การแถลงเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว 1 พฤศจิกายนนี้ โดยไม่ต้องกักตัว ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา สร้างการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างว่านโยบายนี้จะเป็นผลดีมากกว่าผลเสียหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงแตะหลักหมื่นรายต่อวัน ขณะภาพรวมอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรเพียง 51.31% เท่านั้น แบ่งเป็นได้รับโดสแรก 16.60% และครบสองโดส 34.71% (ข้อมูลวันที่ 15 ตุลาคม อ้างอิงจาก https://ourworldindata.org/covid-vaccinations?country=OWID_WRL )
ทั้งนี้ รายละเอียดการเปิดรับนักท่องเที่ยว ระบุเงื่อนไขเอาไว้ว่า ต้องเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศความเสี่ยงต่ำ 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน สหรัฐอเมริกา ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดส และมีหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ว่าไม่พบเชื้อก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง จากนั้นเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยจะมีการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ถึงจะสามารถเดินทางไปพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างอิสระ
เงื่อนไขดังกล่าวเป็นไปตามที่หลายประเทศใช้อยู่ แต่สิ่งที่สร้างความกังวลใจให้แก่ประชาชนคือ กรณีเลวร้ายที่สุดหากประเทศต้องกลับมาเจอการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลวางแผนระบบสาธารณสุขอย่างไรเพื่อรับมือ ไม่เช่นนั้นการเปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจจะไร้ความหมาย หากไม่นานต้องกลับมาล็อกดาวน์อีก
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ตอบคำถามประเด็นนี้กับ The Momentum ว่า เปิดประเทศเป็นหลักการที่ต้องไปให้ถึง เพราะเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องอยู่กับโควิดให้ได้ แต่นิยามคำว่าเปิดประเทศ เป็นหลักการกว้างๆ ที่ต้องมากำหนดรายละเอียดลงไปอีกว่า เปิดประเทศ ในที่นี้หมายความว่าอะไร
“คอนเซปต์มันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกประเทศจึงต้องมองเรื่องการเปิดประเทศ แต่จะเปิดประเทศยังไงให้มีความสมดุลระหว่างการเดินหน้าเศรษฐกิจกับการควบคุมการระบาดของโรค ซึ่งความยากของประเทศเราคือ ความครอบคลุมของวัคซีนยังต่ำเกินไป ต่างกับยุโรปหรือหลายๆ ประเทศที่ความครอบคลุมของวัคซีนเกิน 70-80% แล้ว เขาจึงมีความยุ่งยากและมีความเสี่ยงน้อยกว่าในการเปิดประเทศ ส่วนเราที่ความครอบคลุมวัคซีนน้อย จะเปิดประเทศยังไงให้สำเร็จ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากเลย และเป็นสิ่งที่ยากด้วย”
“ผมโอเคนะกับการเปิดประเทศ แต่ต้องเปิดในบางภาคส่วน ถ้าเปิดกว้างหมดทุกอย่างก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นภาคส่วนที่เปิดได้ก่อน เช่น การศึกษา การศึกษาเป็นภาคส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจภายในประเทศ ถ้าเปิดโรงเรียน เปิดมหาวิทยาลัยได้ ธุรกิจจะได้ผลประโยชน์หลายต่อ และเยาวชนมีโอกาสไปเรียนรู้ในโรงเรียนจริง ไม่ใช่เรียนออนไลน์อยู่แบบนี้ นี่น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะเรามีวัคซีนให้แก่เด็ก โดยเฉพาะเด็กโตอายุ 12 ปีขึ้นไป เด็กเล็กอาจต้องมาดูกันอีกทีว่าจะเอายังไง อาจยอมให้เด็กเล็กไปโรงเรียน ถ้าพ่อแม่ที่อายุเกิน 50 ปีได้รับวีคซีนทุกคน”
“ภาคส่วนถัดมาเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ อย่างการท่องเที่ยว ผมว่าสิ่งที่รัฐบาลประกาศออกมาว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 พฤศจิกายนนี้ เป็นมาตรฐานจากนานาชาติอยู่แล้ว ประเทศไหนสีเขียว รับวัคซีนครบสองเข็ม มีผล RT-PCR จากประเทศต้นทาง และมาตรวจอีกทีในบ้านเรา ก็สามารถท่องเที่ยวบ้านเราได้ อันนี้โอเค ถือว่าถูกต้อง ถึงแม้มีโอกาสพบเชื้อน้อยมาก ก็ไม่เป็นไร ที่น่ากังวลคือ เขาจะเอาเชื้อจากประเทศเรา กลับบ้านเขามากกว่าด้วยซ้ำ”
สรุปคือ สิ่งที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่จะเกิดอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดจากนี้ แต่เป็นการพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ พร้อมอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิง เปิดให้บริการได้ในวันที่ 1 ธันวาคม เนื่องจากการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ นพ.สุภัทร จึงเสนอให้ชะลอการเปิดไปก่อน จนกว่าอัตราการฉีดวัคซีนจะอยู่ระดับ 70-80%
“ถ้ารัฐบาลอยากเปิดประเทศโดยสมบูรณ์เร็วๆ รัฐบาลต้องไปหาวัคซีนมาเพิ่มอีก ถึงจะฉีดวัคซีนเยอะขึ้นแล้ว แต่มันยังไม่พอ เราพิสูจน์แล้วว่าสามารถฉีด 1 ล้านโดสต่อวันได้ หมายความว่าจริงๆ 30 วัน เราสามารถฉีดได้ถึง 30 ล้านโดส แต่เราไม่มีวัคซีนถึง 30 ล้านโดส เรามีแค่อย่างมาก 20 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งน้อยไป ถ้าเรามีวัคซีนมากขึ้นอีก เราจะยิ่งเปิดประเทศได้เร็วขึ้น” นพ.สุภัทร กล่าว พร้อมเน้นยำว่าวัคซีนเป็นหัวใจสำคัญ เนื่องจากมาตรการอื่นๆ เป็นมาตรการที่พูดได้คาดหวังยาก เช่น ข้อบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกจากบ้าน ที่อาจใช้ได้ผลในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ไม่ใช่กับพื้นที่ต่างจังหวัด สุดท้ายวัคซีนจึงเป็นสิ่งเดียวที่คาดหวังได้ชัดเจน และเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องทำ มากกว่าไปคาดหวังจากประชาชนฝ่ายเดียว
เมื่อถามถึงอัตราการตรวจหาเชื้อของไทยว่ายังอยู่ในระดับน้อยไปหรือไม่ นพ.สุภัทร ให้ความเห็นว่า การตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR น้อยลงเรื่อยๆ อย่างชัดเจน และหันมาตรวจหาเชื้อแบบ Antigen test kit หรือ ATK มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง New Normal หรือแนวทางการอยู่ร่วมกับโควิด-19 แต่ปัญหาคือระบบรายงานผลตรวจ ATK ของประเทศ ที่ไม่ชัดเจน ตรวจสอบได้เฉพาะระดับโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลอำเภอ ไม่รวมโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเมือง องค์กรต่างๆ ไปจนถึงประชาชนทั่วไปที่ซื้อ ATK มาตรวจด้วยตัวเอง
“แล้วอย่างนี้เราจะรู้ข้อมูลภาพใหญ่ได้อย่างไรว่าตรวจแล้วผลออกมาเป็น Positive กี่คน เพราะมันไม่มีระบบรายงาน แม้แต่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ไม่ได้มีความเข็มงวดในการรายงานเรื่องนี้ จึงทำให้เราไม่รู้ภาพใหญ่ของประเทศว่าจริงๆ ตรวจเยอะไหม คิดว่า ATK น่าจะยังตรวจไม่เยอะ เพราะยังเป็นต้นทุนของโรงพยาบาลอยู่ เดิมเราคาดหวังชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้น ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะซื้อให้ ถ้าเป็นอย่างนั้นโรงพยาบาลจะได้ของฟรีมา โดยโรงพยาบาลจะนะ ได้ ATK เลอปู (Lepu) มา 7 พันชิ้น ถือว่าเยอะ ถ้าเราได้ ATK คุณภาพดีมา 7 พันชิ้น เราเอาไปตรวจคัดกรองได้เยอะแยะ และถ้าทุกโรงพยาบาลช่วยกันคัดกรองได้ 8.5 ล้านคน จะเจอผู้ติดเชื้อและสามารถควบคุมการระบาดได้ดีมาก แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเอามากองๆ ไว้ ใช้บ้างแต่ไม่ได้ใช้อย่างกว้างขวาง เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพ มันจึงไม่เกิดการใช้ ATK อย่างกว้างขวางในการควบคุมโรค เพราะฉะนั้นตัวเลขที่ปรากฎ น้อยกว่าความเป็นจริงแน่นอน น้อยกว่าแค่ไหนไม่รู้ อาจจะประมาณครึ่งหนึ่ง”
ประเด็นเรื่องชุดตรวจ ATK หลักๆ สามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ปัญหา คือ การไม่นับรวมยอดผลตรวจ ATK เข้าไปในยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ และความคาดเคลื่อนของผลตรวจ ATK เห็นได้จากกรณีผลตรวจลวงที่พบใน จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด สั่งการโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขระงับใช้ชุดตรวจ ATK เลอปู แก่ประชาชน
นพ.สุภัทร กล่าวถึงปัญหาแรกว่า “ก็เป็นการแก้ปัญหายอดผู้ติดเชื้อแบบไทยไทย ยอดผู้ติดเชื้อลดลงจริง เพราะไม่นับเลยไม่เพิ่ม แต่เขาก็อ้างว่าถ้าจะนับมันยาก เพราะบางคนตรวจ ATK และมาตรวจ RT-PCR ซ้ำ ดังนั้น ต้องมาลบเลขกัน ซึ่งเพราะเราไม่มีระบบลงข้อมูลที่สามารถดูได้ชัดเจน และดูเหมือนไม่มีความพยายามจะทำระบบรายงานการคัดกรองที่เป็นผสมระหว่าง ATK กับ RT-PCR ด้วย มันจึงต้องยังเป็นแบบนี้ต่อไป”
ส่วนปัญหาที่สองเขาขยายความเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำหนดมาตรฐานชุดตรวจ ATK อยู่แล้ว โดยมีเกณฑ์ว่าต้องมีความไว (Sensitivity) 90% และความจำเพาะ (Specificity) 98%
“ตอนนี้มี ATK ผ่านมาตรฐาน อย.ประมาณ 100 ยี่ห้อ แต่ออกสู่ตลาดชาวบ้านสับสนมาก มีราคาตั้งแต่ 40 บาท ถึง 300-400 บาท ไม่รู้อันไหนเกรด A เกรด B เกรด C เพราะทุกอันผ่าน อย. หมด สิ่งสำคัญ อย.เองหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต้องมาทำงานคัดเกรดคุณภาพ ATK เพื่อให้ผู้บริโภคเขาเลือกเองว่าเขาจะซื้อราคาเท่าไรในคุณภาพไหน บางทีบริษัทต้องการตรวจพนักงานประจำเดือนทีเดียว 500 คน อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อแบบแม่นยำสุดๆ ซื้อเกรดราคาไม่มาก คุณภาพไม่ถึงกับสูง เจอบ้างไม่เจอบ้างไม่เป็นไร แต่ถ้าคนที่ญาติตัวเองเป็นและมีโอกาสที่ตัวเองน่าจะเป็น อย่างนี้ต้องซื้อ ATK เกรดคุณภาพสูงเพื่อให้รู้ว่าตัวเองเป็นหรือไม่เป็นกันแน่ เพราะฉะนั้นผมว่าหัวใจของ ATK ที่เป็นเรื่องของ New Normal หรือการอยู่ร่วมกับโควิด ต้องมีการแยกเกรดคุณภาพในท้องตลาดให้ประชาชนรับรู้ นี่เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ยังไม่ทำ ไม่ใช่ว่าผ่าน อย. แล้วจะเหมือนกับหมด แต่ภารกิจนี้ยังไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครทำ และต่อไป ATK จะเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องเลือกเอง ซื้อเอง ตรวจเอง ถ้าเป็นผล Positive ถึงเดินมาหาหมอ โรงพยาบาลจะช่วยดูอีกทีว่าจะตรวจ RT-PCR ซ้ำให้หรือแล้วแต่กรณี”
“อีกอันหนึ่งที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้ คือ ระบบรายงานโรครายพื้นที่แบบเรียลไทม์ มีแผนที่ชัดเจนว่าจุดระบาดอยู่จุดไหน เราจะได้จัดการตัวเองได้มากขึ้น ตอนนี้เรารู้แต่ว่าจังหวัดสงขวามีผู้ติดเชื้อ 800 คน แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน คือข้อมูลมีแต่ไม่ปรากฎให้สาธารณะเห็น ในประเทศอังกฤษเราอยู่เมืองไทย เรายังเห็นเลยว่าจุดระบาดอยู่ตรงไหน คนเข้าถึงข้อมูลระดับพื้นที่ ระดับเมืองได้ว่าพื้นที่นี้ระบาดอยู่ไหม หรือไม่มีการระบาดแล้ว เพราะฉะนั้นคนจะคิดเองว่าจะไปพื้นที่นั้นดีไหม โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว มันไม่ใช่โลกของการบังคับที่จะปิดนู่นปิดนี่ แต่เป็นโลกเของการที่ประชาชนต้องหาข้อมูลและคิดเอง เพราะบางจังหวัดมีการระบาดก็ไม่ได้หมายความว่าจะระบาดหมดทุกพื้นที่ มันมีจุดที่ไม่ระบาดอยู่ พวกนี้ยังต้องทำอีกเยอะถ้าจะอยู่ร่วมกับโควิด แต่ดูเหมือนตอนนี้ไม่มีใครสนใจแล้ว ทุกคนเข้าสู่โหมดเตรียมการเลือกตั้งหมด ปล่อยให้ไหลไปตามธรรมชาติของมัน ขอให้รายงานโรคน้อยๆ พอ”
ท้ายที่สุดเรื่องภูมิคุ้มกันตกเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่หลายคนกังวล นพ.สุภัทร ให้คำตอบว่าจะวกกลับไปเรื่องการฉีดวัคซีน หากสามารถฉีดได้ครอบคลุม 80-90% ของประชากร แม้ภูมิคุ้มกันตก แต่การติดเชื้อจะลดลง
“ถ้ามีภูมิกันถ้วนหน้า ต่อให้ทุกคนได้รับเชื้อ ภูมิก็จะสามารถสู้เชื้อได้ จะป่วยไม่หนัก มีเชื้อไม่มาก และแพร่เชื้อต่ำ เพราะฉะนั้นภูมิต่ำไม่ใช่ปัญหา ถ้าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นแล้ว และไม่มีวัคซีนไหนในโลกที่ฉีด 2 เข็มภูมิขึ้นสูงตลอด ยังไงภูมิก็ตก แต่เมื่อมีเซลล์ความจำ(Memory cell) อยู่ในร่างกายเรา และมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งไว้คอยป้องกัน เมื่อเชื้อโรคโจมตี ภูมิคุ้มกันก็ขึ้น เซลล์ความจำก็ทำงานต้านแอนติบอดี แต่ปัจจุบันเราฉีดวัคซีนได้เพียง 50% บางพื้นที่ 30% ด้วยซ้ำ ถ้าคนไม่มีภูมิกันเยอะ เราสู้ไม่ไหว ภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นหัวใจในการคุ้มกันโรค ไม่ใช่การสร้างภูมิส่วนบุคคลให้สูงปรี้ด นั่นเป็นเรื่องอภิสิทธิ์ชน ไม่ใช่เรื่องของมหาชน”
Tags: เปิดประเทศ, นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ, ชมรมแพทย์ชนบท, โควิด-19