ความเสี่ยงจากโรคระบาดเป็นหัวข้อที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกกล่าวถึงอยู่เนืองๆ โดยในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา เราคงได้ผ่านตาชื่อโรคระบาดกำเนิดใหม่ อย่างซาร์ส (SARS) หรือเมอร์ส (MERS) รวมถึงโรคเก่าที่กลับมาระบาดอีกครั้งหรือแพร่กระจายไปยังพื้นที่ใหม่อย่างอีโบลา (Ebola) และซิกา (Zika) โรคระบาดเหล่านี้ทำลายชีวิตและทำร้ายเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ยากไร้ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่อ่อนแอ
สิ่งสำคัญที่ประเทศเหล่านี้ขาดแคลนคือ ‘เงิน’ ที่จะมาใช้พยุงเศรษฐกิจและจำกัดการระบาดของโรค โดยอาจต้องรอความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอาจล่าช้าหรือไม่เพียงพอ
ธนาคารโลก (World Bank) ได้พยายามคิดค้นช่องทางเพิ่มเงินทุนให้กับโครงการจัดการงบประมาณฉุกเฉินเพื่อรับมือการระบาดครั้งใหญ่ (The Pandemic Emergency Financing Facility: PEF) ซึ่งตั้งเป้าหมายช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุดในการรับมือวิกฤตโรคระบาดระหว่างประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการจำหน่ายหุ้นกู้โรคระบาด (Pandemic Bond) มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงโรคระบาดจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังนักลงทุนทั่วโลก
หุ้นกู้โรคระบาดมีอายุ 3 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภท A จ่ายดอกเบี้ยอัตราลอยตัวเทียบเท่ากับ USD LIBOR + 6.50% ครอบคลุมการระบาดของโรคหวัดและโคโรนาไวรัส ส่วนประเภท B จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา USD LIBOR + 11.10% ครอบคลุมโรคระบาดเพิ่มเติม เช่น ไข้ริฟต์วาลเลย์ (Rift Valley fever) และอีโบลา หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับดีเยี่ยมจากนักลงทุนโดยมีความต้องการซื้อสูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าเสนอขาย
นวัตกรรมทางการเงินข้างต้นสร้างสถานการณ์ที่ดูเหมือนว่าใครๆ ก็ได้ประโยชน์ นักลงทุนสถาบันมีสินทรัพย์ประเภทใหม่ซึ่งความเสี่ยงไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจแต่อ้างอิงจากการระบาดของโรคแถมยังได้รับผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ ประเทศกำลังพัฒนามีกองทุนหนุนหลังไว้อุ่นใจหากเผชิญกับการระบาดที่ไม่คาดฝัน ส่วนธนาคารโลกก็สามารถบรรลุเป้าหมายในการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้น
การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ประเทศยากจนที่เสี่ยงต่อการเผชิญกับโรคระบาดมองมายังหุ้นกู้ดังกล่าวอย่างมีความหวัง ทั่วโลกต่างจับตาว่าเมื่อใด เงินที่รวบรวมไว้จะเปลี่ยนมือไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดลุกลาม แต่กลับเจอปัญหายุ่งยากมากมายว่าด้วยเงื่อนไขยาวเหยียดต่อท้ายสัญญาว่าเมื่อใดถึงจะจ่ายเงินช่วยเหลือได้ ล่วงเลยมาถึงเดือนเมษายน ในวันที่ผู้ติดเชื้อร่วมสามล้านคนและผู้เสียชีวิตราวสองแสนคนทั่วโลก เงินก้อนแรกจึงเริ่มถูกแจกจ่ายให้กับประเทศยากจน
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะชวนมาทำความรู้จักหุ้นกู้โรคระบาด รวมถึงบทเรียนจากโควิด-19 เพื่อออกแบบนวัตกรรมถ่ายโอนความเสี่ยงที่ดีกว่าในอนาคต
หุ้นกู้ภัยพิบัติคืออะไร
หุ้นกู้โรคระบาดซึ่งจัดอยู่ในประเภทหุ้นกู้ภัยพิบัติ (Catastrophe Bonds) ตราสารหนี้ความเสี่ยงสูงลิ่วที่มีการซื้อขายครั้งแรกเมื่อราว 30 ปีก่อนเพื่อให้บริษัทประกันภัยโอนถ่ายความเสี่ยงด้านภัยพิบัติให้กับนักลงทุน หากจะเรียกว่าเป็นลูกครึ่งระหว่างตราสารหนี้กับการประกันภัยคงไม่ผิดนัก โดยนักลงทุนจะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่จะสูญเงินต้นบางส่วนหรือทั้งหมดทันทีหากเกิดเหตุการณ์ที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น พายุเฮอร์ริเคน แผ่นดินไหว รวมไปถึงโรคระบาด ซึ่งสามารถกำหนดรายละเอียดยิบย่อยตามแต่สองฝ่ายจะตกลงกัน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงของแผ่นดินไหว หรือจำนวนผู้ติดเชื้อ
เพื่อให้พอเห็นภาพ สมมติว่าเราลงทุน 10,000 บาทในหุ้นกู้ภัยพิบัติแผ่นดินไหวอายุ 3 ปี จ่ายอัตราดอกเบี้ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี โดยมีสัญญากำหนดว่าผู้ออกหุ้นกู้จะนำเงินก้อนดังกล่าวไปชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติหากเกิดแผ่นดินไหวความรุนแรงมากกว่า 6 ริกเตอร์ที่มีศูนย์กลางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ถ้าตลอด 3 ปีไม่มีแผ่นดินไหวตามที่ระบุไว้ในสัญญา เราจะได้รับเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทนรวม 13,000 บาท แต่หากเกิดแผ่นดินไหวหนึ่งเดือนหลังจากเราซื้อหุ้นกู้ ก็เป็นอันว่าเงินลงทุนทั้งหมดหรือบางส่วนจะสูญสลายไปในอากาศตามที่ระบุไว้ในสัญญา
อ่านผ่านๆ การลงทุนในหุ้นกู้ดังกล่าวอาจดูไม่ต่างจากการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลสักเท่าไร แต่จุดเด่นของหุ้นกู้ภัยพิบัติที่ทำให้นักลงทุนสถาบันหลงรักคือความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์นี้แทบจะไม่สัมพันธ์กับความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจหรือความเสี่ยงในตลาด กล่าวคือ ต่อให้จะเกิดวิกฤตการในโลกการเงิน เศรษฐกิจซบเซาจนอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดิน นักลงทุนก็ยังมีรายได้ดอกเบี้ยอย่างสม่ำเสมอจากหุ้นกู้ภัยพิบัติ
ที่สำคัญ หุ้นกู้ภัยพิบัติยังช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมประกันภัย เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวเป็นการระดมเงินทุนให้กับบริษัทประกันในช่วงเวลาที่ต้องการเงินสดมากที่สุดนั่นคือการเกิดภัยพิบัติเป็นวงกว้างต่อสินทรัพย์ที่บริษัทรับประกันไว้ แต่นักลงทุนก็ควรท่องให้ขึ้นใจว่ายิ่งผลตอบแทนสูงมากเท่าไร ความเสี่ยงก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ภัยธรรมชาติมีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหายมากขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น
ทำไมหุ้นกู้โรคระบาดถึงจ่ายเงินช่วยเหลือแสนยากเย็น
ภาวการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงไปทั่วโลกทำให้หลายประเทศมั่นใจอย่างยิ่งว่าจะเป็นไปตามเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือจากหุ้นกู้โรคระบาดแก่ประเทศกำลังพัฒนาที่รอการช่วยเหลือ แต่ความเป็นจริงไม่ง่ายเช่นนั้นและกว่าที่เงินก้อนแรกจะเดินทางเข้าสู่กระเป๋าประเทศปลายทางได้ ก็ต้องใช้เวลาร่วมสี่เดือน
ปัญหาหลักอยู่ที่เงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือประเทศยากจนประกอบด้วยตัวชี้วัดจำนวนมาก ทั้งระดับการระบาด จำนวนผู้เสียชีวิต อัตราเร็วของการแพร่กระจายไวรัส และอีกสารพัดที่จะต้องอ้างอิงจากข้อมูลสาธารณะขององค์การอนามัยโลก เงื่อนไขและข้อกำหนดของหุ้นกู้โรคระบาดอยู่ในเอกสารแนบที่ยาวเหยียดถึง 368 หน้า
ที่สำคัญ การประเมินว่าจะจ่ายเงินหรือไม่นั้นสามารถเริ่มได้เร็วที่สุดภายใน 12 สัปดาห์หลังจากมีการประกาศว่ามีการระบาดอย่างเป็นทางการนั่นคือวันที่ 9 เมษายน 2563 โดยรายงานฉบับแรกระบุว่ายัง ‘ไม่จ่าย’ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังไม่เพิ่มในอัตราทวีคูณ (Exponential Rate) ในกลุ่มประเทศยากจน แต่สัปดาห์ต่อมาธนาคารโลกก็ตัดสินใจจ่ายเนื่องจากรายงานฉบับที่สองระบุว่าการระบาดเป็นไปตามเงื่อนไขทุกประการ เป็นเงินมูลค่า 195.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับกลุ่มประเทศยากจน 76 ประเทศทั่วโลก ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่มากนักหากเทียบกับความต้องการของประเทศปลายทาง
นวัตกรรมทางการเงินซับซ้อนที่ดู ‘เหมือนจะดี’ ในวิธีคิด แต่เมื่อเจอวิกฤตจริงกลับมีปัญหาหลายประการ
ในฝั่งของประเทศปลายทางที่รอการช่วยเหลือ จะเห็นว่ากว่าเงินจะออกจากกระเป๋านักลงทุนก็ล่าช้ามากเนื่องจากต้องรออย่างน้อยร่วมสามเดือน แถมยังมีเงื่อนไขสลับซับซ้อนที่ต้องมีการระบาดรุนแรงเสียก่อนถึงจะจ่าย ย้อนแย้งกับความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกที่ต้องการจำกัดการระบาดให้อยู่ในวงแคบโดยเร็วที่สุด ผ่านการบังคับใช้นโยบายเว้นระยะห่างทางกายภาพหรือการล็อกดาวน์ ซึ่งจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อแต่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ เงื่อนไขข้างต้นยังมีจุดบอดสำคัญนั่นคืออ้างอิงสถิติอย่างเป็นทางการ แต่ในความเป็นจริงกลุ่มประเทศยากจนซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพที่ไม่ครอบคลุมและงบประมาณที่จำกัดย่อมไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะตรวจการระบาดของโรคได้อย่างเที่ยงตรง อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อในจำนวนที่ต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งจะทำให้โอกาสที่หุ้นกู้ดังกล่าวจะจ่ายเงินช่วยเหลือนั้นต่ำเตี้ยเรี่ยดิน หากวิกฤตไม่รุนแรงจริงๆ
ในฝั่งของนักลงทุนก็ไปไม่ถึงฝัน จากความคาดหวังที่จะกระจายความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจขาลงแล้วมาลงกับความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด แต่ปัจจุบันกับเผชิญกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัด นั่นคือเกิดการระบาดครั้งใหญ่ที่ทำให้สูญเสียเงินต้นบางส่วนจากการลงทุนในหุ้นกู้โรคระบาด แล้วเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงตลาดทุนและตลาดเงินก็พร้อมใจกันร่วงระนาว
ความล้มเหลวของหุ้นกู้โรคระบาดจึงเป็นบทเรียนสำคัญที่เหล่านักการเงินผู้หวังดีต้องเรียนรู้ เพื่อออกแบบนวัตกรรมทางการเงินที่สอดคล้องกับการป้องกันโรคระบาดในความเป็นจริง หรืออาจล้มเลิกความพยายามที่จะโอนความเสี่ยงเหล่านั้นให้กับนักลงทุนในตลาด และหันกลับมาใช้เครื่องมือทางการเงินดาษๆ ที่เรียบง่ายแต่รวดเร็ว
เอกสารประกอบการเขียน
Deadly Virus Fails to Trigger World Bank’s Pandemic Bonds
Coronavirus spread triggers World Bank pandemic bond payout
Pandemic Bonds: What the WHO’s Declaration Means for Investors
Tags: โควิด-19, ธนาคารโลก, หุ้นกู้โรคระบาด, Pandemic Bond