“มหาลัย มหาหลอก เด็กชายบ้านนอก เด็กหญิงบ้านนา รํ่าเรียนรู้ในวิชา แต่จบออกมายังไม่มีงานทํา”

นี่คือท่อนเปิดติดหูของเพลง ‘มหาลัย’ โดยวงคาราบาวที่กลายเป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2527 และยังคงร่วมสมัยจวบจนปัจจุบัน เพราะแม้จะผ่านมาร่วม 3 ทศวรรษ คนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงกังขากับ ‘มูลค่าเพิ่ม’ ของการเรียนมหาวิทยาลัย ท่ามกลางปัญหาหนาหูเรื่องกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ตั้งเป้าหมายเพื่อ ‘ให้โอกาส ให้อนาคต’ แต่กลับกลายเป็นสร้างลูกหนี้ที่พัวพันคดีนับแสนราย โดยมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงถึง 64 คน จาก 100 คน

ผู้เขียนรวบรวมข้อสังเกตและสารพัดปัญหาในการออกแบบผลิตภัณฑ์หนี้ดังกล่าวไว้ในบทความที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนในสัปดาห์นี้ ผมจะขอชวนคุยกันต่อถึงประโยชน์ของการกระเสือกกระสนเรียนจนจบปริญญาตรี ว่าความจริงแล้วปริญญาดังกล่าวเป็นเพียงค่านิยม หรือเป็นใบผ่านทางสำคัญสู่การเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม

หากย้อนกลับไปตอนสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 การตัดสินใจเรียนต่อคณะหรือมหาวิทยาลัยใดนับว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ต่างจากเดาสุ่ม ผมแทบไม่รู้เลยว่าจบไปจะมีงานทำไหม งานเป็นอย่างไร มีเงินเดือนมากพอที่จะเลี้ยงชีพหรือไม่ คนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจมากที่สุดก็คือพ่อแม่ที่แนะนำคณะซึ่งพวกท่านมองว่ามั่นคง แถมยังเป็นผู้สนับสนุนค่าเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์

ผมนับเป็นคนจำนวนหยิบมือที่โชคดี แต่คนส่วนใหญ่คงไม่ได้โชคดีแบบผมเพราะต้องดิ้นรนไปขอกู้ยืมเงิน อีกทั้งคนใกล้ตัวก็อาจให้คำปรึกษาได้ไม่มากนัก เพราะตนเองก็ไม่ได้เรียนสูง การตัดสินใจเรียนต่อจึงอาจอิงจาก ‘ความเชื่อ’ ว่าถ้าเรียนจบปริญญาตรีจะมีโอกาสทำงานและทำเงินมากกว่าวุฒิ ม.6

แต่ความเชื่อก็อาจไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเสมอไป เพราะในบางสาขาวิชาที่จบจากบางมหาวิทยาลัยอาจไม่ได้ช่วยให้บัณฑิตหางานได้ง่ายขึ้น หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด โดยสิ่งเดียวที่ติดตัวมาจากรั้วมหาวิทยาลัย นอกจากปริญญาแล้วก็คือหนี้ก้อนใหญ่ที่ต้องหาทางใช้คืน

จะดีกว่าไหม หากเรามีข้อมูลสำคัญในมือ เช่น อัตราการได้งานหลังเรียนจบ หรือเงินเดือนของบัณฑิตแต่ละคณะเพื่อประกอบการตัดสินใจเรียนต่อมหาวิทยาลัย

เรียนมหาวิทยาลัย ‘คุ้มค่า’ จริงไหม?

ความจริงแล้วการกู้เงินไปเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการตัดสินใจที่มีความเสี่ยงสูงมากๆ เพราะนอกจากจะเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ตั้งแต่ยังไม่เคยทำงานหาเงินแล้ว เรายังหมดเวลาไปอย่างน้อย 4 ปีโดยแทบไม่มีโอกาสหารายได้ แต่การทุ่มทรัพยากรทั้งเงินทั้งเวลาก็ไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป นักศึกษาจำนวนไม่น้อยยอมแพ้ระหว่างทาง และต่อให้ได้ปริญญามาครอบครองก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าจะสามารถหางานได้ หรือเงินเดือนมากกว่าเริ่มทำงานตั้งแต่จบ ม.6

คนจำนวนไม่น้อยมองข้ามความเสี่ยงดังกล่าวเนื่องจากค่านิยมที่ว่าต้องเรียนให้จบอย่างน้อยปริญญาตรี แต่ความจริงแล้วการดั้นด้นเรียนจบสูงๆ อาจไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเสมอไป

นี่คือเหตุผลที่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาหนี้สินการศึกษาหนักหน่วง ผลักดันให้มีการผ่านร่างกฎหมายความโปร่งใสของวิทยาลัย (College Transparency Act) เพื่อหวังเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างอัตราการมีงานทำและรายได้หลังจากเรียนจบของแต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจศึกษาต่อของนักเรียน

สาเหตุก็เพราะ ‘มูลค่าเพิ่ม’ ของปริญญาจะแตกต่างกันไปตามคณะและมหาวิทยาลัย ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2557 บริษัทวิจัย PayScale เผยแพร่การศึกษาว่าด้วยรายได้และต้นทุนค่าเล่าเรียนของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาต่างๆ เพื่อนำมาประมาณการผลตอบแทนทางการเงิน แน่นอนว่าเหล่าบัณฑิตจากรั้วมหาลัยไอวีลีกต่างก็ได้ผลตอบแทนทางการเงินเฉลี่ยที่สูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี อย่างไรก็ตาม มีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยที่ผลตอบแทนติดลบซึ่งสามารถตีความได้ว่าค่าเล่าเรียนที่ลงทุนไปจะไม่คุ้มค่ากับรายได้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากเรียนจบ

สาขาวิชาเองก็ส่งผลค่อนข้างมาก โดยคณะที่เรียนจบยากเย็นและเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างวิศวกรรมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จะมีผลตอบแทนที่สูงลิ่ว ขณะที่คณะชุบชูจิตใจอย่างศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์อาจไม่ได้ทำให้บัณฑิตร่ำรวยแต่อย่างใด การศึกษาชิ้นดังกล่าวพบว่าปริญญาสาขาศิลปศาสตร์จากมหาวิทยาลัย 1 ใน 3 ได้ผลตอบแทนต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเสียอีก แถมบัณฑิตสาขานี้จากบางมหาวิทยาลัยอาจยากจนลงด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการตัดสินใจทำงานตั้งแต่จบ ม.6

แม้กฎหมายจะยังไม่บังคับใช้ แต่มหาวิทยาลัยเท็กซัสเดินหน้าเปิดเผยข้อมูลรายได้ของบัณฑิตแต่ละคณะอย่างโปร่งใสโดยไม่ต้องรอให้กฎหมายบังคับใช้ แถมให้รายละเอียดในระดับที่ค่อนข้างน่าประทับใจ โดยมีการระบุทั้งรายได้ในปีแรก ปีที่ 5 และปีที่ 10 หลังจากเรียนจบ อีกทั้งยังแยกให้เห็นบัณฑิตที่มีรายได้เฉลี่ยทั้งระดับน้อย ปานกลาง และสูง (25, 50 และ 75 เปอร์เซ็นต์ไทล์) แถมยังระบุความสามารถในการชำระหนี้สินทางการศึกษาเมื่อเทียบกับรายได้อีกด้วย

 

รายได้เฉลี่ยของบัณฑิตมหาวิทยาลัยเท็กซัสหลังจากเรียนจบ 1 ปีและ 5 ปี โดยจำแนกตามคณะ ภาพจาก Seek UT

ผมพยายามค้นหาสถิติลักษณะนี้ของมหาวิทยาลัยในไทย แต่น่าเสียดายที่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ เพราะการเปรียบเทียบเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่น่าสนุกไม่น้อย

หลายคนอาจมองว่าการวัดมูลค่าเป็นตัวเงินเช่นนี้เป็นเรื่องไร้หัวใจ เพราะสาขาวิชาที่ไม่ได้ทำเงินมากมายอะไรอย่างศิลปศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ก็มีส่วนสำคัญในการนำพาอารยธรรมมนุษย์ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างรุ่มรวยและลุ่มลึก

ผมน้อมรับในข้อจำกัดดังกล่าว แต่อยากให้ลองสวมหมวกของนักศึกษาที่ต้องกู้เงินก้อนใหญ่มาเรียนมหาวิทยาลัย เป้าหมายอันดับหนึ่งของพวกเขาย่อมเป็นการหาเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อมาใช้หนี้และยกระดับคุณภาพชีวิต หากปริญญาไม่สามารถตอบโจทย์นั้นได้พวกเขาก็อาจตัดสินใจไม่เรียนต่อตั้งแต่ต้น

ว่าด้วยนโยบาย ‘มหาวิทยาลัยฟรี’

ปัญหาหนี้สินทางการศึกษาทำให้หลายคนมองว่าต้นเหตุมาจากค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย นำไปสู่การเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยฟรี ภายใต้สมมติฐานที่ว่าปริญญาจะเป็นใบผ่านทางเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าสมมติฐานดังกล่าว ‘โดยเฉลี่ย’ แล้วเป็นเรื่องจริง แต่อย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยฟรีนั้นไม่ได้ ‘ฟรี’ จริงๆ แต่มาจากภาษีประชาชน

ภายใต้เงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด เราอาจต้องศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมว่าการเรียนมหาวิทยาลัยจะสร้าง ‘ผลตอบแทน’ ให้สังคมสูงหรือต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในด้านอื่นๆ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาสายอาชีพ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การวางโครงข่ายสวัสดิการสังคม หรือระบบสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิผล

ในกลุ่มประเทศโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศพัฒนาแล้วพบว่าแรงงานวัย 25-34 ปีเรียนจบระดับอุดมศึกษาสูงถึง 43% หรือคิดเป็นเกือบสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับราว 20 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าการมีบัณฑิตจำนวนมากจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างไร

การวิเคราะห์ข้อมูลแรงงานอเมริกันโดยนิตยสาร The Economist พบว่าสัดส่วนแรงงานที่เรียบจบระดับอุดมศึกษานั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกสายอาชีพ แต่ค่าตอบแทนของอาชีพราวครึ่งหนึ่งกลับมีแนวโน้มลดลงหากปรับตามเงินเฟ้อ คงไม่ผิดนักหากจะสรุปได้ว่า การไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของอเมริกันชนกลายเป็นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่เพียงแค่ทางเลือก

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจหลงลืมไปเมื่อเรียกร้องนโยบายมหาวิทยาลัยฟรีคือ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นนักเรียน ต่อให้ไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและการันตีรายได้ แต่ตราบใดที่เรียนไม่จบก็ไม่มีโอกาสสัมผัส ‘สิทธิพิเศษ’ ดังกล่าว สถิติในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาพบว่านักศึกษา 30-40% ตัดสินใจลาออกกลางคัน การทุ่มงบประมาณมหาศาลให้มหาวิทยาลัยฟรีจึงอาจไม่ได้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนแบบเสมอหน้าอย่างที่เราเข้าใจ

ตัวอย่างประเทศที่ได้รับการเชิดชูว่านโยบายการศึกษาดีเยี่ยมและมักถูกหยิบยกมากล่าวถึง คือกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวียซึ่งเปิดให้เรียนฟรีจนถึงระดับอุดมศึกษา แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าประชาชนในประเทศเหล่านี้กลับไม่ได้มีอัตราการเรียนต่อและเรียนจบระดับอุดมศึกษาสูงอย่างที่คิดเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่มหาวิทยาลัยไม่ฟรี

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาที่มีนโยบายมหาวิทยาลัยฟรีอย่างบราซิลและฟิลิปปินส์ก็มีการศึกษาพบว่านโยบายดังกล่าวเป็นประโยชน์กับคนรวยมากกว่าคนจน และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำลงแต่อย่างใด

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าการเข้าถึงการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยอาจช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนบางกลุ่มได้ แต่ถ้าเรากำลังมุ่งหน้าสร้างรัฐสวัสดิการและมองหานโยบายที่โอบอุ้มทุกคนอย่างเสมอหน้า โจทย์ของเราอาจไม่ใช่การให้ทุกคนมีปริญญา แต่เป็นคำถามว่าจะออกแบบนโยบายอย่างไรเพื่อให้กลุ่มคนยากไร้สามารถดำรงชีพได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเหล่าแรงงานที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งสามารถลืมตาอ้าปากได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองจากรั้วมหาวิทยาลัย

 

เอกสารประกอบการเขียน

Is college worth it?

Going to university is more important than ever for young people

Why governments have overestimated the economic returns of higher education

The Economic Impact of Higher Education

Is a university degree still worth the time and money?

Should the federal government subsidise students, or make college free?

Congress may create massive program to collect college student data

Want to Search Earnings for English Majors by College? You Can’t

จากยกเลิกหนี้ กยศ. ถึงเรียนฟรีระดับอุดมศึกษา ปัญหาการศึกษาทั่วโลกที่ยังไม่มีทางออกที่สมบูรณ์แบบ

Tags: , , , , , , , , , ,