นับตั้งแต่ไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เศรษฐกิจภายในประเทศก็ค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ท้องถนนเริ่มกลับมาคึกคัก เช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าที่เริ่มกลับมามีชีวิตชีวา แต่หากมองผ่านเลนส์เศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเล่นว่า ‘ศาสตร์แห่งความสิ้นหวัง’ ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกก็ยังไม่ตื่นจากฝันร้าย เพราะต้องเฝ้าระวังภาวะเศรษฐกิจชวนปวดหัวที่ชื่อว่า ‘Stagflation’

ศัพท์แสงที่ฟังดูซับซ้อนนี้แท้จริงแล้วคือการรวมร่างกันระหว่างภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอย เมื่อราว 40 ปีก่อน เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากวิกฤตน้ำมันที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงลิ่ว ส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในอดีต นักเศรษฐศาสตร์ไม่เคยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะสามารถเผชิญภาวะดังกล่าวได้ เพราะหนึ่งในทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางนั่นคือ เส้นโค้งฟิลลิปส์ (Phillips Curve) บอกเราว่าเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานมีความสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม กล่าวคือถ้าอัตราเงินเฟ้อเพิ่ม อัตราการว่างงานก็จะต่ำ สภาพเศรษฐกิจที่เจอทั้งเงินเฟ้อและอัตราว่างงานที่สูงลิ่วจึงถือเป็นการ ‘หักปากกาเซียน’

ภาวะ Stagflation ทำให้รัฐดำเนินนโยบายการเงินและการคลังได้อย่างยากลำบาก เพราะหากใช้นโยบายอัดฉีดเงินเข้าระบบ พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะยิ่งทำให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้นเช่นกัน แต่ถ้ารัดเข็มขัดการคลังและเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็จะเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวเลวร้ายลงไปอีก กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ดังนั้นจึงต้องดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและรอให้สถานการณ์คลี่คลายลงไปเอง

เมื่อหันมามองสภาพเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน สัญญาณหลายประการส่อเค้าว่าเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะ Stagflation ทั้งเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ ตลาดการจ้างงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่มีใครตอบได้ว่าการกระตุ้นโดยนโยบายภาครัฐนั้นจะทำให้ลอยตัวไปได้อีกนานแค่ไหน โดยมีตัวแปรสำคัญคือไวรัสสายพันธุ์เดลตา

 

เงินเฟ้อสามต่อ

เงินเฟ้อที่มาพร้อมกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ทั่วโลกเผชิญอยู่ในปัจจุบันมีความรุนแรงเกินกว่าที่คาดไว้มาก เช่นในสหรัฐอเมริกา นักเศรษฐศาสตร์ค่าว่าเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 1.9 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มสูงถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แม้แต่สหภาพยุโรปที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาอย่างยาวนาน แต่เงินเฟ้อในเดือนนี้กลับสูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบสิบปีและมากกว่าเงินเฟ้อเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรปที่ 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นมีอยู่ 3 ประการ อย่างแรกคือความต้องการซื้อสินค้าบางอย่างมีเพิ่มขึ้น เช่น เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน เนื่องจากคนต้องอยู่บ้านมากขึ้นและไม่จำเป็นต้องไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนอกบ้าน อย่างที่สองคือห่วงโซ่อุปทานโลกที่ทำงานได้ไม่คล่องตัวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้โรงงานหลายแห่งในแถบเอเชียต้องปิดชั่วคราว ส่วนประกอบสำคัญ เช่น ชิป จึงขาดแคลน ผนวกกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ค่าขนส่งแพงเป็นประวัติการณ์ ประการสุดท้ายคือนโยบายภาครัฐที่อัดฉีดเงินเข้าระบบมหาศาล ทั้งการจ่ายโดยตรงสู่มือผู้บริโภค อัดฉีดเข้าภาคเอกชนผ่านนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) และการกดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน

บางคนมองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในระดับที่น่ากังวลจะค่อยๆ คลี่คลายไปเองเมื่อเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง แต่รัฐบาลในหลายประเทศไม่ได้มองโลกในแง่ดีเช่นนั้น หลังจากเห็นสัญญาณอันตรายจากอัตราเงินเฟ้อ ธนาคารกลางในบราซิล ฮังการี เม็กซิโก และรัสเซีย ต่างก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อหวังลดระดับราคาสินค้าและบริการ แต่อย่าลืมว่าการขยับในทิศทางดังกล่าวอาจเป็นดาบสองคมที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลงด้วย

หันกลับมามองที่ประเทศไทย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจะแตะ 4.2 เปอร์เซ็นต์ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 100 เดือนพอดิบพอดีจนทำให้หลายคนอกสั่นขวัญหาย แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าสถานการณ์หลังจากนั้นก็ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากการพุ่งแบบก้าวกระโดดเกิดจากฐานราคาต่ำ แม้ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจนดูน่าตกใจ แต่หากมองย้อนกลับไปจะพบว่าก่อนหน้านั้นเศรษฐกิจไทยเผชิญภาวะเงินฝืดมาหลายไตรมาส การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นเพียงการปรับฐานให้เข้าใกล้ภาวะปกติเท่านั้น

 

ตลาดแรงงานฟื้นตัวต่ำเกินคาด

แม้ว่าสายพันธุ์เดลตาจะแผลงฤทธิ์ไปทั่วโลก แต่หลายประเทศซึ่งประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนที่ป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิผล ประชาชนก็ดูจะไม่สนใจนักกับการกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง ผนวกกับรัฐบาลในหลายประเทศก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาใช้นโยบายล็อกดาวน์แบบเข้มงวด นำไปสู่การฟื้นตัวของภาคบริการทั้งโรงแรมและร้านอาหารซึ่งน่าจะสร้างตำแหน่งงานจำนวนมากให้กับเศรษฐกิจในภาพรวม

แต่ปรากฏการณ์ที่น่าประหลาดใจในสหรัฐอเมริกาคือความต้องการใช้บริการมากขึ้นก็จริง แต่กลับเผชิญภาวะแรงงานขาดแคลน ผลักให้ค่าแรงของแรงงานในอุตสาหกรรมบริการ โรงแรม และร้านอาหารเพิ่มขึ้นราว 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นไปอีก

นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันมีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับอาการลังเลที่จะกลับมาทำงาน ตั้งแต่ความกังวลที่จะต้องไปทำงานในอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการติดโควิด-19 บางคนโทษเงินช่วยเหลือพิเศษมูลค่ามหาศาลจากรัฐในกรณีว่างงานซึ่งทำลายแรงจูงใจของคนที่จะกลับไปทำงาน บ้างก็มองว่าแรงงานหลายคนยังไม่พร้อมเพราะติดภารกิจสำคัญในการดูแลเด็กๆ ที่บ้าน เนื่องจากโรงเรียนยังไม่เปิด

แต่คำอธิบายเหล่านั้นก็ยังมีหลักฐานคัดง้างหลายประการ เช่นเรื่องเงินค่าชดเชยกรณีตกงาน ซึ่งในอังกฤษและออสเตรเลียไม่มีเงินช่วยเหลือพิเศษ แต่ก็ยังเผชิญกับภาวะแรงงานขาดแคลนเช่นกัน งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าประเด็นเรื่องการยังไม่กลับไปทำงานเพราะต้องดูแลเด็กๆ ที่บ้าน ถือเป็นประชากรส่วนน้อยมากสำหรับคนที่ยังว่างงานในปัจจุบัน

สิ่งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มองข้ามคือเรื่องของจิตใจที่กลายเป็นแรงผลักดันจนเกิดปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ที่คนจำนวนมากเลือกใช้ช่วงการระบาดของโควิด-19 เพื่อทบทวนการทำงานของตนเอง หลายคนเริ่มเห็นการเอารัดเอาเปรียบของนายจ้างที่มองพนักงานไม่ต่างจากภาระทันทีที่เกิดวิกฤต หรืออาจรับรู้ถึงความไม่มั่นคงในเส้นทางอาชีพเดิม นี่จึงถือเป็นโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่บนเส้นทางการงานที่มั่นคงกว่าในโลกหลังการระบาด

เมื่อกลับมามองที่ประเทศไทย อัตราการว่างงานของเราในไตรมาสแรกของปี 2564 นับว่าสูงที่สุดในรอบ 12 ปี แต่ก็ยังอยู่ที่ 1.96 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นับว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินหากเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอเมริกา (5.2 เปอร์เซ็นต์) สหภาพยุโรป (7.6 เปอร์เซ็นต์) มาเลเซีย (4.8 เปอร์เซ็นต์) และสิงคโปร์ (3.7 เปอร์เซ็นต์)

ตัวเลขที่ต่ำจนน่าแปลกใจทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขดังกล่าวนั้นสะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงมากน้อยเพียงใด เพราะนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นนายจ้างคนสำคัญของไทย ต้องเผชิญวิกฤตหนักจนหลายแห่งต้องปิดกิจการ

 

Stagflation น่ากังวลแค่ไหน?

หากเราเชื่อการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยว่าอัตราเงินเฟ้อยังไม่น่ากังวล ประกอบกับตัวเลขอัตราว่างงานจากภาครัฐที่มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เราคงไม่ต้องกังวลกับภาวะ Stagflation สักเท่าไหร่ แต่โจทย์สำคัญที่รัฐบาลยังแก้ไม่ตกคือสภาพเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า เรียกได้ว่าอยู่ท้ายตารางของประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชีย

ถึงแม้ปี 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยจะสามารถยืดอกอย่างภาคภูมิใจว่าเอาตัวรอดจากการระบาดของโควิด-19 มาได้ เศรษฐกิจไทยก็เจ็บหนักกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่หดตัว 3.2 เปอร์เซ็นต์ แถมยังแซงหน้ากลุ่มประเทศแถบเอเชียไปไกล เพราะจีดีพีของไทยดิ่งลงไปราว 6.1 เปอร์เซ็นต์ เรียกได้ว่าเป็นผู้นำฝั่งติดลบในกลุ่มประเทศอาเซียน

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดในปี 2564 ทั้งการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ผนวกกับวัคซีนที่ไม่มาตามนัด จึงไม่น่าแปลกใจที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศจะปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือเพียง 2.1 เปอร์เซ็นต์ รั้งท้ายกลุ่ม ASEAN-5 ซึ่งประกอบด้วยมาเลเซีย (4.7 เปอร์เซ็นต์) อินโดนีเซีย (3.9 เปอร์เซ็นต์) ฟิลิปปินส์ (5.4 เปอร์เซ็นต์) และเวียดนาม (5.4 เปอร์เซ็นต์)

แม้ว่าไทยจะเพิ่งคลายล็อกดาวน์และมีจำนวนผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยอาจบรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดสได้ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีวาดฝัน แต่เป้าหมายเชิงปริมาณอาจไม่สามารถเทียบได้กับคุณภาพ ตัวอย่างที่เห็นก็มีอยู่ตำตาคือ จังหวัดภูเก็ตที่มีประชาชนฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับต้องล็อกดาวน์อีกครั้งเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ประสิทธิผลที่ชวนกังขาของวัคซีนยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

แม้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกจะกังวลกับภาวะ Stagflation แต่ผู้เขียนยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวในไทย ในสถานการณ์ที่เราคุมเงินเฟ้อได้ดีแต่เศรษฐกิจยังตกต่ำ รัฐเองยังสามารถ ‘ดันเพดาน’ เงินช่วยเหลือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงจุด ใช้เงินงบประมาณที่กู้ยืมมาเพื่อซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งลงทุนเชิงกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมเกิดใหม่ รองรับโอกาสการเติบโตที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมโลกเก่าที่เราพึ่งพาอยู่ในปัจจุบัน

น่าเสียดายที่ผู้นำคนปัจจุบันของเราขาดวิสัยทัศน์และดำเนินนโยบายแบบไม่กล้าได้กล้าเสีย แถมยังไม่มีทีท่าว่าจะเปลี่ยนแนวทางการทำงาน แม้ว่าจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ถึงความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งหลักฐานกองอยู่ตรงหน้าว่าไทยจะรั้งท้ายอยู่ในกลุ่มประเทศที่ฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างเชื่องช้า ก็ยังไม่มีทิศทางนโยบายที่ชัดเจน

ฝันร้ายของชาวไทยจึงไม่ใช่ Stagflation หรอกครับ แต่เป็นภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพต่างหาก

 

เอกสารประกอบการเขียน

How the pandemic became stagflationary

Why stagflation is a growing threat to the global economy

What will come in the aftermath of coronavirus for economy? I’d worry about stagflation

Will surprisingly high global inflation last?

Fault Lines Widen in The Global Recovery

Tags: ,