การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจและตื่นตัวทางการเมืองสูงมาก พวกเขาตั้งคำถาม พยายามหาคำตอบอย่างมีเหตุผล และพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา

ชีวิตที่เป็นอยู่ของทุกคน นับแต่ตื่นจนเข้านอนทุกวัน ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าทุกอย่างมีความสัมพันธ์กับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ระดับปฏิบัติจนถึงระดับนโยบาย จึงไม่น่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าการเรียนรู้เรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพราะพวกเขาเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของสังคมที่เชื่อว่ามีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการแสดงความคิดเห็น เพื่อที่จะมีส่วนพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น และมีส่วนออกแบบอนาคตของพวกเขาเอง

สมาชิกรัฐสภาสหภาพยุโรป Henna Virkkunen แลกเปลี่ยนกับนักเรียน ภาพโดย Kaisu Ikäheimo

ปัจจุบัน นักเรียนในประเทศไทยใช้เวลาแต่ละวันกว่า 8 ชั่วโมงอยู่ที่โรงเรียน สถานที่ที่มีบุคคลากรพร่ำบอกว่ามีหน้าที่ให้การศึกษาและเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนเพื่อที่จะสามารถออกไปใช้ชีวิตในสังคม โรงเรียนจึงได้รับการคาดหวังว่าการศึกษานั้นจะตอบสนองความต้องการของผู้เรียน เป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดโอกาสให้เรียนรู้และพัฒนาสมรรถนะ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีสำนึกความเป็นพลเมือง (Active Citizen) และสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วอย่างในปัจจุบันได้

แต่ความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ คืออีกเรื่องหนึ่ง

ในขณะที่นักเรียนในฟินแลนด์ ใช้เวลาที่โรงเรียนประมาณ 6 ชั่วโมงต่อวัน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งจากในบทเรียนและจากประสบการณ์ตรง นอกจากฟินแลนด์จะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งที่สุดในโลกอีกด้วย (อ้างอิง Finland Toolbox, 2020) 

โอกาสนี้ The Momentum ได้พูดคุยกับตัวแทนครูและนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมฯ 2 แห่งในฟินแลนด์ถึงการจัดการเรียนรู้เรื่องการเมืองและประชาธิปไตยในโรงเรียน 

//////////

บทสนทนาแรก กับครูไกสุ อิคกาเฮยโม (Kaisu Ikäheimo) ผู้สอนวิชาสังคมศึกษาระดับมัธยมฯ ปลาย จากโรงเรียน Schildt Lukio, Gradia Jyväskylä Educational Consortium ในเมืองยูแวสกุลา (Jyväskylä)

ความหมายของประชาธิปไตย คืออะไร

การที่ทุกคนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจและมีส่วนร่วม เช่นในระดับประเทศ ก็จะเป็นการเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่ร่างกฎหมายของประเทศ ประชาธิปไตยจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเมื่อคนมีสิทธิเท่ากัน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

นอกจากการสอนวิชาสังคมศึกษาจากหนังสือเรียน ในห้องเรียนมีบทสนาเกี่ยวกับการเมืองบ้างไหม อย่างไรบ้าง

มีเยอะมากเลย ที่โรงเรียนจะให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง โดยเชิญนักการเมือง หรือสมาชิกรัฐสภา มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนในโรงเรียน ในหัวข้อที่หลากหลาย นอกจากนี้ ยกตัวอย่างในวิชาประวัติศาสตร์ จะมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับฟินแลนด์และประเทศอื่นๆ ด้วย ฟินแลนด์ไม่เคยมีการรัฐประหารที่สำเร็จ แต่ในห้องเรียนมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปกครองระบอบเผด็จการด้วยเช่นกัน เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเปรียบเทียบระบอบเผด็จการของแต่ละประเทศ

สมาชิกรัฐสภา คุณ Joonas Könttä มาแลกเปลี่ยนกับนักเรียน ภาพโดย Kaisu Ikäheimo

ในชั้นเรียนระดับมัธยมฯ มีการเรียนการสอนหรือกิจกรรมใดบ้าง ที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องของประชาธิปไตย

ในวิชาสังคม .ปลาย จะแบ่งเป็น 3 ส่วนที่นักเรียนได้เรียนรู้

ส่วนแรก การจัดการอำนาจและประชาธิปไตย ครูแต่ละท่านจะออกแบบกิจกรรมการเรียนแตกต่างกันออกไป โดยมีนักเรียนร่วมออกแบบการเรียนรู้ เช่น การจำลองสถานการณ์ นักเรียนสวมบทบาทเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกผู้แทนเมือง เรียนรู้ขั้นตอนการร่างกฎหมาย ขั้นตอนการตัดสินใจในรัฐสภา

สมาชิกพรรคการเมืองพูดคุยและอภิปรายกับนักเรียน ภาพโดย Kaisu Ikäheimo

ส่วนที่สอง การร่างนโนบาย นักเรียนทำโครงการเพื่อโน้มน้าวสมาชิกในเมืองนั้นๆ เช่น ร่างนโยบายและไปนำเสนอให้กับคนในเมือง ว่าทำอย่างไรให้มีสนามบาสเก็ตบอลเพิ่มขึ้นในเมืองเพื่อเป็นการส่งเสริมสุขภาวะ

ส่วนที่สาม การพูดคุยและอภิปรายร่วมกัน นักเรียนจะนำบทความจากหนังสือพิมพ์มาวิเคราะห์และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียน

  สำหรับกิจกรรมชมรม บางโรงเรียนมีชมรมพิเศษ เช่น ในโรงเรียนนี้มีชมรมโรงเรียนทูตรัฐสภายุโรป (European Parliament Ambassador School Club) ครูและนักเรียนร่วมกันสร้างเวทีเพื่อพูดคุยและอภิปรายทางการเมือง ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของสหภาพยุโรป รวมถึงเรียนรู้จากผู้แทนขององค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

เรียนรู้จากผู้แทนองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาพโดย Kaisu Ikäheimo

ในส่วนกิจกรรมนักเรียน ทุกโรงเรียนจะมีกลุ่มสหภาพนักเรียน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกที่ได้รับการเลือกตั้งจากแต่ละห้องเรียน สหภาพนักเรียนมีส่วนในการจัดกิจกรรมของนักเรียน โดยการจัดกิจกรรมนั้นๆ มีการประสานสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับผู้อำนวยการโรงเรียน

ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้คนอยู่ร่วมกัน ในโรงเรียนมีนักเรียนเพศทางเลือกบ้างไหม ทางโรงเรียนปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร

มีนะ แต่ที่โรงเรียนอาจจะไม่ค่อยรู้หรอกว่าใครเป็นเพศทางเลือก แต่เมื่อพวกเขาแสดงออก ก็ไม่มีใครล้อเลียนพวกเขาหรือทำให้เป็นเรื่องตลก ปัจจุบันทั้งครูและนักเรียนมีความคิดเสรีมาก เราต่างคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่สังคมมีความหลากหลาย พวกเขาสามารถแสดงออกและมีอิสระในการแต่งตัวมาโรงเรียนตามอัตลักษณ์ของเขาได้ รัฐธรรมนูญของฟินแลนด์ระบุไว้ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน

หากนักเรียนมีความคิดเห็นแตกต่างจากครู บรรยากาศในห้องเรียนฟินแลนด์จะเป็นอย่างไรบ้าง

การที่นักเรียนมีความคิดเห็นแตกต่างกับครูเป็นเรื่องปกติ ครูพยายามส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองเสมอ แลกเปลี่ยนและถกเถียงกันได้

คิดว่าห้องเรียนของครูมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน บอกได้จากประเด็นใดบ้าง

คิดว่ามีนะ ดิฉันจะให้นักเรียนมีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกธีมของห้องเรียนเอง เปิดโอกาสให้ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ เช่น นำบทความจากหนังสือพิมพ์ที่เขาเลือกมาเรียนรู้ร่วมกัน ส่วนการเก็บคะแนนนั้น นักเรียนมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะเลือกสอบหรือเลือกทำงานนำเสนอ บทบาทของครูคือเป็นผู้นำในการสนับสนุนการเรียนรู้ ครูต้องพยายามส่งเสริมให้นักเรียนคิดเอง

ดิฉันรู้สึกว่าการมีประชาธิปไตยในโรงเรียน ทำให้เรามีนักเรียนที่น่ารัก มีการให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดิฉันได้รับความเชื่อใจจากนักเรียน

  ////////////

สำหรับบทสนทนานี้ คือการพูดคุยกับรูเป่ (Roope) นักเรียนระดับชั้น .4 จากโรงเรียน Lempäälän Lukio ในเมืองเลมปาละ (Lempäälä)

ประชาธิปไตยคืออะไร และมีการเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยจากที่โรงเรียนบ้างไหม

ประชาธิปไตยคือการที่ทุกคนเท่าเทียมกัน การอยู่ร่วมกัน ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันในการออกเสียงเลือกตั้ง ที่โรงเรียนจะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร เพราะประชาธิปไตยไม่เพียงเป็นการออกเสียงเลือกตั้ง แต่รวมถึงการให้เกียรติผู้อื่นด้วย

คิดว่าการเรียนรู้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็นของนักเรียนไหม

จำเป็นมาก เพราะประชาธิปไตยหมายถึงความคิดเห็นของทุกคนมีความสำคัญ หากไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย ผมก็จินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าสังคมนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร และคนรุ่นใหม่มีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในการทำให้สังคมดีขึ้น

หากโรงเรียนมีกฎให้ทุกคนคิดเหมือนกัน มีความเชื่อเหมือนกัน แต่งตัวเหมือนกัน ในฐานะนักเรียน มีความเห็นอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ทุกคนควรจะมีเสรีภาพในการเป็นตัวของตัวเอง ผมนึกไม่ออกเหมือนกันว่าความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้อย่างไรหากเราต้องแต่งตัวเหมือนกันทุกวัน มีทรงผมแบบเดียวเพื่อไปโรงเรียน สังคมเราหลากหลายมากขึ้น มีคนที่แต่งตัวตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรม หรือความเชื่อทางศาสนา พวกเขาควรได้รับการยอมรับจากโรงเรียนเช่นกัน

วันสุดท้ายของการเรียนม.6 ภาพโดย Lempäälän Lukio

คิดว่าคนรุ่นใหม่ควรได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ให้เรียนรู้ประชาธิปไตยในโรงเรียนไหม

การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นการส่งเสริมให้รู้จักการให้เกียรติกัน ผู้ใหญ่สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในการให้เกียรติผู้อื่น คนรุ่นใหม่จะเรียนรู้และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และสามารถสร้างสังคมประชาธิปไตยให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป พวกเขาควรได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้และมีสิทธิ์ตัดสินใจอนาคตของพวกเขาเอง

  /////////

บทสนทนาสั้นๆ และความคิดเห็นจากครูไกสุ และรูเป่ บ่งย้ำชัดเจนว่า การเมืองไม่ได้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่เท่านั้น และประชาธิปไตยคือองค์ประกอบพื้นฐานของการศึกษาที่มีคุณภาพสูง และเป็นส่วนหนึ่งที่นำฟินแลนด์สู่การเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเข้มแข็งที่สุดในโลกดังที่เป็นอยู่

แล้วทุกวันนี้ โรงเรียนไทย? ครูไทย? นักเรียนไทย? หรือสังคมไทย? เป็นเช่นไร เชื่อว่าเราทุกคนต่างมีคำตอบจากสิ่งที่เห็นและเป็นอยู่

ข้อมูลเพิ่มเติม

Most Transparent Countries https://www.usnews.com/news/best-countries/best-transparency

Finland holds at third in least corrupt countries ranking https://yle.fi/uutiset/osasto/news/finland_holds_at_third_in_least_corrupt_countries_ranking/10619073

 อ้างอิง

Country Ranking – Transparent Country https://toolbox.finland.fi/life-society/country-ranking-transparent-country-2/

Tags: ,