เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหนึ่งในสปีกเกอร์งาน Drive The Momentum ในหัวข้อ ‘The Rise of the Aging Society in Thailand’ หรือประเด็นของผู้สูงอายุในยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี
วราวุธระบุว่า ประชากรของโลกมีแนวโน้มหดตัว โดยในปี 2568-2593 คาดการณ์ว่า จากจำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกรวม 1,200 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านคน พร้อมกับการลดลงของประชากรในประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สวนทางกับประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่ำ และมีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจจะมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทย วราวุธกล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุร้อยละ 20.69 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ภายใน 10 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super aged society) หรือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรภายในประเทศ ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
สำหรับประเทศไทย วราวุธมองว่า ไม่เพียงปัญหาสังคมผู้สูงอายุเท่านั้นที่มีความท้าทาย อีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายคือ อัตราการเกิดใหม่ของประเทศไทยยังคงลดลงเรื่อยๆ ส่งผลให้มีผลิตผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ไม่เพียงพอ ขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP น้อยลง คนไทยจะเผชิญกับปัญหา ‘แก่ก่อนรวย’ และผู้สูงอายุจะต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น
วราวุธยกตัวอย่างแนวทาง ‘เศรษฐกิจผู้สูงอายุ’ (Silver Economy) โดยให้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจและการลงทุน เช่น พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อุปกรณ์การแพทย์ ธุรกิจด้านดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์ AI และเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ
ซึ่งเขามองว่า ไทยมีจุดแข็งด้านการแพทย์ และกระทรวง พม.ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ทดลองใช้แนวทางที่สนับสนุนให้เกิดการดูแลกันเองของคนในชุมชน โดยการสร้างเครือข่าย ‘คนในชุมชน เพื่อชุมชน’ ขึ้นมา ทั้งยังดำเนินโครงการบริบาลและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน เพื่อเป็นกลไกการดูแลผู้สูงอายุอย่างครอบคลุมทุกมิติครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งการสร้างรายได้ให้กับผู้บริบาลไปพร้อมกัน
สำหรับกระทรวง พม.ได้ขับเคลื่อนนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร ด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และ 5 มาตรการ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 ประกอบด้วย
-
เสริมพลังให้วัยทำงาน
-
เพิ่มคุณภาพ และผลิตภาพของเด็กและเยาวชน
-
สร้างพลังให้กับผู้สูงอายุ
-
เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ
-
สร้างระบบนิเวศให้เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว
วราวุธทิ้งท้ายว่า ในส่วนของผู้สูงอายุจำเป็นจะต้องมีการเสริมสร้างพลังอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการทำงานในรูปแบบต่างๆ การดูแลสุขภาพทั้งทางกายภาพและจิตใจ การพัฒนาทักษะ มีการ Upskill-Reskill ให้กับผู้สูงอายุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการนำไปสู่การพัฒนาและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Tags: สังคมผู้สูงอายุ, รัฐมนตรี, วราวุธ, วราวุธ ศิลปอาชา, Drive The Momentum