นอกจากอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และรถไฟฟ้าแล้ว อีกสิ่งที่ดูจะเป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของไลฟ์สไตล์คนกรุงเทพฯ ก็คือ ห้างสรรพสินค้า

ไม่ว่าจะซื้อข้าวของ ดูหนังกินข้าว นัดเพื่อนฝูง หรือแม้แต่ยามไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี คนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยก็จะนึกถึงห้างสิ่งแรกๆ (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมแบบนี้เป็นสาเหตุ หรือผลจากที่เรามีห้างอยู่ทั่วเมือง)

แต่น่าจะมีน้อยคนที่เคยนั่งขบคิดจริงๆ ว่า ชื่อห้างที่เราเรียกกันชินปากเหล่านี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ชื่อห้างในกรุงเทพฯ ทั้งหลายเมื่อสืบสาวย้อนกลับไปแล้วมีความเป็นมาอย่างไร

Siam Paragon ห้างแผ่นหินทดสอบทอง

ชื่อศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ นี้ หากสืบสาวย้อนกลับไปแล้วจะพบว่ามาจากคำว่า parakonan ในภาษากรีก ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า para- ที่แปลว่า รอบๆ หรือข้างๆ มารวมกับ akone ที่แปลว่า หินลับมีด (ซึ่งมาจากรากที่แปลว่า แหลม คม เป็นญาติๆ กับคำอย่าง acute ที่แปลว่า เฉียบพลันหรือมุมแหลม และ acid ที่แปลว่า กรด ในภาษาอังกฤษด้วย) รวมความหมายได้ว่า ลับให้คม

ต่อมาชาวอิตาเลียนยืมไปใช้เป็นคำว่า paragone ทว่าว่าไม่ได้ใช้ในความหมายว่า ลับให้คม อย่างชาวกรีก แต่กลับนำไปใช้เรียกแผ่นหินที่ใช้ทดสอบทองคำว่าบริสุทธิ์แค่ไหน แผ่นหินนี้ปกติเป็นสีดำมีพื้นผิวหยาบเล็กน้อย เมื่อนำทองที่ต้องการทดสอบขูดลงบนหินเป็นเส้น ก็จะดูสีและบอกว่ามีสารอื่นเจือปนมากขนาดไหน เพราะสีที่ได้จะต่างกันออกไป

แต่เส้นทางการหยิบยืมยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ ภายหลังชาวฝรั่งเศสยืมคำนี้มาอีกทอดและใช้ในความหมายว่า ตัวอย่างหรือต้นแบบที่สมบูรณ์แบบ ทำนองว่าเป็นมาตรฐานที่ไว้ใช้นำสิ่งอื่นมาเทียบ และนี่ก็เป็นความหมายที่ภาษาอังกฤษยืมมาใช้ต่ออีกทอด

ดังนั้น ทุกวันนี้ คำว่า paragon ในภาษาอังกฤษ จึงหมายถึง ต้นแบบที่สมบูรณ์แบบ มักจะใช้ในวลี a paragon of virtue หมายถึง เป็นคนดีมีศีลธรรมไร้ที่ติ เช่น I know I’m not exactly a paragon of virtue, but I wouldn’t describe myself as evil. ก็จะหมายถึง ฉันรู้ตัวว่าไม่ใช่คนดีเด่เป็นพระอรหันต์ แต่ก็คงไม่เรียกตัวเองว่าเป็นคนชั่วช้าเหมือนกัน หรือถ้าเราอยากจะอวยว่าคู่ครองเรามีคุณสมบัติความเป็นสามี/ภรรยาในฝันครบถ้วนเพียบพร้อม ก็พูดได้ว่า My sweetheart is a paragon of a husband/wife. ก็ได้เช่นกัน

Central ห้างเข็มวงเวียน

ชื่อเครือห้างขนาดใหญ่ของตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ก่อตั้งมา 71 ปีแล้วนี้ ก็ย้อนกลับไปได้ถึงคำจากภาษากรีกโบราณเช่นเดียวกัน คำว่า central เป็นคุณศัพท์ของ center ซึ่งมาจาก kentron ในภาษากรีก เดิมทีคำนี้ใช้หมายถึง ของปลายแหลม เช่น ไม้หรือขอสับที่ไว้ใช้เร่งให้สัตว์เคลื่อนที่ หรือแม้แต่เหล็กไนของตัวต่อ

ทั้งนี้ หนึ่งในบรรดาของปลายแหลมที่ kentron หมายถึงด้วยก็คือ เข็มวงเวียนที่ใช้ปักลงบนพื้นผิวก่อนวาดขาอีกข้างเป็นวงรอบจุดศูนย์กลาง ด้วยเหตุนี้ kentron จึงหมายถึง จุดกึ่งกลาง ด้วยเหมือนกับที่จุดที่เกิดจากเข็มวงเวียนอยู่กึ่งกลางวงกลมที่วาดขึ้นนั่นเอง

ต่อมาคำนี้เดินทางผ่านภาษาละติน ฝรั่งเศส จนมาถึงภาษาอังกฤษ และเป็นที่มาของคำว่า center และ central อย่างในทุกวันนี้ (แถมยังซ่อนอยู่ในคำอย่าง concentrate อีกด้วย)

ทั้งนี้ ด้วยความที่สิ่งที่อยู่ตรงกลางมักจะเป็นสิ่งที่เป็นหัวใจหรือสำคัญที่สุด คำว่า central จึงนำมาใช้อธิบายสิ่งที่เป็นส่วนหลักหรือสำคัญมากได้ด้วย เช่น Curiosity is central to learning. ก็จะหมายถึง ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการเรียนรู้

Emporium ห้างร้าน

ชื่อศูนย์การค้าไฮโซย่านพร้อมพงษ์ที่เปิดให้บริการมากว่า 20 แห่งปีนี้ หากสืบสาวกลับไปแล้วอาจจะรู้สึกว่าความหรูหราหายไปไม่น้อย

คำว่า emporium นั้น มาจากคำภาษากรีก emporion แปลว่า ตลาด ที่ค้าขาย มาจากคำว่า emporos อีกทอด ประกอบขึ้นจากส่วนเติมหน้า en- หมายถึง ใน มารวมกับ poros ที่แปลว่า การเดินทาง เดิมทีใช้หมายถึง นักเดินทาง ก่อนจะมาใช้หมายถึง พ่อค้า (ทำนองว่าพ่อค้าเดินทางเอาของมาขาย)

ต่อมาภาษาละตินยืมคำนี้ไปเขียนใหม่เป็น emporium ก่อนที่ภาษาอังกฤษจะยืมเอามาใช้ในความหมาย ตลาด ร้านค้า แต่ด้วยคำนี้หน้าตาเป็นภาษาละตินมาก ทำให้ดูมีชาติตระกูลสูงศักดิ์ (คล้ายกับที่คำจากบาลีสันสกฤตฟังดูไฮโซกว่าคำไทยแท้) เลยมีผู้คนเอาไปใช้ตั้งชื่อเพื่อยกระดับร้านรวงตัวเอง โดยเฉพาะห้างร้านที่ขายของหรูหรา ไม่ใช่ของดาษดื่นนั่นเอง

The Mall ห้างเกมตีลูกบอล

ชื่อของห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ซึ่งเปิดกิจการมาตั้งแต่ยุค ’80s น่าจะมีที่มาที่ไปคดเคี้ยวซับซ้อนมากที่สุดในบรรดาห้างที่ยกมาพูดถึงแล้ว สาวย้อนกลับไปได้ถึงเกมการละเล่นจากอิตาลีที่มีชื่อว่า pallamaglio มีวิธีการเล่นคล้ายคือโครเกต์ (croquet) คือ ใช้ค้อนตีลูกบอลให้กลิ้งลอดห่วงที่ปักบนพื้นเพื่อทำแต้ม มาจากคำว่า palla ในภาษาละตินที่แปลว่า ลูกบอล (เป็นญาติกับคำว่า balloon ในภาษาอังกฤษ) มารวมกับ maglio ที่มาจาก malleus ในภาษาละติน หมายถึง ค้อน (เป็นที่มาของคำว่า mallet ในภาษาอังกฤษ)

ภายหลังในศตวรรษที่ 17 การละเล่นนี้กลายมาเป็นที่นิยมในประเทศอังกฤษและเป็นที่รู้จักกันในนาม pall-mall เกมการละเล่นนี้เป็นที่ชื่นชอบถึงขนาดที่มีการสร้างสนามขึ้นในสวนเซนต์เจมส์ ใกล้จัตุรัสทราฟัลการ์ในเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน ไปๆ มาๆ ผู้คนก็เริ่มเรียกสนามสำหรับเล่น pall-mall ว่า mall เฉยๆ ทำให้ย่านนี้เป็นที่รู้จักในนาม The Mall

แต่เมื่อการละเล่นนี้หมดความนิยม อีกทั้งสนามก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม ทางการจึงเห็นว่าควรบูรณะปรับปรุงเสียใหม่ ถนนย่านนี้จึงถูกแปลงโฉม มีการปลูกต้นไม้สวยงามสองข้างทาง กลายเป็นย่านโก้หรูมีร้านรวงทันสมัย

ต่อมาคนอเมริกันนำคำว่า mall จากชื่อย่าน The Mall มาใช้เรียกอาคารหรือกลุ่มอาคารที่มีร้านรวงและมีทางเดินตรงกลางหรือที่เราเรียกกันว่าห้างสรรพสินค้าอย่างในปัจจุบันนั่นเอง

Robinson ห้างลูกโรเบิร์ต

ชื่อห้างเก่าแก่อายุเกือบ 40 ปีนี้ต่างจากห้างอื่นสักนิดเพราะว่าตั้งโดยใช้ชื่อที่เป็นชื่อคน

แต่เดิมชาวอังกฤษมีธรรมเนียมการตั้งชื่อสกุลเพื่อบอกว่าฝั่งพ่อมีชื่อเสียงเรียงนามอะไร (patronymic) ด้วยการเติม -son ลงข้างท้ายชื่อ ถ้าพ่อชื่อ John ก็จะตั้งชื่อสกุลเป็น Johnson เป็นต้น (คล้ายกับที่ชาวไอริชเติม Mc ด้านหน้าชื่อ อย่างชื่อ McDonald)

ดังนั้น Robinson จึงหมายถึง ลูกของ Robin ซึ่งเป็นชื่อย่อ (diminutive) ของ Robert อีกที

ส่วนชื่อ Robert นั้นเป็นชื่อตระกูล Germanic ประกอบขึ้นจาก hrod แปลว่า ชื่อเสียง ความรุ่งโรจน์ และ berth หมายถึง สว่าง ชัชวาล เมื่อรวมกันจึงได้ความหมายทำนองว่า ชื่อเสียงเฉิดฉายขจรขจาย นั่นเอง

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
  • Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.