ภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้ทำให้ความเท่าเทียมทางเพศถูกถกเถียงอย่างกว้างขวาง เพราะในโลกแห่งบาร์บี้ผู้หญิงสามารถเป็นได้ทุกอย่าง ส่วนผู้ชายก็เป็นแค่ ‘เคน’ ส่วนในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ชายเป็นได้ทุกอย่าง ส่วนผู้หญิงมักถูกจำกัดอยู่แค่บทบาท ‘แม่และเมีย’ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งแต่งงาน แม้ว่าพวกเธอจะมีการศึกษาสูงหรือมีหน้าที่การงานดี สังคมฝั่งเอเชียก็ยังคาดหวังให้พวกเธอแบกรับสถานะแสนสำคัญในบ้าน นั่นคือ ‘แม่’ ที่คอยดูแลลูกๆ และ ‘เมีย’ ที่คอยจัดการเรื่องงานบ้าน เป็นช้างเท้าหลังคอยสนับสนุนสามีผู้หารายได้หลักเพียงลำพัง ขณะที่ผู้หญิงต้องปรับลดลำดับความสำคัญของการทำงานลง แล้วยกชูสถานะ ‘แม่และเมีย’ ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง

นอกจากเรื่องบาร์บี้แล้ว ประเด็นดังกล่าวฉายชัดอยู่ใน Doctor Cha ซีรีส์เกาหลีที่บัณฑิตแพทยศาสตร์ทิ้งอาชีพหมอเพื่อเป็นแม่และเมียเต็มเวลา รับหน้าที่ทำงานบ้านและดูแลลูกๆ กลายเป็นเบี้ยล่างในบ้านของสามี และเมื่อวันหนึ่งเธอต้องการเดินกลับเข้าสู่สถานะ ‘หมอ’ อีกครั้งก็ต้องเผชิญกับแรงต้านสารพัด

ประเทศไทยนับว่าเป็นประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้บริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายกับหญิงในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ช่องว่างดังกล่าวแทบไม่เหลืออยู่แล้ว กล่าวคือค่าตอบแทนของชายและหญิงในตำแหน่งงานที่ใกล้เคียงกันนั้นไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม หากขุดลงลึกมากกว่าประเด็นเรื่อง ‘ค่าตอบแทน’ ระหว่างชายกับหญิง เราจะพบว่า ผู้หญิงยังต้องแบกรับต้นทุนในฐานะแม่ และมีราคาที่ต้องจ่ายในฐานะเมีย

ต้นทุนของการเป็นแม่

นอกจากความเครียดและความเหนื่อยล้าที่ต้องอดหลับอดนอนเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเปลี่ยนสถานะสู่ความเป็นแม่ พวกเธอยังต้องเผชิญกับ ‘โทษทัณฑ์จากความเป็นแม่’ (Motherhood Penalty) ซึ่งส่งผลให้โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้หญิงที่มีลูกมักมีรายได้น้อยลงราว 20% เมื่อเทียบกับผู้หญิงวัยเดียวกันและวุฒิการศึกษาใกล้เคียงกัน เนื่องจากผู้หญิงที่มีลูกมักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานหรือไม่ได้ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน รวมทั้งพวกเธออาจเผชิญการกีดกันในตลาดแรงงานหรือทัศนคติเชิงลบต่อผู้หญิงที่มีลูก

ปรากฏการณ์ดังกล่าวพบได้ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่มีสวัสดิการสนับสนุนผู้หญิงลูกเล็กอย่างกลุ่มประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ในทางกลับกัน ผู้ชายเมื่อกลายสถานะเป็นพ่อก็จะมีแนวโน้มรายได้เพิ่มสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า ‘พรีเมียมจากความเป็นพ่อ’ (Fatherhood Premium) โดยเหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เหล่าคุณพ่อจะทุ่มเทให้กับการทำงานมากขึ้นกว่าเดิมหลังจากมีลูกหัวแก้วหัวแหวน

แต่เมื่อหันกลับมาในประเทศไทย เรากลับเผชิญภาวะที่ทั้งพ่อและแม่เผชิญโทษทัณฑ์ไม่ต่างกัน โดยค่าตอบแทนของผู้ชายที่มีลูกจะลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ชายที่ไม่มีลูก ภาวะเช่นนี้พบได้ในบางประเทศ เช่น สวีเดนหรือนอร์เวย์ ที่ผู้ชายสามารถลาหยุดได้เนิ่นนานนับปีหลังจากภรรยาคลอดลูก อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยไม่มีสวัสดิการที่เอื้ออำนวยเช่นนั้น ‘โทษทัณฑ์จากความเป็นพ่อ’ ของประเทศไทยจึงอาจเกิดจากการที่พ่อต้องปรับลดเวลาทำงานเพื่อช่วยแม่เลี้ยงลูก

ภาวะดังกล่าวนับเป็นเรื่องน่าเศร้าและเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า ทำไมจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากการมีลูกจะเพิ่มภาระด้านค่าใช้จ่ายสารพัดแล้ว เหล่าพ่อแม่กลับมีรายได้น้อยกว่าแรงงานชายหญิงที่ไม่มีลูก สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า สวัสดิการภาครัฐและตลาดแรงงงานในประเทศไทยไม่เอื้ออำนวยอย่างยิ่งสำหรับคนที่คิดจะมีครอบครัว

ราคาของการเป็นเมีย

นอกจากต้นทุนของการเป็นแม่แล้ว ผู้หญิงที่มีครอบครัวต่อให้ไม่มีลูกก็ต้องแบกรับหน้าที่หลักในการทำงานบ้าน การระบาดของโควิด-19 ที่กึ่งบังคับให้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับบ้าน ทำให้หลายคนเห็น ‘มูลค่า’ และความสำคัญของการที่มีคนคอยจัดการเรื่องต่างๆ ภายในบ้าน ทั้งที่ผ่านมาประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในหมู่เฟมินิสต์เท่านั้น

แม้ว่าผู้หญิงในปัจจุบันมีการศึกษาที่สูงขึ้นและทำงานนอกบ้านเพิ่มขึ้น แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านพวกเธอยังต้องรับหน้าที่หลักในการทำงาน ‘กะที่สอง’ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลรักษาความสะอาดเรียบร้อย การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลเด็กๆ ในบ้าน ยิ่งในช่วงการระบาดของโควิด-19 มีการสำรวจพบว่า คู่สามีภรรยาชาวอเมริกันถึงแม้จะทำงานจากที่บ้านด้วยกันทั้งคู่ แต่กลับกลายเป็นว่าหน้าที่ทำงานบ้านต่างๆ กลับถูกผลักมาให้ผู้หญิงต้องจัดการดูแล โดยที่ผู้ชายอาจดูแลลูกๆ เพิ่มขึ้นบ้าง แต่แทบไม่ทำงานบ้านเพิ่มขึ้นเลย

ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่เคยให้ราคากับกิจกรรมภายในบ้าน ถึงขั้นมีมุขตลกในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า อย่าแต่งงานกับแม่บ้านที่เราจ่ายเงินจ้าง เพราะถ้าเธอเปลี่ยนสถานะเป็นภรรยา จีดีพีของประเทศจะหดตัวลงเนื่องจากไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนให้อีกต่อไป

มุขข้างต้นเป็นเรื่องขมขื่น เพราะงานบ้านสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านบ้านที่สะอาดและเป็นระเบียบ เสื้อผ้าที่หอมและรีดจนเรียบ สมาชิกครอบครัวที่อิ่มท้อง รวมถึงเด็กๆ ที่ได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยม ถึงกระนั้น กิจกรรมดังกล่าวก็ไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี แม้ว่างานบ้านจะเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้กลไกทางเศรษฐกิจอื่นๆ เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างราบรื่น โดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจประมาณการว่า งานบ้านคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 26% ของจีดีพี

หลายคนอาจแปลกใจเมื่อทราบว่า สถานที่เดียวที่คู่สามีภรรยาต้องมาถกเถียงถึง ‘มูลค่า’ ของงานบ้าน คือในชั้นศาลระหว่างการไต่สวนเรียกค่าชดเชยจากการหย่าร้าง

เมื่อปีที่ผ่านมา ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ตกตะลึงกับคำตัดสินของศาลที่สั่งให้ผู้ชายจ่ายค่าชดเชยให้ผู้หญิงคนหนึ่งเป็นมูลค่าราว 3 แสนบาท สำหรับการทำงานบ้านและดูแลลูกๆ ตลอด 5 ปีที่แต่งงานกัน โดยเธอระบุว่า ผู้ชาย ‘ทำแต่งาน’ โดยไม่มีส่วนช่วยทำงานบ้านใดๆ เลย

แต่ในกรณีหย่าร้างของโลกตะวันตกรวมถึงประเทศไทย เราใช้หลักความเท่าเทียมที่จะแบ่งปันสินทรัพย์ทั้งหมดที่หามาได้ระหว่างการสมรสคนละครึ่ง เมื่อหย่าร้าง ส่วนค่าชดเชยอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล หลักการดังกล่าวสะท้อนว่าการทำงานบ้านก็มีคุณค่าทางเศรษฐกิจเทียบเท่าได้กับการทำงานหารายได้จากการทำงาน

ในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ยังมีกฎหมายที่จะชดเชยให้คู่สมรสกรณีที่การแต่งงานทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบ ตัวอย่างเช่นผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่บนเส้นทางอาชีพสู่การเป็นทนายดาวเด่นในบริษัทกฎหมาย เธอตัดสินใจเสียสละลาออกมาเลี้ยงลูกและจัดการงานบ้านโดยทิ้งอาชีพทนายความไว้ข้างหลัง วันหนึ่งเมื่อความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาไปกันไม่รอด นอกเหนือจากสินสมรสที่ต้องแบ่งกันคนละครึ่ง เธอเรียกร้องให้สามีจ่าย ‘ค่าเสียโอกาส’ ด้านอาชีพการงาน ซึ่งศาลตัดสินให้เขาต้องจ่ายชดเชยรวมทั้งสิ้น 18 ล้านบาท

เมื่อผู้หญิงคนหนึ่งเปลี่ยนบทบาทสู่แม่และเมีย สังคมอาจคาดหวังให้พวกเธอลาออกจากงานประจำ โดยเฉพาะในกรณีที่เธอไม่สามารถหาเงินได้มากมายนักเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เพื่อจ้างพี่เลี้ยงหรือแม่บ้าน โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ภาระงานบ้านและการเลี้ยงดูคนในครอบครัวถูกจัดสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียมระหว่างชายกับหญิง โดยไม่ต้องรอเพื่อมาเถียงกันบนชั้นศาลในวันที่ครอบครัวล้มเหลว

เอกสารประกอบการเขียน

ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย

Why Are Married Women Working So Much?

Women’s and men’s work, housework and childcare, before and during COVID-19

The Lockdown Showed How the Economy Exploits Women. She Already Knew.

Tags: