เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครติดตามข่าวสารแวดวงการเงินการลงทุนก็คงได้ยินชื่อหุ้น MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หุ้นตัวเล็กๆ ที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสั่นสะเทือน

MORE เป็นบริษัทขนาดเล็กที่ทำธุรกิจ 3 ด้านคือจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน วางระบบน้ำประปาและบริหารจัดการน้ำประปา และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ผ่านมาบริษัทมีผลประกอบการหลักสิบล้านถึงร้อยล้าน แม้ว่าปีที่ผ่านมาจะสามารถเสกกำไรได้ถึงพันล้าน แต่ก็เกิดจากธุรกรรมแลกหุ้นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปกติแต่อย่างไร หากมองในสายตานักลงทุน หุ้น MORE ก็เป็นหนึ่งในหุ้นตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้น่าสนใจอะไร

แต่ในวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หุ้น MORE ก็มีปริมาณซื้อขายผิดปกติตั้งแต่เปิดตลาด โดยมีการจับคู่ทำธุรกรรมมูลค่ากว่า 4,300 ล้านบาท มากกว่า 10 เท่าตัวของปริมาณซื้อขายเฉลี่ยเมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งราคาเปิดยังกระโดดเป็น 2.90 บาท หรือคิดเป็นการปรับตัวขึ้นถึง 4.3% ก่อนจะร่วงเหลือ 1.37 บาทในวันต่อมา

ในสายตานักลงทุน เหตุการณ์ข้างต้นก็ไม่ต่างจาก ‘เจ้าทุบ’ หลังจากปั่นราคาหุ้นจนพอใจ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยและในแวดวงของหุ้นตัวเล็ก อย่างไรก็ตาม กรณีหุ้น MORE ต่างออกไป เพราะเงินที่ใช้ซื้อหุ้นดังกล่าวคือวงเงินกู้จากบริษัทโบรกเกอร์นับสิบแห่งมูลค่ากว่าสี่พันล้านบาท

ตามกฎของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หลังจากทำธุรกรรมเสร็จสิ้นเหล่าบริษัทจะต้องทำการ ‘ชำระราคา’ ใน 2 วันทำการให้หลัง หากธุรกรรมเกิดขึ้นวันที่ 10 พฤศจิกายน ก็จะต้องจ่ายเงินในวันที่ 15 พฤศจิกายนนั่นเอง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เหล่าโบรกเกอร์นั่งไม่ติด เพราะไม่ต่างจากการที่นักลงทุนมาขอกู้เงินหลักพันล้านบาทไปซื้อหุ้นในราคา 2.90 บาท แต่ปัจจุบันหุ้นดังกล่าวกลับมีราคาค่างวดเพียง 1.37 บาท โบรกเกอร์จึงเผชิญความเสี่ยงสูงลิ่วที่ลูกค้าจะผิดนัดไม่ยอมชำระหนี้ และต้องควักเนื้อตัวเองจ่ายค่าหุ้นที่ธุรกรรมเสร็จสิ้นลงไปแล้ว

ที่สำคัญ ‘ลูกค้า’ ที่ใช้วงเงินกู้จากบริษัทโบรกเกอร์นับสิบแห่งรวมมูลค่าหลายพันล้านบาทเพื่อซื้อหุ้น MORE ในราคาสูงกว่าตลาดนั้นคือนักลงทุนเพียงรายเดียว!

ปกติหรือไม่ปกติ?

อ่านแล้วบางคนอาจสงสัยว่าทำไมนักลงทุนเพียงรายเดียวสามารถกู้เงินมาซื้อหุ้นมูลค่ามหาศาลได้แบบไม่ยากเย็นนัก คำตอบคือนี่คือเรื่องปกติในแวดวงการซื้อขายหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต้องวางหลักประกันเพียง 20% ของวงเงินเท่านั้น เช่น ถ้าวางหลักทรัพย์ 20 บาทก็จะสามารถขอวงเงินกู้ได้ 100 บาท

แม้สัดส่วนตัวเลขจะค่อนข้างสูง แต่ในกรณีที่นักลงทุนไม่มีเจตนาเคลือบแฝง ธุรกรรมดังกล่าวจะถือว่ามีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เพราะเป็นการกู้ยืมระยะสั้นซึ่งนักลงทุนที่กู้จะต้องจ่ายเงินคืนภายในระยะเวลาสองวันทำการให้หลัง อีกทั้งยังเป็นการซื้อหลักทรัพย์ในตลาดซึ่งมีสภาพคล่องสูง ในกรณีที่นักลงทุนไม่ยอมจ่ายเงินค่าหุ้น โบรกเกอร์ก็สามารถนำหุ้นดังกล่าวไปขายในตลาดได้โดยไม่เจ็บตัวมากนัก เพราะหากหุ้นไม่โดนทุบโดนเท ราคาก็จะไม่ผันผวนสักเท่าไรในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

ดังนั้น การซื้อหุ้นด้วยวงเงินกู้จึงเป็น ‘เรื่องปกติ’ ที่เหล่าโบรกเกอร์ต้องเจอทุกวัน

แต่กรณีของหุ้น MORE นั้นต่างออกไป โดยอาจเข้าข่ายธุรกรรมต้องสงสัยเพราะมีธงแดง (Red Flag) หลายประการที่ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริง

ความไม่ปกติแรกคือการส่งคำสั่งซื้อขายในช่วงตลาดปิดด้วยมูลค่าธุรกรรมหลายพันล้านบาท ทั้งที่ในช่วงเวลาดังกล่าวหุ้น MORE ไม่ได้มีข่าวน่าตื่นตาตื่นใจแต่อย่างใด การตัดสินใจส่งคำสั่งในช่วงเวลาดังกล่าว ราวกับรู้ ‘หลังบ้าน’ ของการซื้อขายหลักทรัพย์ซึ่งเป็นการส่งคำสั่งทางตรงไปที่ระบบของตลาดหลักทรัพย์ นั่นหมายความว่าเหล่าโบรกเกอร์ก็ต่างไม่จากถูกปิดตา กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนตลาดเปิดซึ่งธุรกรรมก็สำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว

ความไม่ปกติที่ 2 คือการที่มีผู้ส่งคำสั่งซื้อรายเดียวในราคาที่สูงกว่าราคาปิดโดยใช้วงเงินกู้จากหลายโบรกเกอร์ ส่วนผู้ส่งคำสั่งขายก็เป็นนักลงทุนรายใหญ่ร่วม 20 รายที่ส่งคำสั่งในช่วงเวลาตลาดปิดเช่นกัน หากทั้งสองฝ่ายนัดแนะเพื่อส่งคำสั่งพร้อมกันก็อาจเข้าข่ายส่งคำสั่งซื้อข่ายให้กับพวกเดียวกันเองเพื่อสร้างราคาหลักทรัพย์ และอาจผิดฐานฉ้อโกงเนื่องจากจงใจสร้างความเสียหายต่อเหล่าบริษัทโบรกเกอร์

ความไม่ปกติที่ 3 คือ อภิมุข บำรุงวงศ์ อดีตโบรกเกอร์ผู้ส่งคำสั่งซื้อหลายพันล้านบาทก็ผิดนัดชำระหนี้ตามคาดโดยจ่ายเงินค่าหุ้นได้เพียง 100 ล้านบาท พร้อมกับให้สัมภาษณ์กับนักข่าวกรุงเทพธุรกิจเมื่อวัน 14 พฤศจิกายนว่าคำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นความผิดพลาดเพราะทีมงาน ‘คีย์ข้อมูลผิด’

แต่น่าแปลกใจที่คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ไม่ได้มองว่าสองประเด็นข้างต้นเป็น ‘เรื่องผิดปกติ’ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยจึงต้องไปร้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเข้ามาจัดการ นับเป็นบทบาทที่น่าผิดหวังของ ก.ล.ต. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์โดยตรง

ล่าสุด ปปง. ได้ระงับการเคลื่อนไหวนับสิบบัญชีที่เกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้น MORE เพื่อตรวจสอบ ส่วนผลลัพธ์จะออกหัวหรือก้อยนั้นก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าธุรกรรมนี้คือการจงใจปล้นกลางตลาดหรือพลาดโดยบริสุทธิ์ใจ

ผลกระทบต่อนักลงทุนไทย

สำหรับนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ท่านๆ ก็อาจมีอกสั่นขวัญหายกันบ้างหลังจากได้ยินว่าธุรกรรมหุ้น MORE อาจส่งผลกระทบให้ฐานะทางการเงินของบริษัทโบรกเกอร์บางแห่งต้องระส่ำระสาย

แต่ไม่ต้องกังวลไปนะครับ การซื้อขายหลักทรัพย์ในไทยมีกฎเกณฑ์คุ้มครองนักลงทุนรายย่อยที่เคร่งครัดอยู่พอสมควร ทั้งการฝากหลักทรัพย์ที่ซื้อขายผ่านโบรกเกอร์ไว้ที่ตัวกลางอย่างศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ทำให้มั่นใจว่าหลักทรัพย์เหล่านั้นจะไม่หายสาบสูญไปไหน และกองทุนคุ้มครองผู้ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จะค้ำประกันเงินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 1 ล้านบาท ดังนั้นถ้าผู้อ่านไม่ได้มีเงินในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์มูลค่าหลายล้านบาทก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะยังปลอดภัยแน่นอน

ผลกระทบจากธุรกรรมหุ้น MORE คือการที่เหล่าโบรกเกอร์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อเพื่อซื้อหุ้นตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดอยู่บ้าง แต่ในระยะยาวก็อาจเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยบรรเทาปัญหาการปั่นหุ้นด้วยบัญชีเครดิต อีกทั้งยังป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำรอยอีกด้วย

สิ่งที่น่าจับตาคือผลการสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ว่าจะออกมาเป็นอย่างไร หากภาครัฐไม่สามารถเอาผิดทั้งผู้ซื้อและผู้ขายโดยมองว่าเป็น ‘ความผิดพลาดโดนบริสุทธิ์ใจ’ ก็อาจเป็นใบเบิกทางให้เกิดธุรกรรมแบบนี้ในอนาคต แต่หากสามารถจัดการผู้กระทำความผิดได้ก็จะถือเป็นกรณีตัวอย่างที่เหล่านักปั่นหุ้นต้องคิดอย่างรอบคอบก่อนจะเดินเกม

ไม่บ่อยครั้งนักที่เราจะได้เห็น ‘อาชญากรรมคอปกขาว’ พาดหัวข่าวในเมืองไทย และเหตุการณ์นี้คงเป็นสิ่งพิสูจน์ฝีมือหน่วยงานภาครัฐของไทยว่า ‘มีน้ำยา’ มากน้อยเพียงใดเมื่อมหาเศรษฐีตกเป็นจำเลย

เอกสารประกอบการเขียน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้แจงแนวทางดำเนินการกรณีหลักทรัพย์ MORE

ข้อมูลประกอบการแถลงความคืบหน้ากรณีหลักทรัพย์ MORE

Tags: , ,