ผมอดไม่ได้ที่จะส่ายหัวขณะอ่านข่าว พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีเคาะอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมของเงินไทยบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตรา 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกำชับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตบเท้าเข้าหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาวิธีการทำให้ได้ดังฝัน
ตรรกะของท่านเข้าใจไม่ยาก เพราะค่าเงินบาทที่อ่อนปวกเปียกทำให้สารพัดสินค้าที่เราต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างชาติ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ยเคมี และก๊าซธรรมชาติแพงขึ้นไปโดยปริยาย ผลักดันให้ค่าครองชีพของคนไทยพุ่งเป็นประวัติการณ์ สร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลจะแก้ปัญหาโดยอัดฉีดเงินสดเข้าบัญชีประชาชนก็ลำบาก เพราะหนี้สาธารณะของไทยกำลังจะใกล้ชนเพดานหลังจากใช้เงินก้อนใหญ่รับมือการระบาดของโควิด-19
แต่นโยบาย ‘ตรึงค่าเงิน’ คือทางแก้ปัญหาในสภาวะเช่นนี้จริงๆ หรือ?
หากมองในมุมนักเศรษฐศาสตร์ คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’ อย่างแน่นอน เพราะการไปสู้รบปรบมือกับกลไกตลาดมีแต่เสียกับเสีย แถมยังเป็นการย่ำซ้ำรอยเดิมของวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา ยังไม่นับความเสี่ยงที่จะถูกตีตราว่าเป็นประเทศ ‘แทรกแซงค่าเงิน’ ซึ่งอาจถูกยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเขม่นเอาได้ และกระทบความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นโยบาย ‘ตรึงค่าเงิน’ กับวิกฤตต้มยำกุ้ง
ภาวะเงินบาทอ่อนชวนให้หลายคนย้อนรำลึกถึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ พ.ศ. 2540 ที่อัตราแลกเปลี่ยนทะลุ 50 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ในชั่วข้ามคืน วิกฤตดังกล่าวทำให้เศรษฐีจำนวนมากล้มละลายในชั่วพริบตา การล่มสลายของเศรษฐกิจไทยและการผิดนัดชำระหนี้ในอัตราสูงลิ่วทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจในอีกหลายแห่งเผชิญวิกฤตไปตามๆ กันจนฝรั่งขนานนามว่า ‘วิกฤตการเงินแห่งเอเชีย ค.ศ. 1997’ (1997 Asian Financial Crisis)
แต่ต้นเหตุของวิกฤตไม่ได้เกิดจากค่าเงินบาทอ่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เกิดจาก ‘การคาดการณ์’ อัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาด เนื่องจากภาพลวงตาที่รัฐบาลไทยสร้างผ่านนโยบาย ‘ตรึงค่าเงิน’
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2527 ประเทศไทยปรับใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบตะกร้าเงิน โดยกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนขยับอยู่ในกรอบแคบๆ คือ 24-26 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการสร้างเสถียรภาพและอำนวยความสะดวกในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ
อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนต่ำและอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สูงลิ่วทำให้นักธุรกิจไทยหันไปสร้างหนี้ระยะยาวก้อนใหญ่ในสกุลเงินต่างประเทศซึ่งอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า แล้วนำมาลงทุนเก็งกำไรทั้งในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทย เพราะการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศในขณะนั้นทำได้ง่ายและไม่มีการกำกับดูแลเข้มข้นเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม นโยบาย ‘ตรึงค่าเงิน’ ก็มีราคาที่ต้องจ่าย ถ้าเรามองสกุลเงินแต่ละสกุลเป็นสินค้าไม่ต่างจากน้ำมันดิบหรือทองคำ ซึ่งราคาจะขยับไปตามความต้องการซื้อและความต้องการขาย การพยายามทำให้ราคาเงินบาทไม่ขยับไปตามกลไกตลาดก็จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมหาศาลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากมีคนมาเทขายเงินบาทมากเกินไป ธปท. ก็ต้องควักกระเป๋าเอาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีอยู่ในคลังไปซื้อเพื่อไม่ให้ค่าเงินอ่อนเกินควร หากมีความต้องการซื้อเงินบาทมากเกินไป ธปท. ก็ต้องนำเงินบาทไปเทขายเพื่อป้องกันค่าเงินแข็งเกินไป
นับตั้งแต่มีการตรึงค่าเงิน ธปท. ควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้ตามเป้ามาตลอด 13 ปี แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกราเพราะเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ขาลง และเผชิญการโจมตีค่าเงินครั้งแล้วครั้งเล่าของเฮดจ์ฟันด์ที่บริหารโดยพ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส เมื่อเงินทุนสำรองในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หมดคลัง รัฐบาลไทยก็ไม่เหลือทางเลือกนอกจากประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วและไม่มีใครคาดฝัน
ลองนึกดูสิครับว่า คนที่เคยกู้เงินมา 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะต้องหาเงินมาใช้คืน 25 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่วันดีคืนดีหลังรัฐบาลประกาศลอยตัว หนี้ก้อนเดิมกลับพุ่งทะยานเป็น 50 ล้านบาท ณ อัตราแลกเปลี่ยน 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์นี้เองที่ทำให้หลายคนสิ้นเนื้อประดาตัว บางคนอาจตัดสินใจจบชีวิตตนเองเพราะมองไม่เห็นอนาคตอีกต่อไป
วิกฤตต้มยำกุ้งจึงไม่ได้มีสาเหตุจากค่าเงินบาทที่อ่อนเป็นประวัติการณ์ แต่เกิดจาก ‘ภาพลวงตา’ ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 25 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดไป จนตัดสินใจผิดพลาดและรับมือไม่ทันเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวต่างจากสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง เพราะค่าเงินบาทในปัจจุบันไม่ได้อ่อนค่าแบบชั่วข้ามคืนจึงมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวและใช้เครื่องมืออย่างตราสารอนุพันธ์ในการป้องกันความเสี่ยง
บทบาทของ ธปท. ในวันที่ ‘บาทอ่อน’
นโยบายตรึงค่าเงินเฉกเช่นในอดีตไม่ต่างจากการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ นำเงินสำรองระหว่างประเทศไปถลุงโดยที่ตอบไม่ได้ว่าสร้างประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้หมายความว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไม่ต้องทำอะไรในภาวะเงินบาทอ่อน
บทบาทสำคัญของ ธปท. คือการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ นั่นคือการดูแลความผันผวนของค่าเงินไม่ให้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปเนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง ส่วนในฝั่งเงินสดสำรองระหว่างประเทศของไทยก็นับว่าไม่น่าห่วง โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 43% ของจีดีพี สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ (25% ของจีดีพี) มาเลเซีย (27% ของจีดีพี) และอินเดีย (17% ของจีดีพี)
อีกทั้งประเทศไทยไม่ได้เผชิญภาวะค่าเงินอ่อนเพียงลำพัง เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างเจอกับสถานการณ์เดียวกันหมดเนื่องจากการขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อปรามเงินเฟ้อของสหรัฐฯทำให้ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ แม้เงินบาทจะอ่อนแต่ก็ยังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กประมาณการว่าตั้งแต่ต้นปีมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าสู่ประเทศถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดและยังไม่ถึงเวลาที่ต้องดำเนินนโยบายสุดโต่งอย่างการตรึงค่าเงิน
สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่าเสถียรภาพทางการเงินคือท่าทีของฝั่งการเมืองที่ต้องการแทรกแซงความเป็นอิสระของธนาคารกลางซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานที่แทบทุกประเทศทั่วโลกยึดถือ นักการเมืองที่แสวงหาความนิยมจากประชาชนย่อมต้องการ ‘เสก’ อัตราแลกเปลี่ยนหรือดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเอาใจมวลชน สร้างภาพลวงตาว่าเศรษฐกิจดีในระยะสั้นแต่กลับทิ้งปัญหาให้กับประเทศชาติในระยะยาว
ที่ผ่านมา ไม่ว่าผู้นำจะมีท่าทีแข็งกร้าวขนาดไหน ขึ้นครองอำนาจในระบบใด ต่างก็เกรงอกเกรงใจผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศทั้งนั้น แม้หลายต่อหลายครั้งธนาคารกลางอาจดำเนินนโยบายที่ประชาชนก่นด่า เช่น การขยับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวในชั่วข้ามคืนเพื่อปกป้องค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย หรือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อปราบเงินเฟ้อแม้ว่าจะเสี่ยงต่อการทำให้เศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีในประเทศเหล่านั้นก็ไม่เคยออกมาชี้นิ้วสั่งแบบ ‘พ่อรู้ดี’
ผลงานพังพินาศของท่านผู้นำ ‘รู้ดี’ ที่พยายามแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางก็เช่นหายนะค่าเงินของประเทศเวเนซุเอลา และล่าสุดคือวิกฤตค่าเงินลีราตุรกี ซึ่งประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เปลี่ยนผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นว่าเล่น เพื่อมองหาคนที่จะแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายซึ่งขัดกับทุกตำราเศรษฐศาสตร์บนโลกใบนี้ ผลงานล่าสุดของท่านผู้นำตุรกี คืออัตราเงินเฟ้อที่เฉียด 100% ต่อปี และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลง
ผู้นำที่ชาญฉลาดคือคนที่ต้องรู้ว่าตนเอง ‘รู้’ เรื่องอะไร และประเด็นไหนที่ควรจะตอบไปว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ ไม่รู้”
เอกสารประกอบการเขียน
7 ข้อเท็จจริงเรื่องค่าเงินบาท และการปรับตัวภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
Thai Officials Pile Pressure on Central Bank to Shield Baht
Fed Rate Hikes Paint Bleak Picture for Southeast Asia Currencies
Tags: Economic Crunch, ตรึงค่าเงิน, บาทอ่อน