มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย สอบสวนทางวินัยต่อนักศึกษาที่วิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของมหาวิทยาลัยกับรัฐบาลจีน โดยกล่าวหาว่าเขาละเมิดนโยบายของมหาวิทยาลัยรวม 11 ข้อหา เช่น ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง โทษสูงสุดคือไล่ออก
ที่ผ่านมา ดรูว์ พาฟโล นักศึกษาสาขาปรัชญาชาวออสเตรเลีย อายุ 20 ปี ออกมาวิจารณ์การกดขี่ชาวอุยกูร์และชาวทิเบตของรัฐบาลจีน เขาสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เมื่อเดือนกรกฏาคม 2019 เขาถูกนักศึกษาที่สนับสนุนรัฐบาลจีนต่อยระหว่างการเดินขบวนประท้วงสนับสนุนนักเคลื่อนไหวฮ่องกง
จากน้ันเขาถูกหัวหน้ากงสุลจีนที่อยู่ในเมืองบริสเบน และเป็นอาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยกล่าวหาว่า เขาเป็นพวกนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่ทำกิจกรรมสนับสนุนการแบ่งแยกประเทศ และยกย่องกลุ่มผู้ประท้วงที่ออกมาสนับสนุนจีน เรื่องนี้ทำให้กระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียต้องออกมาเตือนให้ เจ้าหน้าที่ทูตเคารพกฎหมายการชุมนุมประท้วงของออสเตรเลีย
แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการลงโทษดรูว์ พาฟโล แต่คาดว่าสาเหตุหนึ่งจะมาจากกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว เขาโพสต์ภาพตัวเองสวมบอดี้สูทพลาสติกสีเหลือง พร้อมกับใส่หน้ากาก ไปแขวนป้ายที่เขียนว่า “ประณามอันตรายจากการติดโรคโควิด-19 “ (COVID-19 BIOHAZARD CONDEMNED) ที่หน้าทางเข้าของสถาบันขงจื่อ ในมหาวิทยาลัย สถาบันแห่งนี้เป็นสถาบันที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้เข้าไปเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาจีนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก พาฟโลบรรยายว่า ในฐานะที่เป็นตัวแทนของนักศึกษา งานของผมคือทำให้นักศึกษาปลอดภัย
โฆษกของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า นักศึกษาคนนี้ไม่ได้ถูกลงโทษจากความเชื่อทางการเมืองของเขา แต่เป็นเพราะมหาวิทยาลัยคาดหวังว่า นักศึกษาควรจะต้องทำตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ซึ่งสะท้อนคุณค่าและความคาดหวังของชุมชน มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก
พาฟโลให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC ว่าไม่ยอมรับทุกข้อกล่าวหาที่มหาวิทยาลัยกล่าวหาเขาด้วยเอกสารยาว 186 หน้า โดยได้ให้การตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้ลงนามสนับสนุนเขาและให้มหาวิทยาลัยถอนการตั้งกรรมการสอบวินัยเขา 20,000 คน โดยในวันที่ 27 เมษายน เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยจะมีการประชุมร่วมกันและพิจารณาว่าจะลงโทษเขาหรือไม่
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีการตั้งข้อสังเกตต่อการเข้ามามีอิทธิพลขององค์กรจากรัฐบาลจีนต่อมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ รัฐบาลจีนให้ทุนอย่างน้อย 4 วิชา ซึ่งรวมถึงวิชาเกี่ยวกับบทบาทของจีนในการเมืองโลก สิทธิมนุษยชนและการต่อต่านลัทธิก่อการร้าย โฆษกของมหาวิทยาลัยบอกว่า สถาบันขงจื่อไม่เกี่ยวข้องกับการออกแบบหลักสูตรนี้
การที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งของออสเตรเลียต้องพึ่งพาเงินจากจีน จนทำให้มหาวิทยาลัยผ่อนปรนความเป็นอิสระของตนเอง สร้างความกังวลต่อรัฐบาลกลาง จนทำให้มีการจัดตั้งหน่วยงานด้านการแทรกแซงจากต่างชาติในมหาวิทยาลัยเพื่อติดตามความเคลื่อนไหว
ที่มา:
ภาพ : เฟซบุ๊กของดรูว์ พาฟโล
Tags: ออสเตรีย, ประท้วงฮ่องกง, ประเทศจีน, อุยกูร์, ดรูว์ พาฟโล, ควีนส์แลนด์, สิทธิมนุษยชน