“ตกลงหนูเป็นเบาหวานแล้วหรอคะ” คนไข้ถามผมด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

เมื่อประยุกต์ทฤษฎีระยะการรับมือกับความสูญเสีย (stages of grief) ของนักจิตวิทยา Elisabeth Kubler-Ross ซึ่งมีทั้งหมด 5 ระยะ เข้ากับการตอบสนองต่อข่าวร้าย คนไข้กำลังอยู่ในระยะปฏิเสธ (denial) คือตกใจและไม่เชื่อว่าข่าวร้ายที่ผมแจ้งนั้นเป็นความจริง ทั้งที่สำหรับหมอแล้ว ‘โรคเบาหวาน’ ในปัจจุบันแทบกลายเป็นโรคทั่วไปโรคหนึ่งไม่ต่างจากไข้หวัด โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานเกือบ 1 ใน 5

โรคนี้จึงไม่ถูกจัดอยู่ในข่าย ‘ข่าวร้าย’ ที่ต้องมีกระบวนการในการแจ้งข่าวอย่างระมัดระวังเหมือนโรคมะเร็งหรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

แต่เธออายุเพียง 17 ปี

“แล้วทราบไหมครับว่าทำไมถึงนัดมาตรวจวันนี้” ผมหมายถึงการงดน้ำงดอาหารมาเจาะเลือดดูระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เพื่อประเมินว่าคนไข้ฉุกคิดอะไรมาก่อนที่จะเข้ามาฟังผลในห้อง

“ยังไงนะคะ” คนไข้น่าจะอยากให้ทวนคำถาม ผมเลยขยายความว่า “คราวก่อนมาหาหมอรอบหนึ่งแล้ว ทำไมหมอเขาถึงนัดให้มาวันนี้อีกรอบ”

“อ๋อ ครั้งก่อนตรวจปัสสาวะแล้วเจอน้ำตาล” คนไข้เว้นช่วงคิด “หมอคนที่แล้วเลยกลัวว่าจะเป็นเบาหวานค่ะ”

“มีใครที่บ้านเป็นโรคนี้ไหมครับ” เนื่องจากระหว่างนั้นผมเปิดดูผลการเจาะเลือดจากโปรแกรมเวชระเบียนในคอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้วว่าคนไข้น่าจะเป็นโรคเบาหวานจริง ซึ่งหากตรวจพบว่าเป็นในขณะที่อายุยังน้อย มักจะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเดียวกันนี้ด้วย

คำถามนี้มีความสำคัญสองอย่าง คือช่วยสนับสนุนสมมติฐานข้างต้น กับอีกอย่างคือหากมีคนใกล้ชิดเป็น ผมอาจไม่ต้องอารัมภบทมาก เพราะคนไข้น่าจะรู้จักโรคเบาหวานเป็นอย่างดีอยู่แล้วก็ได้

“ทั้งพ่อและแม่เลยค่ะ”

“คงจะได้รับมรดกจากทั้งคู่เลย” ผมหยอกทีเล่นทีจริง (แต่คิดอีกที ไม่น่าพูดในลักษณะนี้สักเท่าไร) “แล้วทั้งสองท่านรักษายังไงบ้าง”

“คุณพ่อไม่ยอมมารักษา” น้ำเสียงคนไข้เต็มไปด้วยความจนใจ “ส่วนคุณแม่รับยาประจำที่นี่”

“คุณแม่ต้องฉีดยาด้วยรึเปล่าครับ” เพราะการรักษาโรคเบาหวานในขณะที่อายุยังน้อยมักต้องอาศัยยาฉีดเป็นหลัก

“ไม่นี่คะ” ถ้าอย่างนั้นคนไข้ก็คงไม่คุ้นเคยกับยาที่ผมกำลังจะจ่ายให้

“ช่วงนี้มีอาการกินจุ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยบ้างไหม” ผมตัดคำถามกลับมาที่ตัวคนไข้  “น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุด้วยรึเปล่า”

“ก็มีปัสสาวะบ่อยที่มาหาหมอคราวก่อน กับหิวน้ำบ่อย”

“อันนี้เป็นอาการของโรคเบาหวานนะครับ” ผมเสริม “ผลตรวจเลือดก็ยืนยันว่าเป็นโรคเบาหวานจริง กับมีไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ซึ่งก็เป็นผลมาจากน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นมาอีกทอด”

คนไข้พยักหน้า ผมจึงพูดต่อ “โรคเบาหวานมี 2 ชนิดหลัก คือ ชนิดที่สร้างสารที่ไปควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้เลย กับชนิดที่ดื้อต่อฮอร์โมน… เอ่อ… ดื้อต่อสารที่ว่านี้” ผมหลุดศัพท์เทคนิคออกไป แต่ชะงักว่าน้องน่าจะรู้จัก

“โทษนะครับ คนไข้เรียนอยู่ชั้นไหนแล้ว”

“ม.6 ค่ะ”

“สายอะไรหรอครับ เดี๋ยวนี้เขายังแบ่งสายกันอยู่ไหม”

“สายวิทย์-คณิตค่ะ”

“อ้อ อย่างนี้ต้องรู้จักอินซูลิน (insulin) แน่ๆ เลย”

คนไข้หัวเราะตอบ

“สารที่ว่าก็คืออินซูลินซึ่งสร้างขึ้นมาจากตับอ่อน อธิบายรวบรัดว่า โรคเบาหวานชนิดแรก ตับอ่อนถูกทำลายจนผลิตอินซูลินไม่ได้เลย มักจะเจอในคนอายุน้อย อย่างคนไข้ หมอก็สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชนิดนี้”

“ส่วนชนิดที่ 2 มักพบในผู้ใหญ่ ก็คือที่คุณพ่อและคุณแม่เป็นอยู่ เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน”

“คล้ายกับเด็กดื้อ อบรมทำโทษเหมือนเดิม แต่เด็กไม่เชื่อไม่ทำตามแล้ว” ผมด้นตัวอย่างขึ้นมาในตอนนั้นให้เห็นภาพ “หมายความว่าตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ร่างกายเก็บน้ำตาลไปใช้”

“การรักษาเบาหวานชนิดแรกเลยต้องใช้ยาฉีด เป็นอินซูลินฉีดชดเชยเข้าไป ส่วนเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถกินยาเพิ่มความไวต่ออินซูลิน และกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินมากขึ้นได้”

คนไข้ยังพยักหน้าต่อ ผมเลยทึกทักว่าคนไข้เข้าใจ

“เพราะฉะนั้น วันนี้หมอจะสั่งยาให้คนไข้ไปฉีดที่บ้านนะครับ”

“ฉีดตรงไหนหรอคะ”

“ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง รอบๆ สะดือ” ผมชี้นิ้วตรงตำแหน่งนั้นประกอบ พร้อมบอกตามประสบการณ์ที่เคยเจอกับความกังวลของคนไข้ว่า “ไม่เจ็บ เพราะเป็นเข็มแบบปากกา ขนาดเล็กมาก”

ทว่าพอพิมพ์ชื่อยาลงบนคอมพิวเตอร์เสร็จ ผมหันหน้าออกจากหน้าจอมาสบสีหน้าคนไข้ก็พบกับความสับสน คล้ายว่ากำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่างอยู่ ระคนปนเปกับความประหลาดใจหรือตกใจ เมื่อนั้นผมถึงได้ชะลอคำพูดทั้งหมด และตระหนักได้ว่า สำหรับคนไข้แล้ว ‘โรคเบาหวาน’ ไม่ได้เป็นโรคทั่วไปอย่างไข้ไอเจ็บคอแบบที่หมอรู้สึกนึกคิด

“อาจต้องฉีดยาไปตลอดชีวิต” ก่อนหน้านี้ผมพูดประโยคนี้ออกไปอย่างหน้าตาเฉย โดยลืมไปเสียสนิทว่าโรคนี้กำลังจะเปลี่ยนแปลงวิธีชีวิตของคนไข้ไปตลอด แต่ไม่มีเวลานอกให้คนไข้ได้พักหายใจหายคอเลย

“หมอเริ่มเข้าใจคนไข้แล้ว” เงียบไปพักหนึ่ง ผมก็ทำลายความเงียบนั้น “ตอนนี้กำลังไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นเบาหวานอยู่จริงๆ ใช่ไหม” (แต่ผมก็ยังลัดการพูดคุยด้วยคำถามปลายปิดอยู่ดี)

“ใช่เลยค่ะ” เธอตอบ ผมเป็นฝ่ายพยักหน้ารับแทน

“ไม่จำเป็นต้องยอมรับสิ่งที่หมอบอกไปในวันนี้ก็ได้ เดี๋ยวหมอจะนัดมาตรวจเลือดซ้ำอีกทีหลังจากฉีดยาแล้วในสัปดาห์หน้า” ผมเสนอทางเลือก “ถึงตอนนั้นเราค่อยคุยกันต่อก็ได้”

“คนไข้มีอินเทอร์เน็ตใช่ไหม” ผมถามคำถามสุดท้าย ก่อนจะแนะนำเพิ่มเติมให้ “ลองไปค้นหาทำความเข้าใจว่าโรคเบาหวานเป็นอย่างไรดูก่อน

“เราเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 (diabetes mellitus type I)”

Tags: , , ,