปี ได้เห็นโน่นนี่นั่น ซึ่งสุดท้ายแล้วทั้งหมดนั้นมันมารวมอยู่ในตัวเรา มันเป็นสเต็ปชีวิตของมันเองเพื่อให้เรามีวันนี้ ก็ต้องขอบคุณก้าวย่างเหล่านั้นนะ แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จเหมือนที่บอก

เด็กเดี๋ยวนี้เขาก็เก่งจริงๆ นะ บางทียังพูดกับตูนเลยว่า เขาปั้นตัวเองได้อย่างไร ถ่ายรูปออกมาสวย แต่เขียนคอนเทนต์ไม่เป็นเลย แต่สุดท้ายเราอยากอ่านของเขามากกว่าอ่านแมกกาซีนชื่อดังอีก เราถึงบอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ มันอยู่ที่ใครทุบโจทย์ของตัวเองแตก

ตูน : เด็กสมัยนี้อายุน้อยมาก เขียนหนังสือไม่เป็น แต่ถ่ายรูปสวยเสียอย่าง แล้วก็กลายเป็นว่า เราอยากดูรูปของเขามากกว่าไปเปิดดูในแมกกาซีนชั้นนำ แล้วเราก็ยอมรับ ซูฮกเขาเลย  มันก็คือ disruption อันหนึ่งนั่นแหละ เพียงแต่ว่าบางคนยอมรับดิสรัปชั่นนั้นได้ไหม แต่เราเห็นข้อดีของมันไง ใครมีความสามารถก็รับผลจากความสามารถของคุณไป นึกออกหรือเปล่า มันไม่ได้มีข้อจำกัดเหมือนเดิมอีกแล้ว

นั่นแปลว่าทั้งคู่จะไม่กลับไปทำงานสื่อมวลชนอีกแล้วใช่ไหม

ตูน : กลับไปสู่การเป็น journalist เหรอ นี่พูดตรง เลยนะ พร้อมสำหรับทุกอย่างที่ใหม่ คือถ้าเกิดการกลับไปสู่องค์กรเป็นอะไรที่ใหม่ และเราอยากทำ เราไปนะ เราทำหมดจริงๆ ตราบใดที่มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันใช่ เราอยากทำ มันไม่ใช่ว่าฉันจะไม่กลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกแล้ว ฉันจะไม่กลับไปทำสื่อ traditional อีกแล้ว ก็เหมือนกับที่เราเล่าไปตอนต้นว่า ที่เรามาทำอันนี้ เพราะว่าการทำงานแบบเก่าเราไม่ได้อยากทำแล้ว มันทำมาหมดแล้ว นึกไม่ออกว่าจะทำต่อให้สนุกอย่างไร ไม่รู้ว่าเราจะมีความสนุกกับการทำงานตรงนั้นต่ออย่างไร แต่ไม่ได้หมายความจะไม่กลับไปทำงานเขียนหรือแมกกาซีนเป็นเล่มๆ อีก

สมมติว่าผู้บริหารคนหนึ่งเห็นแล้วบอกว่า อยากทำแมกกาซีนแปลกประหลาดหนึ่งเล่ม แล้วให้พวกเราทำ Old Town East เป็นฟรีก๊อปปี้ เราทำได้เลย อยากทำด้วย อย่างนี้ได้ เพราะมันเห็นภาพแล้ว มันก็คงเหมือนตอนที่เราอยากทำ Lips Love นั่นแหละ มันก็คือสิ่งที่เราอยากทำมากตอนอายุ 32 เราดัดจริต เราอยากเป็นอย่างนั้นน่ะ มีคนบอกว่า โอ๊ย เสียดายแมกกาซีนเล่มนี้จังเลย แต่เรากลับไม่เคยรู้สึกเสียดายเลย เอาจริงนะ แปลกใจมากเหมือนกัน รู้สึกว่าให้ทำต่อตอนนี้ก็ไม่อยากทำแล้ว เพราะมันเป็นความรู้สึกอยากทำตอนนั้นก็คือตอนนั้น แต่ถ้าตอนนี้เอาเงินมาให้ก้อนหนึ่ง ให้ลุกขึ้นมาทำนิตยสารแบบ 80 หน้า ออกทุกเดือน ก็ทำได้นะ ทุกอย่างอยู่ในหัวหมดแล้ว

เด่น : ความดัดจริตของพวกเรา ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้

Fact Box

  • เด่นนิรามย์ วัฒนสิทธิ์ เจ้าของร้าน Eden’s จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทำงานในแวดวงนิตยสารมาหลากหลายฉบับ โดยเฉพาะการร่วมปลุกปั้นนิตยสาร Lips LOVE ในฐานะครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ และบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ นิตยสาร Lips ก่อนที่จะเปิดร้านของตัวเอง เป็นที่รับรู้กันในหมู่เพื่อนฝูงว่าเค้กฝีมือของเด่นเป็นที่เลื่องลือในรสชาติ แต่ใช่ว่าจะได้ลิ้มรสกันบ่อยๆ เรียกว่าต้องอาศัยโชค และรอจังหวะอารมณ์ของคนทำกันหน่อย
  • ตูน-กัญจน์ สุวรรณธาดา เจ้าของร้าน Alex&Beth จบการศึกษาจากคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังจากมีโอกาสฝึกงานกับนิตยสาร LIPS ตูนก็เข้าทำงานที่นั่นยาวนานจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร และยังเป็นผู้ปลุกปั้นนิตยสาร Lips Love ร่วมกับเด่น
  • ทุกวันนี้ นอกจากทำอาหารและชงกาแฟเสิร์ฟเองในร้าน Alex&Beth อีกภาคหนึ่งของชีวิต ตูนยังทำงานในฐานะฟรีแลนซ์ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ที่สร้างสรรค์โปรเจ็กต์ต่างๆ ทั้งในส่วนของแฟชั่นและไลฟ์สไตล์
  • ร้าน Eden’s และ Alex&Beth ตั้งอยู่ที่ถนนหลานหลวง ก่อนถึงสะพานผ่านฟ้า เป็นคาเฟ่ที่มาแรงทั้งสองร้าน กลายเป็นหมุดหมายของเหล่า Cafe Hopping และผู้ที่รักการถ่ายรูปด้วยบรรยากาศการออกแบบตกแต่งของร้านที่ดูราวกับเป็นคาเฟ่ในปารีสหรือโซโห นิวยอร์ก
  • นอกจากนั้น ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างไลฟ์สไตล์บนถนนหลานหลวง อันตามมาด้วยร้านมะม่วงช็อปของตั้ม— วิศุทธิ์ พรนิมิตร และโปรเจ็กต์เล็กๆ สนุกๆ อย่าง Old Town East กับการบอกเล่าถึงวิถีชีวิต เสน่ห์ของผู้คน และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตเมืองเก่านอกกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันออกอีกด้วย

 

Tags: , ,