จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค พบว่าร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขั้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก ที่สำคัญ ‘LGBT’ ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งทั้งในออนไลน์และออฟไลน์ ทั้งการแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ และแกล้งทางไซเบอร์
นอกจากนี้เด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก ‘ไม่เชื่อถือ’ ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์
ดีแทคจึงร่วมมือกับองค์การแพลน พัฒนาหลักสูตรออนไลน์ ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ ที่เน้นการพัฒนาครูให้เป็นโค้ชเพื่อช่วยทำให้ ‘โรงเรียน’ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย ทุกคนเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์ ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่เด็ก ให้เข้าใจถึงแนวคิดความแตกต่างหลากหลาย ไม่ใช่ความผิดปกติ อันจะช่วยลดอคติและความเสี่ยงที่เด็กและเยาวชนจะกลั่นแกล้งรังแกเพื่อนและคนร่วมสังคมทั้งออนไลน์และออฟไลน์
อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า จากงานวิจัยฯ แสดงให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา
โดยหลักสูตรเน้นเคารพในความหลากหลายทางเพศเพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ จะนำทฤษฎี SOGIESC มาใช้เป็นแนวทาง โดยมี 4 องค์ประกอบ ได้แก่ Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ และ Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ
สำหรับหลักสูตร ‘ห้องเรียนครูล้ำ’ จะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้า โดยนำร่องอบรมครูในภาคเหนือ 15 โรงเรียน ซึ่งครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้
Tags: DTAC, ดีแทค