*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของนวนิยาย*

เคยมีใครสักคนกล่าวไว้ในทำนองว่า รากฐานของอารยธรรมคือความรู้สึกอับอาย เพราะความรู้สึกอับอายคือกลไกอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้ควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง แต่ด้วยตรรกะนี้ ก็อาจกล่าวได้เช่นกันว่า รากฐานของอารยธรรมคือการที่เรารู้จักปลดปล่อยตัวเองออกจากความรู้สึกอับอายต่างหาก และในโลกของคนที่พยายามจะหลีกเลี่ยงความอับอาย อาจไม่เข้าใจความอับอายในฐานะสุนทรียะอย่างหนึ่ง

ไร้เกียรติยศ (Disgrace) นวนิยายของ J.M. Coetzee นักเขียนรางวัลโนเบลปี 2003 มีฉากหลังอยู่ในประเทศแอฟริกาใต้ เล่าเรื่องราวของเดวิด ลูรี ศาสตราจารย์วัย 52 ผู้ผ่านการแต่งงานและหย่าร้างมาแล้วสองครั้ง เขาพึงใจกับวิถีชีวิตแบบเพลย์บอย และมีความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัดกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา แต่แล้ววันหนึ่งจุดพลิกผันครั้งใหญ่ก็มาถึง เมื่อเขาได้พบกับเมลานี ไอแซกส์ นักศึกษาสาวคนหนึ่งในคลาสที่เขาสอน เขามีโอกาสได้อยู่กับเธอตามลำพังโดยบังเอิญระหว่างทางกลับบ้าน ทั้งสองเดินคุยกันไปเรื่อย ๆ และท้ายที่สุดเขาก็โอ้โลมจนเธอยอมไปกินมื้อค่ำที่บ้านของเขา และโอ้โลมจนเธอยอมหลับนอนกับเขา กลิ่นกายและรสสัมผัสของเธอปลุกไฟปรารถนาในตัวเขาให้ลุกโชน

แต่ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกศิษย์สาวก็มีอันต้องจบลงในระยะเวลาอันสั้น เมื่อเรื่องเกิดอื้อฉาวขึ้นมา และเขาถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนพฤติกรรม เรื่องมันอาจจะจบลงง่าย ๆ ถ้าเขายอมเล่นตามเกม และประนีประนอมตามข้อเสนอที่คณะกรรมการเสนอให้ ด้วยการออกมายอมรับผิดและแถลงการณ์ขอโทษสังคม ตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ซึ่งคณะกรรมการเล็งเห็นว่าวิธีนี้จะช่วยให้เขากลับมายืนอยู่ในสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็อย่างที่เราพอจะเดาทางได้ เขาปฏิเสธหัวชนฝาไม่รับข้อเสนอใดๆ ทั้งสิ้น เขายอมรับความผิดและยอมรับโทษตามที่ถูกกล่าวหา แต่อย่าได้หวังว่าเขาจะออกมาแถลงต่อสังคมด้วยสีหน้าโศกสลดว่า “ผมผิดไปแล้ว” และหลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการขัดเกลาทางสังคมและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ รอเวลาให้สังคมอ้าแขนต้อนรับเขาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่อาจยอมรับได้ ดังที่เขาคุยเรื่องนี้กับลูกสาวของเขาในภายหลังว่า

“มันเตือนให้พ่อนึกถึงประธานเหมาของจีนมากเกินไป…ลบล้างความเชื่อดั้งเดิม วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง กล่าวขอโทษต่อสาธารณชน พ่อเป็นคนหัวโบราณที่ยินดีถูกจับขึงกำแพงแล้วยิงทิ้งมากกว่า สิ้นเรื่องกันไป”  (หน้า 86)

หากมองในแง่การนิยามตัวเอง เมื่อคนคนหนึ่งสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง อำนาจเพียงอย่างเดียวที่เขาพอจะมีเหลืออยู่ก็คืออำนาจในการนิยามตัวเอง เดวิดขืนต้านอย่างแข็งกร้าวเมื่ออำนาจทางศีลธรรมพยายามจะ ‘ชำแรกเข้าครอบงำ’ ตัวตนของเขา เพราะอำนาจของการนิยามไม่ได้อยู่แค่การให้ความหมายว่าอะไรเป็นอะไร แต่มันยังหมายถึงการตัดสิน การจัดระเบียบ การขจัดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาออกไป แต่เดวิดไม่ต้องการเป็นบทเรียนทางศีลธรรมสำหรับใคร เขารู้แน่ว่าเมื่อสบโอกาส เขาจะต้องทำมันอีก นอกจากเขาจะไม่ยอมเล่นบทคนที่รู้สึก ‘อับอาย’ ในการกระทำของตัวเองตามที่สังคมคาดหวังแล้ว เขายังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอย่างไม่สะดุ้งสะเทือนอีกด้วยว่าเขารู้สึก “อิ่มเอม” กับความสัมพันธ์นั้น

จุดหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้นวนิยายเรื่องนี้จะเร้าความสนใจของผู้อ่านด้วยประเด็นความสัมพันธ์อันหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมระหว่างศาสตราจารย์หนุ่มใหญ่กับลูกศิษย์สาว แต่เราจะพบว่าตลอดทั้งเล่ม ผู้เขียนแทบจะไม่เปิดประเด็นอภิปรายในเรื่องเพศวิถีของตัวละครและข้อถกเถียงในทางทฤษฎีเฟมินิสม์เลยแม้แต่น้อย ราวกับว่าผู้เขียนไม่ได้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหาความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวละคร แต่เพื่อเจาะเข้าไปในกระแสความคิดของเดวิด ลูรี ว่าเขาจะผลัก ‘ความเชื่อ’ ของตัวเองไปสุดทางได้มากแค่ไหน เป็นไปได้หรือไม่ว่าการยืนหยัดปกป้องสิ่งที่มีมลทิน อาจมีแง่มุมให้ถกเถียงได้มากกว่าการต่อสู้เพื่อสิ่งดีงามบริสุทธิ์เสียอีก อะไรจะน่าตื่นเต้นกว่ากันระหว่างศาสตราจารย์ที่ลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ กับศาสตราจารย์ที่ลุกขึ้นมาปกป้องกามราคะของตัวเอง

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการยืนหยัดปกป้องสิ่งที่มีมลทิน อาจมีแง่มุมให้ถกเถียงได้มากกว่าการต่อสู้เพื่อสิ่งดีงามบริสุทธิ์เสียอีก

หากจะพิจารณาในแง่ของความเป็น ‘ผู้บริสุทธิ์’ เราจะพบว่าเดวิดไม่เคยแก้ต่างให้ตัวเองว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกศิษย์สาวเป็นความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย สิ่งเดียวที่เขาพอจะยืนยันได้ก็คือ ‘ความปรารถนา’ ของตัวเขาเอง ความปรารถนาอันบริสุทธิ์ ซึ่งราวกับว่ามันคือภาคปฏิบัติที่เขากลั่นกรองและตีความออกมาจากบทกวีของเวิดส์เวิร์ท เป็นความบริสุทธิ์เชิงกวี ดังตัวอย่างในฉากที่เขากำลังเลคเชอร์เกี่ยวกับบทกวีของเวิดส์เวิร์ทในคลาสเรียน แล้วค่อยๆ เปลี่ยนนัยยะในบทกวีนั้นให้กลายเป็นการเกี้ยวพาราสีอย่างแนบเนียน ภาพไอหมอกกำลังปกคลุมยอดเขาแอลป์ที่เวิดส์เวิร์ทบรรยายอากัปกิริยาของมันว่าเป็นการ “ชำแรกเข้าครอบงำ” กลายเป็นสิ่งที่ล้อไปกับวิธีที่เขากระทำต่อลูกศิษย์สาว ไฟปรารถนาของเขาค่อย ๆ รุกคืบเข้าไปในชีวิตของเธอ แต่เมื่อหมอกสลายลง เขาก็กลับประหวั่นพรั่นใจกับภาพที่เห็น ยอดเขาในยามที่ไม่ถูกโอบคลุมด้วยม่านหมอก กลายเป็นสิ่งที่รบกวนจินตนาการบริสุทธิ์ของเขา จินตนาการของเขากำลังแปดเปื้อนด้วยภาพฉับพลันของสิ่งที่เขาไม่ได้จินตนาการไว้

อาจกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเมลานี ไอแซกส์ คือความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างผู้ตีความกับสัญลักษณ์ ผู้อ่านกับตัวบท เป็นความใฝ่ฝันเชิงกวี เป็นแฟนตาซีทางวรรณกรรม หล่อนเป็นตัวบทที่ไม่ต่อต้าน ไม่ขัดขืน ง่ายต่อการให้และเสพรับความหมายกลับคืน ดังนั้น เมื่อเดวิดต้องเผชิญกับอำนาจการนิยามของสังคม เขาไม่ได้แค่เพียงขัดขืนต่ออำนาจนั้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึง Authority หรืออาญาสิทธิ์ในการนิยามสิ่งต่างๆ ของตัวเองด้วย เขาทำสิ่งเดียวกันกับที่เวิดส์เวิร์ททำ คือ ปกป้องจินตนาการบริสุทธิ์ซึ่งกำลังดื่มด่ำกับพวยไอของม่านหมอก

วามสัมพันธ์ระหว่างเขากับเมลานี ไอแซกส์ คือความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างผู้ตีความกับสัญลักษณ์ ผู้อ่านกับตัวบท เป็นความใฝ่ฝันเชิงกวี เป็นแฟนตาซีทางวรรณกรรม

หลังการสอบสวนสิ้นสุดลง เดวิดตัดสินใจลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขาปลีกตัวออกจากสังคมเมืองมาอยู่กับลูซี ลูกสาวของเขา ซึ่งเลือกใช้ชีวิตแบบ “ฮิปปี้” ด้วยการปลูกบ้านและทำไร่ทำสวนอยู่ท่ามกลางหมู่คนผิวสีในเขตชนบท เดวิดตั้งใจจะใช้ช่วงเวลานี้ในการทบทวนชีวิตของตัวเองและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเขากับลูกสาว แต่ไม่นานเขาก็ได้เรียนรู้ว่าการจะใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้ ต้องยินยอมปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์บางอย่างของสังคม กฎเกณฑ์ซึ่งในมุมมองของลูซีแล้วคือหนทางของการอยู่รอด แต่ในมุมของเดวิด เขากลับเห็น (และพยายามชี้ให้เธอเห็น) ว่ามันคือความอยุติธรรมและป่าเถื่อน

เราอาจจะมองได้ว่าเนื้อเรื่องในส่วนนี้กลับกลายเป็นความ irony อย่างหนึ่ง ราวกับว่าชะตากรรมกำลังเล่นตลกกับเดวิดด้วยการส่งเขาไปอยู่ในดินแดนล้าหลังและห่างไกล เมื่ออยู่ที่นี่ เขาต้อง “ใช้แรงงาน” ทั้งวัน ทั้งงานช่าง งานเกษตรกรรม กระทั่งเป็นจิตอาสาในคลินิกรักษาสัตว์ หากมองในแง่นี้บทบาทของเขาก็แทบไม่ต่างจากเหล่าปัญญาชนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่ถูกส่งไปทำไร่ไถนาในชนบทห่างไกลเพื่อลบล้างความเชื่อดั้งเดิม มันคือโลกอีกใบหนึ่งที่สถานะของความเป็นปัญญาชนของเขาและคุณค่าความเป็นสมัยใหม่ (กฎหมายและความยุติธรรม) ไม่มีความหมาย ราวกับว่าเขาเนรเทศตัวเองจากสังคมเมืองที่เปี่ยมด้วย ‘ศีลธรรม’ ซึ่งเขาขยะแขยง มาสู่โลกอีกใบหนึ่งที่ ‘ป่าถื่อน’ ยิ่งกว่า ไม่ใช่เพราะว่าดินแดนแห่งนี้ไม่มีความยุติธรรม แต่เป็นเพราะว่าดินแดนแห่งนี้ไม่เคยได้รับความยุติธรรมมาตั้งแต่แรกต่างหาก แล้วเขาจะเรียกร้องอะไรจากดินแดนที่ถูกทอดทิ้งแห่งนี้?

หากมองในแง่นี้บทบาทของเขาก็แทบไม่ต่างจากเหล่าปัญญาชนในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนที่ถูกส่งไปทำไร่ไถนาในชนบทห่างไกลเพื่อลบล้างความเชื่อดั้งเดิม

และแล้ว ความไม่ลงรอยกันทางความคิดระหว่างเขากับลูกสาวดำเนินมาถึงจุดแตกหักในเช้าวันหนึ่ง มันเป็นเช้าอันสดใสเหมือนทุกๆ วัน เขากับลูซีออกไปเดินเล่นรอบๆ สวน และกำลังจะกลับ หลังจากนั้นไม่นานก็มีกลุ่มชายฉกรรจ์สามคนเดินตรงเข้ามาหาทั้งคู่ พวกเขาอ้างว่าเดินมาจากหมู่บ้านที่ไฟฟ้าและโทรศัพท์ยังไม่เข้าถึง แต่มีเรื่องเร่งด่วนต้องใช้โทรศัพท์ ลูซีจึงพาพวกเขาเข้าไปในบ้าน ก่อนจะพบว่ามันคือฝันร้ายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของสองพ่อลูกไปตลอดกาล เขาถูกทำร้าย บ้านและรถยนต์ถูกปล้น และลูซีถูกข่มขืน

แต่ขณะที่อ่าน เราพบว่ากว่าเดวิดจะกล้าพูดคำว่า “ข่มขืน” ออกมาตรงๆ ก็หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นไปหลายสิบหน้าแล้ว จะสังเกตได้ว่าผู้เขียนจงใจใช้เทคนิคในการหลบเลี่ยงการพูดคำนี้ออกมาตรงๆ เพื่อแสดงถึงความรุนแรงของเหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนต่อร่างกายและจิตใจของตัวละคร และเพื่อแสดงสภาวะอึดอัดของตัวละครที่ไม่อาจกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นอย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะต่างคนต่างยืนยันที่จะจดจำมันคนละแบบ

และหากเราจะมองเหตุการณ์นี้ผ่านกรอบคิดเรื่องการนิยามตัวเองอีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าปฏิกิริยาที่ลูซีแสดงออกมาก็ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เดวิดพยายามขัดขืนต่ออำนาจการนิยามของสังคม แน่ล่ะ ความรักและความหวังดีที่เดวิดมีต่อลูซีก็คือ เขาต้องการทบทวนรายละเอียดของเหตุการณ์การปล้นครั้งนั้นให้กระจ่าง พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเยียวยาบาดแผลในใจ และเอาตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าลูซีต้องการจัดการกับความทรงจำเรื่องนั้นในแบบของเธอเอง ซึ่งเป็นวิธีที่เดวิดมองว่ามันคือการยอมตนในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อ ยิ่งส่งเสริมให้ผู้ชายพวกนั้นลิงโลดในการกระทำของตัวเอง และเท่ากับเปิดโอกาสให้เธอตกเป็นเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า

กว่าเดวิดจะกล้าพูดคำว่า “ข่มขืน” ออกมาตรงๆ ก็หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นไปหลายสิบหน้าแล้ว

แต่ไม่ว่าเดวิดจะโน้มน้าวอย่างไร ลูซีก็ปฏิเสธเสียงแข็ง พร้อมทั้งยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขา เขาไม่ได้มาเห็นด้วยซ้ำว่าพวกนั้นทำอะไรกับเธอบ้าง (เพราะตอนนั้นเดวิดถูกทำร้ายและถูกขังไว้ในอีกห้องหนึ่ง) มันเป็นเรื่องระหว่างเธอกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอแต่เพียงผู้เดียว และมีแต่เธอเท่านั้นที่มีอาญาสิทธิ์ในการนิยามว่าอะไรเป็นอะไร

เดวิดพบว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นคือตัวอย่างอันแหลมคมที่สุดที่โลกใบนี้แสดงกฎเกณฑ์ของมันให้เขาเห็น กฎเกณฑ์ซึ่งสำหรับลูซีแล้วมันคือหนทางในการอยู่รอด กฎเกณฑ์ซึ่งเดวิดหวังว่าลูซีจะตาสว่างเมื่อได้พบกับด้านที่อัปลักษณ์และป่าเถื่อนของมัน แต่กลายเป็นว่าลูซีกลับยอมรับมันโดยดุษณียิ่งขึ้นไปอีก เพราะเธอมองว่าเธอคือคนที่จะอยู่ที่นี่ต่อไป ไม่ใช่เขาซึ่งมาอยู่เพียงชั่วคราวแล้วจากไป ดังข้อความในตอนหนึ่งว่า

“…ถ้าหากว่า สิ่งนั้น คือราคาที่จะต้องแลกกับการอยู่ต่อไปที่นี่ล่ะคะ บางทีพวกมันอาจจะมองแบบนั้นก็ได้ และบางทีหนูก็น่าจะมองแบบนั้นด้วยเหมือนกัน พวกมันมองว่าหนูติดค้างหนี้บางอย่าง พวกมันมองว่าตัวเองเป็นคนตามเก็บหนี้ ตามเก็บภาษี ทำไมหนูจึงจะต้องได้รับอนุญาตให้อยู่ที่นี่โดยไม่ต้องเสียอะไรเลยเล่า บางทีพวกมันอาจจะบอกตัวเองอย่างนั้นก็ได้”  (หน้า 197)

ไม่ว่ากฎแห่งการแลกเปลี่ยนนี้จะยุติธรรมหรือไม่ แต่เธอก็ยอมรับมัน และหากการต้องทนอยู่กับความอยุติธรรมคือความอัปยศอย่างหนึ่ง อะไรคือเหตุผลที่คนคนหนึ่งจะยอมรับแบกรับความอัปยศนั้น? เหตุผลหนึ่งที่อาจเป็นไปได้คือ เมื่อความอัปยศนั้นจะกลายเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่ง ความรู้สึกเย้ายวนใจที่ได้เห็นตัวเองตกต่ำ

Fact Box

ไร้เกียรติยศ (Disgrace) เขียนโดย J.M. Coetzee แปลเป็นภาษาไทยโดย ขจรจันทร์ จัดพิมพ์โดย A Novel สำนักพิมพ์ในเครือนานมีบุ๊คส์

Tags: , , , ,