พวกเขาถูกตัดศีรษะ ถูกแขวนคอ ถูกยิง หรือไม่ก็ถูกฉีดสารพิษ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (เดิมใช้ชื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล) ระบุในรายงานประจำปี 2017 ว่ามีการประหารชีวิตทั่วโลกอย่างต่ำ 993 ราย กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนดังกล่าวเกิดขึ้นในประเทศอิหร่าน และเท่าที่ได้รับการบันทึก การประหารชีวิตทั่วโลกมีจำนวนลดลงกว่าปีก่อนหน้าเพียง 39 ราย
อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ว่า อัตราการประหารชีวิตมีจำนวนลดลงจริง เนื่องจากบางประเทศไม่ได้ให้ข้อมูลตามความจริง หรือให้เพียงบางส่วน โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ไม่ปรากฏตัวเลขอย่างเป็นทางการ
ในประเทศจีน จากการคาดเดา เชื่อว่าน่าจะมีการตัดสินโทษประหารจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งโลกรวมกัน ตามข้อมูลของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า จีนยังคงยึดโทษประหารเป็นหลักในการตัดสินคดี เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นความลับทางราชการ ข้อมูลส่วนใหญ่จึงมักได้จากการคะเน หรือคำบอกเล่าของนักวิชาการ
รายงานการประหารชีวิตประจำปี 2017 ของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่ามีเกิดขึ้นใน 23 ประเทศทั่วโลก และ 84 เปอร์เซ็นต์ของการประหารชีวิตทั้งหมดเกิดขึ้นแค่ในสี่ประเทศ ได้แก่
+ อิหร่าน อย่างต่ำ 507 ราย
+ ซาอุดิอาระเบีย 146 ราย
+ อิรัก อย่างต่ำ 125 ราย
+ ปากีสถาน อย่างต่ำ 60 ราย
ตามรายงานระบุว่า ในประเทศอิหร่าน นักโทษประหารอย่างต่ำห้ารายกระทำความผิดขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะ
จากสถิติจะพบว่า จำนวนการประหารชีวิตนักโทษมีอัตราลดลงราว 17 เปอร์เซ็นต์จากปี 2016 คือ ลดจาก 3,117 รายเหลือ 2,591 ราย (ใน 53 ประเทศ) และจำนวนที่ลดลงนั้น แอมเนสตี้ฯ ระบุว่าพบในสามประเทศ ได้แก่
+ ไนจีเรีย 621 ราย
+ อียิปต์ อย่างต่ำ 402 ราย
+ บังคลาเทศ 273 ราย
องค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่า อัตราที่ลดลงของการประหารชีวิตและการตัดสินโทษประหารนั้น ถือเป็นแนวโน้มของทั่วโลกในการยกเลิกโทษประหาร เห็นได้จากการที่ประเทศต่างๆ เริ่มปรับแก้กฎหมายโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในแต่ละปี
เฉพาะปี 2017 มีสองประเทศ คือ กินี และมองโกเลีย ที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับคดีอาชญากรรมแล้ว ขณะที่ประเทศกัวเตมาลายังคงโทษประหารอันเป็นบทลงโทษสูงสุดไว้สำหรับคดีฆาตกรรม นอกเหนือจากนั้น…
+ มีการยกเลิกโทษประหารอย่างสมบูรณ์ใน 106 ประเทศทั่วโลก
+ ใน 7 ประเทศยังคงมีบทลงโทษประหารชีวิตเฉพาะความผิดขั้นรุนแรง เช่น อาชญากรรมสงคราม
+ ใน 29 ประเทศ มีการตัดสินโทษประหารชีวิตเพียงตามกฎหมายระบุ (ก่อนมีการผ่อนปรนโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต และไม่มีการประหารเกิดขึ้นจริง)
+ เปรียบเทียบกับปี 1987 มีเพียง 69 ประเทศเท่านั้นที่ยึดบทลงโทษประหารชีวิตตามกฎหมาย แต่ไม่ได้ประหารชีวิตจริง สามสิบปีให้หลังกลับเพิ่มขึ้นเป็น 142 ประเทศ นับเป็นสัดส่วนสองในสามของประเทศทั้งหมด แอมเนสตี้ฯ ถือเรื่องนี้เป็นความสำเร็จ และในปี 2017 ทั่วโลกมีนักโทษประหารที่จำคุกแทนการถูกประหารมากกว่า 20,000 ราย
ส่วนตัวเลขที่สูงขึ้นนั้น คือจำนวนนักโทษที่ถูกตัดสินโทษประหารชีวิต ตามรายงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์ หรือ 21,919 ราย เฉพาะในปากีสถาน ขณะนี้มีนักโทษรอการประหารอยู่อย่างต่ำ 7,000 ราย ในสหรัฐอเมริกา 2,724 ราย และในศรีลังกา 2,717 ราย
ในรายงานของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ปี 2017 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวของอเมริกาเหนือ-ใต้-และกลาง ที่มีจำนวนนักโทษประหารชีวิตสูงสุด มีการฉีดสารพิษนักโทษ 23 ราย (20 รายในปี 2016) และแขวนคอ 41 ราย (32 รายในปี 2016)
และเฉพาะในสหรัฐอเมริกา รัฐซึ่งมีนักโทษถูกประหารชีวิตมากที่สุด คือ เท็กซัส นับตั้งแต่ปี 1976 มีทั้งสิ้น 549 ราย
สำหรับยุโรป มีเพียงประเทศเดียวที่ยังคงโทษประหารชีวิตไว้ นั่นคือ เบลารุส ตามรายงานของแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า ปี 2017 มีการประหารชีวิตไปแล้วสองราย และตัดสินโทษประหารใหม่อีกสี่ราย
อ้างอิง:
- Amnesty International