มาเลเซียประกาศเจรจาใหม่โครงการรถไฟจีน นักวิเคราะห์แตกความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า จีนคงโอนอ่อนตามความต้องการของนายกฯ มหาเธร์ โมฮัมหมัด อีกฝ่ายมองว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจแก้เผ็ด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ประกาศว่า มาเลเซียจะเจรจากับจีน ขอแก้ไขสัญญากู้เงินจากธนาคารไชน่า เอ็กซิม แบงก์ ที่ปล่อยเงินกู้ในโครงการรถไฟ ตามแผน ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ของจีน
ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การรื้อสัญญาจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับจีนหรือไม่ อย่างไร จนถึงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งยังคงเก็บงำท่าที
บรรดานักวิเคราะห์มีความเห็นแตกต่างเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าจีนคงยอมตามข้อดำริของมหาเธร์ แต่อีกฝ่ายประเมินว่า จีนอาจตอบโต้ อย่างที่เคยทำมาแล้วกับเกาหลีใต้
กลัวแบกหนี้หลังอาน
โครงการรถไฟจีนเป็นเส้นทางเชื่อมโยงชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย เรียกกันในชื่อย่อว่า อีซีอาร์แอล (East Coast Rail Link)
ทางรถไฟสายนี้เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ของจีนที่จะเปิดเส้นทางลงมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้แผนการ Belt and Road หรือ One Belt, One Road แล้วแต่จะเรียก
เส้นทางรถไฟดังกล่าวจะมีความยาว 688 กิโลเมตร เชื่อมโยงกับประเทศไทยโดยตั้งต้นที่ชายฝั่งตะวันออกของมาเลเซีย แล่นข้ามตอนกลางของคาบสมุทรมลายูไปเชื่อมโยงกับเส้นทางเดินเรือทางฝั่งตะวันตกที่ช่องแคบมะละกา
บริษัทผู้ก่อสร้างเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน ชื่อ China Communications Construction Co Ltd. โดยมาเลเซียกู้เงินจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของจีนในสัดส่วน 85 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ โดยมีอัตราดอกเบี้ย 3.25 เปอร์เซ็นต์
อีซีอาร์แอลมีมูลค่าก่อสร้างราว 14,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 4.47 แสนล้านบาท
ผู้นำมาเลเซียให้เหตุผลที่ขอเจรจาเงื่อนไขทางการเงินใหม่ว่า โครงการนี้สร้างภาระแก่เศรษฐกิจของประเทศ แต่ผลตอบแทนจะไม่มีเลย เวลานี้ มาเลเซียมีหนี้ภาครัฐสูงถึงกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเลยทีเดียว
ผู้กำหนดนโยบายและสื่อมวลชนในมาเลเซียพูดกันมากว่า ภาระหนี้เงินกู้จากโครงการรถไฟจีนอาจทำให้ประเทศตกที่นั่งแบบเดียวกับศรีลังกา ซึ่งจำเป็นต้องยกท่าเรือที่กู้เงินจากจีนมาสร้างให้แก่จีน
เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลศรีลังกาหมดปัญญาชำระหนี้ จึงต้องยอมลงนามแปลงหนี้จำนวน 1,100 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 35,200 ล้านบาทเป็นหุ้น เปิดทางให้จีนเข้าถือหุ้นในโครงการท่าเรือเมืองฮัมบันโตทา และยกท่าเรือให้จีนเช่าในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์เป็นเวลา 99 ปี
มาเลเซียในสายตาจีน
ท่าทีของมหาเธร์ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า จีนจะตอบสนองข้อเรียกร้องของมาเลเซียอย่างไร
ตลอดสมัยของรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ความสัมพันธ์จีน-มาเลเซียนับว่าดีมาก จนกระทั่งฝ่ายค้านที่พลิกกลับมาเป็นฝ่ายรัฐบาลในวันนี้มองว่า นาจิบยอมตามจีนมากเกินไป
ในช่วงเวลา 9 ปีติดต่อกัน จีนเป็นผู้ลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในมาเลเซียด้วยมูลค่ากว่า 3,380 ล้านดอลลาร์ฯ นำหน้าสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่เจรจาตกลงกับจีนล้วนเกิดขึ้นในยุคของนาจิบ
ด้วยความที่มาเลเซียตั้งอยู่ติดกับช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลก มีการขนถ่ายสินค้าผ่านช่องแคบนี้เป็นมูลค่าปีละ 3-5 ล้านล้านดอลลาร์ฯ มาเลเซียจึงมีความสำคัญต่อจีนในฐานะที่เป็นช่องทางการค้าทางทะเลทางด้านทิศใต้ของจีน
นอกจากนี้ มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีข้อพิพาทกับจีนเกี่ยวกับเขตแดนในทะเลจีนใต้ ร่วมกับบรูไน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ดังนั้น การรักษามิตรไมตรีอันดีกับมาเลเซีย ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมือง ย่อมเป็นปัจจัยที่จีนต้องคำนึงถึงในการจัดความสัมพันธ์กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปฏิกิริยาจากปักกิ่ง
จนถึงขณะนี้ รัฐบาลของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เจ้าของไอเดียเส้นทางสายไหมใหม่ ยังไม่แสดงท่าทีอันใดต่อถ้อยแถลงของมหาเธร์
อย่างไรก็ดี เอกอัครราชทูตจีนประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไป่เทียน เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ New Straits Times ในมาเลเซีย ยืนยันว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสองยังแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่า “มีความไม่แน่นอนทั้งภายในและระหว่างประเทศ” ก็ตาม
เขาเขียนว่า รัฐบาลปักกิ่งจะยังคงชักชวนให้บริษัทจีนเข้าไปลงทุนในมาเลเซียต่อไป โดยยึดมั่นในหลักความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน จีนไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการประสานความร่วมมือต่างๆ
สารจากผู้แทนปักกิ่งข้างต้น เป็นไปตามแบบฉบับการทูตจีน ที่เรามักได้ยินเสมอเมื่อพี่ใหญ่จีนต้องการระงับความเคลือบแคลงในเจตนาจากประเทศที่เล็กกว่า
ฉากสถานการณ์ข้างหน้า
เท่าที่ฟังสุ้มเสียง นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่า มหาเธร์คงไม่ถึงกับต้องการล้มโครงการรถไฟจีน เหมือนที่แสดงท่าทีจะยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงกับสิงคโปร์ แต่ข้อที่ยังเห็นไม่ตรงกันก็คือ การคาดการณ์ถึงการตอบสนองของจีน
นักวิเคราะห์ปีกหนึ่งมองว่า จีนจะยอมโอนอ่อนตามรัฐบาลใหม่ของมาเลเซีย ทว่าอีกปีกหนึ่งประเมินว่า จีนอาจโต้กลับ
จางเป่าฮุย นักวิชาการรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหลิงหนานในฮ่องกง บอกว่า จีนคงยอมถอย เพราะมาเลเซียมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ต่อจีน
เขามองว่า ปักกิ่งจะไม่มองแคบเฉพาะมาเลเซีย แต่จะคำนึงถึงภาพลักษณ์ของจีนในอุษาคเนย์ด้วย รัฐบาลของสีจิ้นผิงต้องการให้ประเทศย่านนี้เชื่อใจว่า การผงาดของจีนจะเป็นผลดีแก่ตนเอง
เมอร์เรย์ ไฮเบิร์ต ผู้เชี่ยชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาในวอชิงตัน ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า แผนหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทางประสบข้อขัดข้องหลายอย่างในประเทศแถบนี้ มาเลเซียมีข้อได้เปรียบกว่าหลายประเทศในภูมิภาค ถ้าจีนต้องการเข้ามามีบทบาท จีนต้องรู้จักประนีประนอม
อย่างไรก็ตาม แอนวิตา บาซู จากหน่วยวิจัยของนิตยสาร Economist คาดเดาว่า จีนอาจตอบโต้ด้วยการกลั่นแกล้งทางเศรษฐกิจ
นักวิเคราะห์หญิงซึ่งประจำการในสิงคโปร์ผู้นี้ยกตัวอย่างว่า เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ปักกิ่งยกเลิกกรุ๊ปทัวร์ที่จะไปเที่ยวในเกาหลีใต้ พร้อมกับงดซื้อสินค้าและบริการของเกาหลีใต้ หลังจากรัฐบาลโซลตัดสินใจนำระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD ของอเมริกันเข้าประจำการ
จีนจะผ่อนปรนหรือแข็งขืน เป็นคำถามใหญ่ที่แวดวงการทูตกำลังรอชม.
ภาพหน้าแรก : ภาพนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ที่เพิ่งได้รับเลือก ระหว่างการแถลงข่าวในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย (วันที่ 11 พฤษภาคม 2018) ภาพจาก: REUTERS/Athit Perawongmetha
อ้างอิง:
- Financial Times, 15 May 2018
- Channel NewsAsia, 23 May 2018
- Voice of America, 30 May 2018
- South China Morning Post, 1 June 2018