หากพูดถึงสกุลเงินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ผู้เขียนเชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ดอลลาร์สหรัฐฯ’

เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกใช้ทั้งการซื้อขายสารพัดสินค้าโภคภัณฑ์ ตั้งแต่น้ำมันไปจนถึงเมล็ดกาแฟในตลาดการค้าระหว่างประเทศ ใช้ชำระราคาหลักทรัพย์ในตลาดการเงิน ใช้เป็นเงินทุนสำรองสำหรับพิมพ์ธนบัตร หรือบางประเทศอาจถึงขั้นสมาทานเอาดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลัก ธนบัตรใบเขียวยังเปรียบเสมือนเครื่องรางนักเดินทางที่ต้องติดกระเป๋าเพื่อความอุ่นใจ เพราะไปที่ไหนก็มีคนยินดีที่จะแลกกับสกุลเงินท้องถิ่น คงไม่ผิดนักหากเราจะกล่าวว่า โลกหมุนด้วยเงิน และเงินที่ว่าอยู่ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ต้องฝ่าฟันอดีต ‘พี่ใหญ่’ อย่างสกุลปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักร โดยมีจุดพลิกผันสำคัญคือการประชุมที่เมืองเบรตตันวูดส์ แม้ปัจจุบันดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นสกุลเงินหลักของโลก แต่มหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างรัสเซียและจีนต่างก็ตั้งคำถามต่อการใช้สกุลเงินดังกล่าวโดยหวังผลทางการเมือง นอกจากนี้ยังมีความท้าทายจากทางเลือกใหม่อย่างสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) ที่อาจโค่นดอลลาร์สหรัฐฯ ลงจากบัลลังก์

 

เกิดอะไรในเบรตตันวูดส์?

แรกเริ่มเดิมที ประเทศส่วนใหญ่กำหนดมูลค่าเงินตราตามระบบมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) ที่เสกเศษกระดาษให้มีค่าโดยอ้างอิงกับราคาของทองคำ ระบบดังกล่าวเปิดทางให้ประชาชนที่มีเงินอยู่ในมือสามารถเดินถือธนบัตรไปแลกเปลี่ยนกับทองคำที่เป็น ‘สินทรัพย์รองรับมูลค่า’ ภายใต้การจัดการของธนาคารกลาง แต่ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ระบบดังกล่าวก็ล่มสลายลงเพราะประเทศส่วนใหญ่ไม่หลงเหลือทองคำในคลัง เนื่องจากถูกใช้ชำระค่าอาวุธสงครามให้สหรัฐอเมริกา

 ท่ามกลางเศรษฐกิจระส่ำระสายและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก สหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหม่ที่ถือครองทองคำกว่า 2 ใน 3 ของโลกจึงเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ในเมืองเบรตตันวูดส์ มลรัฐนิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1944 โดยเชิญตัวแทนกว่า 700 คนจาก 44 ประเทศ เข้าร่วมออกแบบ ‘ระบบการเงินโลก’ รูปแบบใหม่เพื่อให้การค้าระหว่างประเทศยังคงเดินหน้าต่อไปได้

ณ ที่ประชุมเบรตตันวูดส์นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือไอเอ็มเอฟ ที่ทำหน้าที่เป็น ‘แหล่งเงินกู้แหล่งสุดท้าย’ ให้กับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development) ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศสมาชิก โดยมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความยากจน ต่อมาธนาคารดังกล่าวได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารโลก

แต่ประเด็นสำคัญที่สุดของการประชุมครั้งนี้ก็คือการพยายามสรรหา ‘ระบบใหม่’ ที่จะมาทดแทนมาตรฐานทองคำ และทำให้สกุลเงินทั่วโลกกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง โดยมี 2 ข้อเสนอในที่ประชุมจากชาย 2 คน

ข้อเสนอแรกมาจากนักเศรษฐศาสตร์ดาวเด่น ซึ่งเป็นที่รู้จักจวบจนปัจจุบัน จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ชายผู้เกิดในครอบครัวชนชั้นนำของอังกฤษ และผ่านประสบการณ์โชกโชนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงนำพาอังกฤษผ่านพ้นขาลงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เคนส์คือบุคคลประวัติศาสตร์ เขาปรากฏอยู่ในทุกภาพถ่ายและงานแถลงข่าวของการประชุมที่เบรตตันวูดส์ แม้กระทั่งเลขห้องที่เขาเคยพักก็ยังมีบันทึกเอาไว้

ข้อเสนอที่สองมาจาก แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวต์ (Harry Dexter White) เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลัง ผู้ช่วยรัฐมนตรี และผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา ไวต์เกิดในครอบครัวยากจนที่พ่อแม่เป็นผู้อพยพ ไต่เต้าจากลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงการคลังสู่ตำแหน่งระดับสูง แม้เขาจะเป็นบุคคลสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไวต์กลับมีหลงเหลืออยู่น้อยมาก

เป้าหมายของเคนส์คือการพยายามรักษาอำนาจนำในโลกการเงินของอังกฤษ เขาจึงเสนอให้สร้างสกุลเงินระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ทดแทนทองคำ โดยทุกประเทศจะสามารถใช้สกุลเงินท้องถิ่นได้เช่นเดิม แต่เมื่อใดก็ตามที่ต้องการทำมาค้าขายระหว่างประเทศก็ต้องนำเงินมาแลกกับสกุลใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นเคนส์ตั้งชื่อไว้ว่า ‘แบนคอร์’ (Bancor) ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาฝรั่งเศสที่แปลว่าธนาคารและทองคำ โดยจะมีธนาคารกลางของโลกเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ทั้งนี้เคนส์เสนอว่าธนาคารดังกล่าวควรตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ส่วนเป้าหมายของไวต์คือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินสำหรับใช้ค้าขายระหว่างประเทศ แน่นอนว่าไวต์ไม่เห็นด้วยกับการตั้งสกุลเงินใหม่ที่ใช้ชื่อแปลกประหลาด แต่เขาก็ไม่ได้เสนออย่างตรงไปตรงมาว่าจะต้องใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เสนอให้ใช้คำศัพท์ว่า ‘สกุลเงินที่สามารถแปลงเป็นทองได้ (Gold-Convertible Currency)’ เพื่อใช้ตรึงมูลค่าเงินทดแทนทองคำ

แฮร์รี เด็กซ์เตอร์ ไวต์ (ซ้าย) และจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (ขวา) ภาพจาก IMF

ที่ประชุมใช้คำศัพท์ตามที่ไวต์เสนอ จนกระทั่งตัวแทนจากประเทศอินเดียต้องการให้ไวต์ชี้ชัดไปเลยว่า ‘สกุลเงินที่สามารถแปลงเป็นทองได้’ ตามที่เขาเสนอหมายถึงอะไรกันแน่ เดนนิส โรเบิร์ตสัน (Dennis Robertson) ตัวแทนอีกคนหนึ่งจากอังกฤษติดกับไวต์อย่างเต็มเปา ด้วยความเข้าใจผิดว่าที่ประชุมกำลังคุยกันเรื่องรายละเอียดทางบัญชีที่ไม่สลักสำคัญอะไร เขาจึงเสนอให้ใช้คำว่า ‘ดอลลาร์สหรัฐฯ’ ไปเลยเพื่อความชัดเจน นับตั้งนาทีนั้น เอกสารทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนมาระบุให้ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักที่ใช้อ้างอิงมูลค่าแทนทองคำ โดยดอลลาร์สหรัฐฯ จะเป็นสกุลเงินที่ผู้ถือสามารถนำมาแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ในอัตรา 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์

เส้นตายที่กระชั้นเข้ามาทำให้ทุกคนต้องเร่งปิดการประชุมจนไม่มีใครมีเวลาพอจะสังเกตว่าสกุลเงินในเอกสารถูกแก้ไขเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งสองสถาบันการเงินข้ามชาติที่สถาปนาขึ้นใหม่ก็จะใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลัก และสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา กว่าเคนส์จะรู้ตัวว่าพลาดก็เมื่อกลับถึงประเทศอังกฤษ โดยมีรายงานว่าเขาโกรธเป็นฟืนเป็นไฟเพราะรู้สึกเหมือนถูกสวมเขาโดยสหรัฐอเมริกา

โลกใช้ระบบเบรตตันวูดส์อยู่ราวสามทศวรรษ ก่อนที่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในสหรัฐอเมริกาทำให้หลายประเทศเริ่มนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในคลังมาขอแลกเป็นทองคำ ซึ่งซ้ำเติมวิกฤตดังกล่าว ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) จึงตัดสินใจยกเลิกการแปลงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นทองคำในเดือนสิงหาคม ปี 1971 นับเป็นการสิ้นสุดระบบเบรตตันวูดส์ และจุดเริ่มต้นของอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

 

เมื่อสกุลเงินกลายเป็นอาวุธสงคราม

แม้ว่าปัจจุบันจะไม่ได้มีเงื่อนไขข้อบังคับใดให้เราต้องใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นสกุลเงินหลักในเวทีการค้าโลก แต่สกุลเงินดังกล่าวก็ได้รับความนิยมอย่างสูงสำหรับชำระราคาและการถือไว้เพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

การที่สกุลเงินที่ใช้ในประเทศกลายเป็นสกุลเงินหลักของโลกนับเป็น ‘สิทธิพิเศษ’ อย่างมากเพราะพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ย่อมเป็นที่ต้องการของนักลงทุนทั่วโลก นั่นหมายความว่ารัฐบาลสหรัฐฯ สามารถระดมเงินทุนมาใช้จ่ายได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แถมยังไม่ต้องกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อทำการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย

รัฐบาลสหรัฐฯ จึงมีอำนาจมหาศาลในเวทีการค้าระหว่างประเทศในฐานะ ‘เจ้าของสกุลเงิน’ และเริ่มใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองนับตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ที่สหรัฐอเมริกาเริ่มทดลองใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย การใช้สกุลเงินเป็นอาวุธทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในยุคประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ที่โดดเดี่ยวอิหร่านออกจากระบบชำระเงิน และล่าสุดคือการคว่ำบาตรรัสเซียของประธานาธิบดี โจ ไบเดน (Joseph Biden) เพื่อตอบโต้กรณีการรุกรานยูเครน ซึ่งคราวนี้ถึงขั้นอายัดสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ของรัสเซียในต่างประเทศไม่ให้นำไปใช้ป้องกันค่าเงินได้

รัสเซียและจีนเป็นขั้วอำนาจที่ทัดทานการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งพยายามลดการพึ่งพาเงินสกุลดังกล่าวโดยหันไปทำสัญญาทวิภาคีที่ใช้เงินสกุลท้องถิ่นของประเทศ ขณะที่จีนเองก็พยายามผลักดันเงินหยวนขึ้นมาแข่งขันกับดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวทีโลก พร้อมกับริเริ่มระบบ CIPS (Cross-Border Interbank Payment System) ซึ่งเปรียบเสมือนคู่แข่งของระบบ SWIFT จากชาติตะวันตก

แต่ความพยายามดังกล่าวยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงเป็นสกุลเงินหลักในการค้าระหว่างประเทศโดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 39.9 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินหยวนคิดเป็นสัดส่วน 3.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนในแง่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ยังครองอันดับหนึ่งในใจของเหล่านายธนาคารทั่วโลกโดยคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 59.1เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินหยวนซึ่งสามารถใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้เช่นกันกลับคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เงินทุนสำรองระหว่างประเทศจำแนกต่างสัดส่วนของแต่ละสกุลเงินระหว่างปี 1999-2020 ภาพจาก IMF

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจเป็นจุดพลิกผันสำคัญ เพราะเหล่าประเทศเผด็จการที่ไม่ได้ยึดถือคุณค่าตามโลกตะวันตกอาจรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เพราะเห็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นายธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นเองก็คงไม่สบายใจนักที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมีอำนาจ ‘แช่แข็ง’ เงินสำรองระหว่างประเทศที่เก็บหอมรอมริบเพื่อใช้ในยามยาก วิกฤตครั้งนี้จึงกลายเป็นโอกาสของเงินหยวนที่อาจผงาดมาแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

ถึงกระนั้นการโค่นบัลลังก์ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินหลักมีประวัติศาสตร์ยาวนานถึงเจ็ดทศวรรษ และต่อให้มหาอำนาจตะวันออกจับมือกับเหล่าประเทศเผด็จการ ขนาดของเศรษฐกิจก็ยังห่างชั้นเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและเหล่าประเทศพันธมิตร

ส่วนในแง่ความน่าเชื่อถือ เราคงต้องถามตัวเองว่าระหว่างสหรัฐอเมริกาที่ต่อให้การเมืองขึ้นๆ ลงๆ แต่คุณค่าที่ยึดถือก็ยังคงเดิมคือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ และหลักนิติรัฐ กับจีนที่อำนาจการตัดสินใจอยู่ในมือท่านผู้นำเพียงลำพัง ประเทศไหนที่เรามองว่ามีเสถียรภาพมากกว่า และสามารถฝากฝังเงินออมของคนทั้งชาติเอาไว้ได้ในระยะยาว

สำหรับสกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) ที่เริ่มได้รับความนิยมในช่วงสองสามปีให้หลัง ก็ยังไม่น่าจะเป็นภัยคุกคามสักเท่าไร เพราะธุรกรรมส่วนใหญ่ในโลกคริปโตเคอร์เรนซีคือการเก็งกำไรไม่ใช่การทำธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ในโลกจริง แม้ว่าสกุลเงินเหล่านี้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์หลายประการที่เหมาะแก่การเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันมีประเทศเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ยอมรับสกุลเงินเข้ารหัสในทางกฎหมาย โอกาสที่บิตคอยน์จะมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงนับว่าน้อยแสนน้อย

แต่ในอนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะในอดีตสกุลปอนด์สเตอร์ลิงของสหราชอาณาจักรก็ถูกดอลลาร์สหรัฐฯ โค่นลงจากบัลลังก์โดยใช้เวลาไม่นาน หมากการเมืองและเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของสหรัฐฯ ก็อาจเปิดทางให้เงินหยวนหรือสกุลเงินเข้ารหัสกลายเป็น ‘ทางเลือกที่น่าสนใจกว่า’ ในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Rise and Fall of the Dollar, or When did the Dollar Replace Sterling as the Leading Reserve Currency?

Why the US Dollar Is the Global Currency

Planet Money: The Dollar At The Center Of The World

75 Years Ago The U.S. Dollar Became The World’s Currency. Will That Last?

Will the dollar stay dominant?

The geopolitics of money is shifting up a gear

The dollar provides the U.S. with enormous power. Will new payment technologies change that?

Dethroning King Dollar Won’t Be an Easy Feat

Tags: ,