คณาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 17 คน ประกอบด้วย กุศล เลี้ยวสกุล, เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว, เฉลิมพงษ์ คงเจริญ, ชล บุนนาค, ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล, ณพล สุขใส, ดวงมณี เลาวกุล, ธนสักก์ เจนมานะ, นภนต์ ภุมมา, พรเทพ เบญญาอภิกุล, พลอย ธรรมาภิรานนท์, พิชญ์ จงวัฒนากุล, ภาวิน ศิริประภานุกูล, วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร, สัณห์สิรี โฆษินทร์เดชา, อนันต์ ภาวสุทธิไพศิฐ, อภิชาต สถิตนิรามัย, อิสร์กุล อุณหเกตุ
ออกแถลงการณ์ “หากไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมไม่มีสุขภาพที่ดี”
โดยให้ความเห็นว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด 19 เปิดเผยให้เห็นผลของความเหลื่อมล้ำในเศรษฐกิจไทยอย่างชัดเจน ในขณะที่คนระดับบนสามารถกักตัวรักษาระยะทางสังคมได้อย่างไม่เป็นทุกข์ร้อนมากนัก แม้รายได้ที่ได้รับอาจจะลดลงบ้าง แต่คนชั้นล่าง โดยเฉพาะแรงงานรายวันและคนหาเช้ากินค่ำ มักจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มแรกที่จะต้องออกจากงาน หรือสูญเสียช่องทางหารายได้หลักที่เคยเป็นที่พึ่งพิงของชีวิต
จากผลการสำรวจ ‘คนจนเมืองในภาวะวิกฤตโควิด-19’ โดยคณะวิจัยภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พบว่าสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนจนในเขตเมืองมีรายได้ลดลงโดยเฉลี่ย 70.84% โดยในจำนวนนี้ 60.24% มีรายได้ลดลงเกือบทั้งหมดและ 31.21% มีรายได้ลดลงราวครึ่งหนึ่งในสภาวะที่บีบคั้นเช่นนี้คนจนที่ไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from hunger and miseries) ย่อมจะไม่สามารถกักตัวเพื่อรักษาสุขภาพได้
ในขณะที่มาตรการต่างๆของรัฐบาลในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอและขาดความรวดเร็วในการบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่เดือดร้อนคณาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงออกแถลงการณ์เรียกร้องต้องการมาตรการตอบสนองอย่างพิเศษ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ทนระยะสั้นและเพื่อรากฐานสำหรับสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้นในระยะต่อไป พร้อมทั้งเสนอหลักการและมาตรการแก้ไขดังต่อไปนี้
1. ต้องไม่มีใครอดอยากและปราศจากปัจจัยสี่ของชีวิต
1.1 เป็นที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ แล้วว่า มีทั้งผู้เดือดร้อนที่เข้าไม่ถึงและผู้ที่ไม่เดือดร้อนแต่เข้าถึงมาตรการแจกเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล ซึ่งชี้ว่าทั้งเกณฑ์และข้อมูลประกอบการคัดกรองของรัฐบาลนั้นยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่มาก ทั้งนี้ยังไม่นับความล่าช้าที่เกิดขึ้น ในการได้รับเงินของที่ผู้เข้าเกณฑ์ทั้งหมด และต้นทุนของรัฐในการคัดกรอง พวกเราเห็นว่าควรยกเลิกมาตรการ 5,000 บาทนี้ โดยหันมาใช้วิธีการที่ทั่วถึง เป็นธรรม และรวดเร็วกว่าคือ การจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งมีค่ามากกว่าเส้นความยากจนของสังคมเราในปัจจุบันเล็กน้อย ในเวลา 3 เดือนเป็นขั้นแรกให้กับประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ-รัฐวิสาหกิจและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 ซึ่งมีกลไกดูแลอยู่แล้ว แม้ว่าจะต้องรีบปรับปรุงต่อไปก็ตาม (โดยผู้ที่คิดว่าตนได้รับผลกระทบน้อย อาจสามารถเลือกสละสิทธิ์ได้) ทั้งหมดนี้เพื่อให้มาตรการครอบคลุมคนทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานนอกระบบ ตลอดจนถึงนักเรียนนักศึกษา ซึ่งจะแก้ปัญหาการแจกเงินของรัฐบาลที่ไม่สามารถคัดกรองผู้ที่เดือดร้อนได้ครบถ้วน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทสำหรับเวลา 3 เดือน
1.2 จัดให้มีการแจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพโดยตรงแก่กลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม ซึ่งบางส่วนอาจเข้าไม่ถึงมาตรการข้างต้น เช่น กลุ่มคนไร้สัญชาติ คนไร้บ้าน ฯลฯ รวมทั้งแรงงานต่างด้าวที่ตกงานและตกค้างในไทย พวกเราคาดว่า งบประมาณที่จำเป็นสำหรับการจัดถุงยังชีพให้แก่ประชากรเปราะบาง 2 ล้านคนเป็นระยะเวลา 3 เดือนในขั้นแรกจะคิดเป็นจำนวน 7,800 ล้านบาท
จากการคำนวณข้างต้นพบว่า ต้นทุนทางการคลังจากมาตรการทั้งสองจะอยู่ภายใต้วงเงินของ (ร่าง) พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
2. เจ้าของปัจจัยทุนและที่ดินต้องร่วมเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข
ในขณะที่ผลกระทบของวิกฤตต่อแรงงานและผู้ประกอบการเห็นได้ชัดเจนในรูปของการตกงานและยอดขายลดลงมาก พวกเราเห็นว่าเจ้าของที่ดินและทุนต้องร่วมเข้ามาเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพื่อช่วยเหลือและเพื่อความสมานฉันท์ทางสังคม ดังนี้
2.1 ขอเรียกร้องต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ให้ยุติการเก็บค่าเช่าทั้งต่อที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการขนาดเล็ก เราตระหนักดีว่า การบังคับใช้มาตรการนี้เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายพิเศษห้ามการไล่-รื้อทุกประเภทในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ รวมทั้งพิจารณาออกมาตรการสนับสนุนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ลดหรือยุติการเก็บค่าเช่า เช่น การอนุญาตให้นำมาลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า
2.2 เราตระหนักดีว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือแล้วหลายประการ เช่นการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่พวกเราเห็นว่ายังไม่พอเพียง จึงขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาของวิกฤตครั้งนี้ ให้คิดดอกเบี้ยได้เฉพาะต่อสินเชื่อใหม่เท่านั้นและในอัตราผ่อนปรน รวมทั้งระงับการฟ้องคดีล้มละลายต่อทั้งบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาแห่งวิกฤต
ทั้งนี้ทางกลุ่มคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทั้ง 17 คนเห็นว่ามาตรการข้อ 1 เป็นมาตรการพื้นฐานที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนมีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่รอดในช่วงวิกฤตไปได้อย่างเท่าเทียมและมีศักดิ์ศรีขณะที่มาตรการในข้อ 2 จะเป็นมาตรการเสริมที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในประเทศสามารถที่จะรักษากิจการของตนไว้ได้เพื่อเป็นรากฐานที่เข้มแข็งเพียงพอที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาในภายหลัง
Tags: เศรษฐศาสตร์, ธรรมศาสตร์, โคโรนาไวรัส, โควิด-19