‘โลกกำลังเข้าใกล้ความล้มเหลวเชิงศีลธรรมขั้นหายนะ’
ประโยคที่ทำให้เหล่าประเทศพัฒนาแล้วต้องหน้าเสีย คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์โดย ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ที่พยายามเรียกร้องให้ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 คำนึงถึงการกระจายวัคซีนอย่างเป็นธรรม หลังจากพบว่าปัญหา ‘วัคซีนชาตินิยม (vaccine nationalism)’ เกิดขึ้นตามคาด
เขาหยิบยกตัวเลขน่ากังวลที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำอย่างมากระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจนในการเข้าถึงวัคซีน โดยเขาระบุว่า ประชากรในประเทศร่ำรวย 49 ประเทศ ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 39 ล้านโดส ในขณะที่ประเทศยากจนประเทศหนึ่งได้รับวัคซีนเพียง 25 โดสเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญเตือนให้ทั่วโลกเฝ้าระวังปัญหา ‘วัคซีนชาตินิยม’ ตั้งแต่ยังไม่มีบริษัทใดมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีน เพราะปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ล่าสุดคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่กว่าจะเดินทางมาถึงประเทศกำลังพัฒนา เหล่าประชากรประเทศร่ำรวยก็ต้องได้รับวัคซีนกันถ้วนหน้าเสียก่อน ความเหลื่อมล้ำรูปแบบดังกล่าวยังเกิดกับวัคซีนไข้ทรพิษและโปลิโอ รวมถึงยาต้านโรคเอดส์ กลายเป็นสาเหตุให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนและอินเดียพยายามหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ และเสริมสร้างศักยภาพในการค้นคว้านวัตกรรมและผลิตยาภายในประเทศ
การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเตรียมรับมือปัญหาเดิมด้วยโครงสร้างใหม่แกะกล่องที่ชื่อว่า COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ความเป็นจริงกลับไปไกลไม่ถึงฝัน เพราะเหล่าประเทศต่างหันไปเซ็นข้อตกลงทวิภาคีกับเจ้าของวัคซีนหรือประเทศผู้ผลิตโดยตรงจน COVAX ถูกลดทอนความสำคัญ กลายเป็นศึกชิงวัคซีนระหว่างประเทศที่ใครรวยกว่าย่อมได้ก่อน
ราคาของ ‘วัคซีนชาตินิยม’
‘วัคซีนชาตินิยม’ ก่อเค้าตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังจากมีนักวิเคราะห์เปิดเผยความเหลื่อมล้ำในการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าระหว่างเหล่าประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน เพราะเหล่าประเทศร่ำรวยต่างสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้าในอัตรามากกว่า 2 โดสต่อประชากรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น นำโดยประเทศแคนาดาที่มีจำนวนการสั่งซื้อล่วงหน้าทั้งหมด 9 เท่าของจำนวนประชากร
นี่คือหลักฐานเชิงประจักษ์ของปัญหาวัคซีนชาตินิยมที่ประเทศร่ำรวยเดินหน้าทำข้อตกลงกับผู้ผลิตโดยตรง กักตุนวัคซีนในระดับที่เกินจำเป็น ผลักดันให้ราคาวัคซีนเพิ่มสูงขึ้น นักวิเคราะห์ยังคาดว่าการปันส่วนที่ไม่เป็นธรรมอาจทำให้กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุในประเทศยากจน อาจได้รับวัคซีนหลังจากกลุ่มเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ เช่น วัยรุ่นและวัยทำงานในประเทศพัฒนาแล้ว นำไปสู่การเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้ หากมีการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียม
มีการวิจัยที่ใช้แบบจำลองทำนายว่าวัคซีนชาตินิยมจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น โดยคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะถึงแม้ว่าบางประเทศจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันประชากรของตัวเองได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ตราบใดที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ก็เป็นการยากที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะก่อนการระบาด
สาเหตุหนึ่งเนื่องจากความสลับซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานวัคซีนที่ต้องใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีจากหลากหลายแหล่ง ตราบใดที่โลกยังไม่สามารถควบคุมโควิด-19 ก็เป็นการยากที่การผลิตวัคซีนจะสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มกำลัง อีกทั้งภูมิภาคที่ยังไม่ได้รับวัคซีนก็จะแทบไม่มีโอกาสฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการซื้อยังอ่อนแรง ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องหยุดงาน ภาคธุรกิจที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดอย่างการบริการและท่องเที่ยวก็แทบไม่มีโอกาสฟื้นตัว อีกทั้งยังเพิ่มความตึงเครียดในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและยากจนอีกด้วย
COVAX ความฝันที่ไม่อาจกลายเป็นความจริง
ปัญหาวัคซีนชาตินิยมคือเหตุผลที่องค์การอนามัยโลกและองค์กรไม่แสวงหากำไรระหว่างประเทศจึงผลักดันโคแวกซ์ (COVAX) โครงการริเริ่มเพื่อการเข้าถึงวัคซีนแก่ทุกประเทศอย่างเท่าเทียมไม่ว่าร่ำรวยหรือยากจน นับเป็นความฝันใฝ่ของเหล่าผู้หวังดีที่ไม่อยากให้มนุษยชาติเดินซ้ำรอยความผิดพลาดในอดีต
นอกจาก COVAX จะสัญญาว่าจะปันส่วนวัคซีนอย่างเป็นธรรมแล้ว โครงการริเริ่มดังกล่าวยังเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน เพราะแทนที่รัฐบาลจะต้องเสี่ยงลงทุนสั่งซื้อล่วงหน้ากับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง การลงเงินกับ COVAX จะเข้าถึง ‘พอร์ตโฟลิโอวัคซีน’ จำนวน 19 ชนิดที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คัดสรรโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จ ศักยภาพในการผลิต รวมถึงข้อจำกัดในการขนส่งถึงประเทศปลายทาง
แม้ว่าในตอนแรก ประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่โดยไม่ทราบว่าจะได้วัคซีนตัวใด แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ผลิตรายใดคิดค้นได้ COVAX ก็จะจัดสรรวัคซีนดังกล่าวให้กับประเทศที่ร่วมลงขันโดยเฟสแรกจะเน้นให้ฉีดวัคซีนแก่ประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงผู้สูงอายุ ก่อนจะขยายสู่ประชากรอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความการุณย์ของประเทศร่ำรวย ถึงแม้ว่า COVAX จะมีประเทศร่วมลงขันกว่า 180 ประเทศ แต่เกินกว่าครึ่งหนึ่งคือประเทศยากจนและรายได้ปานกลาง ขณะที่ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐอเมริกาปฏิเสธที่จะเข้าร่วมโครงการริเริ่มดังกล่าวและตัดสินใจสั่งซื้อวัคซีนกับผู้ผลิตโดยตรง
วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท แอสตร้าเซเนก้า คือหนึ่งในวัคซีนในพอร์ตโฟลิโอของ COVAX ที่มีประสิทธิผลในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่ง COVAX คาดว่าจะเริ่มกระจายวัคซีนดังกล่าวให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน กัมพูชา พม่า ลาว อินโดนีเซีย ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในระหว่างกระบวนการขอเข้าร่วมโครงการ อย่างไรก็ดี แผนการที่วางไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้แก่ประชากรของประเทศที่เข้าร่วมอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากโครงการจำเป็นต้องใช้เงินราว 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แต่จากข้อมูลล่าสุดพบว่า COVAX ระดมเงินทุนได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ
คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า COVAX คือความร่วมมือระดับโลกที่ไปได้ไม่ไกลอย่างที่ฝันเพราะแต่ละประเทศต่างแก่งแย่งวัคซีนแก่ประชากรในประเทศตนเอง แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจกลายเป็นการระบาดที่ไม่สามารถควบคุมได้และสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ยาวนานกว่าที่ควรจะเป็น
จากวัคซีนชาตินิยม สู่วัคซีนทางการทูต
การแก่งแย่งแข่งขันของรัฐบาลประเทศร่ำรวยที่มีทรัพยากรล้นเหลือเพื่อ ‘ลัดคิว’ ขอซื้อวัคซีนล่วงหน้าจากผู้ผลิตโดยตรงเพื่อให้ประชากรของตนก่อนนั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เพราะเหล่าผู้นำจากประเทศประชาธิปไตยย่อมต้องให้ความสำคัญของ ‘ฐานเสียง’ ภายในประเทศมาเป็นอันดับแรก เราจึงได้เห็นการปิดชายแดนเพื่อคุ้มครองประชาชนของตนเอง แม้กระทั่งกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปก็ตาม
การแก่งแย่งกันเข้าซื้อวัคซีนทำให้ประเทศยากจนถูกผลักให้ไปอยู่คิวท้ายๆ พร้อมกับความหวังจากโครงการริเริ่มอย่าง COVAX ที่ตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงฝัน แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาส บางประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนมาล้นเหลือหรือมีศักยภาพในการผลิตต่างก็เปลี่ยนแนวคิดจากวัคซีนชาตินิยมสู่วัคซีนทางการทูต ใช้วัคซีนเพื่อสร้าง ‘มหามิตร’ ในห่วงวิกฤตโรคระบาด
ประเทศที่โดดเด่นบนเวทีวัคซีนเพื่อการทูตก็หนีไม่พ้นประเทศจีน ที่ล่าสุดเดินหน้าทำสัญญาเตรียมส่งมอบวัคซีนสัญชาติจีนที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac ที่มีประสิทธิผลระดับปานกลาง แต่รัฐบาลกว่า 20 ประเทศแถบเอเชียทั้งฝั่งตะวันออกกลางรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเองก็สั่งซื้อล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี มีอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ที่ไม่ยอมให้จีนแผ่อิทธิพลทางการทูตเพียงฝ่ายเดียวคืออินเดีย ที่ประกาศว่า ‘พร้อมแจก’ วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท แอสตร้าเซเนก้าและผลิตในสถาบันเซรุ่มอินเดีย ฐานการผลิตวัตซีนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมุ่งเป้าไปที่เหล่าประเทศซึ่งจีนเข้าไป ‘จีบ’ อย่างไม่ลดราวาศอก เช่น ภูฏาน มัลดีฟส์ บังกลาเทศ เนปาล และเมียนมา
ถือเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าหลังจากการระบาดเริ่มสงบ เหล่ามหาอำนาจฝั่งตะวันตกจะลงสนามแข่งขันกันลดแลกแจกแถมเพื่อคานอำนาจจากจีนหรือไม่ ฤาจะปล่อยให้จีนกลายเป็นพระเอกขี่ม้าขาวแห่งภูมิภาค ส่วนฝรั่งตาน้ำข้าวกลายเป็นเศรษฐีผู้เห็นแก่ตัว ศึกนี้คงต้องดูกันไปอีกสักพัก เพราะถึงแม้หลายคนจะรู้สึกว่าปี 2564 นั้นนานแสนนาน แต่วันนี้เรายังไม่ผ่านพ้นเดือนแรกของปีไปเลยด้วยซ้ำ!
เอกสารประกอบการเขียน
COVID-19 and the cost of vaccine nationalism
How COVID vaccines are being divvied up around the world
For Covid-19 Vaccines, Some Are Too Rich — And Too Poor
Tags: COVID-19, COVAX, Economic Crunch, Digital Markets Act