ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ประมาณการว่าเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี  2563 เข้าสู่ภาวะถดถอยโดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย -4.4% โดยมีฟิลิปปินส์ครองแชมป์หดตัวสูงสุดถึง -8.5% รองลงมาคือไทย (-7.8%) สิงคโปร์ (-6.2%) และมาเลเซีย (-6.0%) ขณะที่บางประเทศนั้นยังคงการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ทั้งที่เผชิญคลื่นลมการระบาดของโควิด-19 โดยหนึ่งในนั้นคือเวียดนามที่คาดว่าจะเติบโตราว 2.3%

อย่างไรก็ดี ตัวเลขประมาณการการเติบโตของเวียดนามโดยธนาคารพัฒนาเอเชียนับว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย เพราะล่าสุดสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าสำนักสถิติแห่งชาติของเวียดนามได้ออกแถลงการณ์ตัวเลขจีดีพีของปีที่ผ่านมาว่า ต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี คือเติบโตเพียง 2.91% เท่านั้น

ส่วนในปีนี้ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต่างคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตในช่วง 6.8-7.0% ส่วนประเทศไทยยังคงฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าโดยคาดว่าจะกลับมาเติบโตที่ราว 2.7-4.0% ชวนให้ฉงนสงสัยว่าอะไรคือเคล็ดลับของเวียดนามที่สามารถผ่านพ้นวิกฤติได้โดยไม่เจ็บหนักเหมือนกับประเทศอื่น

บทความนี้จะชวนทำความเข้าใจ 3 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเป็นประเทศทางเลือกสำหรับย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน นโยบายจำกัดการระบาดที่รวดเร็วและเข้มงวด รวมถึงปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากสารพัดข้อตกลงเขตการค้าเสรี พร้อมชวนมองถึงศักยภาพการเติบโตของเวียดนามในอนาคต

ผู้ชนะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

นับตั้งแต่ทรัมป์ประกาศสงครามการค้ากับประเทศจีนตั้งแต่เมื่อราว 2 ปีก่อน ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องกำแพงภาษีที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสองประเทศ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยฉวยใช้โอกาสทางธุรกิจจากค่าแรงราคาถูกในประเทศจีน จึงจำต้องวางแผนห่วงโซ่อุปทานใหม่ โดยทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือประเทศเวียดนาม

ความโดดเด่นของเวียดนาม คือค่าแรงราคาถูกกว่าประเทศจีนราวครึ่งหนึ่ง รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกกว่าประเทศอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เนื่องจากได้รับการอุดหนุนโดยรัฐ เวียดนามยังเป็นแหล่งแรงงานอันดับต้นๆ ของภูมิภาค โดยมีชายหญิงที่พร้อมจะทำงาน หรือภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่าผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน (Labor Force) สูงถึง 57.3 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยมี 39 ล้านคน นอกจากนี้ เงินสกุลดงของเวียดนามยังถือว่าค่อนข้างมีเสถียรภาพ

เวียดนามจึงเป็นปลายทางแห่งใหม่ของนักลงทุนซึ่งจำนวนไม่น้อยก็มาจากประเทศจีนเพื่อหลบเลี่ยงผลกระทบจากกำแพงภาษี โดยมีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แบรนด์ดังอย่างไอโฟนและนินเทนโดสวิตช์ ที่บริษัทต้องการกระจายความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทานโดยย้ายการผลิตบางส่วนมายังเวียดนาม

การโยกย้ายดังกล่าวย่อมทำให้เวียดนามกลายเป็นเป้าโจมตีใหม่ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะคู่ค้าที่ทำให้สหรัฐอเมริกาเสียดุลการค้า อย่างไรก็ดี เวียดนามก็พยายามเอาอกเอาใจเต็มที่โดยเซ็นสัญญากับบริษัทสัญชาติอเมริกันอย่างโบอิ้งและเจเนอรัลอิเล็กทริกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ อีกทั้งรัฐบาลยังออกมาประกาศว่ากำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลดภาวะเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้โดนลูกหลงจากสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์ใหญ่

การคว้าชัยชนะของประธานาธิบดีไบเดนยิ่งสร้างประโยชน์ให้กับเวียดนาม เนื่องจากท่าทีที่นุ่มนวลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงแนวโน้มที่อาจกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ในลักษณะพหุภาคี ขณะที่จุดยืนของสหรัฐอเมริกาต่อจีนนั้นยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: อนาคตเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุค ‘ไบเดน’) ยิ่งส่งผลให้เวียดนาม ‘เนื้อหอม’ ในสายตานักลงทุนมากยิ่งขึ้น

มาตรการจำกัดการระบาดที่ประสบความสำเร็จ

แม้ว่าระบบสาธารณสุขของเวียดนามจะพัฒนาขึ้นมากตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังนับว่ายังไม่เข้มแข็งนัก โดยเวียดนามมีจำนวนแพทย์ 8 คนต่อประชากร 10,000 คนเท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยมากหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างสเปนและอิตาลีที่มีสัดส่วนแพทย์สูงถึง 41 คนต่อประชากร 10,000 คน ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ราว 23 คนต่อประชากร 10,000 คน

ความเปราะบางนี้เอง ที่อาจเป็นปัจจัยให้รัฐบาลดำเนินนโยบายช่วงแรกของการระบาดที่เข้มข้นจนประชาชนรู้สึกว่า ‘เกินกว่าเหตุ’ โดยงดเที่ยวบินจากประเทศจีนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัยหลังวันหยุดยาวช่วงตรุษจีน หรือกระทั่งการตัดสินใจล็อคดาวน์จังหวัดแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของกรุงฮานอยเป็นระยะเวลา 21 วันเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากพบความเสี่ยงว่ามีแรงงานเดินทางกลับมาจากอู่ฮั่น ซึ่งในขณะนั้นพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเวียดนามเพียง 10 ราย

นอกจากนี้ เวียดนามยังมีมาตรการกักตัวที่เคร่งครัด โดยช่วงต้นเดือนเมษายนปีที่ผ่านมามีการกักตัวประชากรกลุ่มเสี่ยงเป็นจำนวนสูงถึง 85,295 รายทั่วประเทศ รวมถึงการตรวจเชื้อเชิงรุกในระดับที่มีผู้เทียบเคียงกับการตรวจหาเชื้อของเกาหลีใต้ แม้เวียดนามจะพบผู้ติดเชื้อเลขตัวเดียวมาร่วมหนึ่งเดือน แต่มาตรการการเฝ้าระวังก็ยังเข้มข้น เช่น การตรวจเชื้อโควิด-19 ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการประชุมสภากว่า 10,000 คน ก่อนการเปิดประชุมสภาเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ตัวเลขล่าสุดของผู้ติดเชื้อในเวียดนามมีจำนวนเพียง 1,500 คน และมีผู้เสียชีวิตรวม 35 คน นับว่าน้อยอย่างยิ่งหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย เรียกเสียงชื่นชมจากทั้งองค์การอนามัยโลกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าเวียดนามเป็นกรณีศึกษาในการรับมือโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของกลุ่มประเทศผู้มีรายได้ต่ำ

เปิดประตูต้อนรับนักลงทุน เอื้อการค้าระหว่างประเทศ

เศรษฐกิจเวียดนามเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างเข้มข้น โดยมีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศคิดเป็นราว 2 เท่าของจีดีพีและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแม้จะเผชิญการระบาดของโควิด-19 โดยเวียดนามอ้าแขนรับการลงทุนเหล่านั้นพร้อมเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นในบริษัทมหาชนได้โดยไม่มีเพดานจำกัด

รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชียระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังการระบาดของโควิด-19 คือข้อตกลงการค้าเสรีทั้งทวิภาคีและพหุภาคีจำนวนมากที่เวียดนามลงนามไว้ เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) ที่ คณะกรรมการสหภาพยุโรประบุว่าเป็นข้อตกลงที่ ‘ทะเยอทะยาน’ ที่สุดที่เคยตกลงกับประเทศกำลังพัฒนาโดยจะลบกำแพงภาษีระหว่างคู่สัญญาสูงถึง 99% และข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่เป็นข้อตกลงการค้าระหว่างแคนาดาและกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิก

โอกาสของเวียดนามในอนาคต

เวียดนามกระโดดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวทีการค้าโลกอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนผ่านจากการส่งออกสินค้าเกษตร สู่อุตสาหกรรมเบาและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าเป็น ‘ฮับ’ ของอุตสาหกรรมสารสนเทศและการสื่อสารของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 34.4% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดในเวียดนาม

กลยุทธ์ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งของเวียดนามคือการจับกระแสเศรษฐกิจดิจิทัล ผลักดันให้เกิดธุรกิจไอซีทีทั้งภายในประเทศและจากเงินลงทุนต่างชาติ ในปี 2562 เวียดนามมีบริษัทในอุตสาหกรรมไอซีทีถึง 38,861 แห่งและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในกลุ่มอี-คอมเมิร์ซและฟินเทค ส่วนรัฐบาลเองก็ออกแบบนโยบายและกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการพัฒนาดังกล่าว

รายงานดัชนีนวัตกรรมโลก 2562 ระบุว่าเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 42 จาก 129 ประเทศแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง-ต่ำ ในขณะที่ไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง-สูงกลับได้อันดับที่ 43 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและอุตสาหกรรมไอซีที

ในแง่ของทรัพยากรมนุษย์ เวียดนามมีประชากรทั้งสิ้น 97 ล้านคนในปี 2561 โดยประชากรที่อายุต่ำกว่า 35 ปีมีสัดส่วนสูงถึง 70%  เวียดนามยังอยู่ในอันดับสองของดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน อีกทั้งยังมีคะแนนสอบตามโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (PISA) ในระดับที่เทียบเท่ากับกลุ่มประเทศโออีซีดี

กราฟแสดงจีดีพีต่อหัวกับคะแนนสอบ PISA จะเห็นว่าประเทศเวียดนามอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อย แต่กลับมีคะแนนสอบ PISA ในระดับที่สูสีกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างฟินแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ ภาพจาก businessinsider.com

อนาคตของเศรษฐกิจเวียดนามนับว่าน่าจับตามองอย่างยิ่ง แม้การพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงมากอาจส่งผลให้เวียดนามต้องเผชิญกับความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศคู่ค้า แต่ด้วยความที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่ง เวียดนามจึงสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนแม้จะเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย และพร้อมจะทะยานขึ้นฟ้าอีกครั้งเมื่อทั่วโลกประสบความสำเร็จในการรับมือโรคระบาด

 

อ้างอิง

Vietnam is fighting Covid without pitting economic growth against public health

Coronavirus: How ‘overreaction’ made Vietnam a virus success

Asian Development Outlook (ADO) 2020 Update: Wellness in Worrying Times

Asian Development Outlook (ADO) 2020: What Drives Innovation in Asia?

From Containment to Recovery: Economic Update for East Asia and the Pacific, October 2020

Tags: , ,