เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุในสุนทรพจน์ว่ารัฐบาลมีเป้าหมายนำพาประเทศไทยเลื่อนขั้นสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี พ.ศ. 2570 ฟังแล้วก็อดไม่ได้ที่จะสงสัยว่าตัวเลขดังกล่าวลอยมาจากที่ใด เพราะเป้าหมายการเป็นประเทศพัฒนาแล้วคือส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ 2580 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ดูท่าท่านนายกรัฐมนตรีจะรอให้ถึงปี พ.ศ. 2580 ไม่ไหว ถึงกับต้องย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นถึง 10 ปี

แม้จะไม่ได้มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าเงื่อนไขการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีอะไรบ้าง แต่เงื่อนไขหนึ่งที่ชัดเจนคือการมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีต่อหัว (GDP per capital) อยู่ที่ราว 15,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี คิดเป็นเงินไทยราว 500,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 41,500 บาทต่อเดือนนั่นเอง

ประชาชนคนไทยช่างโชคดี มีนายกรัฐมนตรีขยันขันแข็งอยากให้คนไทยรวยก่อนแก่!

แต่ก่อนที่จะฝันหวาน ผมขอชวนมาดูสถิติที่เผยแพร่โดยธนาคารโลก พบว่าตัวเลขจีดีพีต่อหัวของไทยเมื่อปี 2563 อยู่ที่ราว 2.4 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 2 หมื่นบาทต่อเดือน นั่นหมายความว่าถ้าจะยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2570 จีดีพีต่อหัวของไทยจะต้องเติบโตเฉลี่ยสูงถึงปีละ 11 เปอร์เซ็นต์

หากย้อนไปดูผลงานในอดีตของพลเอกประยุทธ์ในฐานะรัฐมนตรีนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 พบว่าจีดีพีต่อหัวของไทยเติบโตเฉลี่ยเพียง 2.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น และต่อให้ตัดปีที่มีการระบาดของโควิด-19 ออกไปจากการคำนวณแล้ว การเติบโตของจีดีพีต่อหัวก็อยู่ที่ราว 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี นับว่าห่างไกลจากความฝัน 11 เปอร์เซ็นต์ต่อปีไปหลายช่วงตัว

ถ้าผลงานรัฐบาลยังคงเส้นคงวาดังเช่นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา อย่าว่าแต่ปี 2570 เลยครับ ต่อให้ปี 2580 ประเทศไทยก็ยังคงได้แต่ ‘ฝัน’ ว่าสักวันจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วกับเขาบ้าง แต่หากต้องการให้ความฝันกลายเป็นความจริงเสียที เราอาจต้องกลับมาแก้ปัญหาที่คาราคาซังกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน เพื่อ ‘ปลดล็อก’ โอกาสทางเศรษฐกิจที่ติดขัดมาเนิ่นนาน

กราฟแสดงจีดีพีต่อหัวในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ระหว่าง พ.ศ. 2543 ถึง พ.ศ. 2563 กราฟแท่งสีเขียวคือปีที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้อมูลจากธนาคารโลก

ลดการสูญเสียชีวิตและเวลา

หนึ่งในทางเลือกที่ง่ายที่สุดในการเพิ่มจีดีพีคือการดูแลประชากรให้สุขภาพดีและอยู่รอดปลอดภัย เพราะการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพนอกจากจะสร้างความโศกเศร้าให้แก่คนใกล้ชิด ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคอีกด้วย เนื่องจากประเทศต้องสูญเสียบุคลากรมนุษย์อันทรงคุณค่าที่ยากจะทดแทนได้

แม้ว่าเราจะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก แต่สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ก็ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องเจ็บปวดหรือเสียชีวิตลง ปัญหาซ้ำซากที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้ คือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ที่แวะมาเยี่ยมเยือนเราทุกปี และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตปีละหลายหมื่นราย แม้ว่าความป่วยไข้จากฝุ่นพิษจะไม่ทำให้เราตายในทันที แต่มลพิษจะสะสมในร่างกายจนแสดงอาการออกมาเป็นโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงลิ่ว

อีกหนึ่งปัญหาที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากช่วงต้นปีที่ผ่านมา คือความปลอดภัยบนท้องถนน หลายคนอาจไม่ทราบว่าประเทศไทย ‘ครองแชมป์’ อันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในเอเชีย ติดอยู่ในกลุ่มสิบอันดับแรกของการจัดอันดับจากประเทศทั่วโลกด้วยอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงถึง 32.7 คนต่อประชากร 1 แสนคนในแต่ละปี

เรื่องสุดท้ายที่หลายคนมักมองข้าม คือ การสูญเสียเวลาจากกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างการเกณฑ์ทหาร ซึ่งชายไทยอายุ 21-22 ปี ถูกเกณฑ์เข้ากรมกองไปถึงปีละร่วมแสนราย หนึ่งปีที่ควรจะใช้เรียนรู้ทักษะหรือแสวงหาประสบการณ์การทำงานกลับต้องหายไปในค่ายทหาร แน่นอนครับว่าการเกณฑ์ทหารมีความจำเป็นด้านความมั่นคง แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดจำนวนทหารเกณฑ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในเมื่อสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศไม่ได้คุกรุ่นเหมือนช่วงสงครามเย็น

การศึกษาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทุกคนทราบดีว่าเด็กๆ คืออนาคตของชาติ รัฐบาลไทยไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ชูนโยบายปฏิรูปการศึกษา แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก หากพิจารณาจากผลการสอบของโครงการประเมินผลนักเรียนสากล (Program for International Student Assessment) หรือ PISA ซึ่งจะวัดความรู้ของนักเรียนอายุ 15 ปีใน 3 สาขาวิชาคือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน ที่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน โดยในด้านการอ่านนั้นคะแนนของเด็กไทยมีแนวโน้มต่ำลงเสียด้วยซ้ำ

รายงานของ PISA ระบุว่าเด็กไทยบางกลุ่มได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย นั่นหมายความว่าระบบการศึกษาในบางโรงเรียนไม่ได้ด้อยกว่ามาตรฐานสากล โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างระหว่างโรงเรียนในตัวเมืองและโรงเรียนต่างจังหวัด ให้คุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในแต่ละพื้นที่มีความเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น

นอกจากคุณภาพด้านการศึกษาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาเร่งด่วน คือเด็กๆ ที่หลุดจากระบบการศึกษาเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาเปิดเผยว่ามีเด็กไทยกว่าครึ่งแสนชีวิตที่ไม่ได้เรียนต่อจนจบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน นี่คือตัวเลขที่น่ากังวลซึ่งอาจส่งผลต่อแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดในอนาคต

โจทย์สุดท้ายคือการสนับสนุนให้เปลี่ยนองค์ความรู้ให้เป็นนวัตกรรม ที่ผ่านมางบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยนับว่าต่ำมาก โดยในปี 2561 คิดเป็นราว 1.1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเท่านั้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง และไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

ปลดล็อกกฎหมายล้าหลัง

โลกเราเปลี่ยนทุกวัน แต่กฎหมายหลายฉบับของไทยบังคับใช้มาเนิ่นนานกว่า 80 ปีโดยที่ไม่ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย เสมือนโดนบังคับให้ใช้โทรศัพท์บ้านในยุคโทรศัพท์มือถือ สร้างความรำคาญใจมากกว่าสร้างประโยชน์ นอกจากกฎหมายฉบับเก่าเก็บ รัฐบาลไทยยังขยันออกกฎระเบียบใหม่ๆ จนมีพระราชบัญญัติเกือบ 1,400 ฉบับ และกฎหมายลูกอีกนับแสนฉบับ ยังไม่นับระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมาย จนระบบข้าราชการสนใจเพียง ‘รูปแบบ’ แต่หลงลืมเป้าหมายของการทำงาน

โครงการหนึ่งที่นับว่าน่าสนใจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คือการทำ ‘กิโยตินกฎหมาย (Regulatory Guillotine)’ โดยมีการศึกษา 1,094 กระบวนงาน จาก 16 กระทรวง 47 กรม และได้ข้อสรุปว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนงานที่ศึกษาเข้าข่ายไม่จำเป็นหรือล้าหลัง หากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกจะช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจในปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่มีประโยชน์นี้ได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี

นอกจากการกำกับดูแลที่สร้างต้นทุนแต่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้ว กฎหมายหลายฉบับของไทยยังกลายเป็นเครื่องมือกีดกันการแข่งขัน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนที่สุด คืออุตสาหกรรมสุราซึ่งกำกับดูแลโดย พ.ร.บ. ที่อายุมากกว่า 70 ปี โดยมีการกำหนดเงื่อนไขมากมายในกฎกระทรวง เช่น การกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท การกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำที่สูงลิ่วจนผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้

ประเด็นสุดท้ายคือการปลดล็อกอุตสาหกรรมสีเทา เช่น ‘เซ็กส์เวิร์กเกอร์’ หรือผู้ขายบริการทางเพศซึ่งเปรียบเสมือน ‘ช้างที่อยู่ในห้อง’ คือทุกคนรู้ว่ามีอยู่จริง รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ก็ดำเนินการกันอย่างเปิดเผยและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ในเมื่อสถานการณ์ดูไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ การย้ายธุรกิจใต้ดินมาสู่บนดินอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าปล่อยให้เป็นเช่นในปัจจุบัน เพราะนอกจากรัฐบาลจะสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว รัฐยังเข้ามากำกับดูแลพร้อมกำหนดเงื่อนไข เช่น เซ็กส์เวิร์กเกอร์จะต้องบรรลุนิติภาวะและทำอาชีพนี้โดยสมัครใจ มีบริการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และให้การอบรมเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

ลดความเหลื่อมล้ำ

การจะได้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ไม่ได้พิจารณาเฉพาะจีดีพีต่อหัวอย่างเดียวเท่านั้นนะครับ แต่ต้องคำนึงถึงระดับความเหลื่อมล้ำอีกด้วย เช่นในกรณีของประเทศกาตาร์ที่จีดีพีต่อหัวติดอันดับต้นๆ ของโลกหรือคิดเป็นราว 9 เท่าของไทย แต่ก็ยังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพราะความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่สูงลิ่ว

สัมประสิทธิจีนี (GINI Coefficient) คือตัวชี้วัดยอดนิยมในการพิจารณาระดับความเหลื่อมล้ำ โดยสัมประสิทธิ์ดังกล่าวจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 ยิ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำก็จะยิ่งสะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำต่ำนั่นเอง

สำหรับประเทศไทย ค่าสัมประสิทธิ์จีนีทางรายได้นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้โดยใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งซึ่งวัดจากสินทรัพย์ที่ครอบครอง โดยรายงานเครดิตสวิสประมาณการว่าค่าประสิทธิ์จีนีด้านความมั่งคั่งของไทยนั้นอยู่ที่ราว 0.90 เลยทีเดียว ส่วนการศึกษาโดยนักวิชาการไทยพบว่าค่าสัมประสิทธิ์จีนีด้านความมั่งคั่งจะอยู่ที่ราว 0.7 ซึ่งก็นับว่าสูงอยู่ดี

การขจัดความเหลื่อมล้ำของรัฐจึงต้องเน้นไปที่การเก็บภาษีความมั่งคั่ง เช่น ภาษีอสังหาริมทรัพย์และภาษีมรดก เพื่อนำมาจัดเป็นสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย การดำเนินนโยบายเช่นนี้นอกจากจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มคนยากจนและกลุ่มเปราะบาง ลดความตึงเครียดด้านการเงิน และเปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับอาชีพในอนาคต ซึ่งท้ายที่สุดก็จะสะท้อนออกมาในรูปของจีดีพีต่อหัวที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

นี่คือ 4 ประเด็นที่รัฐบาลต้อง ‘ลงมือทำ’ ไม่เช่นนั้นเป้าหมายการยกระดับสู่ประเทศพัฒนาแล้วก็เป็นเพียง ‘ฝันเฟื่อง’ เช่นเดียวกับคำสัญญากลวงเปล่าว่า ‘ประเทศไทยจะไม่มีคนจน’ หรือ ‘ขอเวลาอีกไม่นาน’

 

เอกสารประกอบการเขียน

“ฟื้นฟูต่อเติม เพื่อเติบโต” ทีดีอาร์ไอ เสนอแนวคิดแก้ประเทศเติบโตช้า แนะทางรักษาแผลเป็นเศรษฐกิจ จาก โควิด-19

Tags: , ,