‘Third time’s a charm’ เป็นภาษิตฝรั่งที่แปลเป็นไทยประมาณว่าถ้าลองมาแล้วสองครั้งยังไม่สำเร็จ ครั้งที่ 3 นี่แหละที่จะสำเร็จแน่นอน แต่ความสำเร็จที่ผมจะกล่าวถึงคือการถดถอยของกระแสโลกาภิวัตน์ที่เผชิญศึกหนักมาสองครั้งสองครา และครั้งที่ 3 อาจเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงอย่างแท้จริง

คลื่นลูกแรกที่ทำให้กระแสโลกาภิวัตน์ถดถอยคือการระบาดของโควิด-19 มาตรการจำกัดการระบาดส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการขนส่งทั่วโลกต่างหยุดชะงักจนภาครัฐแลภาคธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้

คลื่นลูกที่ 2 คือการรุกรานยูเครนของรัสเซียที่นำไปสู่การดำเนินมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหญ่ของโลกตะวันตกต่อรัสเซียที่เป็นผู้ส่งออกทั้งเชื้อเพลิงและอาหารรายใหญ่ของโลก สั่นคลอนความมั่นคงทางพลังงานทั่วทั้งสหภาพยุโรป เช่นเดียวกับหลายประเทศผู้ส่งออกอาหารที่ต้อง ‘จำกัดการส่งออก’ เพื่อควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ จนรัฐบาลทั่วโลกจึงต่างหันกลับไปพัฒนาแหล่งทรัพยากรภายในประเทศทดแทนการนำเข้าเพื่อความมั่นคง

คลื่นลูกที่ 3 ที่ไม่มีใครคาดฝันคือการที่สหรัฐฯ หันหลังให้กับโลก จากเดิมทีที่เป็นผู้นำด้านการค้าเสรีและโจมตีรัฐบาลจีนที่ใช้เงินอุดหนุนสารพัดอุตสาหกรรมภายในประเทศมหาศาล แต่ปัจจุบันสหรัฐฯ กลับทำเช่นนั้นเสียเองโดยออกกฎหมายให้เงินอุดหนุนมหาศาลแก่อุตสาหกรรมการผลิตชิปและเทคโนโลยีสะอาด หวังดึงเม็ดเงินลงทุนในต่างแดนให้กลับมาสู่ภายในประเทศ เช่นเดียวกับการเร่งพัฒนานวัตกรรมไม่ให้ถูกคู่แข่งสำคัญอย่างจีนแซงหน้า

เมื่อยักษ์ใหญ่ทั้งหน้าเก่าอย่างจีนและหน้าใหม่อย่างสหรัฐฯ ต่างเร่งดำเนินนโยบายทำลายการแข่งขันในเวทีโลก นับเป็นการเปิดฉากสงครามที่ฟาดฟันกันด้วย ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’ ที่ทุกประเทศต่างกลับหลังหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ แทนที่จะแสวงหาประสิทธิภาพจากการค้าหรือการลงทุนในต่างแดน

การแข่งขันในโลกใบใหม่จึงไม่ใช่การแข่งวิ่งให้เร็วที่สุดเพื่อแซงหน้าคู่แข่ง แต่เป็นการผสมผสานกลยุทธ์ที่ทั้งวิ่งให้เร็วและขัดแข้งขัดขาคู่แข่งในเวลาเดียวกัน

เมื่อสหรัฐฯ กลับหลังหัน

         เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ แถลงเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า การที่สหรัฐอเมริกานำหน้าคู่แข่งอย่างจีน ‘เพียงเล็กน้อย’ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป สหรัฐฯ ต้องทิ้งห่างให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งการผลิตชิป เทคโนโลยีควอนตัมคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาด ผ่านนโยบาย 2 ประการ คือการสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยรัฐเพื่อดึงห่วงโซ่อุปทานที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศกลับคืนสู่แดนอเมริกา พร้อมทั้งควบคุมการลงทุนและการส่งออกที่เข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อไม่ให้เทคโนโลยีล้ำสมัยตกไปอยู่ในมือของ ‘ผู้ไม่หวังดี’

         คำกล่าวของเขาสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่าอุดมการณ์สร้าง ‘โลกเสรี’ ที่ทุกประเทศแข่งขันอย่างเป็นธรรมของสหรัฐฯ ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว โดยเป้าหมายของสหรัฐฯ ในปัจจุบันคือการทำทุกวิถีทางเพื่อครองตำแหน่งมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง โดยไม่สนใจที่จะปกปักรักษาระเบียบโลกเรื่องการค้าเสรีอีกต่อไป

         ความจริงแล้ว รอยร้าวของอุดมการณ์การค้าเสรีของสหรัฐฯ เริ่มตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ประกาศตั้งกำแพงภาษีกับสารพัดสินค้าที่นำเข้าจากทั่วทุกมุมโลก แม้กำแพงดังกล่าวจะถูกทุบทลายลงไปบ้างในยุคประธานาธิบดี โจ ไบเดน แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันก็บั่นทอนการค้าเสรีไม่แพ้กัน โดยเลือกใช้สารพัดนโยบายอุตสาหกรรม เช่น กฎหมายชิปที่อนุมัติเงินอุดหนุนมูลค่าถึง 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อชุบชีวิตอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่สหรัฐฯ กำลังเสียส่วนแบ่งตลาดโลก และกฎหมายบรรเทาเงินเฟ้อที่ใช้งบประมาณถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากจีนโดยเฉพาะแบตเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า

         หลายคนอาจไม่เห็นภาพว่างบประมาณดังกล่าวมหาศาลแค่ไหน เอาเป็นว่าเมื่อปี 2021 จีดีพีของประเทศไทยมีมูลค่าเท่ากับ 5.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั่นหมายความว่างบประมาณที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้อุดหนุนทั้งสองอุตสาหกรรมแทบจะเท่ากับมูลค่าผลผลิตทั้งหมดที่ประเทศไทยสร้างได้ในระยะเวลา 1 ปี

         สำหรับเหล่าผู้ศรัทธาในอุดมการณ์การค้าเสรี การอุดหนุนโดยรัฐถือเป็นเรื่องที่เลวร้ายเพราะทำให้ราคาสินค้าที่ผลิตในบางประเทศราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งนับเป็นการบิดเบือนตลาดและทลายประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโลก แต่นโยบายอุดหนุนของสหรัฐฯ อาจเลวร้ายยิ่งกว่า เพราะมีการกำหนดหลักเกณฑ์ยิบย่อยเพื่อให้มั่นใจว่าอุตสาหกรรมภายในประเทศจะได้ประโยชน์ เช่น หากผู้บริโภคจะได้เครดิตเงินคืนมูลค่า 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รถคันดังกล่าวจะต้องประกอบในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น และชิ้นส่วนของแบตเตอรีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งจะต้องผลิตในอเมริกาเหนืออีกด้วย ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานความร้อนจะได้เงินอุดหนุนก้อนใหญ่ยิ่งขึ้นหากใช้เหล็กกล้าสัญชาติอเมริกัน 

นโยบายเศรษฐกิจยุคใหม่ของสหรัฐฯ นำไปสู่ 2 คำถามสำคัญที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องพิจารณาว่านโยบายอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศของสหรัฐฯ นับเป็นภัยคุกคามที่รุนแรงเพียงใด และแต่ละประเทศควรจะดำเนินนโยบายรับมืออย่างไร

เปิดฉากสงครามนโยบาย ‘ตาต่อตาฟันต่อฟัน’

         แน่นอนว่าหนึ่งในเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนคือคู่แข่งอันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างประเทศจีน สารพัดมาตรการสกัดขามีเป้าหมายสำคัญคือดึงอุตสาหกรรมออกจากจีนกลับมายังผืนแผ่นดินสหรัฐฯ แน่นอนว่ารัฐบาลจีนย่อมไม่อยู่นิ่งเฉย และเสริมความแข็งแกร่งของการอุดหนุนสารพัดอุตสาหกรรมโดยรัฐซึ่งปัจจุบันก็มากอยู่แล้ว รวมทั้งเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมาย ‘อยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร’

         แต่นโยบายของสหรัฐฯ ก็กระทบต่อ ‘มหามิตร’ โลกตะวันตกเช่นกัน เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาประธานาธิบดีมาครงแห่งฝรั่งเศสกล่าวถึงกฎหมายบรรเทาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ว่าเป็น ‘อาชญากรที่ฆ่าอุตสาหกรรมในประเทศของเรา’ บริษัทพลังงานสะอาดในยุโรปหลายแห่ง อาทิ Northvolt ก็เริ่มพิจารณาว่าจะย้ายฐานผลิตจากยุโรปไปยังสหรัฐอเมริกาเพราะถูกดึงดูดด้วยเม็ดเงินอุดหนุนก้อนใหญ่

         แม้แต่ผู้ก่อตั้งบริษัท TSMC ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตชิปของไต้หวันเองก็ไม่พอใจกับนโยบายดังกล่าว โดยมองว่าต้นทุนการผลิตชิปในสหรัฐอเมริกาจะสูงกว่าที่ไต้หวันราว 55% การย้ายฐานการผลิตจึงเป็นเพียงการทำซ้ำที่ไม่เกิดประโยชน์โพดผลใดๆ หนำซ้ำยังเป็นการทำลายโครงข่ายผู้เชี่ยวชาญในศูนย์การผลิตที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกเพื่อของสหรัฐอเมริกา

         แน่นอนว่าประเทศที่ไม่เห็นด้วยสามารถนำนโยบายของสหรัฐฯ ไปห้ององค์การการค้าโลกที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ห้ามการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยกำหนดเงื่อนไขว่าต้องใช้วัตถุดิบภายในประเทศ แต่ช่องทางนี้อาจเป็นไปได้ยากเพราะสหรัฐฯ มีอำนาจต่อรองเกือบเต็มมือในองค์กรดังกล่าว

         ทางเลือกที่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์สำหรับประเทศขนาดกลางคือการอยู่เฉยๆ แล้วรอรับประโยชน์จากเทคโนโลยีราคาถูกที่พัฒนาขึ้นจากภาษีประชาชนคนอเมริกัน อย่างไรก็ตาม เหล่าประเทศพัฒนาแล้วย่อมไม่อยู่นิ่งเฉยและออกมาปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยนโยบายลักษณะเดียวกัน

         สหประชาชาติระบุว่างบประมาณอุดหนุนภาคเอกชนโดยรัฐของกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G7 เพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและอินเดีย ต่างก็มีนโยบายให้เงินจูงใจและลดภาษีแก่บริษัทในสารพัดอุตสาหกรรมให้ย้ายฐานการผลิตมายังประเทศตนเอง สำหรับอุตสาหกรรมที่เนื้อหอมอย่างการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เงินอุดหนุน 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับว่าไม่ได้มากมายอะไร หากพิจารณาจากเงินอุดหนุนก้อนใหญ่มูลค่ากว่า 3.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ไต้หวันเพิ่งประกาศมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมให้กับบริษัทผู้ผลิตชิป

         การแข่งขันกันอุดหนุนอุตสาหกรรมเดียวกันย่อมเป็นการใช้งบประมาณภาครัฐอย่างเปลืองเปล่า เพราะทุกประเทศต่างทุ่มงบประมาณเพื่อทำสิ่งเดิมซ้ำๆ ความสิ้นเปลืองนี้จะไม่เกิดขึ้นหากทุกประเทศยึดมั่นในการค้าเสรีแล้วปล่อยให้แต่ละประเทศผลิตสินค้าและบริการที่ตนเชี่ยวชาญที่สุดเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แต่ในวันที่โลกเริ่มแบ่งขั้วอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ภาพเช่นนั้นคงเป็นได้เพียงความฝันจากอดีตอันห่างไกล

 

เอกสารประกอบการเขียน

Globalisation, already slowing, is suffering a new assault

The destructive new logic that threatens globalisation

What America’s protectionist turn means for the world

Biden’s Protectionism: Trumpism with a Human Face

Tags: ,