*บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของภาพยนตร์
มันเริ่มต้นจากคลิปของเด็กที่ยังไม่รู้จักความตาย และรู้จักความตายเป็นครั้งแรก ถ้าจะต้องเล่าเรื่องของเรื่อง ก็อาจจะเล่าได้ว่าโครงสร้างของมันเริ่มต้นจากข่าวความตายประหลาดๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ เช่น ประสบอุบัติเหตุพิลึกๆ หายตัวไปเฉยๆ หลับตาแล้วตายไป หรือฆ่าตัวตาย อะไรทำนองนั้น นำไปสู่การคิดย้อนไปหาช่วงเวลาก่อนตายซึ่งคงเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งของผู้คน ใช้ชีวิตแบบที่ยังมีวันพรุ่งนี้และพรุ่งนี้ของพรุ่งนี้ เฝ้าฝันถึงอนาคต คิดถึงอดีต หรือแค่พักผ่อนหย่อนใจ บางคนก็คงคิดถึงความตาย แต่ไม่ได้คิดแบบรู้ล่วงหน้าว่าจะตาย ทุกคนดำเนินชีวิตไปอย่างวันธรรมดาวันหนึ่ง
หนังตัดสลับระหว่างภาพจำลองเหตุการณ์แบบรายการคดีเด็ดเวอร์ชันไม่ตลก ภาพชีวิตในวันธรรมดาวันหนึ่งสวมเข้ากับบทสัมภาษณ์เด็กที่ไม่รู้จักความตายจนต้องกูเกิลเอา กับคนชราไม่รู้จักตายอายุ 104 ปี และซ้อนอีกชั้นเข้ากับภาพถ่าย เสียงเล่า เท็กซ์จากข่าว ตัวเลขนับจำนวนคนตายในเวลาที่เรากำลังนั่งดูหนังอยู่ ผู้ชมเป็นพระเจ้าที่นั่งชมชีวิตก่อนความตายของคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องตาย
หนังตัดสลับระหว่างภาพจำลองเหตุการณ์แบบรายการคดีเด็ดเวอร์ชันไม่ตลก สวมเข้ากับบทสัมภาษณ์เด็กที่ไม่รู้จักความตายจนต้องกูเกิลเอา กับคนชราไม่รู้จักตายอายุ 104 ปี
ดังเช่นหนังในยุคหลังของนวพล ซึ่งเราเริ่มต้นนับตั้งแต่ 36 หนังยาวเรื่องแรก หนังเกือบทั้งหมดของเขาขับเคลื่อนด้วยโครงสร้างมากกว่าพล็อต (ทั้งนี้อาจจะยกเว้นกรณีฟรีแลนซ์ฯ ซึ่งเป็นหนังที่เขาทำร่วมกับสตูดิโอ) หนังมักเริ่มจากโครงสร้างที่แข็งแรง ทั้งหนังที่สร้างตามจำนวนเฟรมในฟิล์มหนึ่งม้วนของกล้องฟิล์ม (36) หนังที่สร้างจากทวิตเตอร์ของผู้หญิงคนหนึ่ง (Mary is Happy, Mary is Happy) หนังสารคดีทอล์กกิ้งเฮดที่พูดถึงร้านแผ่นเถื่อนโดยไม่ให้เห็นเจ้าของร้าน (The Master)
Die Tomorrow ก็เช่นกัน หนังมีโครงสร้างขั้นต้นจากข่าวความตายแบบแปลกๆ และการย้อนกลับไปหาวันก่อนหน้าที่ผู้คนเหล่านั้นจะตาย ด้วยโครงสร้างแบบนี้ หนังจึงมีลักษณะเหมือนหนังสั้นจำนวนหนึ่งที่มัดรวมไว้ด้วยกันภายใต้หัวข้อว่าด้วยความตาย หากดูเหมือนตัวโครงสร้างของหนังกลับกลายเป็นข้อจำกัดของหนังไปด้วยความแข็งเกร็งนี้ เขาพยายามทำลายโครงสร้างของหนังที่เห็นชัดเจนจนเกินไปด้วยการใส่ส่วนของการสัมภาษณ์ ส่วนของภาพนิ่งและเท็กซ์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหนังเติมแทรกเข้ามาระหว่างบท จัดวางแบบไม่ต่อเนื่อง ราวกับความทรงจำ งานรีเสิร์ชผุดแทรกเข้ามากลางเรื่องหรือระหว่างรอยต่อของแต่ละเรื่องเพื่อเชื่อมโยงประเด็นเข้าหากัน เข้ามาทดลอง ท้าทายและทำลายโครงสร้างตั้งต้นที่แข็งเกร็งของเรื่อง
แต่ปัญหาก็มาจากส่วนต่อขยายเหล่านี้ที่แว้งกลับมาทำลายและยิ่งเปิดเผยให้เห็นโครงสร้างของหนัง ส่วนของบทสัมภาษณ์เด็กและคนชรา อันที่จริงแล้วมีฟังก์ชันคล้ายเรื่องเรื่องหนึ่งในก้อนของเรื่องเล่า (หนังใช้เฟรมภาพแบบเดียวกันกับเฟรมภาพของส่วนเรื่องเล่า) ซึ่งเราอาจจะอนุมานได้ว่า นี่คือความคิดที่คนคนหนึ่งมีต่อความตาย ทั้งในฐานะของคนที่ยังไม่รู้จักความตาย และคนที่รู้จักความตายดีเกินไป อย่างไรก็ดี หนังกลับเลือกซอยก้อนนี้ออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้มันทำหน้าที่เชื่อมโยงเรื่องเล่าแต่ละก้อน ผลคือ แทนที่มันจะเป็นหนึ่งเรื่อง มันกลับกลายเป็นสเตตเมนต์รวมของเรื่อง แต่มีท่าทีแบบ ‘นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า’ โดยไม่ได้ตั้งใจ มันกลายเป็นการขีดปากกาไฮไลต์ลงในเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ บทสัมภาษณ์แทรกสอดทำหน้าที่บอกผู้ชมโดยไม่ได้ตั้งใจว่า เฮ้ นี่ฉันพูดเรื่องความตายอยู่นะ
และสิ่งนี้ถูกทำให้ชัดขึ้นไปอีกจนความเท่กลายเป็นปัญหา เมื่อหนังมีซีนพาวเวอร์พอยนต์อธิบายถึงการตายในแบบต่างๆ และเวลาทุกข์ทรมานก่อนตาย ไปจนถึงการเลือกใส่ข้อมูลจำนวนคนตายตามเวลาที่หนังดำเนินไป เพื่อย้ำว่าทุกนาทีที่เรานั่งดูหนังก็มีความตายเกิดขึ้นทุกที่บนโลก การย้ำแล้วย้ำอีกนี้ แทนที่จะกลบโครงเหล็กของรูปหล่อ กลับยิ่งเปิดเผยตัวโครงเหล็กของมันออกมา และทำให้ปัญหาของความกระจัดกระจายชัดขึ้นด้วยการที่ต้องมีคนสรุปประเด็น แล้วโยนต่อไปยังประเด็นต่อไปเป็นระยะๆ กลายเป็นว่าหนังมีท่าทีสอนสั่ง เตือนมรณานุสติ ทั้งที่หนังไม่ได้ต้องการจะเป็นแบบนั้น
ผู้ชมที่ในตอนแรกมีมุมมองของพระเจ้าผ่านตัวเท็กซ์ว่าด้วยความตาย (ซึ่งเกือบทั้งเรื่องปรากฏเพื่อชี้นำก่อนเรื่องจะเริ่ม ยกเว้นกรณีของซีนดาดฟ้าสองพี่น้อง) และเท็กซ์บอกจำนวนตัวเลขคนตายตามเวลาที่หนังเคลื่อนไป มุมมองพระเจ้าโดยตัวมันเองมีท่าทีเสียดเย้ยว่า ผู้ชมรู้แล้วว่าจะมีความตาย และเฝ้ามองคนกำลังจะตายโดยที่ตัวละครไม่รู้ แต่เมื่อบทสัมภาษณ์ถูกตัดสลับเข้ามา ผู้ชมก็ไม่ได้เป็นเพียงพระเจ้า แต่เป็นผู้ถูกสอนสั่ง ดีดผู้ชมจากสถานะกระอักกระอ่วนของการรู้แล้วแต่แก้ไขอะไรไม่ได้ ให้กลายเป็นเพียงผู้ชม passive ที่รอว่าหนังจะสอนอะไรให้ฉันเอาไปใช้ในชีวิต
อาจจะบอกได้ว่านี่คือหนังที่เกี่ยวกับ ‘การตาย’ มากกว่า ‘ความตาย’ กล่าวคือความตายในหนังเป็นมุมมองแบบมีระยะและโรแมนติก
แต่หนังไม่ได้พูดเรื่องความตาย สิ่งที่น่าสนใจในหนังคือ มุมมองของความตายในหนังไม่ใช่มุมมองเชิงปรัชญา ไม่ใช่การใคร่ครวญถึงความตาย หนังไม่ได้เป็นหนังที่ชวนคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความตาย เราอาจจะบอกได้ว่านี่คือหนังที่เกี่ยวกับ ‘การตาย’ มากกว่า ‘ความตาย’ กล่าวคือ ความตายในหนังเป็นมุมมองแบบมีระยะและโรแมนติก ตลอดทั้งเรื่อง หนังมีโครงสร้างของการนำเสนอ ‘การตายในแบบต่างๆ’ หนังเป็น presentation หัวข้อว่าด้วยการตาย มากกว่าการใคร่ครวญและพรรณนาถึงความตาย เป็นมุมมองของคนหนุ่มที่ความตายจริงๆ อยู่ไกลออกไปซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด (ถ้าไม่บังเอิญว่าหนังย้ำเรื่องความตายตลอดเวลาราวกลับกลัวว่าผู้ชมจะลืม)
ความตายอยู่ห่างไกลออกไป มันจึงมีแต่ความอ้างว้าง ความเศร้าของการถูกทอดทิ้ง ความตระหนักรู้ว่าควรรักกันให้มาก ความสุขของการอยู่ร่วมกัน อวลลอยอยู่รอบๆ โดยไม่มีความเกลียด ความโกรธแค้น ความกลัว ความไม่อาจประนีประนอม ความตายในหนังเป็นความตายสะอาด เหมือนการหายตัวไปในเช้าวันหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด ดูเหมือนนวพลสนุกและตั้งใจกับการอธิบายการตายในรูปแบบต่างๆ เช่น การหายตัวไป การจากไปอย่างสงบ การตายของคนอื่นๆ ที่อื่นบนโลกที่เราไม่รู้จัก การตายที่ให้ประโยชน์กับคนอื่นๆ ซึ่งขัดแย้งอยู่ในที นวพลสงสัยว่ามีการตายแบบใดได้บ้าง รีเสิร์ชและเล่าออกมาในวิธีที่เกือบจะวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ เราจึงไม่ได้ลงลึกเกี่ยวกับความตาย ไม่ใช่การถกปรัชญาเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับมนุษย์
เป็นการง่ายที่หนังซึ่งทำทีจะพูดเรื่องที่ยิ่งใหญ่ และโดยไม่ตั้งใจ พูดออกมาผ่านบทสัมภาษณ์ของผู้คน แล้วไม่ได้พูดอย่างจริงจัง ลึกซึ้ง สุขุม จะถูกมองว่าเป็นหนังเสแสร้งแกล้งทำ เป็นการพูดเรื่องความตายจากคนที่โรแมนติไซส์ความตาย แต่โดยส่วนตัวเราพบว่าหนังไม่ได้ต้องการจะเป็นแบบนั้น มันไม่ใช่หนังอภิปรัชญาว่าด้วยความตาย มากไปกว่าหนังที่พูดถึงการจับจ้องมองชีวิต การตายของหนังไม่ใช่ตัวความตาย แต่การตายของหนังสะท้อนสิ่งสำคัญ คือ ชีวิต
และนี่คือหนังชีวิต หนังที่พูดถึงการเฉลิมฉลองชีวิตก่อนความตาย
มันจึงเป็นหนังที่นุ่มนวลอย่างยิ่งแม้เราจะขัดอกขัดใจกับท่าทีสอนสั่งหรือความพยายามจะลุ่มลึก แต่เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าก้อนหลักๆ ของหนังนั้นพูดถึงชีวิตได้อย่างหมดจดงดงาม และพลังทางภาพของลองเทคในแต่ละฉากนั้นงดงามเพียงไร
ในกรอบภาพ 1:1 แบบภาพ instagram กรอบภาพถูกบีบแคบแบบให้เห็นว่าเป็นหนัง เป็นไลฟ์สดชีวิตของผู้คน ด้วยกรอบภาพแบบนั้น ผู้ชมถูกจำกัดให้จ้องมองตัวละครและบทสนทนาของพวกเขาและเธอ บ้างใฝ่ฝันถึงอนาคต บ้างทบทวนอดีต บ้างพูดถึงการจากกันและการอยู่โดยลำพังอย่างเป็นทุกข์ บ้างพูดถึงการไปจากกันและการอยู่โดยลำพังอย่างเป็นสุข และบ้างไม่ได้พูดถึงอะไรเลยนอกจากความสงบของวันพักผ่อน บทสนทนาเหล่านี้เจือด้วยน้ำเนื้อของชีวิต ชีวิตที่ยังไม่ได้รู้เห็นความตาย มีแต่ผู้ชมที่รู้เห็นความตายไปล่วงหน้า ทั้งจากเท็กซ์ หรือจากโครงสร้างของเรื่องเอง
ในกรอบภาพ 1:1 แบบภาพ instagram ผู้ชมถูกจำกัดให้จ้องมองตัวละครและบทสนทนาของพวกเขาและเธอ
ผู้ชมไม่ได้มีชีวิตร่วมกับตัวละคร แต่ตัวละครนั้นมีชีวิตของตัวเอง การดื่มเบียร์ ตัดเล็บเท้า นวดศีรษะ กินจิ้มจุ่ม การพับผ้าที่ตากไว้ การกินขนม หรือนอนหลับ ไม่มีสัญญาณของความตาย เป็นเพียงเรื่องสามัญของการมีชีวิต กล่าวให้ถูกต้อง หากไม่มีใครรู้ว่าจะมีความตายเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญใดๆ แต่ด้วยการมองเห็นความตายไปล่วงหน้า ชีวิตอันไม่สำคัญเลยมีความหมาย มีสัญญาณชีพที่กระตุกเต้นก่อนขาดสะบั้นลง กล่าวอย่างง่ายด้วยกรอบภาพบังคับ เราเห็นสิ่งที่เราไม่ได้สังเกต เราถูกบังคับให้มองสิ่งที่เราไม่ต้องมองก็ได้ เพื่อจะพบว่า ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน มันมีความงามที่เรายังมีชีวิตอยู่
เรื่องเล่าในก้อนย่อยๆ ของนวพลนั้นงดงามมากๆ เขาคว้าจับรายละเอียดและลูกเล่นเล็กน้อยจากการให้เห็นและไม่เห็น
ฉากอันพิลาสพิไลของจรินทร์พรที่ให้การแสดงอันซับซ้อนโดยที่เราไม่สามารถตีความได้ในทางใดทางเดียว เป็นซีนการกินขนมที่งดงามมาก ในฉากนี้ กล้องจับจ้องใบหน้าของเธอในบท เม นางแบบสาว (ชื่อเดียวกันกับเมธาวี เด็กสาวที่โดนสังคมออนไลน์เล่นงานในหนังสั้นเก่าของนวพล มั่นใจว่าคนไทยหนึ่งล้านคนเกลียดเมธาวีเป็นอีกครั้งที่กล้องจับจ้องจนเกือบจะบีบบังคับให้เมต้องตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินรอบข้างเกี่ยวกับความตายของคนอื่น จนอดคิดไม่ได้ว่า นี่คือเด็กสาวคนเดียวกันในสถานการณ์เดิมที่วนกลับมา
เช่นเดียวกับ สี เด็กสาวในฉากเปิดของหนังที่จูนจูนกับเมโกะ อดีตนักเรียนมัธยมใต้กรอบโลกอำนาจนิยมจาก Mary is Happy, Mary is Happy ที่ในที่สุดก็โตขึ้น เรียนจบ และใฝ่ฝันถึง ‘อนาคตนอกประเทศอำนาจนิยม’ บทสนทนาของเพื่อนสาวสี่คนในคืนก่อนรับปริญญาที่เฝ้าฝันถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง และการแก้ดวงในหนังสือคู่สร้างคู่สม สร้างบทสนทนากับชีวิตที่เลือกไม่ได้ของแมรี่และซูริในหนังเรื่องก่อนหน้า แถมผู้ชมยังรู้ว่า การแก้ดวงไม่สำเร็จเพราะนวพลเฉลยให้เรารู้เอาไว้แล้ว
บทสนทนาของซันนี่ กับ พลอย รัตนรัตน์ อาจจะเป็นบทสนทนาแบบที่เราคุ้นเคยเมื่อดูหนังที่พูดเรื่องความตาย (และมุกตลกปีใหม่สงกรานต์ก็เป็นอะไรที่ เวรี่นวพลมากๆ) แต่เมื่อหนังเลือกจบซีนอย่างคลุมเครือ ราวกับว่าเวลาผ่านหน้าเราไปในลองเทคยาวข้ามเวลาจริง ฉากปิดของซีนนี้จึงเป็นฉากที่อาจจะเป็นปัจจุบันได้พอกับอนาคต เมื่อตัวละครที่น่าจะกำลังตาย ‘หายใจ’ อย่างยาวนาน หลังคนรักออกไปจากห้อง เธอเบือนหน้าออกไปจากกล้อง หันกลับมา หายใจและร้องไห้ ร้องไห้ราวกับเวลาได้ผ่านไปยาวนาน และเป็นเธอที่ยังอยู่ ในตอนท้าย เธอกลับมาอีกครั้ง ไม่ต้องใส่สายออกซิเจน อ่านหนังสือท่องเที่ยวราวกับจะออกเดินทาง ราวกับเธอทำตามสัญญากับสิ่งที่เธอพูดกับคนรักว่า เธออยู่คนเดียวได้ ความตายไกลออกไปทั้งที่เคยใกล้กับเธอ
จูนจูนกับเมโกะ อดีตนักเรียนมัธยมใต้กรอบโลกอำนาจนิยมจาก Mary is Happy, Mary is Happy ที่ในที่สุดก็โตขึ้น เรียนจบ และใฝ่ฝันถึง ‘อนาคตนอกประเทศอำนาจนิยม’
เช่นกัน ในบทสนทนาบนดาดฟ้าตึกของสองพี่น้อง ก็ดูราวเป็นการรีเมค 36 ใหม่อีกครั้งโดยใช้นักแสดงคนเดิม ที่หลังจากหนังจบลงก็คงเดินทางไปที่ไหนสักแห่งบนโลกและกลับมาพูดคุยเล่นหัวกับน้องชายด้วยกล้องฟิล์มแบบที่ตัวเองชอบใช้ และดูเหมือนนี่จะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดทั้งที่เรียบง่ายที่สุด เพราะก่อนเปิดซีน มีภาพถ่ายคนบนดาดฟ้าในชุดเสื้อบอล ที่คาดผมแบบเดียวกับที่น้องชายใส่ และในซีนนี้ หนังปิดเรื่องด้วยเสียงไม่ทราบที่มา เสียงสัมภาษณ์ที่เล่าเรื่องการกลับมาของพี่สาว มันจึงเป็นซีนเดียวที่ความตายจริงๆ ไหลทับเข้ามาในเรื่องว่าด้วยการตาย (ซีนเสียงสัมภาษณ์ใครสักคนที่ไม่อยู่ในเรื่องถูกนำมาใช้อีกครั้งในซีนยานแชลเลนเจอร์เพื่อล้อกับบทส่งของการสัมภาษณ์คุณปู่ แต่คราวนี้ ค่อนข้างประดักประเดิดไม่แพ้พาวเวอร์พอยนต์ความตาย)
เลยพ้นไปจากการเป็นเหมือนภาคต่อของงานรวมฮิตหนังเก่า (ซึ่งชวนให้คิดไปถึงหนังอย่าง Three Timesของโหวเซี่ยวเฉียน (Hoa Hsiao Hsien) ซึ่งนอกจากจะเป็นงานรวมมิตรเหมือนกัน นวพลยังหยิบยืมวิธีการถ่ายและโมเมนต์งดงามนิ่งเงียบแบบโหวมาใช้ด้วย) หนังยังพูดถึงความตายในอีกหลายรูปแบบ การตายแบบเฉยชาของนักเล่นหุ้น ความตายที่ไกลออกไปจนเราจับต้องไม่ได้ของพายุในโปรตุเกสในวันที่กรุงเทพฯ อากาศดีจนน่าออกไปเดินเล่น ความตายของคนอื่นที่เราต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยในฉากการมาลาหน้าประตู (ความตายของเรื่องของเต้ย และ วิโอเลต เชื่อมโยงกันในฐานะคนที่ไม่ตายแต่ได้รับผลกระทบจากความตายในระดับที่แตกต่างกัน และมีความแยแสกับไม่แยแสปะปนกันอย่างรุนแรง) หรือการตายอันแสนสุขในความหมายของการสิ้นใจอย่างสงบในวันที่งดงาม
การตายเหล่านี้ไม่ใช่ความตาย แต่เป็นรูปแบบต่างๆ ของการตาย นวพลไม่ถกปรัชญาว่าเราควรมีความเห็นอย่างไรกับความตาย แต่การตายเป็นเรื่องของพรุ่งนี้ ที่มีวันนี้คือชีวิตแบบต่างๆ กันไป Die Tomorrow, Live Today จึงอาจจะเป็นสิ่งที่หนังอยากจะพูดมากกว่า การตายเป็นกระจกสะท้อนชีวิต และนี่คือการเฉลิมฉลองชีวิตด้วยวิธีการทางภาพยนตร์
หากไม่มีใครรู้ว่าจะมีความตายเกิดขึ้น นี่ก็เป็นเหตุการณ์ไม่สลักสำคัญใดๆ แต่ด้วยการมองเห็นความตายไปล่วงหน้า ชีวิตอันไม่สำคัญเลยมีความหมาย
รายละเอียดเล็กน้อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละซีนของเรื่องซึ่งจบในตัว กลมและงดงาม จนอดคิดไม่ได้ว่าถ้านวพลตัดบางอย่างออกและเดินหน้าขยายซีนเหล่านี้ให้ยาวออกไปเลยโดยไม่ต้องแทรกอะไรลงไป นอกจากการล้อเล่นกับตัวเรื่องของมันเอง เราคงได้หนังที่พูดถึง ‘เวลา’ ที่มีความหมายขึ้นก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเวลาจะหมดลงผ่านความตาย
เลยพ้นไปจากนั้น หากหนังทั้งหมดคือความทรงจำระหว่างปี 2550-2559 อันเป็นเก้าปีของโลกหลังรัฐประหาร ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ นี่คือการบันทึกโลกหลังความตายทางการเมืองแบบดั้งเดิม และโลกที่คนอยู่ด้วยความรู้สึกว่า จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ก็เช่นเดียวกับ Bangkok Tanks, คุณแม่อยากไปคาร์ฟูร์ และ Mary is Happy นี่ก็เป็นอีกครั้งที่หนังของนวพลเป็นการเมืองโดยไม่ได้เป็นการเมือง เพราะทุกคนเป็นผลผลิตของการเมือง ศิลปินไม่จำเป็นต้องทำเรื่องการเมือง แต่เมื่อเขาอยู่ในโลกของการเมือง เมื่อเขาครุ่นคิดเกี่ยวกับโลก มันล้วนโน้มเข้าสู่ความเป็นการเมืองโดยธรรมชาติของมันเสมอ
หากหนังทั้งหมดคือความทรงจำระหว่างปี 2550-2559 อันเป็นเก้าปีของโลกหลังรัฐประหาร ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ นี่คือการบันทึกโลกหลังความตายทางการเมืองแบบดั้งเดิม
กลับมาที่ฉากเปิดอีกครั้ง หนังเปิดด้วยเรื่องของแมลงวันเดียวที่เกิดแล้วตายเลยอย่างแมลงชีปะขาว แมลงที่ไม่มีพรุ่งนี้ born today, die today และปิดด้วยภาพของดอกไม้ ที่ที่จริงแล้วเคยปรากฏอยู่ในแต่ละก้อนของเรื่องเล่า ดอกไม้ที่สวยงามแต่มีอายุสั้น ดอกไม้ที่จะตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้ ดอกไม้และแมลงชีปะขาวจึงเป็นภาพแทนของชีวิตที่ไม่มีพรุ่งนี้ให้ตาย เพราะการมีพรุ่งนี้คือความเชื่อว่าเวลายังมีอยู่ และเวลาที่เราเชื่อว่ายังมีอยู่ก็คือก้อนของเรื่องเล่าทั้งหมดที่ผ่านหน้าเราไป ดอกไม้ที่สะพรั่งจึงเป็นสัญญาณที่สั้นและได้ความหมายที่สุดของชีวิตและความตาย
ด้วยความสั้นของฉากแต่ละฉาก ถึงที่สุด Die Tomorrow ทำหน้าที่คล้าย flash fiction มากกว่านิยายขนาดยาว เรื่องสั้นขนาดสั้นที่ตอนนี้เป็นที่นิยมของคนเขียนหนังสือใหม่ๆ เรื่องสั้นๆ ที่ไม่มีปูเรื่อง ไม่มีข้อขัดแย้ง หรือสรุปสามองก์ เป็นเพียงโมงยามสั้นๆ ที่อาจจะไร้ความหมาย แต่เรื่อเรืองประกายบางอย่างออกมา ในฐานะที่ผู้เขียนชอบ flash fiction เหล่านี้ (ซึ่งมักถูกมองในฐานะเรื่องเล่าสมาธิสั้นที่ไม่ได้มีคุณค่าทางวรรณกรรมเมื่อเทียบกับนิยาย เรื่องสั้น หรือบทกวี) การดู Die Tomorrow จึงให้ความรู้สึกเหมือนการอ่าน flash fiction ชั้นดี ที่ชวนเราเหม่อจ้องชีวิตก่อนความตายอันงดงามโดยไม่ต้องงดงามอะไรเลย
Tags: Movie, ภาพยนตร์, ความตาย, เต๋อ นวพล, Die Tomorrow, นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์, flash fiction, death