หลังจากพบอาการป่วยและตัดสินใจจะสู้ไปด้วยกันแล้ว เวลาผ่านไปคนเศร้ายังคงเศร้า เขาต้องการเป็นอิสระจากความรู้สึกหม่นที่ประเดประดัง คาดหวังและต้องการที่จะหาย แต่ก็ไม่มีแรงพอจะปีนขึ้นจากหลุมดำ เหมือนเขาต้องการชีวิตของเขาคืนในวันนี้พรุ่งนี้ แต่มันไม่ง่ายและทันใจแบบนั้น เนื่องจากเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Dysthymia) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่เคยทำ รู้สึกสิ้นหวัง มีความมั่นใจต่ำ ไม่พอใจกับทุกอย่าง กลายเป็นคนช่างติ ขี้บ่น ก้าวร้าว และไม่สามารถมีความสุขกับชีวิต
เราผ่านช่วงเดือนแรกมาได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ มันเป็นช่วงเวลาที่ต้องขุดคุ้ยเอาความเมตตากรุณามาใช้ ยิ่งรับข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าเข้ามามาก ฉันก็ยิ่งกังวล และแน่นอนมันเกินกว่าเหตุ ต้องคอยระแวดระวังการกระทบกระทั่ง กลัวและเกร็งไปหมดกับคำพูดคำจา ประโยคนี้เขาจะรู้สึกไม่ดีหรือเปล่า เขาจะนอนหลับไหม ยิ่งนานวัน ความกดดัน ความเครียดเริ่มมากขึ้นจนความอดทนไต่ไปแตะขีดจำกัด
สำหรับฉันมันเป็นช่วงเวลาของการวัดใจ ถ้ารับมือกับอารมณ์ น้ำตา และความเศร้าของเขาในช่วงนี้ได้ หลังจากนี้ก็จะผ่านไปได้ เพราะเมื่อยาเริ่มออกฤทธิ์ สมดุลของสารเคมีในสมองของเขาจะเริ่มดีขึ้น แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงจากการกินยา เพราะยารักษาโรคซึมเศร้ามีผลข้างเคียงอยู่บ้างกับผู้ป่วยบางคน อาการข้างเคียงของคนเศร้าของฉันที่ปรากฏในช่วงแรก คือ ปากแห้ง หาวลึกและนาน มีอาการสั่นลึกๆ จากภายใน นอนไม่หลับและรู้สึกกระวนกระวาย ความจำระยะสั้นไม่ดี จังหวะร่างกายเปลี่ยน เหมือนว่าทุกอย่างช้าลงและเซื่องซึม
ในระหว่างนี้ อย่าให้คนเศร้าตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตระหว่างที่กำลังป่วย เพราะมันอาจจะเป็นหายนะ เนื่องจากเขาจะตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่เปราะบาง ไร้สำนึกของเหตุผล คุณหมอให้คำแนะนำว่า อย่าเพิ่งให้ผู้ป่วยตัดสินใจกับเรื่องใหญ่ๆ ในชีวิต เช่น ลาออกจากงาน แต่งงาน หรือหย่า โดยไม่ปรึกษาคนอื่นที่รู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดีและมีมุมมองที่เป็นกลางต่อปัญหามากพอ หรือถ้าให้ดีที่สุดคือพยายามหาวิธีเลื่อนการตัดสินใจออกไปก่อน จนกว่าอาการป่วยของคนเศร้าจะดีขึ้น
อย่าให้คนเศร้าตัดสินใจเรื่องสำคัญในชีวิตระหว่างที่กำลังป่วย เพราะมันอาจจะเป็นหายนะ เนื่องจากเขาจะตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานของจิตใจที่เปราะบาง
อย่างไรก็ตามในการรักษา เมื่อรู้สึกว่ามีผลข้างเคียงของยาเกิดขึ้น ควรแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบ เพราะจากประสบการณ์คนเศร้าของฉันจดบันทึกอาการของตัวเองสามารถอธิบายความรู้สึก อารมณ์ พัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของตัวเองให้คุณหมอทราบเป็นระยะ ซึ่งนั่นมีส่วนช่วยในการรักษา
“กินยาก่อน เดี๋ยวเป็นบ้ากว่านี้” คนเศร้ามักจะพูดทีเล่นทีจริงแบบนี้ แต่คนเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นบ้า บางทีฉันที่ไม่ได้ป่วยยังเป็นบ้าได้มากกว่าเขาอีก ผีบ้า องค์ลง พาลหาเรื่อง ในเมื่อฉันเองก็เป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์และจิตใจเหมือนกัน
ความรู้สึกในเดือนที่ 2-3 ของฉันวนเวียนไปมาระหว่าง ฉันเหนื่อย แต่ฉันจะไม่รามือกับเรื่องแค่นี้หรอก / เลิก! ต้องเลิก ฉันไม่ใช่นางฟ้า ที่จะรองรับใครไว้ไม่ให้ร่วงหล่น / อยากทำอะไรก็ทำ ชีวิตคนละชีวิต ฉันจะพอ! แล้วจะไปให้ไกล / บางครั้งเมื่อเห็นเขาไม่ดีขึ้น ฉันโทษตัวเองว่าไม่เหมาะที่จะดูแลเขา ท้อแท้และหวั่นไหวต่ออารมณ์ของคนเศร้าจนอยากวางมือ เพราะรู้สึกเสี่ยงจะเป็นซึมเศร้าไปด้วยอีกคน ฉันอยากกรีดร้อง เกรี้ยวกราด ตอบโต้เขาจนสาสม ให้รู้ว่าฉันไม่ใช่ที่รองรับอารมณ์ของใคร ความจริงไม่ใช่แค่อยาก เพราะรู้ตัวอีกที ฉันก็ทำมันลงไปแล้ว กว่าที่ยาจะค่อยๆ รักษาเขาให้ดีขึ้น เราก็มีแผลถลอกปอกเปิกทั้งคู่
จนในที่สุดเมื่อน้ำหนักที่เราแบกรับมันมากเกินไป อาการเหนื่อยหน่ายชีวิตของเขาและอาการหงุดหงิดของฉันทำให้เราทะเลาะกันรุนแรง กินข้าวแบบไม่มองหน้า อาหารอร่อยแต่ต้องกล้ำกลืนฝืนกิน บรรยากาศมาคุ เขากระฟัดกระเฟียดไม่มีเหตุผล จ่ายเงิน เดินหุนหันพลันแล่นออกจากร้าน ฉันรีบเดินตามแล้วพูดด้วยน้ำเสียงไม่ไยดี “เธอป่วย แต่อย่าใช้เป็นข้ออ้างทำนิสัยเสียใส่เราได้ไหม” – “เราอดทนเธอไม่ไหวแล้ว” จากนั้นเดินหนี เรียกรถแท็กซี่กลับบ้าน ทิ้งเขาไว้ตรงนั้นหมดความรู้สึกห่วงใย ฉันจะไม่ทนอีกต่อไป พอกันที! ทางใครทางมัน ชีวิตของเขาเป็นของเขา ชีวิตของฉันเป็นของฉัน ฉันแบกชีวิตใครไม่ได้ มันหนักเกินไป
แต่ถ้าคุณเคยรักใครสักคนมาแปดปีเต็ม แม้ไฟจะลุกท่วมแค่ไหน หลังจากที่อารมณ์เย็นลงคุณก็จะเริ่มเป็นห่วงเขา โทรไปถามไถ่ว่ากินยารึยัง ขอโทษกันและกันที่พูดจาไม่ดี เขาบอกว่าที่หงุดหงิดง่ายและถี่นั้นเป็นผลมาจากการนอนไม่พอ เพราะว่าหลับยากตื่นง่าย ฉันบอกเขาว่า ฉันอยากช่วย อยากอยู่ตรงนี้ แต่ถ้าเขาไม่ให้ความร่วมมือ เราจะไม่รอด หมายถึงเราทั้งคู่ หลังจากนั้นฉันบอกคนเศร้าเสมอว่า “เราต้องช่วยกันนะ” เพราะเวลาที่คนเศร้าจมอยู่ในห้วงอาการ เขาก็แทบจะไม่ฟังอะไรเลย ก้ำกึ่งระหว่างคนป่วยที่นิสัยไม่ดีโดยสมบูรณ์จนอยากฟาดหน้ากับคนนิสัยไม่ดีที่ป่วยและนั่นทำให้คนดูแลอ่อนใจ
ถ้าคุณเคยรักใครสักคนมาแปดปีเต็ม แม้ไฟจะลุกท่วมแค่ไหน หลังจากที่อารมณ์เย็นลงคุณก็จะเริ่มเป็นห่วงเขา
ใช่แล้ว เราจึงเริ่มแยกอาการป่วยกับนิสัยดั้งเดิม และนิสัยไม่ดีไม่น่ารักออกจากกัน และเตือนคนเศร้าด้วยคำพูดดีๆ เมื่อเขาเริ่มทำตัวไม่น่ารัก ปล่อยให้เขาอยู่กับตัวเองในเวลาที่ต้องการนอนและพักผ่อนอย่างเต็มที เพราะการนอนไม่เพียงพอมีผลต่ออารมณ์ ไม่ก้าวก่าย ไม่เร่งรัด ค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็ไม่ต้องประคบประหงมแบบไข่ในหิน กระทบกระทั่งไม่ได้จนรู้สึกเกรง
ไม่ต้องตามใจทุกอย่าง คนเศร้าถูกขัดใจได้ ไม่ต้องสปอยด์เกินกว่าเหตุแบบที่ฉันพยายามทำจนกดดันตัวเองในช่วงแรก ส่วนคนเศร้าก็เริ่มเข้าใจอารมณ์ของตัวเองและพยายามให้ความร่วมมือในการควบคุม สรุปก็คือ หลังจากฟาดฟันกันเราต่างกลับมาทะนุถนอมความสัมพันธ์แบบคนรักปฏิบัติต่อคนรัก
หากคุณเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และมีคนรักหรือคนคอยเข้าใจอยู่ข้างๆ ฉันอยากบอกคุณแบบที่ฉันบอกคนเศร้าของฉันว่า “บางครั้งฉันเหนื่อยและท้อ ฉันรู้ว่าสำหรับคุณมันยากที่จะผ่านไป แต่สำหรับคนรักของคนเศร้ามันก็ไม่ง่ายเหมือนกันที่จะเผชิญสภาวะแบบนั้น ดังนั้นถ้าอยากหายและอยากให้เราทั้งคู่ยังเดินไปต่อด้วยกันได้ เราต้องช่วยกันนะ”
ในช่วงเดือนที่ 4-5 เป็นช่วงที่เราเริ่มปรับตัวได้แล้ว และสบายๆ ต่อกันมากขึ้น เพราะยารักษามีผลต่อร่างกายอย่างมีเสถียรภาพ ผลข้างเคียงของยาในช่วงแรกหายไป การนอนหลับในแต่ละคืนของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น กินอาหารได้และเริ่มกินอร่อย น้ำหนักตัวขึ้นมาจนเท่ากับก่อนที่จะป่วย หน้าตาสดชื่นแจ่มใสเป็นมิตรพร้อมพบเจอผู้คนได้ มีพลังมีแรงไปออกกำลังกาย ฉันก็เลยชวนคนเศร้าไปวิ่ง!
ชีวิตนี้ไม่เคยชอบการวิ่งเลย ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนเคี่ยวเข็ญให้ฉันไปวิ่ง เขาวิ่งได้สิบกิโลเมตร ในขณะที่ฉันวิ่งได้หนึ่งกิโลฯ และเดินอีกสองกิโลเมตรก็หายใจหอบเหมือนคนจะตาย แต่ครั้งนี้ฉันจะไปวิ่งเพื่อเขา ตั้งใจไปวิ่งข้างๆ กัน ภาพตัดมา ฉันวิ่งได้ไม่ถึงสองกิโล ก็เดินไปนั่งให้กำลังใจ ปล่อยให้เขาวิ่งจนพอใจ เหงื่อออกจนชุ่มตัว อะดรีนาลีนหลั่ง หน้าแดงแต่เปล่งปลั่งใสกิ๊ก
ถึงจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้า แต่ถ้ารักษาและทานยาสม่ำเสมอ คนเศร้าก็จะมีช่วงเวลาที่รู้สึกมีความสุขกับชีวิตในแต่ละวันได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คนเศร้าจึงหัวเราะได้ มีเรื่องตลกในชีวิต สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ที่เคยทำได้ คนเศร้าแต่ละคนมีนิสัยดั้งเดิมของตัวเอง ส่วนคนรักคนดูแลก็มีนิสัยเป็นของตัวเอง เราต่างยังเป็นตัวเอง การดูแลก็ควรทำในแบบที่เราพร้อมจะทำ และมันไปได้ด้วยกันกับชีวิตจริง
อ้อ! ฉันเคยถามคุณหมอคนหนึ่งว่า โรคซึมเศร้าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่อาจติดต่อทางความสัมพันธ์! หมายความว่า ในฐานะคนใกล้ชิดกับคนเศร้า คุณมีโอกาสป่วยได้ ดังนั้นคุณต้องดูแลจิตใจตัวเองและจัดการอารมณ์ของตัวเองควบคู่ไปด้วย
โรคซึมเศร้าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเปล่า คำตอบคือ ไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่อาจติดต่อทางความสัมพันธ์!
ไหนๆ ก็พูดถึงเพศสัมพันธ์แล้วก็เล่าเลยดีกว่า ว่าผลข้างเคียงของยารักษาโรคซึมเศร้าอีกอย่างที่ยังไม่ได้บอกก็คือ คนเศร้าจะไร้ความรู้สึก เฉยเมยกับทุกสิ่ง รวมทั้งเรื่องเซ็กส์ด้วย เพราะลำพังอาการของโรคก็ทำให้เขาไม่อยากทำอะไรนอกจากนอนอยู่แล้ว ซึ่งคนอยากนอนอ่ะคะ เข้าใจเนอะ ไม่ว่าจะปลุกยังไงก็ปลุกไม่ค่อยตื่น ขอให้เข้าใจกันและกันให้มาก อย่าเร่งรัดหรือเรียกร้องการแสดงความรักในจุดนี้ เพราะจะยิ่งทำให้คนเศร้ารู้สึกไม่ดีที่ตัวเองไม่สามารถตอบสนองได้ พลอยจะบั่นทอนและทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าขึ้นมาอีก
ในช่วงนี้เราจึงรักกันแบบกุ๊กกิ๊กเด็กมัธยม นอนกุมมือ like a virgin และหาความสุขในแบบอื่นไปก่อน แต่ไม่ต้องกังวลไปนะคะ เพราะหลังจากอาการดีขึ้นแล้ว เขาเคยวิ่งได้สิบกิโลฯ ก็กลับมาวิ่งได้สิบกิโลฯ เหมือนเดิม ดังนั้นไม่ต้องเดาก็รู้ใช่ไหมว่าคนเศร้าสามารถออกกำลังกายอื่นๆ ได้ดีเหมือนเดิม กล้องแพนไปที่โคมไฟหัวเตียงด้วยค่ะ จินตนาการต่อกันตามสบาย
ผ่านเวลาเกือบหกเดือน คนเศร้าของฉันเกือบจะกลับมาเป็นคนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ อาการของเขาดีขึ้นมาก กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน มีความทะเยอทะยาน กลับมาดูแลตัวเอง คุณหมอให้ปรับลดยาเหลือครึ่งหนึ่ง นั่นคือจากที่กินยาทุกวันเป็นวันเว้นวัน เพราะถึงแม้จะไม่มีอาการให้เห็นแล้ว แต่ก็ต้องทานยาควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ และหากคนเศร้ากินยาที่สั่งให้ครั้งนี้จนครบแล้ว คุณหมอก็จะให้หยุดยาแต่ยังต้องคอยเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ ซึ่งสำหรับฉันก็คงต้องรอดูกันต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้ หากคุณกำลังอยู่ข้างๆ คนเศร้า หรือเป็นคนรักของคนเศร้าเหมือนกัน ฉันขอให้กำลังใจคุณนะคะ ขอให้ประคับประคองและผ่านมันไปด้วยกันให้ได้ค่ะ
Tags: ความรัก, โรคซึมเศร้า, ความสัมพันธ์