องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกกำลังเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤตหลังเผชิญโรคระบาดที่คร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 6,000 คน และการแพร่ระบาดของ ‘โรคหัด’ ครั้งนี้เป็นการแพร่ระบาดขนาดใหญ่และเร็วที่สุดในโลก โดยมีผู้ป่วยติดเชื้อโรคหัดประมาณ 310,000 ราย ตั้งแต่ต้นปี 2562

ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว รัฐบาลคองโกและองค์การอนามัยโลกเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนฉุกเฉินให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีกว่า 18 ล้านคนทั่วประเทศ แต่โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่พร้อม ทำให้ศูนย์สุขภาพแต่ละแห่งไม่สามารถทำงานได้เท่าที่ควร และปกติแล้วชาวคองโกไม่คุ้นเคยกับการฉีดวัคซีนในชีวิตประจำวัน จึงทำให้โอกาสหยุดการแพร่ระบาดลดน้อยลงไปอีก

แม้สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกจะเคยประสบกับการระบาดของโรคอีโบล่าที่ร้ายแรงที่สุดเป็นอันดับสองของโลก แต่อีโบล่ากลับคร่าชีวิตผู้คนไปไม่ถึงครึ่งของสิ่งที่โรคหัดกระทำในช่วงที่ผ่านมา

ด้าน มัทชิดิโซ่ โมเอติ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคแอฟริกา เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกกำลังพยายามอย่างเต็มที่ที่จะควบคุมโรคนี้ให้ได้ และเพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงในการควบคุมโรค องค์การอนามัยโลกต้องการที่จะแน่ใจว่าไม่มีเด็กคนใดต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคที่สามารถป้องกันได้ง่ายมากอย่างการฉีดวัคซีน 

และหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นคือเรื่องของทุน ทำให้องค์กรกำลังอยู่ระหว่างการระดมทุนจากผู้บริจาค เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน โดยคาดว่าจะต้องใช้เงินเพิ่มอีก 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายโอกาสในการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุระหว่าง 6-4 ปี และเพิ่มการรับมือกับการระบาดของโรค

ทั้งนี้ หัดเป็นไวรัสที่เริ่มทำให้เกิดอาการน้ำมูกไหล จาม และมีไข้ ก่อนจะนำไปสู่ผื่นที่เป็นรอย ซึ่งจะเริ่มต้นที่ใบหน้าและกระจายไปทั่วร่างกาย คนส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความพิการตลอดชีวิต มันอาจเป็นอันตรายถึงตายได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามันทำให้เกิดโรคปอดบวมในปอดหรือโรคไข้สมองอักเสบ (สมองบวม) ในทุกปีมีคนกว่า 110,000 คนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคหัด

ที่มา

https://www.bbc.com/news/world-africa-51028791 

https://www.dw.com/en/worlds-biggest-measles-outbreak-in-dr-congo-kills-thousands/a-51924224

ภาพ: REUTERS/Zohra Bensemra

Tags: ,