สามสี่ปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่เวลาที่ยากลำบากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั่วโลกเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 แม้จะสามารถผลิตคิดค้นวัคซีนได้อย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ สร้างความหวังถึงฟ้าหลังฝน ผ่านไปสองปีหลังจากหลายประเทศเริ่มควบคุมการระบาดได้ เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวได้ไม่ทันไรก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน นั่นคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้อนาคตเศรษฐกิจดูไม่สดใส สร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ในภูมิภาคยุโรปที่กระทบต่อนโยบายด้านการค้าและความมั่นคงในหลายประเทศทั่วโลก

ผู้เขียนมีข่าวร้ายว่าแสงสว่างในปลายอุโมงค์อาจไม่ได้มาถึงในเร็ววัน หนำซ้ำหากโชคร้าย ภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจถดถอยก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่ กลายเป็นวิกฤตหนี้สินอย่างที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดีเมื่อปี 2540

ปัจจุบัน เรากำลังเผชิญการถดถอยของการค้าระหว่างประเทศ ประกอบกับวิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตราคาอาหาร ซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ Stagflation เมื่อราวห้าทศวรรษก่อน ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเช่นนี้ รัฐบาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในฐานะ ‘เครื่องพยุงชีพ’ ให้ประชาชนสามารถเอาชีวิตให้รอดพ้นวิกฤตการณ์

อย่างไรก็ดี สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันเลวร้ายถึงขั้นที่เรียกว่า Stagflation แล้วหรือยัง?

การถดถอยของการค้าระหว่างประเทศ

แม้ว่าโลกกำลังจะเคลื่อนผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของการระบาดของโรคโควิด-19 แต่การค้าระหว่างประเทศก็ฟื้นตัวได้อย่างเชื่องช้า โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือมาตรการ ‘โควิด-19 เป็นศูนย์’ ของจีนที่ส่งผลให้โรงงานและท่าเรือหลายแห่งยังคงปิดทำการ และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานที่ต้องหวังพึ่งพาสินค้าส่งออกจากทั้งสองประเทศต้องหยุดชะงักเนื่องจากภาวะขาดแคลนวัตถุดิบ สงครามดังกล่าวยังทำให้ราคาค่าขนส่งระหว่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากเส้นทางเดินเรือในทะเลดำซึ่งใช้ในการขนส่งอาหารและน้ำมันดิบไม่สามารถใช้การได้

สงครามรัสเซีย-ยูเครน นับเป็นกระสุนนัดที่ 4 ซึ่งบั่นทอนการค้าระหว่างประเทศ โดยที่กระสุนนัดแรกคือวิกฤตซับไพรม์ กระสุนนัดที่ 2 คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีน ส่วนกระสุนนัดที่ 3 คือการระบาดของโควิด-19

แรกเริ่มเดิมที เหล่าบริษัทต่างใช้ข้อได้เปรียบจากการค้าระหว่างประเทศเพื่อหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนถูกที่สุดเท่าที่จะหาได้ แต่การทำเช่นนั้นสร้างปัญหา 2 ประการ อย่างแรกคือปัญหาคอขวดเมื่อชิ้นส่วนสำคัญไม่สามารถผลิตได้เพียงพอต่อความต้องการ เช่น การขาดแคลนชิปที่ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ต้องหยุดชะงักในช่วงการระบาดของโควิด-19 อย่างที่ 2 คือการมองเพียงต้นทุนเพียงอย่างเดียวอาจทำให้บริษัทหันไปคบค้ากับรัฐบาลเผด็จการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งกรณีของรัสเซียพิสูจน์แล้วว่ามุมมองที่คับแคบย่อมส่งผลเสียในระยะยาว

ปัจจุบันนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์ของทุนนิยมข้ามชาติ เพราะเหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่เริ่มเปลี่ยนลำดับความสำคัญจากประสิทธิภาพสู่เสถียรภาพ ลดการลงทุนในต่างประเทศแล้วหันมาสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ใกล้บ้าน รวมทั้งเพิ่มจำนวนคู่ค้าเพื่อกระจายความเสี่ยง บางธุรกิจถึงขั้นปรับกลยุทธ์เสียใหม่สู่ ‘การพึ่งพาตนเองเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Autonomy) เช่น ในอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งบริษัทจะทำทุกกระบวนการตั้งแต่ขุดแร่ไปจนถึงการออกแบบชิปด้วยตนเอง โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลบางประเทศเสียด้วยซ้ำ

แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีราคาที่ต้องจ่าย ในช่วงที่หลายบริษัทพยายามจัดระเบียบห่วงโซ่อุปทานของตนเองเสียใหม่ ความไม่แน่นอนและสารพันปัญหาย่อมทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

วิกฤตราคาพลังงาน วิกฤตราคาอาหาร และปัญหาเงินเฟ้อ

‘ของแพง’ เป็นเรื่องที่หลายคนเริ่มประสบพบเจอกับตัว แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ประเทศไทย เพราะอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั่วโลกในปัจจุบันพุ่งสูงที่สุดในสองทศวรรษคือเฉลี่ยที่ราว 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยมีปัจจัยสำคัญคือราคาอาหารและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

รัสเซียคือผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดน้ำมันโดยมีคู่ค้าสำคัญคือสหภาพยุโรป อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่เกิดสงครามกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปก็ประกาศว่าจะทยอยลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย พร้อมทั้งจะพิจารณาลดการนำเข้าถ่านหินและก๊าซธรรมชาติอีกด้วย ในปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันคงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ในปีหน้าสถานการณ์อาจจะดีขึ้นหากทั่วโลกได้น้ำมันดิบที่ผลิตเพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกา

ในฝั่งของสินค้าเกษตร รัสเซียและยูเครนคือ 2 ประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีที่สำคัญ อีกทั้งรัสเซียเองก็เป็นผู้ส่งออกปุ๋ยเคมีรายใหญ่ที่สุดในโลก สงครามที่ทำให้การส่งออกต้องหยุดชะงักส่งผลกระทบสองเด้งต่อราคาสินค้าเกษตร คือนอกจากปริมาณข้าวสาลีในตลาดจะหายไปอย่างมหาศาลแล้ว ต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกยังพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากราคาปุ๋ยและราคาเชื้อเพลิง ธนาคารโลกคาดว่าในปีนี้ราคาอาหารโดยเฉลี่ยจะปรับตัวสูงขึ้นถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ แต่สถานการณ์อาจดีขึ้นในปีหน้าเมื่อเหล่าเกษตรกรที่ไม่ได้รับผลกระทบสามารถปลูกพืชและเก็บเกี่ยวผลผลิตมาจำหน่ายทดแทน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์จะดีขึ้นเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะยืดเยื้อยาวนานเพียงใด และจะลุกลามไปยังประเทศข้างเคียงหรือไม่ แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ราคาอาหารและพลังงานในปัจจุบันก็นับเป็น ‘ความปกติใหม่’ ที่เราอาจต้องอดทนไปอีกพักใหญ่

 

ฤาจะซ้ำรอยวิกฤต Stagflation?

‘Stagflation’ เป็นคำศัพท์ที่ผสมผสานระหว่างความซบเซา (Stagnation) กับเงินเฟ้อ (Inflation) ซึ่งคิดขึ้นโดย พอล ซามูเอลสัน (Paul Samuelson) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล สภาวะเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อราวห้าทศวรรษก่อน ซึ่งทั่วโลกเผชิญปัญหาห่วงโซ่อุปทานและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงต่อเนื่องยาวนานนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจลุ่มๆ ดอนๆ

สถานการณ์ดังกล่าวคือ ‘ความผิดปกติ’ ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานจะเป็นสิ่งที่สวนทางการ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ความต้องการซื้อที่ลดลงย่อมทำให้เงินเฟ้อต่ำแต่อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนในเศรษฐกิจขาขึ้นก็จะตรงกันข้าม การจัดการกับ Stagflation จึงเป็นเรื่องยุ่งยากเพราะหากเดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็อาจทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่หากแตะเบรกเช่นเพิ่มอัตราดอกเบี้ยก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำยาวนาน

ถึงหลายคนอาจเห็นผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยโหมประโคมว่าเรากำลังเผชิญภาวะ Stagflation แต่ภาวะเศรษฐกิจในปัจจบันยังขาดองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ

ประการแรก คืออัตราการว่างงานในระดับสูง แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจดูไม่สดใสและมีความผันผวนสูง แต่หันไปดูอัตราการว่างงานในหลายประเทศทั่วโลกก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

โดยมีการฟื้นตัวมามากพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงานทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างก็ขยับมาค่อนข้างต่ำจนเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนประเทศไทยเองก็มีอัตราการว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศอีกด้วย

ประการที่ 2 คืออัตราเงินเฟ้อที่ต่อเนื่องยาวนานจน ‘ฝัง’ เข้าไปในวิธีคิดของประชาชนและภาคธุรกิจ คำว่ายาวนานที่ว่าย่อมไม่ใช่หนึ่งหรือสองปี แต่หมายถึงนานระดับทศวรรษซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จากท่าทีของธนาคารกลางหลายแห่งดูเหมือนว่าพร้อม ‘แตะเบรก’ เพื่อเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยแลกกับการที่สามารถจัดการเงินเฟ้อได้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดจากสงครามที่ไม่มีใครคาดฝัน หลายคนเชื่อว่าหากสงครามยุติลงหรือไม่มีการลุกลามสู่ประเทศข้างเคียง ราคาอาหารและพลังงานก็จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงภายในหนึ่งถึงสองปี

ดังนั้น การบอกว่าเศรษฐกิจในปัจจุบันอยู่ในภาวะ Stagflation อาจเป็นการด่วนสรุปเกินไปสักหน่อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจดีนะครับ เพียงแต่มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิด สำหรับประเทศไทยในฐานะเขตเศรษฐกิจเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงในระดับโลก เราคงไม่มีทางที่จะแก้ปัญหา ‘วิกฤตนอกบ้าน’ ได้ด้วยตนเอง แต่ผู้นำที่เก่งฉกาจและชาญฉลาดย่อมสามารถดูแล ‘ประชาชนในบ้าน’ ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้โดยไม่เจ็บปวดนัก

เมื่อหันไปดูคณะผู้บริหารประเทศในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าทุกคนมีคำตอบในใจว่าพวกเขา ‘พึ่งพา’ ได้มากน้อยเพียงใด

 

เอกสารประกอบการเขียน

The tricky restructuring of global supply chains

What is stagflation, and might it make a comeback?

Global Economic Prospects – June 2022

Tags: , , ,