ผู้อ่านกำลังหิวน้ำอยู่หรือเปล่าครับ ถ้าหิว ผมแนะนำให้ลุกขึ้นไปหาน้ำมาดื่มสัก 1 แก้วก่อนนะครับ เอาล่ะ…ถ้าดื่มแล้วมาอ่านบทความนี้กันต่อ ผู้อ่านน่าจะเคยได้ยินว่าเราให้ดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวันกันใช่ไหมครับ ตัวเลขนี้คงเป็นตัวเลขมหัศจรรย์ (magic number) ตัวแรกๆ ที่เราเคยได้ยินมาเลยว่าก็ว่าได้ จนถึงตอนนี้ยังอยากรู้หรือเปล่าครับว่าคำแนะนำนี้มีที่มาอย่างไร? แล้วขณะนี้คำแนะนำเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่ควรดื่มใน 1 วันยังเป็นเหมือนเดิมอยู่หรือไม่?
วิธีของ Holliday-Segar (1957)
ถ้าพูดถึงเรื่องน้ำในทางการแพทย์คงต้องย้อนกลับไปถึงปี 1957 เลยทีเดียว ตอนนั้นคุณหมอชาวอเมริกัน 2 ท่านชื่อ Malcolm A. Holliday กับ William E. Segar ที่ได้ตีพิมพ์วิธีการให้น้ำเกลือลงในวารสารกุมารแพทย์ ซึ่งหมอทุกวันนี้ยังใช้อ้างอิงอยู่ (ผู้อ่านท่านไหนเคยให้น้ำเกลือต้องขอบคุณคุณหมอ 2 ท่านนี้เลยครับ) โดยหมอจะต้องคำนวณปริมาณพลังงานที่ต้องการต่อวันตามที่ Holliday-Segar คิดค้นขึ้นตามตารางที่ 1
และเขายังพบอีกว่าทุกๆ พลังงานที่สูญเสียไป 1 กิโลแคลอรี ร่างกายจะต้องได้รับน้ำชดเชย 1 มิลลิลิตร หรือพูดง่ายๆ ก็คือปริมาณพลังงานกับปริมาณน้ำที่ต้องการในแต่ละวันคือตัวเลขเดียวกัน เพียงแต่คนละหน่วยเท่านั้น
สำหรับวิธีคำนวณก็ไม่ยากครับ เพราะผู้ใหญ่จะมีน้ำหนักเกิน 20 กก. อยู่แล้ว ดังนั้นจะคำนวณแค่น้ำหนักที่เกิน 20 กก. ขึ้นไป แล้วนำมาบวกกับ 1,500 เลย เช่น ผมน้ำหนัก 70 กก. จะต้องการพลังงาน (70-20) x 20 + 1,500 = 2,500 กิโลแคลอรี อ่อ…ผมลืมบอกไปว่าน้ำหนักที่ใช้ต้องคำนวณหาน้ำหนักในอุดมคติ (ideal body weight) มาแทนค่านะครับ ซึ่งจะเทียบจากส่วนสูงอีกทีหนึ่ง
ตารางที่ 1 ตัวอย่างการคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องการตามวิธีของ Holliday-Segar
แต่สำหรับคนทั่วไปจะใช้ตัวเลขกลมๆ แทนคือ 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน อย่าง Thai RDI ที่ใช้คำนวณร้อยละของสารอาหารบนฉลากข้างซองหรือกล่องอาหารก็ใช้ตัวเลขค่านี้ เมื่อเทียบกับกฎ 8 x 8 ออนซ์ ซึ่งหมายถึงดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว โดยที่น้ำ 1 แก้วเท่ากับ 8 ออนซ์ = 64 ออนซ์ หรือ 1,892.7 มล.ต่อวัน ก็ใกล้เคียงกันนั่นเอง ดังนั้นถ้าใครจะใช้กฎ 8 แก้วนี้ จะต้องรู้ว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำคือไม่ควรดื่มน้อยกว่านี้ และต้องเป็นแก้วใบใหญ่ที่จุน้ำได้พอๆ กับนม 1 กล่องใหญ่เลย เพราะ 8 ออนซ์ = 236.6 มล.
คำแนะนำของอเมริกา (2004) ยุโรป (2010) และอังกฤษ (2017)
ย้อนกลับไปไม่ไกลเมื่อปี 2004 มีคำแนะนำที่ออกโดยสภาอาหารและโภชนาการ (Food and Nutrition Board) ของอเมริกาตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ Dietary Reference Intakes: Water, Potassium, Sodium, Chloride, and Sulfate ซึ่งออกคำแนะนำรวมกับแร่ธาตุที่สำคัญ 4 ชนิด โดยมีใจความสำคัญดังนี้
-
ถึงแม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนสำหรับปริมาณน้ำที่ต้องการต่อวัน แต่คำแนะนำโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงควรได้รับน้ำประมาณ 2.7 ลิตร ในขณะที่ผู้ชายควรได้รับน้ำประมาณ 3.7 ลิตร (แปลอีกรอบว่าผู้ชายต้องการน้ำมากกว่าผู้หญิง 1 ลิตร และมากกว่าที่คำนวณได้จากวิธีของ Holliday-Segar แต่ทั้งนี้คนไทยมีขนาดตัวน้อยกว่าอาจไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำมากเท่าชาวอเมริกัน)
-
ปริมาณน้ำที่แนะนำนี้นับรวมทั้งที่ได้จากเครื่องดื่ม ชา กาแฟ และอาหาร ซึ่งคนทั่วไปมักจะได้รับจากอาหารประมาณ 20% ของปริมาณน้ำที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละวัน
-
การมีกิจกรรมทางกายและการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนทำให้สูญเสียน้ำขึ้น จึงต้องการน้ำมากกว่าปกติ ทั้งนี้การดื่มน้ำปริมาณมาก 3-4 ลิตรอย่างรวดเร็วอาจทำให้มีภาวะความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดผิดปกติจนเป็นอันตรายได้
ใกล้เข้ามาอีกหน่อยในปี 2010 คณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป (UFSA: European Food Safety Authority) ได้ตีพิมพ์คำแนะนำในวารสารของตัวเอง โดยเป็นข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเชิงสังเกตรวมกับการทดสอบความเข้มข้นปัสสาวะ จึงใช้ได้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิปานกลาง และมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางเท่านั้น
ตารางที่ 2 เปรียบเทียบคำแนะนำปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อวัน (adequate intake) ของอเมริกา และยุโรป
และล่าสุดที่ผมสามารถสืบค้นได้ในขณะนี้คือคำแนะนำจากประเทศอังกฤษ โดยสมาคมนักกำหนดอาหารอังกฤษ (BDA: British Dietetic Association) ได้กำหนดเป็นปริมาณน้ำที่ควรได้รับจากเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อนำคำอธิบายตารางที่ว่า “ในประเทศอังกฤษ เครื่องดื่มคิดเป็น 70-80% ของน้ำที่ต้องการ ส่วนที่เหลือ 20-30% มาจากอาหาร เช่น ซุป, สตูว์ ผลไม้บางชนิด เช่น เมลอน และผักบางชนิด เช่น ขึ้นฉ่ายฝรั่ง (celery)” มากดเครื่องคิดเลขดู ก็พบว่า BDA ได้นำคำแนะนำของ UFSA เป็นตัวตั้ง แล้วคูณด้วย 80% จะได้เป็นตัวเลขซึ่งไม่กลมเอาเสียเลย ดังตารางที่ 3 ครับ แต่ในแง่นี้จะได้ทราบปริมาณน้ำที่ต้องดื่มจริงในแต่ละวัน โดยหักลบน้ำจากอาหารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เท่ากับ 2,000 มล.
หรือประมาณ 8 แก้ว เหมือนกันกับตอนแรก
ตารางที่ 3 เปรียบเทียบคำแนะนำปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อวัน (adequate intake) ของยุโรป และอังกฤษ (หน่วย: มล.)
ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกับปริมาณน้ำดื่ม
ผู้อ่านอาจเคยได้ยินว่า “ไตวายต้องจำกัดน้ำดื่ม” ไม่อย่างนั้นจะมีอาการน้ำเกินหรือน้ำท่วมปอด ซึ่งถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากก่อนอื่นเวลาหมอพูดถึง “ไตวาย” จะต้องแยกว่าเป็นชนิด “เฉียบพลัน” หรือ “เรื้อรัง เพราะถ้าเป็นภาวะไตวายเฉียบพลันจะต้องให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือดเพื่อเพิ่มปริมาณสารน้ำในร่างกายและมีเลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น ดังนั้นความจริงในครึ่งแรกจึงถือว่าผิดเต็มๆ
ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังจะเริ่มจำกัดน้ำก็ต่อเมื่อการทำงานของไตแย่ถึงระยะที่ 4-5 จนเริ่มขับปัสสาวะออกมาน้อยลงและเริ่มมีอาการขาบวมแล้ว แต่ถ้าเป็นโรคไตเรื้อรังระยะที่ 2-3 ยังปัสสาวะออกได้เหมือนปกติก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องจำกัดน้ำแต่อย่างใด คือสามารถดื่มน้ำได้ 8 แก้วต่อวันเช่นเดิม ดังนั้นถ้าจะว่ากันตามตรงประโยคดังกล่าวก็ถูกต้องเพียงครึ่งของครึ่งอีกทีหนึ่ง
แต่ทีนี้ถ้าต้องจำกัดน้ำแล้ว ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้มากน้อยเพียงใดก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสมดุลสารน้ำในร่างกายคร่าวๆ ก่อน คือ “น้ำเข้า = น้ำออก” หมายถึงปริมาณน้ำที่ได้รับควรเท่ากับปริมาณน้ำที่ร่างกายขับออกมา โดยนอกจากร่างกายจะขับน้ำออกมาทางไตเป็น “ปัสสาวะ” แล้ว เรายังขับออกมาในรูปของ “เหงื่อ” ที่ผิวหนังและ “ไอน้ำ” ทางลมหายใจด้วยเรียกว่า “ปริมาณน้ำที่สูญเสียโดยไม่รู้ตัว (insensible loss)” ซึ่งมีสูตรคำนวณด้วยกันหลายสูตร แต่ที่จำเป็นตัวเลขง่ายที่สุดคือประมาณ 500 มิลลิลิตร/วัน
ดังนั้นปริมาณน้ำที่ผู้ป่วยไตเรื้อรังควรได้รับจะเท่ากับปริมาณปัสสาวะที่ตวงได้ใน 1 วัน + 500 มล. นั่นเอง และต้องอย่าลืมหักลบกับน้ำในอาหารและเครื่องดื่มอื่น เช่น น้ำแกง นม น้ำเต้าหู้ ด้วย ทั้งนี้ถ้าไม่ได้ตวงปัสสาวะก็อาจคำนวณจากสูตรปริมาณปัสสาวะปกติใน 1 ชั่วโมงเท่ากับ 0.5 มล. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. x 24 ชั่วโมง จะได้เท่ากับในตารางที่ 4 ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณน้ำที่ควรได้รับน้อยกว่าคนปกติเกือบครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว
ตารางที่ 4 ตัวอย่างการคำนวณปริมาณน้ำที่ต้องจำกัดในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังและเปรียบเทียบกับคนปกติ
กว่าจะอ่านจบเริ่มหิวน้ำกันอีกครั้งหรือยังครับ ถ้ารู้สึกคอแห้งก็หยิบน้ำมาดื่มอีกสักหน่อยนะครับ เพราะความจริงแล้วการคำนวณทั้งหมดในบทความนี้สู้ “ต่อมใต้สมอง” ซึ่งเป็นกลไกควบคุมความหิวกระหายน้ำในธรรมชาติไม่ได้เลย บางครั้งเราอยู่ในสภาพอาการที่ร้อน ร่างกายก็จะเสียน้ำโดยไม่รู้ตัวเยอะ ต่อมนี้ก็จะสั่งให้เราดื่มน้ำมากกว่า 8 แก้ว ดังนั้นเอาเป็นว่าถ้าเรารู้สึกหิวแล้วเราดื่มน้ำตลอด ร่างกายเราก็จะไม่มีวันขาดน้ำอย่างแน่นอน
Tags: การบริโภค, โรคไตเรื้อรัง, โรคไตวายเฉียบพลัน, น้ำ