จะเป็นเจ้าของช่องทีวีสักช่อง ต้องมีเงินสักเท่าไร?

ทีวีที่เราดูกันอยู่ทุกวันนี้ หากเป็นช่องคมชัดสูงแบบที่ทั่วบ้านทั่วเมืองได้ดูละครหลังข่าว ก็มีราคาประมูลอยู่ที่ราวสามพันกว่าล้านบาท หากเป็นช่องที่คมชัดปานกลาง หรือที่เราพอคุ้นกันกับรายการอย่างหน้ากากนักร้อง นั่นก็ราคาอยู่ที่สองพันกว่าล้าน

ตัวเลขนี้เป็นเพียงราคาประมูลตั้งต้น ที่ทำให้สามารถใช้ช่องสัญญาณไปได้ 15 ปี ยังไม่นับค่าเช่าโครงข่ายและต้นทุนการผลิตรายการ ที่รวมแล้ว ปีหนึ่งอาจต้องใช้งบเพิ่มอีกหลักร้อยหลักพันล้าน

ขณะที่รายได้หลักของทีวีพาณิชย์ ส่วนใหญ่มาจากค่าโฆษณา ที่ตลอดปี 2017 มีเม็ดเงินโฆษณาเข้าสู่ทีวีดิจิทัลมีไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท จากช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด 24 ช่อง

คำนวณเลขลบกลบหนี้แบบง่ายๆ ก็น่าจะพอเห็นได้ว่า นี่ไม่ใช่ธุรกิจที่จะทำกำไรได้เร็ว หากสายป่านไม่ยาวพอ

ทบทวนจุดสะดุด ทีวีดิจิทัล

หลังดำเนินการไปได้ไม่นาน ช่องทีวีจำนวนหนึ่งทยอยส่งสัญญาณว่าไปต่อไม่ไหว

เริ่มจากเจ้าแม่สื่อบันเทิงอย่าง ติ๋ม ทีวีพูล พันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ซึ่งประมูลช่องทีวีได้สองช่อง คือช่องไทยทีวี และ LOCA ตัดสินใจยุติการดำเนินงานตั้งแต่ปีแรก และประกาศไม่จ่ายค่าสัมปทานมาตั้งแต่งวดที่สอง หลังลงทุนไปร่วมสองพันล้านบาท แต่เพียงปีแรกก็ขาดทุนไปถึง 320 ล้านบาท

ตามมาด้วยข่าวการเลย์ออฟพนักงานของสื่อทีวีหลายช่องที่เป็นข่าวให้ได้ยินหลายครั้ง ดังกรณีล่าสุด ที่วอยซ์ทีวีประกาศเลิกจ้างพนักงาน 127 ตำแหน่ง ถือเป็นการประกาศเลย์ออฟพนักงานครั้งที่ 2 ของปี ขณะที่ช่องอื่นๆ ก็ส่งสัญญาณลำบาก อย่างเช่นล่าสุดที่เครือเนชันประกาศขายช่อง NOW หานายทุนใหม่ให้รับช่วงต่อไปดำเนินการแทน

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขรายได้ฟรีทีวีและทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2556 – 2559 พบว่าช่องทีวีส่วนใหญ่ขาดทุนปีละ 800 – 2,000 ล้านบาท มีเพียงช่อง 7 ที่กำไร 1,567 ล้านบาท และช่องเวิร์คพอยท์ที่กำไร 106 ล้านบาทในปี 2559

“ต้องยอมรับว่า กิจการทีวี ยังไงก็ต้องเป็นเศรษฐีระดับหนึ่ง บางรายเอาเงินเก็บส่วนตัวมาทำก็อาจเป็นความเสี่ยงเกินไป อย่างกรณีคุณติ๋ม ทีวีพูล การทำทีวีอาจจะต้องเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ หรืออาจต้องกู้ธนาคารที่จะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียน เพราะกว่าจะคืนทุนก็สักพักหนึ่ง” สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาต หรือ กสทช. มองย้อนสถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิทัลให้ฟัง

จำนวนช่องเยอะเกินไป ยอมให้หนึ่งรายประมูลมากกว่าหนึ่งช่อง

ข้อวิจารณ์หนึ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงแรกของการเริ่มต้นทีวีดิจิทัล คือ มีจำนวนช่องเพิ่มขึ้นมามากเสียจนไม่รู้ว่าจะดูยังไงไหว ซึ่งตามแผนแรก กสทช.ไม่ได้คิดจะให้มีจำนวนช่องมากอย่างทุกวันนี้ แต่เมื่อสี่ปีที่แล้ว ทั้งอุตสาหกรรมยังเข้าใจว่าทีวีดิจิทัลจะเป็นขุมทรัพย์ ทำให้มีผู้ที่อยากประมูลช่องจำนวนมาก

กสทช. จึงใช้โอกาสนี้เพิ่มจำนวนช่อง จากช่อง HD ที่เดิมตั้งไว้ 4 ช่องเป็น 7 ช่อง ช่อง SD จาก 5 ช่องเป็น 7 ช่อง ช่องข่าวจากที่มี 5 ช่องก็ปรับเป็น 7 ช่อง ขณะที่ช่องเด็ก ลดจำนวนจาก 5  ช่องเหลือ 3 ช่อง

สุภิญญาเล่าว่า สมัยนั้นมีการทำประชาพิจารณ์และโยนหินถามทางกัน ก็พบว่ามีความต้องการช่องทีวีอยู่มาก ซึ่งเธอเคยเสนอว่า หนึ่งรายควรจะประมูลได้แค่หนึ่งช่องเพื่อป้องกันการผูกขาดเนื้อหาสื่อ แต่ไม่เป็นผล เพราะบอร์ด กสทช. ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

“ผู้ประกอบการภาคเอกชนก็อยากประมูลมากกว่าหนึ่งช่อง เราออกแบบช่องมาสี่ประเภท คือ ช่อง HD ช่อง SD ช่องข่าว และช่องเด็ก ไอเดียคืออยากจะให้หนึ่งรายประมูลได้แค่ช่องเดียวเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและควบรวม และมันจะลดภาระ คือ ถ้ารายใหญ่ๆ ประมูลช่อง HD ไปได้ เขาก็ควรจะไม่มีสิทธิมาประมูลช่องอื่นๆ ถ้าแบบนั้นราคามันก็จะลดลง”

แต่สุดท้ายแล้วก็มีการเพิ่มจำนวนช่อง และเปิดให้รายหนึ่งประมูลได้ไม่เกิน 3 ช่อง โดยมีกติกาอยู่ว่า ผู้ที่ประมูลช่อง HD ได้แล้วไม่สามารถประมูลช่องข่าวได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ผู้ประมูลรายใหญ่ที่มีกำลังทรัพย์มาก ก็ไปแข่งราคากับรายกลาง ช่องที่ไม่คาดว่าจะต้องราคาสูงมากอย่างช่อง SD และช่องเด็ก จึงถูกดันราคาขึ้นสูง ยิ่งดันให้ต้นทุนค่าประมูลมีราคาแพง เมื่อดำเนินการก็ยากจะคุ้มทุนในระยะยาว

“ถ้าจะเป็นวิธีการผิดพลาดหนึ่ง ก็คือ เรื่องวิธีการออกแบบการประมูล ที่ให้ประมูลได้มากกว่าหนึ่งช่อง คือถึงสามช่อง ทำให้รายใหญ่แข่งกัน ได้ไป 2-3 ช่อง แข่งกันอุตลุด แต่ที่จริง ถ้าเราให้ประมูลหนึ่งช่อง แล้วประมูลช่อง HD ก่อน มันจะตัดรายใหญ่ไปเลย แล้วรายใหญ่ก็ไม่ต้องมาแข่งราคากับรายเล็กและรายกลาง ก็จะทำให้ราคาช่องลดลงมาครึ่งหนึ่งเลย”

“แต่นี่เราเปิดโอกาสให้คนที่ได้ HD ช่องใหญ่แล้วมาประมูลช่อง SD และช่องเด็กได้อีก มันก็ดึงราคาให้ช่อง SD และช่องเด็กราคาสูงขึ้น ซึ่งทำให้ไม่คุ้มทุนในระยะยาว” สุภิญญาย้อนจุดอ่อนที่เกิดขึ้นในวิธีการประมูลให้ฟัง

มูลค่าจากการประมูลช่องทีวีดิจิทัล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ

ที่มา: http://www.nbtc.go.th/News/Press-Center/บอร์ดกระจายเสียง-กสทช-รับรองผลการประมูลทีวีดิจิตอล.aspx

เคาะเลขช่องช้าเกินไป

เพราะทีวีดิจิทัลบ้านเรามาช้ากว่าเทคโนโลยีอื่นๆ กว่าจะเริ่มใช้ ครัวเรือนต่างๆ ก็หันไปดูทีวีผ่านระบบบอกรับสมาชิกประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบเคเบิลหรือดาวเทียมที่ฮิตไปก่อนหน้าแล้ว

การมาถึงก่อนไม่เพียงแต่ช่วงชิงพื้นที่วางกล่องข้างจอทีวีของบ้านเรือนส่วนใหญ่ไปแล้วเท่านั้น แต่ช่องแต่ละช่องก็มีดีลกับผู้ให้บริการแต่ละระบบไว้อยู่เดิมแล้วว่า ช่องของตัวเองจะใช้หมายเลขอะไร นัยว่ายิ่งช่องอยู่ต้นๆ ก็ยิ่งดีเพราะคนจำง่าย กดเจอเร็วเมื่อเปิดทีวี

ดังนั้น เมื่อ กสทช. ประมูลทีวีดิจิทัลเสร็จเรียบร้อย ก็เจออุปสรรคใหญ่ ไม่สามารถทำให้ช่องทีวีทั้งหมดเรียงช่องได้ตามเลขที่กำหนดเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มออนแอร์ เพราะ กสทช. ไม่กล้าบังคับให้ผู้ให้บริการทุกระบบมาใช้ลำดับช่องแบบเดียวกัน เนื่องจากผู้ให้บริการเคเบิลและดาวเทียมในฐานะผู้อยู่มาก่อนไม่ยินยอมและเดินหน้าฟ้องร้องดำเนินคดี

“เนื่องจากเราไม่ได้คิดโจทย์ตรงนี้ก่อน ว่าดาวเทียมและเคเบิลจะไม่ยอม เพราะสิบช่องแรกที่เขาถืออยู่เป็นช่องที่มีมูลค่าทางธุรกิจของเขา ส่วนช่องดิจิทัลก็ไม่ยอมเหมือนกัน เพราะเขาจ่ายเพิ่มหลักสิบล้าน แต่กลับไม่ได้เลขช่องกับทุกแพลตฟอร์ม ตรงนี้เสียรังวัดไป 1-2 ปี ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาลกัน กว่าที่สุดท้าย กสทช. จะบังคับเรื่องเลขช่องได้” สุภิญญากล่าว

พฤติกรรมคนดูทีวี ไม่มาด้วย

เรื่องร้องเรียนหนึ่งจากช่องทีวีดิจิทัลก็คือ แม้ช่องต่างๆ ลงทุนประมูลภาคพื้นดินคลื่น จ่ายค่าโครงข่ายราคาแพง แต่สุดท้าย ในช่วงแรก คนก็ยังดูจากช่องทางเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นเสาก้างปลา เคเบิล หรือดาวเทียม

ในเรื่องนี้ สุภิญญามองย้อนไปว่า บทเรียนหนึ่งที่เธออาจทำพลาดไปในฐานะ กสทช. คือเรื่องการกำหนดราคาคูปอง ในครั้งนั้น เธอเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ร่วมผลักดันกับเครือข่ายผู้บริโภคว่าให้กำหนดราคาคูปองโดยคิดเฉพาะราคากล่องรับสัญญาณที่กล่องละ 690 บาท แล้วแจกกล่องอย่างเดียวไม่แจกเสา ขณะที่บอร์ด กสทช. คนอื่นๆ เสนอว่า กล่องควรไปพร้อมกับเสาและตั้งราคาไว้ที่ราวพันบาท

ในตอนนั้น สุภิญญาเกรงว่า หากกำหนดราคาคูปองกล่องรับสัญญาณไว้สูงเกินไป ตัวเลขที่ยั่วยวนอาจนำไปสู่การคอร์รัปชัน

“มันก็มี consequence จากการอยู่ในสังคมที่เราไม่เชื่อใจกัน กลัวจะมีปัญหาคอร์รัปชัน แต่ก็พบว่า จริงๆ ด้วยว่าเมื่อไปแต่กล่อง ไม่มีเสา คนต้องไปซื้อเสาเอง คนก็ไม่อยากติด” นี่ถือเป็นบทเรียนที่สุภิญญามองย้อนไปว่า เป็นส่วนหนึ่งที่เธอก้าวพลาด และอาจทำให้การติดตั้งทีวีดิจิทัลทำได้ไม่ทั่วถึง

“ด้วยความที่เรากลัวเรื่องทุจริต กลัว สตง.จะตรวจสอบ แล้วเราก็ไม่ไว้ใจว่ามันจะโปร่งใส มันทำให้เราเลือกทางที่จะไม่เสี่ยงดีกว่า ซึ่งก็ส่งผลถึงผู้บริโภคเหมือนกันว่า พอเป็นกล่องแบบนี้ แรงจูงใจที่จะเปลี่ยนกล่องก็น้อยลง ถ้าต้องไปหาเสาเองก็ดูจากจานแบบเดิมดีกว่า”

นอกจากนี้ อีกปัญหาหนึ่งที่อาจทำให้คนดูก็ยังลังเลว่าจะขยับไปใช้ระบบทีวีดิจิทัลหรือไม่ ก็คือในช่วงแรก ยักษ์ใหญ่อย่างช่อง 3 เองก็ยังไม่ยอมออกอากาศคู่ขนานระหว่างอนาล็อกและดิจิทัล หรือทำตามกฎที่ว่า Must Carry แต่ยังคงยืนยันจะแพร่ภาพในระบบอนาล็อกเป็นช่องหลัก ส่วนช่องดิจิทัลที่ประมูลมาจะเสนอรายการรีรันไปก่อน

“ตอนนั้น เขากำลังจะแจกกล่องกันแล้ว แต่ยังลุ้นว่ากล่องนั้นจะดูช่อง 3 เดิมได้ไหม ซึ่งถ้าดูไม่ได้ แจกกล่องไปคนก็ไม่อยากดู ก็สู้กันอยู่หลายเดือนจนถึงโรงถึงศาล จนสุดท้ายยอมคู่ขนานวินาทีสุดท้ายก่อนแจกกล่อง”

หากย้อนไปมองปมปัญหานี้ อาจต้องบอกว่า แม้ในบอร์ด กสทช. เองก็มีความเห็นแตกแยก ความไม่เป็นเอกภาพทำให้นโยบายเดินหน้าและถอยหลังยึกยักกันไป

3G คู่แข่งทีวีดิจิทัล

ช่องทีวีไม่ได้แย่งคนดูกันเองระหว่างช่อง แต่อินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วนำพาระบบสตรีมมิง เพิ่มช่องทางทางธุรกิจ และสร้างทางเลือกในการบริโภคสื่อให้ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น

สภาพการแข่งขันเช่นนี้เกิดขึ้นและเป็นกันทั่วโลก แม้แต่ Netflix ซึ่งเป็นบริการสตรีมมิงภาพยนตร์และซีรีส์แบบเก็บค่าสมาชิกรายเดือน ก็ยังเข้ามาช่วงชิงสายตาไปจากคนดู ดังที่ Netflix เองเคยบอกว่า ถ้าจะมีอะไรเป็นคู่แข่ง ก็คงมีแต่ความง่วงของคนดูเท่านั้น ที่จะทำให้ผู้ชมละสายตาไปจากจอได้ เรียกได้ว่า ระบบทีวีไม่ได้อยู่ในสายตาของ Netflix ในฐานะคู่แข่งเลย

“ทั้งสองฝ่าย (กสทช. และช่อง) ประเมินสถานการณ์เรื่องเทคโนโลยีพลาดไป เพราะ กสทช.ประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลพร้อมกับคลื่น 3G เลย ซึ่งอย่าลืมว่าเมืองไทยไม่มี 3G ในตอนนั้น ทุกคนก็คิดไม่ออก พอมีปุ๊บ พี่มอเตอร์ไซค์ก็ใช้ไลน์ใช้เฟซ แล้วตอนนั้นทีวีดิจิทัลก็เริ่มพอดี คนก็นึกไม่ถึง ถ้าเราประมูล 3G ก่อน คลื่นทีวีดิจิทัลก็อาจจะลดมูลค่าลง” สุภิญญากล่าว

อย่างไรก็ดี แม้คนกลุ่มหนึ่งอาจมีทางเลือกในการจ่ายค่าสมาชิกในระบบต่างๆ แต่สำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่ อาจยังต้องยอมรับว่า ฟรีทีวียังคนเป็นช่องทางสำคัญ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ทีวีดิจิทัลมีโอกาสในตลาดอยู่มาก

และโดยเปรียบเทียบแล้ว เมื่อดูมูลค่าเม็ดเงินโฆษณา งบยังคงเทไปที่สื่อทีวี โดยช่องอนาล็อกเป็นสื่อที่ได้รับงบโฆษณามากที่สุด คิดเป็น 40.29 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยทีวีดิจิทัล คิดเป็น 21.57 เปอร์เซ็นต์ โดยขณะที่งบโฆษณารวมสื่อทุกประเภทตลอดปี 2017 ลดน้อยลงกว่าปี 2016 จนน่ากังวล แต่หากดูเฉพาะงบโฆษณาในทีวีดิจิทัล กลับพบว่า เม็ดเงินในปี 2017 เพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2016 เล็กน้อย

ความท้าทายในเวลานี้จึงอยู่ที่ว่า ช่องทีวีจะหาวิธีปรับตัวอยู่กับแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อเข้าให้ถึงคนดู แล้วหาโมเดลทางธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้อย่างไร

ทำไปสี่ปี อยากคืนคลื่นแล้ว

มีข่าวเป็นกระแสมาต่อเนื่องว่าช่องทีวีดิจิทัลจำนวนหนึ่งดำเนินการต่อไม่ไหว บ้างก็อยากจะยืดเวลาจ่ายเงินประมูลงวดที่เหลือ บ้างก็อยากจะเลิกกิจการและคืนช่องแล้ว แต่ตามกติกาปัจจุบัน หากแม้จะคืนคลื่นก็ยังต้องจ่ายเงินประมูลทั้งก้อน

จุดนี้ สุภิญญามองว่า เรื่องเงื่อนไขที่ว่าหากเลิกดำเนินการแล้วจะต้องจ่ายเงินทั้งหมด ก็อาจเป็นกติกาที่แข็งตัวเกินไป หากจะแก้ไขสถานการณ์ในเวลานี้ อาจจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลว่า มีช่องไหนประสงค์อย่างใด แล้วลองหาทางออกที่นอกกรอบในแบบที่วินวินกันทั้งสองฝ่าย เช่น ให้รัฐประมูลคืนคลื่นไปทำอย่างอื่นที่มูลค่าสูงกว่า เพราะในบางประเทศก็ผันเอาคลื่นทีวีไปประมูลคลื่นโทรคมแล้ว เพราะความต้องการด้านนี้สูงขึ้น

สุภิญญาเสนอว่า ทางหนึ่งที่กสทช.มีหน้าที่โดยตรง และสามารถทำได้เลยเพื่อช่วยทีวีดิจิทัล ก็คือการหาทางลดภาระค่าใช้จ่ายให้ช่องต่างๆ ทางหนึ่งคือการลดต้นทุนค่าโครงข่าย หรือ MUX ซึ่งปัจจุบัน ผู้ที่ลงทุนให้เช่าโครงข่ายมีอยู่สามราย คือ กองทัพบก ไทยพีบีเอส และ อสมท. ซึ่งหากมองจากฝั่งผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ยังมีภาระต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายราคาแพง สำหรับช่อง SD จ่ายราวสี่ล้านบาทต่อเดือน และช่อง HD ต้องจ่ายราวสิบล้านบาทต่อเดือน ซึ่งแม้เงินลงทุนด้านโครงข่ายจะสูง แต่เวลานี้ก็น่าจะทำรายได้ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว

“ผู้ให้บริการโครงข่ายควรวางตัวเป็นบริการสาธารณะ ซึ่ง กสทช. เองก็มีหน้าที่โดยตรงเลยที่จะต้องช่วยคุมราคาให้สะท้อนกับต้นทุน และงานด้านการกำกับราคาส่วนนี้เป็นส่วนที่ กสทช. มีอำนาจสามารถทำได้เลย” อดีต กสทช. กล่าว

สำหรับช่องดิจิทัลต่างๆ ที่ประมูลช่องได้ไปนั้น จะมีเวลาดำเนินงาน 15 ปีตามอายุการประมูล สุภิญญาประเมินว่า การประมูลครั้งหน้าหรือครั้งถัดไปอาจถึงคราวที่ต้องมาทบทวนกันว่า สังคมไทยจะยังอยากเก็บคลื่นกระจายเสียง (ฺBroadcasting) เอาไว้หรือไม่ หรือจะเปลี่ยนคลื่นส่วนนี้ไปทำคลื่น LTE700 ส่งสัญญาณแบบโทรคมนาคมแทน

Fact Box:

ปี 2017 เม็ดเงินการลงสื่อโฆษณาทั้งประเทศ มีทั้งสิ้น 92,673 ล้านบาท น้อยกว่าปี 2016 ที่มีงบทั้งสิ้น 98,321 ล้านบาท

ในปี 2017 ทีวีอนาล็อกเป็นสื่อที่ได้รับงบโฆษณามากที่สุด คิดเป็น 40.29 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยทีวีดิจิทัล คิดเป็น 21.57 เปอร์เซ็นต์ หนังสือพิมพ์ 7.63 เปอร์เซ็นต์ ส่วนสื่ออินเทอร์เน็ต มีงบโฆษณาเพียง 1.50 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 1,392 ล้านบาท

ในบรรดาช่องทางต่างๆ สื่อทีวีดิจิทัล สื่อภาพยนตร์ สื่อเอาท์ดอร์ สื่อในระบบขนส่งมวลชน สื่อในร้านค้า มีงบลงโฆษณาเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ สื่ออนาล็อกทีวี เคเบิล ดาวเทียม วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต มีงบโฆษณาลดน้อยลงจากปี 2016

(ข้อมูลเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 จากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย)

Tags: , , , , ,