การหนีออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินทหารของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา (Gotabaya Rajapaksa) ในช่วงรุ่งเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้วส่งอีเมลแจ้งว่าขอลาออกจากตำแหน่งอาจไม่ใช่ฉากจบในฝันของเส้นทางการเมืองตระกูลราชปักษาที่ครองอำนาจนำในประเทศศรีลังการ่วมสองทศวรรษ

         เขาใช้อำนาจในฐานะประธานาธิบดีสั่งเครื่องบินทหารให้พาตัวเขาและครอบครัวหนีคลื่นมหาประชาชนที่โกรธเกรี้ยวไปยังประเทศมัลดีฟส์ ก่อนจะเดินทางต่อไปประเทศสิงคโปร์ หลายคนคาดว่าที่เขาตัดสินใจไม่ลาออกก่อนหนีออกนอกประเทศเพราะยังต้องการเอกสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมาย ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการฉ้อราษฎร์บังหลวงจนทำให้เศรษฐกิจประเทศเดินเข้าสู่หายนะ และในฐานะอาชญากรสั่งฆ่าประชาชนในสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อกว่า 26 ปี โดยเขาปฏิเสธทั้ง 2 ข้อกล่าวหา

         เสถียรภาพของศรีลังกาคงไม่กลับคืนมาในเร็ววันนี้เพราะนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) รักษาการประธานาธิบดีก็ยังเป็นคนสนิทชิดใกล้กับตระกูลราชปักษา และเขากลายเป็นเป้าหมายใหม่ของผู้ประท้วงที่พยายามยึดทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ตัวเขาเองได้ร้องขอให้ผู้แทนทั้งสองฝ่ายตกลงเสนอชื่อผู้นำคนใหม่ที่ทั้งสองฝ่าย ‘ยอมรับได้’ มาจัดการวิกฤตและนั่งโต๊ะเจรจากับไอเอ็มเอฟ (IMF) ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งหน้า

         ปัญหาของศรีลังกามีจุดเริ่มต้นจากการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเงินตราสกุลต่างประเทศถูกใช้จนหมดคลัง รัฐบาลก็ไม่มีเงินจ่ายสำหรับนำเข้าสินค้า ทำให้เกิดภาวะน้ำมันเชื้อเพลิง อาหาร และยาขาดแคลนแบบฉับพลัน และนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองในที่สุด

         ในหน้าประวัติศาสตร์ ไม่ว่ารัฐบาลจะปกครองโดยระบอบเผด็จการ ประชาธิปไตย หรือเผด็จการที่ทำเสมือนว่าเป็นประชาธิปไตย ก็ไม่สามารถอยู่ได้หากประชาชนอดอยากแร้นแค้น เงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารกำลังทำลายคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วโลก และความไม่พอใจนี้เองที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง

         วิกฤตในศรีลังกาจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะหากสถานการณ์ราคาอาหารและเชื้อเพลิงยังไม่ดีขึ้น รัฐบาลในประเทศอื่นๆ จัดการปัญหาได้ไม่ดีพอในสายตาประชาชนก็จะเป็นรายต่อไป

ถอดบทเรียนวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา

         ตระกูลราชปักษาก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้ยุติสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มชาวทมิฬกับสิงหลที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 3 ทศวรรษ ด้วยมาตรการทางทหารขั้นเด็ดขาดที่พุ่งเป้าขจัดกลุ่มกองกำลังชาวทมิฬแบบถอนรากถอนโคน ความขัดแย้งยุติลงด้วยความตายของประชาชนจำนวนมหาศาล ส่วนชาวทมิฬที่รอดชีวิตก็ต้องเข้าค่ายทหารเพื่อ ‘ปรับทัศนคติ’

         สงครามกลางเมืองที่ยุติลงในปี 2009 ทำให้รัฐบาลหันมาพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นหมายถึงการเดินหน้าสารพัดโครงการขนาดใหญ่เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยต้องอาศัยแหล่งเงินสำคัญคือการออกพันธบัตรรัฐบาลในตลาดต่างประเทศซึ่งตราเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

         อย่างไรก็ดี เส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจก็ไม่ได้ราบรื่น ศรีลังกาเผชิญกับทั้งภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุมรสุมที่รุนแรง รวมถึงการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล เช่น การตั้งเป้าเป็นประเทศแรกที่ทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยประกาศห้ามเกษตรกรไม่ให้ใช้ปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชทุกชนิดท่ามกลางการประท้วงของเกษตรกรทั้งประเทศ ผลลัพธ์คือหายนะในอุตสาหกรรมการเกษตรเมื่อผลผลิตหดหายและราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นจนรัฐบาลต้องยอมถอย

         ปัญหาทางการเมืองของศรีลังกาก็คุกรุ่นไม่แพ้กัน เพราะย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ประธานาธิบดีได้ใช้อำนาจนอกกฎหมายสั่งปลดนายกรัฐมนตรีกลางอากาศโดยไม่ผ่านสภาฯ แล้วแต่งตั้งให้คนในตระกูลราชปักษาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ในปีถัดมาก็เกิดเหตุสะเทือนขวัญเมื่อมีการวางระเบิดในโบสถ์และโรงแรมหรูจนนักท่องเที่ยวหดหาย

         อีกหนึ่งนโยบายที่ผิดพลาด คือการลดการจัดเก็บภาษีเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การตัดสินใจดังกล่าวทำให้บริษัทจัดลำดับเครดิตปรับอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกาให้เข้าข่ายใกล้เคียงกับการผิดนัดชำระหนี้ ถือเป็นการปิดประตูการกู้ยืมเงินจากนักลงทุนในตลาดต่างประเทศ

         เมื่อถูกตัดขาดจากแหล่งเงินกู้และงบประมาณของรัฐบาลเองก็ขาดดุล พวกเขาจึงไม่เหลือทางเลือกมากนักนอกจากจะใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจ่ายชำระหนี้ที่กู้ยืมมา จนเงินคงคลังค่อยๆ ร่อยหรอหดหาย ซ้ำร้ายยังต้องมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจศรีลังกาซึ่งพึ่งพาภาคบริการถึง 60 เปอร์เซ็นต์ แทบต้องหยุดชะงัก

         เมื่อเงินสกุลต่างประเทศร่อยหรอก็กระทบต่อการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าจำเป็นอื่นๆ ที่ศรีลังกาผลิตเองไม่ได้ กลายเป็นความขาดแคลนที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทุกหย่อมหญ้า ร้านรวงปิดทำการเพราะไฟฟ้าไม่เพียงพอสำหรับระบบทำความเย็น สินค้าจำเป็นถูกจัดสรรปันส่วนโดยระบบโควตา ชีวิตของประชาชนจึงวนเวียนอยู่กับการทำงาน และการต่อแถวรอที่ยาวนานราวกับไร้ที่สิ้นสุด

         ราวกับรู้ชะตากรรมของตนเอง รัฐบาลตัดสินใจลอยตัวเงินรูปีศรีลังกาก่อนจะประกาศว่าไม่มีเงินจ่ายชำระเจ้าหนี้ในเดือนถัดมา การตัดสินใจลอยตัวดังกล่าวมีเป้าหมายชัดเจนคือต้องการให้เงินรูปีศรีลังกาอ่อนค่าเพื่อให้เข้าเงื่อนไขในการขอกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ แต่การกระทำดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการเหยียบย่ำประชาชนที่เดือดร้อนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ความไม่พอใจจึงปะทุเป็นการประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ของศรีลังกา โดยมีบทสรุปอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ประเทศไหนบ้างที่อาจตามรอยศรีลังกา?

         แม้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกาจะมีสาเหตุบางส่วนจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจัยภายนอกก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผนวกกับการระดมเงินทุนมหาศาลในสกุลเงินต่างประเทศเพื่อใช้บรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และที่สำคัญคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์

         ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศอย่างยากจะหลีกเลี่ยง แต่ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจเปราะบางและต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์เป็นหลัก หากพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลที่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนมองว่าประเทศเหล่านั้นมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูงลิ่ว ประเทศที่อาจเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจตามรอยศรีลังกายังมีอีกกว่า 19 ประเทศซึ่งเป็นบ้านของประชากรราว 900 ล้านคน

         ประเทศที่น่าจับตามองก็เช่นเอลซัลวาดอร์ ซึ่งประกาศรับรองบิตคอยน์ให้สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย แต่สถานะการคลังอาจดูไม่ดีเท่าไรนักในสายตาเจ้าหนี้ต่างประเทศ ส่วนกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาอย่างอียิปต์ ตูนิเซีย และกานา ซึ่งมีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างง่อนแง่นเป็นทุนเดิม ประเทศปากีสถานที่เริ่มกระบวนการนั่งโต๊ะเจรจาขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟ รวมถึงประเทศหน้าเดิมๆ อย่างอาร์เจนตินาที่เพิ่งผิดนัดชำระหนี้ไปเมื่อปี 2020 และเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้อีกครั้ง

         หันกลับมาดูประเทศไทย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศจะสูงลิ่วและอนาคตเศรษฐกิจโดยรวมอาจดูไม่สดใสนัก แต่สถานะทางการคลังของเรายังค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาใช้จ่ายในระหว่างวิกฤตโควิด-19 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปัจจุบันก็มีแนวโน้มดีขึ้น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังคงมีมหาศาล เงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างมากส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศของเรามีไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ

         ถึงแม้สถานะทางการเงินและการคลังจะแข็งแกร่ง แต่นั่นเป็นเพียงตัวชี้วัดในระดับมหภาค ค่าเงินบาทที่อ่อนยวบส่งผลโดยตรงต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อขายโดยอิงสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ผลักให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทุกหย่อมหญ้า

หากรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงต้องการครองอำนาจต่ออีกสมัยโดยไม่ใช้อภินิหารทางกฎหมายหรือการแก้กติกาเพื่อสกัดขาคู่แข่ง อาจต้องคิดแล้วว่าจะบรรเทาความทุกข์ของประชาชนอย่างไรในยุคข้าวยากหมากแพง พร้อมดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมไม่ใช่แก้ปัญหาโดยการออกคำสั่งหรือตั้งคณะกรรมการแล้วใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อหาทางรักษาอำนาจแทนที่จะดูแลประชาชน

 

เอกสารประกอบการเขียน

Sri Lanka is facing an economic and political crisis. Here’s what you need to know

Sri Lanka has no money and no government. What now?

Sri Lanka’s economic crisis has created a political one

What is the link between economic crises and political ruptures?

Costly food and energy are fostering global unrest

Sri Lanka’s default could be the first of many

 

 

Tags: , ,