ห้องแต่งตัวของสโมสรกีฬาระดับอาชีพไม่ใช่แค่ห้องธรรมดา แต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของเหล่านักกีฬาที่เต็มไปด้วยอีโก้ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในกีฬาฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากในยุโรป มีเหล่าสโมสรยักษ์ใหญ่มากมายที่ยินดีที่จะควักเงินก้อนโตในการนำนักเตะชั้นยอดจากทั่วโลกมาเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมของตัวเอง
จริงอยู่ที่ว่าการรวบรวมนักเตะซูเปอร์สตาร์เข้ามาด้วยกันย่อมเป็นเรื่องที่ดี และน่าเกรงขาม แต่ก็มีหลักฐานที่เห็นได้ชัดอยู่ว่า การมีนักเตะเก่งๆ หลายคนอยู่ในทีมเดียวกันไม่ได้หมายความว่าทีมจะประสบความสำเร็จเสมอไป ยกตัวอย่างยอดทีมอย่างเรอัล มาดริด ที่เคยใช้เงินซื้อซูเปอร์สตาร์อย่าง ไมเคิล โอเวน, เดวิด เบ็กแฮม, ซีเนอดีน ซีดาน และโรนัลโด ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 จนขนานนามทีมตัวเองว่า ‘กาลาติกอส’ แต่สามารถทำได้แค่คว้าแชมป์ลาลีกาสเปนได้เพียงสมัยเดียวเท่านั้น และล้มเหลวในเวทีระดับยุโรปอย่างไม่คุ้มเงินเสียเลย
หรือในระดับทีมชาติ ยกตัวอย่างทีมชาติอังกฤษชุด ‘ยุคทอง’ ที่เต็มไปด้วยนักเตะระดับเวิลด์คลาสที่ล้วนอยู่ในช่วงพีกของอาชีพอย่าง เวย์น รูนีย์, แฟรงค์ แลมพาร์ด, สตีเวน เจอร์ราด, จอห์น เทอร์รี และ พอล สโคลส์ ก็ไม่สามารถคว้าแชมป์อะไรได้เลยตลอดช่วงเวลาที่ลงเล่นด้วยกัน โดยมีการออกมายอมรับในภายหลังว่า ภายในห้องแต่งตัวของทีมชาติอังกฤษชุดดังกล่าวมีแต่บรรยากาศที่อึมครึม และไร้ซึ่งความกลมเกลียว
สำหรับกีฬาประเภททีมนั้น ความสามัคคี และบรรยากาศที่ดี อาจจะเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าความเก่งกาจของผู้เล่นก็เป็นได้
จุดกำเนิด
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2001 สโมสรบาเลนเซียแห่งลาลีกาสเปนได้แต่งตั้งกุนซือหนุ่มชื่อว่า ราฟาเอล เบนิเตซ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีมคนใหม่ โดยในตอนนั้นบาเลนเซียเป็นสโมสรที่พอมีบารมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีทีมที่แข็งแกร่งขนาดไปทัดเทียมยอดทีมอย่างเรอัล มาดริด หรือบาร์เซโลนาได้ ถ้าดูเพียงชื่อเสียงเรียงนามของนักเตะ สตาร์ดังของทีมที่คนพอรู้จักบ้าง คือ พาโบล ไอมาร์ เพลย์เมกเกอร์หนุ่มชาวอาร์เจนตินา ซานเตียโก คานิซาเรซ ตำนานผู้รักษาประตูของทีมที่ทั่วโลกยอมรับ และกองหลังดาวรุ่งอย่าง ดาวิด นาวาร์โร และ ฟาบิโอ ออเรลิโอ เพียงเท่านั้น
เบนิเตซรู้อยู่แก่ใจว่าทีมบาเลนเซียทีมนี้ต้องการนักเตะที่เก่งกว่านี้มาเสริม แต่สิ่งที่เขาต้องการยิ่งกว่านักเตะที่เก่งกาจก็คือ ‘ทีม’ เขาต้องการเหล่านักเตะที่กระหายในชัยชนะ ถ่อมตัว รวมถึงพร้อมที่จะวิ่งจนหยดสุดท้ายเพื่อเพื่อนร่วมทีม และเหล่าแฟนบอลที่ส่งเสียงเชียร์พวกเขาอยู่ เพราะฉะนั้นแล้ว เบนิเตซจึงมุ่งความสำคัญไปที่ห้องแต่งตัวของทีม
เบนิเตซทำการเมกโอเวอร์ห้องแต่งตัวใหม่ทั้งหมดในทางกายภาพ เขานำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อย่างอ่างจากุซซี บ่อน้ำอุ่น กระจกขนาดใหญ่สำหรับแต่งตัว หรืออะไรก็ตามที่อาจจะทำให้เหล่านักเตะนั้นใส่ใจกับสถานะความเป็น ‘ซูเปอร์สตาร์’ ออกไป และนำความเป็น ‘นักฟุตบอล’ กลับมา ซึ่งความคิดของเบนิเตซนับว่าได้ผล เพราะนักเตะของทีมบาเลนเซียเริ่มซึมซับ และเข้าใจความดิ้นรนในการใช้ชีวิตของชนชั้นแรงงานในเมืองบาเลนเซีย เข้าใจว่าทีมนี้มีความหมายกับแฟนบอลขนาดไหน และเข้าใจว่าเกมฟุตบอลที่พวกเขากำลังแข่งขันนั้นยิ่งใหญ่มากกว่าตัวพวกเขาเองมากแค่ไหน
ตลอดปี 2001 ถึง 2004 ที่เบนิเตซคุมทีมบาเลนเซียนั้น เขาพาทีมคว้าแชมป์ลาลีกา 2 สมัย และแชมป์ยูฟ่าคัพอีก 1 สมัย เป็นประวัติศาสตร์ของสโมสรที่หลังจากเบนิเตซจากทีมไปก็ไม่สามารถไปถึงจุดนั้นได้อีก อย่างไรก็ตาม สโมสรบาเลนเซียก็ยังคงพื้นฐานของห้องแต่งตัวที่มีความถ่อมตัวแบบที่เบนิเตซเคยออกแบบเอาไว้จนถึงปัจจุบัน
จุดเปลี่ยน
เมื่อสถานการณ์ต่างๆ อยู่ในช่วงคับขันถึงขีดสุด เพียงแค่คำพูดไม่กี่คำก็สามารถเปลี่ยนแปลงทีมที่กำลังจะพ่ายแพ้ให้พลิกกลับมาชนะได้อย่างเหนือความคาดหมาย
ในการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ครั้งที่ 51 (Superbowl LI) ระหว่างนิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ และแอตแลนตาฟัลคอน ช่วงครึ่งแรกนิวอิงแลนด์โดนแอตแลนตาฉีกกระจุยเป็นชิ้นๆ จบครึ่งแรกที่สกอร์ตามหลัง 3-21 แต้ม ความหวังในการคว้าแชมป์ดูริบหรี่เหลือเกิน
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นภายในห้องแต่งตัว ในเวลานั้น บิล เบเลชิก โค้ชของนิวอิงแลนด์ไม่ได้แสดงอาการตื่นตระหนกให้ผู้เล่นเห็นเลย เบเลชิกทำทุกอย่างเหมือนกับเกมนี้เป็นเกมธรรมดาเกมหนึ่ง เขาแก้แท็กติกเล็กน้อย และเมื่อเกมการแข่งขันอีกครึ่งเวลาเริ่มอีกครั้ง สุดยอดผู้เล่นและผู้นำในสนามอย่าง ทอม เบรดี้ โชว์ฟอร์มพานิวอิงแลนด์พลิกกลับมาตีเสมอด้วยสกอร์ 28-28 ก่อนเอาชนะไปได้ในช่วงต่อเวลา ทำให้นิวอิงแลนด์คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ไปได้อย่างสวยงาม
เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดูเหมือนจะผิดพลาดไปเสียหมด บรรยากาศที่ห้องแต่งตัวในช่วงเวลาพักครึ่งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยปัจจัยหลักในการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีนั้นก็คือ คำพูดในการสร้างขวัญกำลังใจ (Motivational Speech) ซึ่งห้องแต่งตัวนักกีฬาก็เป็นสถานที่ที่ก่อให้เกิด Motivational Speech อันโด่งดังมากมายมาแล้ว
ในการแข่งขันฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกรอบรองชนะเลิศฤดูกาล 2018-2019 นัดที่ 2 ระหว่างลิเวอร์พูลกับบาร์เซโลนา ซึ่งลิเวอร์พูลแพ้มาก่อนในนัดแรก 3-0 ที่คัมป์ นู สนามเหย้าของยอดทีมแห่งสเปน ทำให้ในนัดที่สองที่กลับมาเล่นในแอนฟิลด์ หงส์แดงต้องยิงประตูบาร์เซโลนาให้ได้อย่างน้อย 4 ลูก เพื่อพลิกสถานการณ์เข้ารอบชิงชนะเลิศให้ได้ตามกฎประตูได้เสีย อย่างไรก็ตาม ความหวังของลิเวอร์พูลก็ริบหรี่ลงไปอีก เมื่อสองกองหน้าตัวเก่งของทีมอย่าง โม ซาลาห์ และ บ็อบบี้ เฟอร์มิโน ได้รับบาดเจ็บ
“เด็กๆ จงเชื่อมั่น ถ้าเรายิงประตูไม่ได้ในนาทีที่ 15 หรือนาทีที่ 20 ก็จงเชื่อในนาทีที่ 67, 68, 69 ว่าเราจะยิงประตูได้ และเมื่อแอนฟิลด์หนุนหลังเราอยู่ เชื่อฉันสิ เราจะทำได้”
นี่คือคำพูดของ เยอร์เกน คลอปป์ ผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูลที่พูดกับเหล่านักเตะก่อนเกมจะเริ่ม และก็เป็นอย่างที่คลอปป์พูดจริงๆ ลิเวอร์พูลพลิกนรกเอาชนะบาร์เซโลนาไปได้ 4-0 ด้วย 2 ประตูจาก จินี ไวจ์นัลดุม และ ดิว็อค โอริกี้ ก่อนที่ลิเวอร์พูลจะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกในฤดูกาลนั้นได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 6 หลังจากที่ไม่ได้แชมป์รายการนี้มามากกว่า 10 ปี
จุดจบ
ทุกสิ่งเหมือนดาบสองคม ห้องแต่งตัวนักกีฬาเป็นสถานที่ที่ทดสอบจิตใจของเหล่าผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา หากใครสามารถก้าวผ่านได้ก็จะกลายเป็นนักกีฬาที่มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ดูสวยงามในการสร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักกีฬา แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถอดทนได้ โดยเฉพาะเหล่าดาวรุ่ง
กีฬาในระดับอาชีพนั้นมีการแข่งขันที่สูงมาก มันทั้งกดดัน และบางครั้งก็หนักถึงขั้นกลายเป็นสังคมแห่งการบูลลี่
เคยมีผู้สื่อข่าวหลายคนที่ได้ไปเยือนสนามซ้อมของทีมฟุตบอลแต่ละทีมได้พบเห็นการพูดจาว่าร้ายใส่ผู้เล่นมากมายจากเหล่าโค้ช รวมถึงผู้เล่นด้วยกันเองอย่างรุนแรง กระทั่งมีการ ‘ประณาม’ ผู้เล่นที่ซ้อมได้แย่ที่สุดในอาทิตย์นั้นโดยการให้สวมเสื้อสีชมพูที่มีคำว่า ‘I’m Shit (ฉันมันไอ้ห่วย)’ และทุกคนก็หยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งแน่นอน บางทีการกระทำแบบนี้มีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่างหยอกล้อและการบูลลี
แกรี เนวิลล์ ตำนานกองหลังของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เคยเล่าในหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองว่า สมัยที่อายุ 16 ปี เขาเคยโดนบังคับเข้าร่วมพิธีกรรมที่เรียกว่า Shag Sunbed โดยเหล่าผู้เล่นในทีมจะนำรูปขนาดเท่าตัวของเนวิลล์ไปติดกับเตียงนวด แล้วบังคับให้เขาทำท่าทางเหมือนกำลังมีเพศสัมพันธ์กับตัวเองอยู่ต่อหน้าเพื่อนร่วมทีมทั้งหมด
“มันเลวร้าย และทำใจได้ยากมาก สำหรับเด็กอายุแค่ 16 ปี เมื่อฮีโร่ของคุณอย่าง มาร์ก ฮิวจ์ หรือ ไบรอัน ร็อบสัน อยู่ในหมู่คนดูด้วย”
แกรี เนวิลล์ กล่าวว่านี่เป็นแค่กิจกรรมเดียวเท่านั้น โดยยังไม่นับอีกหลายกิจกรรมในลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งทำให้เหล่าดาวรุ่งมากพรสวรรค์หลายๆ คนแบกรับไม่ไหว ต้องยอมแพ้ต่อความฝันไปคนแล้วคนเล่า
ทั้งหมดที่เล่าในบทความนี้คือเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้น จุดจบ และจุดเปลี่ยนของทีมกีฬาต่างๆ ที่ล้วนมีจุดกำเนิดมาจาก ‘ห้องแต่งตัว’ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภาพจิตใจนักกีฬาหรือจิตวิญญาณของทีม
ท้ายที่สุดแล้ว บรรยากาศของห้องแต่งตัวนับว่ามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อนักกีฬาและทีมกีฬา เพราะมันสามารถเปลี่ยนทีมธรรมดาให้กลายเป็นแชมป์ได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถทำให้ใครหลายคนยอมล้มเลิกความฝันไปได้เลยเช่นกัน
อ้างอิง
www.oxfordreference.com/view/10.1093/oi/authority.20110803100111739
www.developingthefuture.club/post/2019/04/01/dressing-room-values
Tags: กีฬา