“หมอช่วยดูเคสนี้ให้หน่อยได้มั้ย” พี่พยาบาลประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เดินเข้ามาในห้องตรวจ หลังจากผมตรวจคนไข้ที่มาตามนัดคลินิกโรคเรื้อรังหมดแล้ว พร้อมกับเล่าประวัติของคนไข้ให้ฟังว่า “ลุงแกเป็นความดันฯ กับไขมันในเลือดสูง ตอนแรกคงกินยาไม่สม่ำเสมอจนเป็นสโตรก (โรคหลอดเลือดสมองตีบ) อีกโรค แต่ตอนนี้ก็ไม่ยอมมาวัดความดันฯ เลย ยาความดันฯ ก็ไม่กิน จะกินแต่ยาไขมันตัวเดียว นี่ก็ไล่ให้ป้ามามารับยาแทน ตัวเองไม่ยอมมา”
สีหน้าของพี่พยาบาลดูสิ้นหวัง เพราะคงพยายามคุยกับญาติมาก่อนแล้ว แต่ญาติก็ไม่สามารถกลับไปโน้มน้าวคนไข้ให้มารับการรักษาได้
ผมรับสมุดพกประจำตัวคนไข้มาพลิกดูวันที่และค่าความดันฯ ที่คนไข้เคยมารับยาแต่ละครั้ง แต่นั่นก็นานร่วมปีมาแล้ว พลางครุ่นคิดว่าจะช่วยพี่พยาบาลอย่างไรดี
“เดี๋ยวตอนบ่ายเราต้องออกเยี่ยมบ้านอยู่แล้วหนิครับ” ผมเกริ่น เพราะปกติแล้วพี่พยาบาลจะเตรียมเคสให้ผมลงเยี่ยมบ้านเฉพาะคนไข้ที่ติดเตียง เช่น ป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคข้อเข่าเสื่อมมากจนไม่สามารถพามาตรวจที่โรงพยาบาลได้เท่านั้น “งั้นเพิ่มเคสนี้ไปด้วยอีกเคสหนึ่งก็ได้ครับ”
พี่พยาบาลยิ้มกว้างก่อนจะชวนผม “ออกไปตอนนี้เลยดีมั้ยคะหมอ” ราวกับว่าตั้งใจจะให้ผมออกไปเยี่ยมคุณลุงตั้งแต่ต้น
“ต…ตอนนี้เลยเหรอครับ” ผมกลับเป็นฝ่ายไม่ทันตั้งตัว แสร้งถามเรื่องอื่นกลบเกลื่อน “คือคนไข้ที่นัดไว้ไม่เหลือแล้วใช่มั้ยครับ” พี่พยาบาลพยักหน้า ทำให้ผมไม่ลังเลที่จะตกลง
“งั้นก็ไปกันเลย”
…
ขึ้นรถกระบะของพี่พยาบาลออกไปพร้อมกับ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ที่มาช่วยงานของ รพ.สต.ในวันนี้ น่าเสียดายที่ อสม.ประจำหมู่เดียวกับคนไข้ติดนัดหมอที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เลยไม่ได้มาลงเยี่ยมบ้านด้วย แต่ อสม.ที่เหลือต่างก็รู้จักกับสองสามี-ภรรยา—ไม่คุณลุงก็คุณป้าเป็นอย่างดี
เลาะเลี้ยวไปตามซอยในหมู่บ้าน เบาะไม่ทันร้อนก็ถึงบ้านคนไข้แล้ว
คุณลุงวัย 65 ปีผละจากโต๊ะกินข้าวและจอโทรทัศน์เบื้องหน้า เดินออกมาต้อนรับที่ปากประตูของตัวบ้าน แกสวมกางเกงขาสั้น ไม่ได้สวมเสื้อ เปลือยท่อนบนเห็นแผงอกและแขนท่อนบนเป็นมัดกล้ามเนื้อ ท่าทางการเดินมองไม่ออกเลยว่าแกเคยเป็นสโตรกมาก่อน
“สวัสดีครับคุณลุง” ผมกล่าวทักทายพร้อมกับยกมือไหว้เป็นลำดับแรก ความอ่อนน้อมนี้ต้องการบอกกับคุณลุงว่า “นี่คือการมาเยี่ยมเยียนคนไข้ที่ห่างหายจากโรงพยาบาลไปนาน ไม่ใช่ปฏิบัติการบุกจับคนร้ายหนีโรงพยาบาลแต่อย่างใด”
“ขออนุญาตพา ‘หมอใหญ่’ จากรพ.นครชัยศรีมาเยี่ยมนะคะ” พี่พยาบาลแนะนำตัวให้เสร็จสรรพ “พอดีวันนี้คุณหมอมาตรวจคนไข้ที่อนามัยก็เลยออกมาเยี่ยมคุณลุงด้วยเลย” เจ้าบ้านยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ก่อนจะชวนหาที่นั่งคุยกันตรงแหย่งช้าง
“ช่วงนี้เป็นยังไงบ้างครับ” ผมฟังคนอื่นเล่าเรื่องของคุณลุงมาเยอะแล้ว รอบนี้ถึงตาคุณลุงจะเล่าให้ผมฟังบ้าง เหมือนตอนจดบันทึกความก้าวหน้าทางการรักษาตามระบบ SOAP ซึ่งจะต้องประกอบด้วย Subjective (S) คือสิ่งที่คนไข้บอก กับ Objective (O) คือสิ่งที่หมอตรวจได้เสมอ โดยรวมคุณลุงก็ช่วยเหลือตัวเองได้ ตักข้าวกินเอง เดินเข้าห้องน้ำเอง ใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ เพียงแต่ไม่ได้ออกนอกบ้านไปไหนไกลเท่านั้น
“แล้วเรื่องแขนขาอ่อนแรงล่ะครับ คุณลุงเป็นข้างไหนนะ”
“ข้างนี้” คุณลุงยกแขนขวาประกอบ
“ตอนนั้นอาการมันเป็นยังไง เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม” ผมถามด้วยความอยากรู้ คุณลุงนั่งนึกอยู่พักหนึ่งแล้วเล่าว่า “ยุงมันบินมาเกาะตรงหน้าผาก ผมจะยกมือขึ้นมาปัด เอ๊…ทำไมมันยกไม่ค่อยขึ้น ตอนนั้นยังไม่คิดอะไร พอจะลุกขึ้น อ้าว…ขาก็ก้าวไม่ค่อยออก เลยมานอนพักในห้อง
“ให้คนเขามานวดให้ มันก็ไม่หาย เลยไปโรงพยาบาล”
“แล้วหมอบอกว่าเป็นอะไร”
“ก็ไม่รู้สิ” คุณลุงตอบอย่างไม่ลังเล ทั้งที่คนไข้ควรเป็นคนที่รู้จักโรคของตัวเองมากที่สุด
“โรคหลอดเลือดสมองตีบไม่ใช่หรอ” พี่ อสม.คนหนึ่งพูดแทรกขึ้นมา
“เดี๋ยวๆ” ผมยกมือขึ้นมาปราม เพราะต้องการให้คนไข้พูดเอง “ลองนึกดูหน่อยคุณลุง ว่าหมอบอกกับลุงว่ายังไง”
แต่คนไข้ส่ายหน้ายืนยันคำตอบเดิม คำถามที่คิดว่าง่ายที่สุดกลับสร้างความลำบากใจให้กับผมมากที่สุด เลยต้องยอมยกธงขาวแรก “ตกลงคุณลุงเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบนะครับ เลยทำให้แขนขาซีกขวาอ่อนแรง”
…
“แล้วคุณลุงรู้ไหมว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากอะไร” ผมชวนคุยต่อ
“ไม่รู้สิ” คุณลุงพูดแบบอมยิ้ม ยอมรับในความไม่รู้ของตัวเองอีกครั้ง
“หมอเฉลยเลยก็แล้วกันว่าเกิดจากโรคความดันฯ สูง” ผมยกธงยาวผืนที่สอง กว่าจะชักแม่น้ำทั้งห้าล่องมาถึงประเด็นหลักที่มาเยี่ยมบ้านคุณลุงในวันนี้แทบหืดขึ้นคอ “ทีนี้ถ้าเป็นโรคความดันฯ สูงจะรักษายังไงดี”
“เมื่อก่อนจะมีสมุนไพรอยู่ตัวหนึ่ง” คำตอบของคุณลุงทำเอาพวกผมอึ้งไปตามๆ กัน ราวกับว่าเพิ่งเป็นคนไข้โรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ เลยยังไม่เคยมีใครสอนคุณลุงมาก่อน “เอ… ชื่ออะไรผมจำไม่ค่อยได้ เคยซื้อมากินทีหนึ่งความดันลดลงเยอะเลย ตอนนี้หาซื้อยากมาก”
“ก็คือตอนนี้ไม่ได้ซื้อกินแล้ว” ผมทวนความเข้าใจ “แล้วคุณลุงกินยาตัวไหนอยู่บ้าง”
“ไปหยิบมาให้หมอดูหน่อย” คุณลุงไหว้วานภรรยา พร้อมกับชี้ไปที่กระปุกยาบนโต๊ะอาหาร “เป็นยาจากคลินิกที่กาญจนบุรี” ผมรับยาจากคุณป้ามาดูต่อ พลิกดูฉลากยาก็เจอกับชื่อสมุนไพรที่ไม่คุ้นเคย
จากทั้งคำตอบที่ผิดคาดของคุณลุงและกระปุกยาในมือต่างยืนยันถึงความเชื่อด้านสุขภาพที่อยู่ตรงข้ามกับตำราของผมโดยสิ้นเชิง ถ้าไม่ได้มาเยี่ยมบ้านในวันนี้ก็อาจไม่มีโอกาสเข้าใจคุณลุงเลย “ไหนคุณลุง ผมขอให้พยาบาลช่วยวัดความดันฯ วันนี้หน่อยจะได้มั้ยครับ”
จะได้ให้คุณลุงประเมินประสิทธิภาพของยาสมุนไพรที่กินอยู่ไปในตัว
อือ… เสียงเครื่องวัดความดันฯ อัตโนมัติอัดลมเข้าไปในผ้าพันแขน (cuff) จนเอาชนะแรงดันของหลอดเลือด ผมปล่อยให้มันเป็นพระเอกในช่วงนี้ เพราะการวัดความดันฯ ที่ถูกต้อง ผู้ถูกวัดต้องนั่งอยู่เฉยๆ ไม่พูดคุยให้ค่าที่วัดได้คลาดเคลื่อน จนกระทั่งเสียงเครื่องผ่อนลมเฮือกสุดท้ายออกมาพร้อมกับตัวเลขบนหน้าจอ
“ความดันฯ สูงมากเลย” พี่พยาบาลหันหน้าจอไปให้คนไข้ดู
“วันนี้ความดันฯ สูงนะคุณลุง” ผมรับลูกต่อ “หมอเป็นห่วงว่าถ้าความดันฯ ยังสูงอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ คุณลุงจะกลับมาเป็นแบบเดิมซ้ำอีก” บ่อยครั้งที่หมอเอาแต่สั่งให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโน้น เพิ่มนี่ หยุดนั่นจนลืมที่จะสื่อความปรารถนาดีของเราให้คนไข้รับรู้ “ถ้าจะให้คุณลุงกลับไปรับยาเหมือนเดิมจะได้รึเปล่า”
คุณลุงนิ่งคิด
.
.
“ผมถามได้มั้ยว่าทำไมคุณลุงถึงหยุดไปรักษาที่โรงพยาบาล” เห็นคุณลุงยังไม่ตอบจึงเปิดโอกาสให้ระบายความรู้สึก “วันนั้นคุณหมอคุยกับคุณลุงว่ายังไงบ้าง”
“ก็… ผมรู้สึกชาขา ก็เลยถามหมอว่าจะทำยังไงให้หาย” คุณลุงชี้แจง “เขาก็ตอบว่ากินยาตามที่หมอสั่งนั่นแหละ”
“คุณลุงรู้สึกไม่พอใจกับคำตอบของหมอ” ผมสะท้อนความคิดกลับ
“ไม่หรอก หมอก็ตอบไปตามหน้าที่” คุณลุงแก้ตัว
.
เงียบไปอีกครู่หนึ่งแล้วเหมือนจะนึกเรื่องพูดขึ้นได้ “นี่ก็ดีขึ้นเยอะแล้วนะ”
“ใช่ แทบจะมองไม่ออกเลยว่าคุณลุงเคยป่วยมาก่อน” ผมเสริมประโยคที่คุณลุงพูด และชวนคิดต่อว่า “แล้วคุณลุงคิดว่าโรคนี้จะดีขึ้นแค่ไหนเหรอ จะกลับมาเต็มร้อยเหมือนเดิมไหม”
คุณลุงส่ายหน้าไม่เห็นด้วย
“ถูกต้อง โรคหลอดเลือดสมองตีบเป็นแล้วจะไม่เหมือนเดิม” ผมทวนคำตอบจากท่าทางของอีกฝ่าย “แล้วที่ผ่านมาคุณลุงคิดว่าดีขึ้นจากอะไรล่ะ” ในใจก็กลัวจะตอบว่าสมุนไพรอีก แต่ครั้งนี้คุณลุงตอบว่า “ไม่รู้สิ”
“ในความคิดของผม คุณลุงดีขึ้นจากการทำกายภาพนะ การพยายามฝึกใช้ร่างกายข้างที่อ่อนแรงให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม” ผมชื่นชมสิ่งที่คุณลุงทำ แล้วหาทางวกกลับมาที่ข้อเจรจา “แต่ผมก็เป็นห่วงว่าคุณลุงจะเป็นซ้ำอีกรอบจากการที่ความดันฯ สูง”
“เอาอย่างนี้มั้ย เราเจอกันครึ่งทาง หมอมาจากโรงพยาบาล คุณลุงไปจากบ้าน แล้วมาเจอกันที่อนามัย เมื่อก่อนคุณลุงอาจไม่สะดวกไปรับยาไกล แต่เดี๋ยวนี้มีหมอวนออกมาตรวจคนไข้ที่นี่ทุกเดือนแล้ว” ผมเสนอทางเลือก “คุณลุงสามารถกินยาของหมอ แล้วก็กินยาบำรุงของคุณลุงไปพร้อมกันได้”
“ตอนที่ไปรับยานี่ใหม่ๆ” คุณลุงเปรยถึงยาสมุนไพร “หมอเขาก็บอกว่าให้กินคู่กับยาของโรงพยาบาลไปเลย แต่ผมลองกินของเขาอย่างเดียวก่อน”
“เห็นไหมว่าหมอที่โน่นยังบอกแบบเดียวกันเลย” พี่พยาบาลเห็นท่าทีคุณลุงแบ่งรับแบ่งสู้ เลยช่วยกันโน้มน้าวอีกแรง “หมอเขาอยากให้คุณลุงกลับไปกิน ‘ยาหลวง’ ที่เป็นยาของโรงพยาบาล ส่วนยาสมุนไพร คุณลุงจะกินต่อก็ได้”
“หมอไม่ได้ห้ามคุณลุงเลยนะ” ผมยืนยันว่าผมยอมถอยให้คุณลุงด้วยเหมือนกัน
สุดท้ายคุณลุงก็ตกลง
“ได้ เดี๋ยวรอบหน้า ผมจะไปให้หมอวัดความดันฯ ที่อนามัยเลย” ทันทีที่คุณลุงพูดเช่นนั้น ผมก็แทบกลั้นน้ำตาแห่งความดีใจไว้ไม่อยู่ (บ่อน้ำตาตื้นเป็นทุนเดิม) ไม่ได้คาดหวังมาก่อนว่าการเยี่ยมบ้านเพียงครั้งเดียวจะสามารถเปลี่ยนใจคุณลุงได้ เพียงแค่มาตรวจคนไข้ที่ไม่ยอมไปตามนัดเท่านั้น “โอเค งั้นเดี๋ยวรอบนี้ให้คุณป้าไปเอายาให้ก่อนนะครับ”
…
ผมสบโอกาสแนะนำคุณลุงเรื่องการกินเค็มอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสังเกตเห็นถ้วยใส่ซีอิ๊วขาววางอยู่ใกล้ชามข้าวบนโต๊ะ คุยไปคุยมาก็รู้ว่าคุณลุงชอบกินเค็มมาก บางมื้อก็กินข้าวใส่เกลือ ในขณะที่การรักษาโดยไม่ใช้ยาตามหลัก “3 อ. 2 ส.”—อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ งดสุราและงดสูบบุหรี่ ทุกข้อก็สำคัญไม่แพ้การไปตรวจตามนัดและรับยามากินสม่ำเสมอ แต่ถ้าให้เลือกปรับอย่างหนึ่งก่อน คนไข้ก็น่าจะเลือกเปลี่ยนอาหารเป็นอย่างแรก เพราะสามารถลงมือทำได้เลยในทุกมื้อ
ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป
ทีละคืบ
ยังไม่เอาศอก
คุณลุงมีนัดกับ รพ.สต.ทุกเดือน เดือนหน้าก็คงต้องเน้นย้ำแค่เรื่องการกินยากับอาหารอีกรอบ ไว้อีกเดือนค่อยแนะนำเรื่องอื่นอีกที
“งั้นตกลงตามนี้นะครับ เราคุยกันเรื่องที่คุณลุงจะไปรับยาที่อนามัย และจะลดความเค็มในอาหารลง” ผมสรุปการเยี่ยมบ้านคนไข้ในวันนี้ “ส่วนคุณป้าก็ต้องช่วยผมเรื่องกับข้าวกับปลาด้วยนะ” ผมไม่ลืมที่จะดึงภรรยาของคุณลุงมาเป็นแนวร่วม เพราะบางครั้งคุณป้าก็ทำกับข้าวกินเอง บางครั้งก็เป็นคนไปซื้อกับข้าวถุงมาให้คุณลุงกิน ซึ่งตลอดเวลาที่นั่งคุยกัน คุณป้าให้นั่งลุ้นเอาใจช่วยอยู่ใกล้ๆ
“ไหนจับมือกันหน่อยคุณลุง” แทนคำสัญญา
แรงบีบมือข้างขวาที่เคยเป็นสโตรกมาก่อน แทบจะไม่ต่างจากแรงบีบของผมเลย
…
คนไข้ที่รักษายากที่สุดแบบหนึ่ง อาจไม่ใช่คนไข้แบบที่มาตรวจรักษากับหมอในโรงพยาบาล แต่อาจเป็นคนไข้แบบที่ไม่อยากมารักษาที่โรงพยาบาลก็เป็นได้ วิธีการที่หมอจะสามารถเข้าถึงคนไข้แบบนี้ก็คือการสลับทิศทางการตรวจรักษา แทนที่จะทำงานในโรงพยาบาลประจำอำเภออย่างเดียวก็สลับออกไปตรวจที่ รพ.สต.ด้วย คนไข้บางคนอยู่ไกล ก็จะไม่อยากจ้างรถไปส่งหรือต่อรถหลายทอด หรือแม้แต่ไหว้วานลูกหลานลางานไปส่ง
จากที่นั่งตรวจคนไข้ในห้องก็สลับไปลงเยี่ยมบ้านบ้าง เพื่อจะได้ทำความเข้าใจคนไข้ในบริบทที่เขาใช้ชีวิตอยู่ทุกวันๆ เพราะเมื่อเปรียบเทียบเป็นเวลาบนหน้าปัดนาฬิกาชีวิตของคนไข้แล้ว การเข้าพบหมอในห้องตรวจก็อาจกินเวลาเพียงช่วงเข็มวินาทีกระดิกเท่านั้น ยิ่งถ้าคนไข้บางคนเคยมาโรงพยาบาล แต่อยู่ดีๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ อยู่ดีๆ เปลี่ยนไปไม่รู้ทำไม… ไม่ยอมมารพ. ก็ต้องไปเยี่ยมบ้านอย่างยิ่งเพื่อดูว่าเกิดอะไรเหมือนกับที่ผมชวนพี่พยาบาลประจำ รพ.สต.ลงไปเยี่ยมคุณลุงท่านนี้ (ไม่รู้ใครชวนใครก่อนกันแน่)
ส่วนจะสามารถพาคนไข้กลับมารักษาเหมือนเดิมได้หรือไม่
ผมคิดว่าก็ขึ้นอยู่กับขนาดของหัวใจ—ความใจกว้างและความใส่ใจในการรับฟังของเราอยู่เหมือนกัน.
Tags: การแพทย์, โรคหลอดเลือดสมองตีบ, Stroke, รพ.สต., โรคความดันโลหิตสูง