ยังไม่ทันจะหายจากการระบาดของโรคโควิด-19 (ซึ่งการแจกจ่ายวัคซีนก็ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น) พาดหัวข่าวเรื่องโรคระบาดชนิดใหม่ที่ถูกตั้งชื่อไว้ได้อย่างรุนแรงอย่าง ‘โรคระบาดสายพันธุ์ X’ ที่เริ่มจะกระจายไปทั่วในเวลานี้ ก็ดูจะเป็นการเปิดตัวปี 2021 ได้อย่างเอิกเกริกใช่ย่อย

ข่าวที่ว่านี้พูดถึงโรคชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบในประเทศคองโกซึ่งตั้งอยู่ใจกลางทวีปแอฟริกา ตัวโรคนั้นว่ากันว่ามีคุณสมบัติในการระบาดสูงพอๆ กับโควิด-19 แต่ดันมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงพอๆ กับเชื้ออีโบลาเลยทีเดียว ดังนั้น หากเกิดการระบาดในระดับ ‘Pandemic’ ไปทั่วโลกแล้วละก็ มนุษยชาติอาจจะกำลังประสบกับภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงไม่ต่างจากหนังไซ-ไฟที่มีโอกาสล้างบางเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้กว่าครึ่ง

ทั้งหมดที่ผมกล่าวมานี้อาจจะดูน่ากลัวเกินกว่าจะเป็นความจริงได้ แต่เราต้องไม่ลืมว่าในประวัติศาสตร์ของเรา มนุษย์ได้เจอกับโรคระบาดชนิดใหม่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปในจำนวนมหาศาลมาแล้ว ซึ่งก่อนจะถึงยุคสมัยใหม่ที่การแพทย์ก้าวหน้า มนุษยชาติที่ขาดซึ่งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคล้วนตกเป็นเหยื่อโดยไร้หนทางในการสู้กลับ ไม่ว่าจะเป็นกาฬมรณะที่กาฬโรคระบาดใหญ่ไปทั่วยุโรปและเอเชีย ปลิดชีวิตผู้คนไปมากถึง 200 ล้านคน ไข้หวัดสเปนที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของผู้คนกว่า 500 ล้านคน – ซึ่งหนึ่งในห้านั้นเสียชีวิต หรือโรคมาลาเรีย ไข้เหลือง โรคฝีดาษ วัณโรค และโรคหัดที่มีการระบาดไปทั่วในยุคก่อนการคิดค้นวัคซีน ทำลายทั้งสุขภาพและชีวิตผู้คนไปแล้วนับไม่ถ้วน 

แม้ในปัจจุบันเอง เรายังคงต้องต่อสู้กับโรคระบาดกันอยู่เรื่อยๆ เพราะก่อนหน้าโควิด-19 เราได้เผชิญกับทั้งโรคซาร์ส โรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 และไข้หวัดนกมาแล้ว ซึ่งถึงแม้อัตราการเสียชีวิตจะไม่มากเหมือนแต่ก่อนเพราะความสามารถและองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนามาเป็นร้อยๆ ปี แต่อัตราการติดเชื้อนั้นมิได้ลดน้อยถอยลงไปได้อย่างชัดเจนนัก ยิ่งกับโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อถึง 80 ล้านคน และเสียชีวิตไป 1.8 ล้านคนแล้วในวันที่บทความนี้ถูกเขียนขึ้น (มกราคม 2564) แสดงให้เห็นว่าสายพันธุ์ของเรามิอาจต้านทานโรคระบาดได้ดีอย่างที่เราคิดเลย หากเราเลือกที่จะไม่พัฒนางานวิจัยและระบบป้องกันให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ของโรคระบาดคงเลวร้ายลงกว่านี้อีกหลายเท่าตัว (เอาเข้าจริงโรคที่เราเริ่มจะคุ้นเคยกันแล้วอย่างเอดส์ ซึ่งมีที่มาจากเชื้อเอชไอวี ก็นับว่าเป็นการระบาดในระดับ pandemic ที่ไม่มีวิธีรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ 100% ในปัจจุบัน)

ที่น่าสมเพชที่สุดคือกลับมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่นอกจากจะนำเอาข้อมูลผิดๆ ยัดเยียดใส่ความคิดผู้คนและกระจายสู่สังคม ยังพยายามขัดแข้งขัดขาและตัดกำลังรบของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคระบาดลงเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายต่อต้านการแพทย์และวัคซีน ไปจนถึงบุคคลที่ไม่ยอมปฏิบัติตัวตามหลักการกักกันโรคด้วยความเห็นแก่ตัว ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหนอนบ่อนไส้ที่คอยเปิดช่องให้โรคใหม่ๆ ได้มีโอกาสกัดกินและทำลายแนวป้องกันของมนุษยชาติลงได้อย่างราบคาบ

ดังนั้นแล้ว การกลับมาของโรคระบาดชนิดใหม่ในนาม ‘โรคระบาดชนิด X’ จึงไม่ต่างจากการวนกลับมาอีกครั้งหนึ่งของหมุดหมายแห่งความตายเช่นเดียวกับที่ผ่านๆ มาในชั่วระยะเวลากว่าแสนปีที่สายพันธุ์ของเราได้กำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ เพียงแต่ว่าในครั้งนี้ พวกเราจะพร้อมรับมือและสู้กลับได้มากน้อยเพียงใดนั้น คงเป็นเรื่องราวที่เราจะได้รู้ในอีกไม่นาน

โรคระบาดสายพันธุ์ X แห่งปี 2021 

รายงานการค้นพบโรคที่คาดว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่นี้มีที่มาจากผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เธอเข้ารับการรักษาด้วยอาการที่คาดว่าน่าจะเป็นโรคอีโบลา ซึ่งระบาดเป็นระยะอยู่แล้วในแถบทุรกันดารของทวีปแอฟริกา โดยอาการหลักของโรคนี้มีที่ว่าจากไวรัส Zaire ebolavirus ที่ก่อให้เกิดอาการเช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ไปจนถึงคลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วง ร่วมกับการงานที่ผิดปกติของอวัยวะภายใน อาการรุนแรงของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกภายในและระบบการทำงานของร่างกายล้มเหลวตามมาด้วย ทั้งหมดนี้ส่งผลให้อีโบลาเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก องค์กรด้านการแพทย์ในระดับสากลอย่าง WHO ไปจนถึงหน่วยงานการแพทย์ท้องถิ่นจึงมีระบบการจัดการกับโรคที่เข้มงวดและจับตามองทุกความเคลื่อนไหวของอีโบลาเป็นพิเศษ 

ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยได้ถูกส่งไปยังสถาบัน Congo’s National Institute of Biomedical Research (INRB) ในเมืองหลวงกินชาซา (Kinshasa) หลังการทดสอบภาคสนามตามขั้นตอนปกติ ปัญหาที่ตามมาเลยคือผลตรวจเลือดนั้นไม่พบเชื้ออีโบลา (ผลเป็นลบ) หมายความว่าถ้าไม่เกิดความผิดพลาดในการทดสอบแล้วละก็ นี่อาจจะเป็นโรคใหม่ที่ประพฤติตนเยี่ยงอีโบลา แต่มีความสามารถในการระบาดที่สูงกว่าและน่าจะเริ่มกระจายตัวแล้วในบริเวณที่ผู้ป่วยหญิงรายนี้อาศัยอยู่ (แน่นอนว่าถ้าจริง เธอจะถูกจัดว่าเป็นผู้ป่วยคนแรก หรือ Patient Zero ในทันที) 

Jean-Jacques Muyembe-Tamfum นักจุลวิทยาผู้เป็นหนึ่งในทีมงานดั้งเดิมที่ค้นพบโรคอีโบลา ได้ออกมาเตือนถึงความอันตรายของโรคระบาดชนิด X ว่ามันมีความเป็นไปได้สูงที่เชื้อจะเป็นประเภท Zootonic ซึ่งแพร่ผ่านสัตว์สู่คนได้ ไม่ว่าจะผ่านการสัมผัสโดยตรง ทางอ้อม หรือผ่านพาหะ (โควิด-19 เองก็จัดเป็นเชื้อประเภทนี้ หากมีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว)  เขายังเสริมอีกด้วยว่า เชื้อโรคชนิดใหม่ที่อุบัติขึ้นในอนาคตย่อมมีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งนี่เป็นข้อเท็จจริงที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างยอมรับ แน่นอนว่าโรคระบาดชนิด X เองก็น่าจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยกัน 

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานภาคสนามและนักวิจัยในคองโกเองได้เริ่มดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับและพิสูจน์โรคกันแล้ว ถึงแม้จะยังไม่มีการรายงานการค้นพบโรคอย่างเป็นทางการก็ตาม และทาง WHO เองก็ยังมิได้ทำการประกาศข่าวเรื่องนี้ด้วย (น่าจะเป็นเพราะทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นมากๆ รวมไปถึงหลักฐานที่ยังไม่มากพอ) โดยส่วนตัวผมคาดว่าคงต้องใช้เวลาหลักเดือนในการยืนยันว่าเรากำลังจะเจอกับสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าโควิด-19 หรือไม่ ดังนั้นแล้ว ยุทธศาสตร์กันไว้ดีกว่าแก้จึงเป็นสิ่งที่สมควรทำ ถึงแม้ว่าทรัพยากรทางการแพทย์ในวันนี้ส่วนใหญ่จะถูกทุ่มไปที่การรับมือกับโควิด-19 ในเวลานี้ก็ตาม

ความอันตรายที่แท้จริง 

โรคอุบัติใหม่ส่วนใหญ่ย่อมมีความสามารถในการทำลายล้างสูงในช่วงแรกที่เรายังไม่สามารถตรวจพบหรือยืนยันการมีอยู่ของมันได้ ซึ่งถ้าโรคนั้นมีความสามารถในการแพร่กระจายและอัตราการเสียชีวิตที่สูงรวมกันอยู่แบบคอมโบแล้วละก็ จะยิ่งเป็นอะไรที่อันตรายแบบสุดๆ ยกตัวอย่างเช่น กาฬโรคที่ระบาดในยุคที่มนุษย์ยังไม่ค้นพบวิธีรักษาหรือตัวยาในการรับมือ ผลลัพธ์คือความตายของผู้คนนับล้าน โดยที่โรคนั้นระบาดไปอย่างง่ายดายเป็นเวลาหลายปี 

ดังนั้น ถ้าหากมีการยืนยันถึงการมีอยู่ของโรคระบาดใหม่สายพันธุ์ X ขึ้นมาจริงๆ แล้วละก็ ความอันตรายของมันจะถูกสยบลงได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เราวิ่งทันและหาทางจัดการกับโรคที่ว่านี้ได้อย่างอยู่หมัดเท่านั้น ตัวแปรที่สำคัญที่สุดจึงเป็น ‘เวลา’ ที่ยิ่งเสียไปมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเพลี่ยงพล้ำมากขึ้นเท่านั้น

โควิด-19 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียว เพราะเรามีเวลาเตรียมการล่วงหน้าพอสมควร (จากการระบาดของซาร์ส) และเมื่อเกิดการระบาดจริง ก็ไม่ได้ใช้เวลานานเหมือนแต่ก่อนในการจัดทำระบบทดสอบและตรวจจับที่ใช้งานได้ขึ้นมา ปัญหาดันมาจากการขาดความร่วมมืออย่างเต็มประสิทธิภาพของผู้คนหลายกลุ่มไปจนถึงการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคหรือการขาดแคลนงบประมาณ กำลังคน และทรัพยากรที่จำเป็นทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ ผลลัพธ์ที่ได้คือโรคกระจายและก่อความเสียหายอย่างรุนแรงกับผู้ที่อ่อนแอต่อการติดเชื้อ และด้วยอัตราเร็วที่สูงเกินกว่าการสร้างภูมิคุ้มกันแบบกลุ่ม (herd immunity) จะรับมือไหว เปลวเพลิงจากโควิด-19 จึงยังคงลุกโชติช่วงชัชวาลอยู่จนถึงตอนนี้และยังไม่มีทีท่าจะมอดลงง่ายๆ ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับโลกที่ดูเหมือนจะหยุดหมุนไปแล้วในหลายๆ ด้าน

หากโรคระบาดชนิด X นั้นเลวร้ายขนาดอีโบลาหรือมากกว่านั้นจนถึงขั้นเทียบกับโรคอันตรายในหนังไซ-ไฟทั้งหลายที่อัตราการเสียชีวิตสูงแบบสุดๆ ไปจนถึงเชื้อซอมบี้แล้วละก็ ความอันตรายของมันก็คงดูจะเป็นเรื่องน่ากลัวกว่าโควิด-19 พร้อมกับความอันตรายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว (ไม่แน่ว่าผู้คนจะตระหนักกันมากขึ้นหรือเปล่า แต่ถ้าต้องแลกกับการล่มสลายของอารยธรรมเลยผมว่ามันก็ไม่คุ้มหรอก)

แต่หากมนุษยชาติเลือกที่จะร่วมมือกัน ลงทุนและส่งเสริมงานด้านการแพทย์เต็มกำลังและเมื่อเกิดการระบาดขึ้นจริงก็พร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อกักไม่ให้โรคกระจายออกไปพร้อมกับไล่ทำลายมันไปพร้อมกัน โรคระบาดชนิด X ก็มีโอกาสที่จะถูกสยบลงได้อย่างรวดเร็ว 

นี่อาจจะเป็นเสมือนโลกในฝันอย่างดินแดยูโทเปีย แต่ผมเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในปัจจุบัน เราเลือกที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อให้กับโรคอุบัติใหม่ได้ หากเรา ‘พร้อม’ ที่จะป้องกันและสู้กลับอยู่เสมอ 

รากฐานของยุทธการการรับมือ 

ในเชิงเทคนิคแล้ว ‘โรคระบาดชนิด X’ เป็น placeholder name (ชื่อที่ตั้งให้สิ่งที่ยังไม่ค้นพบหรือเกิดขึ้น แต่คาดเดาและพยากรณ์ได้ถึงการมีอยู่ของมัน) ที่ WHO หรือองค์การอนามัยโลก นำมาใช้เรียกรายการ Blueprint Priority Diseases ซึ่งรวมรายชื่อโรคที่ดูมีความอันตรายและอาจเกิดการระบาดใหญ่ได้ในอนาคต รวมถึงแผนรับมือและข้อมูลทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง

สาเหตุที่ต้องมีการตั้งชื่อกลางเช่นนี้ขึ้นมาก็เพื่อเพิ่มความสะดวกและตรงไปตรงมาในการสื่อสาร รวมถึงปรับแผนวิจัยและพัฒนาของ WHO ให้ครอบคลุมไปทั้งกลุ่มโรค แทนที่จะเจาะไปแค่สายพันธุ์ของโรคไม่กี่ชนิด (จินตนาการแผนรับมือการก่อการร้าย ระบบเตือนภัยล่วงหน้า หรือคู่มือสู้ซอมบี้ เราไม่รู้หรอกว่าภัยจะมาในรูปแบบไหน ข้อมูลที่มีจึงต้องเก็บให้ครบไว้ก่อน และชื่อก็มักจะมีการเรียกรวมๆ เช่น ภัยอันตรายระดับ A, B, C เป็นต้น – ใครอ่านการ์ตูนเรื่อง One Punch Man นี่น่าจะเก็ตมากกว่าคนอื่น) ส่งผลให้กระบวนการทั้งหลายในอนาคตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ตัวชื่อ ‘Disease X’ ถูกรับมาใช้อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ในการประชุม 2018 R&D Blueprint ณ เมืองเจนีวา เพื่อใช้ระบุแทนโรคระบาดอันตรายที่ยังไม่ค้นพบ และน่าจะเป็นภัยต่อมนุษยชาติในอนาคต โดยรายชื่อของโรคคร่าวๆ นั้นประกอบไปด้วยเชื้อไวรัสกลุ่ม Zootonic (ติดต่อจากสัตว์สู่คน), โรคกลุ่มไข้หวัดนก (H7N9), โรคเมอร์ส และซาร์ส, โรคไข้ลัสสา,ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก, โรคอีโบลา, โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์, โรคไข้ริฟต์แวลลีย์, โรคไข้ซิกา, การติดเชื้อแบคทีเรียสมัยใหม่ ที่สามารถดื้อต่อยาปฏิชีวนะได้ ไปจนถึงอาวุธชีวภาพต่างๆ และไม่ต้องห่วงไป เพราะโรคระบาดชนิด X และล่าสุดเลยคือโรคโควิด-19 ก็ได้ถูกรวมเข้าไปในรายการนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ในรายงานของ WHO ได้นิยามโรคระบาดชนิด X เอาไว้ว่า: “Disease X represents the knowledge that a serious international epidemic could be caused by a pathogen currently unknown to cause human disease. The R&D Blueprint explicitly seeks to enable early cross-cutting R&D preparedness that is also relevant for an unknown ‘Disease X’. ” – จึงจัดเป็นกลุ่มหรือประเภทของโรคมากกว่า

ความจริงที่โหดร้ายคือโรคอุบัติใหม่ทั้งหลายเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดจากธรรมชาติโดยตรง แต่เป็นฝีมือมนุษย์อย่างเราๆ นี่เอง เพราะภาวะโลกร้อนที่พวกเราก่อขึ้นเพียงอย่างเดียวก็เป็นตัวเร่งการกระจายพันธุ์ของทั้งพาหะและโรคต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาก่อน ไปจนถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อกลุ่ม Zootonic (โรคระบาดชนิด X ที่กำลังค้นหากันอยู่ในคองโกก็น่าจะมาจากสาเหตุนี้) การล่าและรับประทานสัตว์ต่างๆ ที่เราไม่ควรไปยุ่ง ไม่ว่าจะในรูป bush meat หรือรูปแบบใดก็แล้วแต่ ยิ่งเพิ่มความสามารถในการกลายพันธุ์ของเชื้อจนโจมตีมนุษย์ได้ หากมันเข้าสู่ร่างกายคนในที่สุด

กลายเป็นว่าเรานี่เองที่น่าจะเป็นเชื้อร้ายที่กัดกินโลกใบนี้อยู่อย่างที่เขาว่า และถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป ยุทธการรับมือของเราก็คงจะยื้อต่อไปได้อีกไม่นาน

บทส่งท้าย

‘ตระหนักแต่อย่าตระหนก’

เป็นประโยคที่ผมชอบที่สุดในสถานการณ์ร้ายแรงอย่างภัยธรรมชาติหรือโรคระบาด ถึงแม้ในกรณีนี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนจะพูดประโยคในแนวประมาณที่ว่า – “นี่ไม่ใช่สถานการณ์จากนวนิยายวิทยาศาสตร์ แต่คือความกลัวที่แท้จริง อ้างอิงได้จากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์” (“This isn’t the stuff of science fiction. It’s a scientific fear, based on scientific facts.”)

 จริงอยู่ที่เราต้องกลัวและตระหนกกับภัยที่เรามองไม่เห็นเหล่านี้ แต่กลัวไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา ‘ความกลัว’ ไม่ได้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เรารอดไปได้จากปัญหาที่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังเป็นตัวการปั่นป่วนความพยายามในการแก้ปัญหาที่ว่าเสียอีก หากใครเคยอ่านหรือชมภาพยนตร์เรื่อง The Mist โดย สตีเวน คิง คงจะเห็นภาพชัดเจนเลยว่าความกลัวทำให้มนุษย์อย่างเราๆ ย้อนกลับไปเป็นสัตว์ป่าได้รวดเร็วเพียงไหน หรือตัวอย่างที่ชัดเจนในโลกของเราก็มีให้เห็นอยู่มากมาย ทั้งการล่าแม่มดและวัฒนธรรมผีสางที่ยึดเอาความกลัวมาเป็นปรสิตกัดกินชีวิตคนไปเรื่อยๆ เป็นเวลานาน

ดังนั้นแล้วพวกเราควรจะตระหนักถึงความจริงแล้วพุ่งตรงไปที่การแก้ปัญหาเลยจะดีที่สุด ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านเองน่าจะทราบถึงคอนเซ็ปต์เบื้องต้นของ ‘Disease X’ กันแล้วในตอนนี้ และถ้าเรากำจัดโควิด-19 กันได้เมื่อไหร่ องค์ความรู้ที่ได้กลับมาน่าจะใช้รับมือกับโรคระบาดชนิด X ในยุคของเราได้แน่นอน ขอเพียงคุณเตรียมพร้อมและมั่นใจที่จะสู้กลับเท่านั้นเอง

ขอส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และทีมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายทั่วโลก ที่ในเวลานี้ยังคงเป็นหน่วยรบแนวหน้าในการทำลายล้างโควิด-19 อย่างเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญตลอดมา

 

อ้างอิง 

https://edition.cnn.com/2020/12/22/africa/drc-forest-new-virus-intl/index.html

https://edition.cnn.com/2018/03/12/health/disease-x-blueprint-who/index.html

https://en.wikipedia.org/wiki/Disease_X

www.who.int/activities/prioritizing-diseases-for-research-and-development-in-emergency-contexts

www.businessinsider.in/science/health/news/here-are-the-top-10-virus-and-diseases-that-could-cause-the-next-pandemic-if-they-arent-stopped-in-their-tracks/slidelist/80116787.cms#slideid=80118532

Tags: ,