เคยสงสัยไหมครับ ว่าทำไมคนหนึ่งคนถึงกัดฟันทิ้งความคุ้นเคยที่บ้านเกิดแล้วตัดสินใจย้ายประเทศ

คำตอบมีได้สององค์ประกอบ อย่างแรกคือปัจจัยดึงดูด (pull factors) ของประเทศปลายทาง ทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และเงินเดือนที่สูงกว่า รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเสถียรภาพทางการเมือง ส่วนอย่างที่สองคือปัจจัยผลักไส (push factors) ของประเทศต้นทาง ไม่ว่าจะเป็นความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตต่ำเตี้ย เงินเดือนน้อย หางานยาก รัฐไม่ใส่ใจสิทธิเสรีภาพ อยู่ไปก็รู้สึกไม่มีอนาคต หรือก็คือเหรียญอีกด้านของประเทศปลายทาง

กระแสชักชวนร่วมกันย้ายประเทศที่เพิ่งปะทุขึ้นบนโซเชียลมีเดียเป็นภาพสะท้อนของ ‘ปัจจัยผลักไส’ เพราะอนาคตทางเศรษฐกิจที่ดูจะไม่สดใส อีกทั้งรัฐบาลที่ไม่ชวนให้เชื่อมั่น ส่งผลให้คนไทยจำนวนไม่น้อยอดรนทนไม่ได้ และเริ่มมองโอกาสในการย้ายถิ่นฐานออกจากประเทศไทย

ยอดสมาชิกร่วมเก้าแสนคนภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์สะท้อนให้เห็นว่า มีคนไทยจำนวนไม่น้อยสนใจที่จะแสวงหาโอกาสในต่างแดน แน่นอนว่าคงไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสดังกล่าว แต่ก็นับเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาของประเทศซึ่งไม่เคยประสบปัญหา ‘สมองไหล’ ในอดีต และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า 

น่าแปลกใจที่บางคนกลับแสดงท่าทีผลักไสคนไทยด้วยกันเองให้ออกนอกประเทศ หรือแสดงท่าทีดูถูกดูแคลนความคิดดังกล่าว เพราะถ้าไทยสูญเสียแรงงานทักษะสูงให้กับต่างชาติในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นปัจจุบัน ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโงหัวไม่ขึ้นในระยะยาว แล้วคนที่ยังคงอยู่ในประเทศ (โดยเฉพาะเหล่าผู้สูงอายุ) นี่แหละ จะต้องเสียใจในภายหลัง

‘สมองไหล’ ส่งผลอย่างไร?

สมองไหล (Brain Drain) หมายถึง การตัดสินใจย้ายถิ่นฐานของกลุ่มหัวกะทิในวิชาชีพซึ่งเป็นที่ต้องการ เช่น แพทย์หรือวิศวกรจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการศึกษาอย่างเข้มข้นในช่วงการรวมตัวก่อตั้งสหภาพยุโรป ซึ่งประเทศฝั่งยุโรปตะวันออกเผชิญกับภาวะสมองไหลสู่ประเทศยุโรปตะวันตก

การศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลา 25 ปี พบว่า หากแรงงานมีทักษะจำนวนมากตัดสินใจย้ายประเทศ จะทำให้ประเทศต้นทางเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง แรงงานทักษะต่ำมีสัดส่วนในกำลังงานมากขึ้น ผลิตภาพลดลง ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมลดลงราว 0.6 ถึง 0.9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อีกทั้งทำให้ช่องว่างระหว่างประเทศกำลังพัฒนาต้นทางและประเทศพัฒนาแล้วถ่างกว้างขึ้นอีกด้วย

การสูญเสียเหล่าแรงงานวัยทำงานแก่ต่างชาติส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเก็บภาษีของรัฐ เพราะกลุ่มแรงงานเหล่านี้คือผู้แบกรับภาระหลักในการเสียภาษีแก่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีทางอ้อมจากการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ

การศึกษาพบว่า ภาวะสมองไหลทำให้ค่าใช้จ่ายต่อจีดีพีในด้านการดูแลสุขภาพและสวัสดิการของผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้น เป็นผลจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง โดยสัดส่วนผู้สูงอายุในประเทศมากขึ้น แต่ประชาชนวัยหนุ่มสาวกลับน้อยลง รายได้ภาษีและการเติบโตทางเศรษฐกิจจึงเติบโตไม่ทันรายจ่าย รัฐบาลในบางประเทศจึงตัดสินใจเพิ่มภาษี ซึ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ในตลาดแรงงานให้เลวร้ายลงไปอีก

นอกจากต้นทุนทางเศรษฐกิจแล้ว งานวิจัยโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า การขาดแคลนประชาชนที่มีการศึกษาสูงยังส่งผลต่อธรรมาภิบาลของภาครัฐเช่นกัน กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เผชิญปัญหาสมองไหล จะมีรัฐบาลที่คอร์รัปชันสูง ทำงานด้อยประสิทธิภาพ ขาดความรับผิดรับชอบ และนิติรัฐอ่อนแอ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษามักจะเป็นผู้เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในสังคม เมื่อเสียงเหล่านั้นขาดหายไป ก็ย่อมนำไปสู่วงจรอุบาทว์ เพราะภาวะสังคมที่ไร้ความหวัง ก็ย่อมทำให้คนรุ่นต่อไปที่มีการศึกษาแสวงหาเส้นทางเติบโตในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ประเทศก็ยากจะพัฒนาได้หากไร้ประชากรเหล่านั้นเช่นกัน

ที่ผ่านมา ปัญหาสมองไหลไม่ได้ถูกพูดถึงมากนักในประเทศไทย สถิติโดยกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศพบว่า แรงงานไทยในต่างประเทศมีเพียงราวหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นคนจากตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปหากความกระตือรือร้นในการย้ายประเทศของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันกลายเป็นความจริง

ไปได้ แต่กรุณากลับมาด้วย

ภาวะสมองไหลเคยทำให้รัฐบาลในหลายประเทศตื่นกลัว บ้างถึงขั้นมีการเสนอให้จำกัดการไปหางานทำในต่างประเทศของประชาชน โดยให้เหตุผลว่าประเทศต้นทางต้องจ่ายงบประมาณมหาศาลเพื่อ ‘บ่มเพาะ’ แรงงานชั้นหัวกะทิจากรั้วโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษา คนหนุ่มสาวเหล่านั้นจึงมีภาระผูกพัน เพื่อจะทำงานตอบแทนบุญคุณแผ่นดินเกิด

แนวคิดดังกล่าวอาจฟังดูสมเหตุสมผล แต่หลักฐานเชิงประจักษ์อาจสะท้อนภาพที่ต่างกันออกไป เพราะนักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่าภาวะสมองไหลอาจกลายเป็นประโยชน์ต่อประเทศต้นทางในระยะยาว

ประโยชน์อย่างแรกคือ รายได้ที่จะส่งคืนกลับประเทศ ธนาคารโลกประเมินว่าแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนานั้น ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดเป็นมูลค่ากว่าสามแสนล้านดอลลาร์ฯ ในแต่ละปี ในบางประเทศ เช่น เลบานอนหรือเนปาล เงินจากแรงงานต่างชาติที่ส่งกลับประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ส่วนแรงงานไทยในต่างแดนก็มีการประมาณการว่าจะส่งเงินกลับประเทศสูงถึงราว 16,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งนับว่าสูงมาก หากเทียบกับรายได้มัธยฐานของคนไทยซึ่งอยู่ที่ 6,531 บาทต่อเดือนเท่านั้น

ประโยชน์อย่างที่สองคือ ความสามารถที่เพิ่มขึ้นจากการไปต่างประเทศ แรงงานจำนวนไม่น้อยตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศเป็นการชั่วคราว และพร้อมจะกลับมาที่ประเทศบ้านเกิดในภายหลัง โดยมีสิ่งที่ติดตัวมาคือทักษะ ประสบการณ์ และเส้นสายทางธุรกิจ ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขายสินค้า การลงทุน เทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ ในอนาคต ตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จก็เช่นอินเดียและจีน ที่แรงงานทักษะสูงไปลับฝีมือในซิลิคอนแวลลีย์ ก่อนจะกลับมาพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสารสนเทศที่บ้านเกิดให้ทัดเทียมกับประเทศพัฒนาแล้ว

ประโยชน์อย่างสุดท้ายอาจดูเป็นผลพลอยได้มากกว่าผลทางตรง เพราะแรงจูงใจในการย้ายออกนอกประเทศส่งผลให้ประชาชนวัยหนุ่มสาวทุ่มเทฝึกทักษะและลงทุนด้านการศึกษามากขึ้น เนื่องจากการย้ายไปประเทศพัฒนาแล้วไม่ใช่เรื่องง่าย การศึกษาระดับสูงในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการย่อมได้เปรียบกว่า

งานวิจัยชนกลุ่มน้อยผู้ถูกกดขี่ทางเศรษฐกิจและสังคมในประเทศฟิจิและเนปาลให้ผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน แรงกดดันที่ทำให้ประชากรวัยแรงงานกระเสือกกระสนไปทำงานในต่างประเทศ ทำให้คนเหล่านั้นลงทุนกับการศึกษาอย่างมาก แม้สุดท้ายแรงงานบางส่วนจะไปไม่ไกลถึงฝัน แต่ผลปรากฎว่า ประชากรชนกลุ่มน้อยที่ยังอยู่ในประเทศกลับมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

การย้ายประเทศของแรงงานทักษะสูงอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่บ้าง แต่หากรัฐสามารถดึงดูดให้แรงงานเหล่านั้นกลับมาร่วมพัฒนาประเทศในอนาคต ก็ย่อมดีกว่าสร้างกำแพงกั้นขวางไม่ให้แรงงานเหล่านั้นออกไปแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ

หันกลับมามองที่ประเทศไทย ไม่แปลกหรอกครับที่คุณจะรู้สึกสิ้นหวังกับสภาพเศรษฐกิจที่ติดลบหนัก แถมยังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ยังไม่นับการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน การเลือกปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจ และกระบวนการยุติธรรมที่ชวนให้ตั้งคำถาม 

ถ้าคุณพร้อมและมีกำลังพอจะไปแสวงหาโอกาสการงานในต่างประเทศก็ไปเถอะครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่กี่ทศวรรษ หลังจากเหล่าสมาชิกวุฒิสภา ‘ลากตั้ง’ หมดสภาพ รัฐบาลเผด็จการหมดอำนาจ แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ล้มเหลวไม่เป็นท่า และประเทศไทยหลุดพ้นจากวังวนรัฐประหาร สู่ประเทศประชาธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิ

เมื่อถึงวันนั้น ผมขอเพียงคุณคิดถึงประเทศไทย และกลับมาร่วมพัฒนาบ้านเกิดอีกสักครั้ง

 

อ้างอิง

Emigration and Its Economic Impact on Eastern Europe

The Economic Consequences of “Brain Drain” of the Best and Brightest: Microeconomic Evidence from Five Countries

Who is Afraid of the Brain Drain? A Development Economist’s View

Drain or gain?

Brain Drain Problem

Tags: , ,