ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสสามของจีนกลับมาในแดนบวกถึง 4.9 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เจ็บหนักและไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นในเร็ววันนี้ โดยมีเครื่องยืนยันคือตัวเลขทางเศรษฐกิจติดลบตั้งแต่หลักหน่วยไปจนถึงหลักสิบพร้อมกับแผนกู้ยืมเงินมูลค่ามหาศาลมากระตุ้นเศรษฐกิจ
ตัวเลขดังกล่าวพ้องกับภาพความล้มเหลวในการจำกัดการระบาด ความล่าช้าชุลมุนในการตัดสินใจ และความไร้ระเบียบของประเทศพัฒนาแล้วที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย เช่น ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลีหรือบางรัฐในสหรัฐอเมริกา ต่างจากความสำเร็จที่รวดเร็วฉับไวในการควบคุมสถานการณ์การระบาดในเมืองอู่ฮั่นของประเทศจีน ชวนให้เรากลับมาทบทวนว่าในโลกหลังการระบาดของโควิด-19 เผด็จการหรือประชาธิปไตยจะพาเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่า
ข้อถกเถียงเพื่อเปรียบเทียบระบอบการปกครองกับการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหัวข้อที่ได้รับการอภิปรายมาร่วมห้าทศวรรษ นับเป็นหนึ่งคำถามสำคัญที่นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยต่างแสวงหาความกระจ่างโดยมีโจทย์ใหญ่คือปัจจัยใดบ้างที่ทำให้ประเทศหนึ่งประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ขณะที่อีกประเทศหนึ่งยังคงยากจนข้นแค้น ปัจจัยหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่อาจมองข้าม นั่นคือระบอบการปกครองนั่นเอง
ประชาธิปไตยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจตามคำอธิบายของเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคคือสิทธิในสินทรัพย์ (property rights) เพราะเราจะมีแรงจูงใจในการทำมาหากินแสวงหาความร่ำรวยได้ก็ต่อเมื่อรัฐ ‘รับรองและคุ้มกัน’ สิทธิในการถือครองสินทรัพย์ไม่ให้คนอื่นมาช่วงชิงไปได้โดยง่าย
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ไม่ว่าฝั่งขวาหรือฝั่งซ้ายต่างเห็นตรงกันว่า ประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิเสียงเท่าเทียมกันจะเป็นการลิดรอนสิทธิในสินทรัพย์ เนื่องจากเหล่าชนชั้นแรงงานและประชาชนที่ยากไร้ซึ่งถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสังคมย่อมลงคะแนนให้รัฐบาลช่วงชิงทรัพย์สินของเหล่าเศรษฐีมาแจกจ่ายเป็นสวัสดิการจากรัฐ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ทำนายว่าประชาธิปไตยจะเป็นการปลดปล่อยการต่อสู้ทางชนชั้น และเปลี่ยนผ่านจากสังคมทุนนิยมสู่ปลายทางที่ทุกคนเท่าเทียมกันหรือคอมมิวนิสต์นั่นเอง
อีกหนึ่งประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคโจมตีระบอบประชาธิปไตยคือ รัฐบาลจากระบอบประชาธิปไตยจะเผชิญแรงกดดันจากเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นผู้มีรายได้น้อยหรือชนชั้นแรงงานซึ่งมีแนวโน้มว่าจะบริโภคทันทีที่ได้รับเงิน แรงกดดันดังกล่าวจะผลักให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น กำไรของนายทุนลดต่ำลงเช่นเดียวกับเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจ รัฐบาลยังมีแนวโน้มที่จะนำรายได้ภาษีมาแจกจ่ายเพื่อหวังผลลัพธ์ในระยะสั้น แทนที่จะลงทุนในระยะยาวกับโครงสร้างพื้นฐาน สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้คือการลงทุนที่ลดลงและฉุดรั้งการเติบโตในอนาคต
สองทฤษฎีนี้อ่านแล้วก็ชวนหัวร้อน เพราะสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ทำนายมันช่างสวนทางกับสภาพความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้าเสียเหลือเกิน เพราะแม้แต่ในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งเราก็ยังเห็นนายทุนอยู่ดีกินดี ก่อนที่เราจะพิจารณาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ผู้เขียนขอชวนไปฟังมุมมองว่านักเศรษฐศาสตร์คิดเห็นอย่างไรกับการปกครองแบบเผด็จการ
เผด็จการกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
แม้ว่าจะโจมตีการปกครองแบบประชาธิปไตยสารพัด แต่เศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิคกลับเห็นด้านบวกของระบอบเผด็จการในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมองว่ารัฐเผด็จการมีอำนาจในการตัดสินใจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวโดยไม่สนใจแรงกดดันระยะสั้นจากเหล่าแรงงาน คนยากจน หรือภาคเอกชน รัฐเผด็จการจึงให้ความสำคัญกับอนาคตแตกต่างจากรัฐประชาธิปไตยที่ต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีดังกล่าวมีสมมติฐานสำคัญคือเผด็จการที่ว่าต้องเป็นเผด็จการผู้การุณย์ (benevolent dictator) ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนซึ่งสวนทางกับธรรมชาติของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง
แน่นอนว่ามีนักเศรษฐศาสตร์คัดค้านแนวคิดเผด็จการผู้การุณย์แบบหัวชนฝา โดยมองว่าผู้นำเผด็จการมีแต่จะฉกฉวยประโยชน์จากสังคม ในขณะที่สถาบันในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถถ่วงดุลตรวจสอบไม่ให้ผู้นำรัฐลุแก่อำนาจ หากมองในมุมนี้ ระบอบเผด็จการจะเป็นผู้สร้างความไร้ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรและตัวถ่วงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
แล้วระบอบไหนพาเศรษฐกิจไปได้ไกลกว่า?
ในปี พ.ศ. 2535 ลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกผู้ได้รับการขนานนามว่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศสิงคโปร์สมัยใหม่ได้กล่าวประโยคที่โด่งดังว่า “ผมเชื่อว่าสิ่งที่ประเทศจะต้องพัฒนาคือระเบียบวินัย ไม่ใช่ประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่มากเกินไปจะนำมาซึ่งความไร้ระเบียบและความวุ่นวาย สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่เอื้อต่อการพัฒนา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดดังกล่าวของลี กวน ยู น่ารับฟังโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ทั่วโลกต่างจับตา ‘ปาฏิหาริย์เศรษฐกิจเอเชีย’ ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งจีนและหลายประเทศในแถบเอเชียมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดโดยมีปัจจัยสำคัญมาจากรัฐบาลเผด็จการ
แต่ตัวอย่างประเทศจำนวนเพียงหยิบมือ ที่เจาะจงพิจารณาเฉพาะช่วงเวลาแคบๆ ทางประวัติศาสตร์คงไม่อาจสรุปได้ว่าระบอบเผด็จการคือคำตอบในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะหากขยายช่วงเวลาและกลุ่มประเทศที่ทำการศึกษาจะพบว่า ระบอบประชาธิปไตยเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
งานวิจัยสมัยใหม่พบว่ายิ่งประเทศอยู่ในช่วงเวลาที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยยาวนานเท่าใดจะยิ่งส่งผลบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่พบว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีความมั่นคงคือปัจจัยที่ส่งเสริมให้เศรษฐกิจดี ข้อค้นพบเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ได้ผลลัพธ์ทันตา แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นจะค่อยๆ สั่งสมและเพิ่มพูนอย่างต่อเนื่อง โดยจะแสดงให้เห็นชัดเจนเมื่อประชาธิปไตยแข็งแรงและคงทน
แดรอน อาซีโมกลู (Daron Acemoglu) และเจมส์ เอ. โรบินสัน (James A. Robinson) สองนักเศรษฐศาสตร์สถาบันที่โด่งดังระดับโลกเพิ่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ตอกย้ำทฤษฎีดังกล่าวในชื่อว่า “ประชาธิปไตยทำให้เศรษฐกิจโต (“Democracy Does Cause Growth)” เมื่อปีที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูล 184 ประเทศระหว่าง พ.ศ. 2503 ถึง 2553 เน้นกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการเพื่อตอบโจทย์สำคัญว่า “เศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นจะเป็นอย่างไรหากอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเปรียบเทียบกับระบอบเผด็จการ”
วิธีการที่ทีมวิจัยใช้ตอบคำถามดังกล่าวคือการแบ่งประเทศออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มที่กำลังเปลี่ยนผ่านบนเส้นทางประชาธิปไตยและกลุ่มที่เดินถอยหลังกลับสู่ระบอบเผด็จการโดยติดตามเส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของสองกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
ข้อค้นพบหนึ่งที่สำคัญของงานชิ้นดังกล่าวคือ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม แต่จะเกิดเมื่อประเทศเผชิญภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตย การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะค่อนข้างช้า โดย 5 หรือ 6 ปีแรก ประเทศที่เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการ แต่หากผ่านไป 10 ถึง 15 ปี ประเทศเหล่านั้นจะร่ำรวยกว่าประเทศภายใต้ระบอบเผด็จการเล็กน้อย แต่หากผ่านไป 25 ปี ประเทศประชาธิปไตยจะร่ำรวยกว่าประเทศที่อยู่ใต้เงื้อมมือของผู้นำเผด็จการถึง 20 เปอร์เซ็นต์
การศึกษาชิ้นดังกล่าวอธิบายว่า รัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า เนื่องจากมีการเก็บภาษีในอัตราสูงกว่า ลงทุนมากกว่า สนับสนุนด้านการศึกษาและระบอบสาธารณสุขมากกว่า ส่งผลให้เผชิญกับความไม่สงบทางการเมืองน้อยกว่า โดยปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าผลลัพธ์ดังกล่าวจะทำให้เหล่าผู้รักประชาธิปไตยใจชื้นและคาดว่าคนส่วนใหญ่จะเห็นดีเห็นงามกับการผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แดรอน อาซีโมกลูเตือนว่าอย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยย่อมมีผู้เสียประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์เหล่านั้นเองที่พร้อมจะนั่งเฉยๆ หรือร่วมวงขยี้เหล่าเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่กำลังเบ่งบานเพื่อผลประโยชน์ทางการเงินหรือทางการเมืองของตนเอง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทย ผู้เขียนขอชวนคิดว่าเราจะยังคงเชื่อมั่นในเผด็จการผู้การุณย์ หวังลมๆ แล้งๆ ให้เหล่าทหารที่เข้ามาบริหารประเทศโดยการรัฐประหารทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแล้วพาประเทศเดินไปข้างหน้า หรือเราจะหวังการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นธรรม แข่งขันตามกติกาหนึ่งคนหนึ่งเสียง และอดทนถึงแม้จะได้ผู้นำที่ไม่ถูกใจโดยรอเวลาเพื่อต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย
หากคุณเป็นคนที่มีเหตุมีผล ห่วงกังวลปากท้องของตนเองและลูกหลาน บทความนี้คงจะทำให้คุณมีคำตอบในใจนะครับว่าควรจะเลือกระบอบการปกครองแบบใด
เอกสารประกอบการเขียน
Political Regimes and Economic Growth
Stable democracies better at fostering economic growth
Democracy fosters economic growth, study finds
Is Democracy a Pre-Condition in Economic Growth? A Perspective from the Rise of Modern China
Tags: ประชาธิปไตย, เผด็จการ