1 เดือนผ่านไปหลังเหตุแผ่นดินไหว แม้ว่าฝุ่นควันยังคละคลุ้งจากเหตุการณ์ที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่มจะยังจับมือใครดมไม่ได้ คนเมืองส่วนใหญ่ก็กลับมาดำเนินชีวิตอันรีบเร่งกันตามปกติ แต่ก็ยังมีเรื่องร้อนใจที่คนจำนวนมากยังรอสะสางคือ การซ่อมแซมรอยร้าว พัง ทะลุ รั่ว ที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในห้องที่พวกเราเรียกว่าบ้าน

หันไปหาภาครัฐ วงเงินเยียวยาก็แสนจำกัดจำเขี่ย ผนวกกับกระบวนการที่ยุ่งยากทำให้คนจำนวนมากเลือกที่จะมองข้าม แถมเงินที่เบิกจ่ายได้ก็รวมแค่ค่าวัสดุ ราวกับบอกเป็นนัยว่า นอกจากสัมมาชีพที่เราต้องใช้หาเลี้ยงชีพแล้ว คนไทยทุกคนก็ควรจะฝึกทักษะฉาบปูน ทาสีผนัง ซ่อมกระเบื้องไว้บ้างเผื่อเกิดเหตุวิกฤตเช่นนี้ในอนาคต

หันไปหาผู้รับเหมา ทุกวันนี้ก็ต้องต่อคิวยาวแบบไม่รู้หางแถวอยู่ตรงไหน แถมราคาที่ปรากฏในใบเสนอราคายังเรียกได้ว่า ถูกโขกสับจนต้องปาดเหงื่อ คนจำนวนไม่น้อยกัดฟันจ้างเหมา เพราะทนกับสภาพห้องไม่ไหว พลางปลอบใจตัวเองว่าเป็นคราวเคราะห์ แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่ได้เตรียมพร้อมจะเสียเงินก้อนใหญ่ เฝ้ารอความหวังกับการเบิกจ่ายกรมธรรม์ประกันภัย ที่ตอบไม่ได้ว่า ช่างจะเข้ามาประเมินได้เมื่อไร ส่วนเงินจะเข้าบัญชีเท่าไรและวันไหนก็ไม่ต้องพูดถึง

ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งผู้ประสบภัยที่ยืนงงๆ ในดงชาวคอนโดฯ ถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดตามคำแนะนำของนิติบุคคลอาคารชุดแล้วเอาไปรวบรวมใน Google Drive พร้อมกับเฝ้ารออย่างมีความหวัง

ความหวังแรกที่ได้รับคือ ใบประเมินราคาจากผู้รับเหมาสิริรวม 4.7 หมื่นบาท ไม่นานเจ้าที่ 2 ก็เสนอตามมาในราคา 6.06 หมื่นบาท ที่เห็นแล้วต้องปาดเหงื่อ ส่วนความคืบหน้าในการเบิกประกันก็เงียบหายไม่ขยับเขยื้อน โชคดีที่เพื่อนภรรยารับเหมาตกแต่งภายในจึงจบลงที่ราคาแบบมิตรภาพที่ 2.85 หมื่นบาท เราจึงตัดสินใจเลือกทางเลือกหลัง เพราะไม่อยากรอความหวังลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป

ใบเสนอราคาจากผู้รับเหมาทั้ง 3 เจ้า สะท้อนอย่างชัดเจนว่า มีผู้รับเหมาบางส่วนฉวยโอกาส ‘ฟันกำไร’ จากเหยื่อหลังเกิดเหตุภัยพิบัติ ภาครัฐในฐานะคนกลางจึงควรเข้ามากำกับดูแลเพื่อหาจุดสมดุลที่ไม่ซ้ำเติมผู้ประสบภัย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคร่งครัดเกินไปจนขัดขวางการทำงานของกลไกตลาดและเกิดภาวะขาดแคลน

โก่งราคาหลังวิกฤต กลไกตลาดหรือขาดศีลธรรม

แบบจำลองตลาดที่เรียบง่ายที่สุดประกอบด้วย 2 ตัวแปร นั่นคือความต้องการซื้อหรือที่เรียกว่า อุปสงค์ และความต้องการขายหรือที่เรียกว่า อุปทาน ภัยพิบัติส่งผลต่อทั้งอุปสงค์และอุปทาน อย่างเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการใช้บริการผู้รับเหมาและความต้องการซื้อวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น ขณะที่ในฝั่งอุปทานอาจจะมีเท่าเดิมหรืออาจลดลง เนื่องจากโรงงานผลิตวัสดุก่อสร้างเองก็อาจได้รับผลกระทบ 2 ปัจจัยนี้นำไปสู่คำตอบเดียวคือ ‘ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น’ หลังเกิดเหตุภัยพิบัติ

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า กลไกดังกล่าวสมเหตุสมผล เพราะการที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นจะช่วย ‘ปันส่วนทรัพยากร’ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่งมอบสินค้าและบริการให้คนที่ยินดีจะจ่ายมากกว่าเป็นลำดับแรก ส่วนคนอื่นๆ ที่จ่ายไม่ไหวก็แสดงว่า ยังรอได้ก็ให้รอไปก่อน

อย่างไรก็ตามสินค้าและบริการที่ราคาพุ่งสูงหลังเกิดภัยพิบัติ มักจะเป็นสิ่งของจำเป็น อย่างเช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาอย่างพายุเฮอร์ริเคน หรือสึนามิถล่มที่ฟิลิปปินส์ส่งผลให้ราคาอาหาร น้ำสะอาด และวัสดุก่อสร้างปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่วนในประเทศไทย การซ่อมแซมห้องหรืออาคารที่ชำรุดจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ก็นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วน แต่ผู้เสียหายกลับต้องมาเจอกับค่ารับเหมาบริการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนการฉวยโอกาสโกยกำไรอย่างไร้ศีลธรรม กลายเป็นการปันส่วนทรัพยากรไปยังคนที่ ‘มีกำลังจ่าย’ มากกว่า ไม่ใช่คนที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

เพื่อให้ความเป็นธรรมกับฝั่งผู้รับเหมาไทยที่อาจเผชิญต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นจากเหตุแผ่นดินไหวเช่นกัน ผู้เขียนคำนวณเปรียบเทียบราคาวัสดุก่อสร้างส่วนกลาง ที่ประกาศโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือนเมษายน 2568 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว กับเดือนเมษายน 2567 ผลปรากฏว่า วัสดุก่อสร้าง 3,207 รายการมีราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 1.75% เท่านั้น โดยราคาของสินค้ากลุ่มวัสดุฉาบและสีที่ใช้ซ่อมแซมความเสียหายไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด

คงไม่ผิดนักหากจะสรุปว่า การโขกค่ารับเหมาสุดโหดกับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหวจึงเข้าข่ายการ ‘โก่งราคา’ ที่ไม่เป็นธรรม และราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นมีลักษณะ ‘เฉพาะพื้นที่ภัยพิบัติ’ และ ‘ฉวยโอกาส’ โดยไม่ได้สะท้อนมาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ประเทศไทยอาจไม่เคยมีประสบการณ์กับภัยพิบัติมากนัก ภาคธุรกิจบางรายจึงใช้โอกาสนี้แสวงหากำไรเกินควร ในขณะที่หลายประเทศซึ่งเผชิญภัยพิบัติบ่อยครั้ง เช่น สหรัฐฯ ภาคธุรกิจมีการปรับตัวขนานใหญ่ โดยนอกจากจะไม่เพิ่มราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นแล้วยังตัดสินใจลดราคา เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะบริษัทที่พร้อมยืนเคียงข้างผู้ประสบภัยในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะคงไม่มีใครอยากใช้บริการนายทุนนักฉวยโอกาสฟันกำไรใช่ไหม

รัฐควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้รับเหมาเอาเปรียบผู้ประสบภัย

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้อย่าเข้าใจผิดว่า ผมต้องการให้รัฐบาลเข้ามากำกับดูแลโดยกำหนดราคาอย่างเข้มงวด เพราะหากรัฐบาลคุมเข้มเรื่องการตั้งราคามากเกินไปอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดี โดยมีบทเรียนจากหลายประเทศที่การตั้งเพดานราคาอย่างเคร่งครัด นำไปสู่การขาดแคลนสินค้าและบริการซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายไม่แพ้กัน

สิ่งแรกที่รัฐสามารถทำได้คือ สนับสนุนการแข่งขันและความโปร่งใส ปัญหาแรกชาวคอนโดฯ งุนงงหลังเกิดแผ่นดินไหวคือ ควรจะติดต่อผู้รับเหมาที่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่นิติบุคคลอาคารชุดก็จะขันอาสารวบรวมข้อมูล แล้วติดต่อช่างมาดูแลให้ แต่ก็นำมาซึ่งปัญญาลำดับต่อมาคือ ราคาค่าซ่อมแซมควรจะอยู่ที่ประมาณเท่าไร นี่คือโจทย์ยากเพราะความเสียหายของแต่ละห้องไม่เหมือนกัน แถมคนส่วนมากคงไม่เคยมีประสบการณ์เรียกช่างมาซ่อมแซมห้องที่เสียหายแบบนี้มาก่อน จะหวังพึ่งพาข้อมูลราคาส่วนกลางของภาครัฐกลับยิ่งงงหนักไปกว่าเดิม เพราะรายละเอียดเยอะจนลายตา 

ตรงนี้เองที่รัฐสามารถเป็นแพลตฟอร์มตัวกลางประสานทุกฝ่าย จูงใจผู้รับเหมาเพื่อเพิ่มการแข่งขัน และสร้างความโปร่งใสเรื่องราคา สร้างฐานข้อมูลให้ชาวคอนโดฯ พอจะมีแหล่งอ้างอิงว่า ความเสียหายประมาณนี้ควรจะเสียค่าซ่อมแซมเท่าไร

สิ่งที่ 2 ที่รัฐมีอำนาจคือ จัดการกับเหล่าผู้รับเหมาที่ค้ากำไรเกินควร เปิดช่องทางด่วนให้เหล่าผู้เสียหายร้องเรียนพร้อมกับลงโทษเชือดไก่ให้ลิงดูเพื่อเป็นตัวอย่าง หรือมีการสุ่มตรวจราคาค่ารับเหมาซ่อมแซมห้องโดยมืออาชีพ เพื่อให้มั่นใจว่า ผู้รับเหมาไม่ได้ฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อคว้ากำไรเข้ากระเป๋า ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันการค้ากำไรเกินควรอยู่แล้ว แต่การบังคับใช้ยังค่อนข้างจำกัด ในสถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลควรเดินหน้าตรวจสอบเชิงรุก เพื่อไม่ให้เหล่าผู้รับเหมาซ้ำเติมผู้เสียหายจากแผ่นดินไหว

สิ่งที่สามที่รัฐต้องเร่งรัดติดตามคือ การประเมินความเสียหายและเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่จวบจนปัจจุบันยังไม่ได้รับข้อมูลหรือการติดต่อใดๆ จากบริษัทประกัน แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยจะมีอัปเดตข่าวสารเรื่องนี้อยู่เนืองๆ แต่รายละเอียดกลับพูดเพียงว่า มีการ ‘ประชุม’ แต่ไม่ได้บอกว่าตอนนี้บริษัทประกันดำเนินการไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เสียหายว่า จะได้รับเงินชดเชยจริงๆ จากการต้องเสียเบี้ยประกันทุกปี

บทเรียนสำคัญจากภัยพิบัติทั่วโลกคือ อย่าปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเพียงลำพังหลังจากเกิดภัยพิบัติ เพราะหากการกำกับดูแลและติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด รับรองว่าเหยื่อที่กำลังย่ำแย่ เพราะได้รับผลกระทบอาจต้องเจอภัยพิบัติระลอกสอง จากการแสวงหากำไรเกินควรของภาคธุรกิจอย่างแน่นอน

เอกสารประกอบการเขียน

Supply and Demand or Price Gouging? An Ongoing Debate

Why Businesses Should Lower Prices During Natural Disasters

The Effect of Anti-Price Gouging Law on Post-Disaster Recovery Speed: Evidence from Reconstruction in Virginia and Maryland after Hurricane Sandy

Lessons Learned from Post-Disaster Reconstruction in Indonesia

Tags: , , , , , ,