สำหรับคนทำงานในวงการสื่อสารมวลชน data คือหนึ่งในแหล่งข้อมูลสำคัญ ยิ่งเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาส่งเสริมการขุดค้น วิเคราะห์ และนำเสนอ ก็ยิ่งช่วยสร้างความเป็นไปได้ให้การทำเนื้อหาเชิงลึก ด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์ และสร้างแรงผลักดันให้สำนักข่าวต่างๆ ต้องเร่งเครื่องผลิตงานมาประชันกัน 

แต่สิ่งที่ชวนให้หยุดคิดคือ การนำ data มาใช้ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ยังเน้นที่การนำข้อมูลสำเร็จมาใช้ โดยยังขาดการทำงานกับข้อมูลดิบ ที่อาจช่วยเปิดประเด็นการวิเคราะห์ให้ไปได้ลึกกว่าเดิม แล้วแปรรูปมันมาเป็นงาน Data Journalism ที่เข้มข้นทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ ทั้งนี้ วิธีการทำงานของ Data Journalism ไม่ใช่แค่การคิดว่าเอาข้อมูลที่มีมานำเสนออย่างไร แต่คือกระบวนการที่ต้องนับหนึ่งไปพร้อมๆ กันของคนข่าวทั้งทีม 

Skill gap ช่องว่างทางทักษะของคนทำงานข่าว

จากช่วงแรกของงานเสวนาเปิดบ้าน Data Journalism Workshop ที่จัดโดย The Momentum, คณะวารสารศาสตร์ มธ., ป่าสาละ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และ Punch Up และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ผู้ร่วมเสวนาซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพล้วนสรุปตรงกันว่า ปัญหาในการทำงานสื่อสารมวลชนคือ skill gap หรือช่องว่างทางทักษะของคนทำงานในทีมข่าว พูดให้เห็นภาพก็คือ นักข่าวก็เก่งเรื่องการทำงานข่าว แต่อาจจะจัดการกับข้อมูลได้ไม่เนี้ยบเท่าโปรแกรมเมอร์ ส่วนโปรแกรมเมอร์เองก็เขียนโค้ดเพื่อจัดการกับข้อมูลได้ลื่นไหล แต่ให้เอาข้อมูลที่ได้มาเรียบเรียงเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน และทั้งหมดทั้งมวลนั้น กราฟิกดีไซเนอร์คือคนที่จะรออยู่ปลายน้ำ เพื่อรับเนื้อหามาแปลงเป็นภาพประกอบข่าวต่ออีกทอด

องค์กรร่วมจัด – เอกพล เธียรถาวร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มธ.,  สฤณี อาชวานันทกุล นักวิจัยและผู้ก่อตั้ง บริษัท ป่าสาละ จำกัด, อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา บรรณาธิการบริหาร The Momentum, อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค, ภัทชา ด้วงกลัด ผู้ก่อตั้ง บริษัท พันช์อัพ เวิลด์ จำกัด และพีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 

แต่ในปัจจุบันการทำงานแบบตัวใครตัวมันเช่นนี้อาจจะไม่เวิร์กอีกต่อไป เพราะห้องข่าวในต่างประเทศหลายแห่งนั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการสลายพรมแดนของอาชีพ แล้วเรียกทุกคนว่า journalist หรือนักข่าวเหมือนกันหมด ซึ่งช่วยทำให้การทำงานข่าวทรงพลังขึ้นไปอีกหลายสเต็ป 

กล่าวคือ แทนที่จะพึ่งพาการทำงานจากตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ห้องข่าวสมัยนี้ต้องนำคนหลายศาสตร์มาร่วมกันนับหนึ่งของการทำงานข่าวไปด้วยกันตั้งแต่ต้น เริ่มกันที่การคิดโปรเจ็กต์ที่จะทำงาน การวางแผนเข้าถึงข้อมูล การจัดการกับข้อมูล การเรียบเรียง ตลอดจนการนำเสนอ เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพที่ตรงกันของการผลิตชิ้นงาน และช่วยกันอุดช่องว่างระหว่างการทำงานให้ได้มากที่สุด

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมนักข่าวไม่ใช่คนสำคัญเพียงคนเดียวในจักรวาลของห้องข่าวอีกต่อไป แต่ความร่วมมือระหว่างนักข่าว โปรแกรมเมอร์ และกราฟิกดีไซเนอร์ จะช่วยทำให้เกิดส่วนผสมและเครื่องมือใหม่ๆ ของการทำงานเพื่อค้นหาความจริงไปด้วย

ร่วมกันทำงานกับข้อมูลเพื่อซัดคนอ่านให้น่วม

มองมาที่สถานการณ์ข่าวสารและข้อมูลในประเทศไทย ปัจจุบันมีความพยายามจากหลายฝ่ายในการจัดการความจริงก่อนส่งต่อให้ประชาชนรับรู้ ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ดีไซเนอร์ที่เขียนโค้ดได้จาก Boonmee Lab ยืนยันว่า เพื่อจะต่อสู้กับข้อมูลที่จริงบ้างไม่จริงบ้างเหล่านั้น เราจำเป็นจะต้องตอบโต้กันด้วยข้อมูลที่ละเอียดและครบถ้วนกว่า 

“ผมถือว่าตัวเองทำงานในส่วนที่จะช่วยทำให้งานมันแมสกว่าเดิม ทำยังไงให้ข้อมูลยากๆ มันเข้าถึงคนวงกว้างได้มาก นักข่าวอาจจะเป็นต้นกำเนิดของข้อมูล รู้ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร แต่ดีไซเนอร์จะเข้าไปสำรวจสมองของคนอ่านอีกทีว่าตอนนี้เขากำลังคิดอะไรอยู่ เช่น ก่อนที่จะให้คนเห็นงาน เราจะ trigger คนด้วยอะไรเป็นอย่างแรก คนจะอยู่กับงานของเรานานเท่าไร โน้มน้าวใจคนยังไง ตรงนี้ data เลยเป็นไม้เด็ด เป็นท่าไม้ตายอย่างหนึ่ง ผมยกตัวอย่างอีกเช่น คนจะสงสัยว่า ที่เล่ามาอย่างนี้มันจริงเหรอ เราก็ตบด้วย data เข้าไป จนเขาน่วม ร้อยเรียงข้อมูลเข้าไปแล้วดูว่าคนอ่านเขาน่วมกับเราหรือยัง หลังจากนั้นถึงจะค่อยยิง call to action เข้าไป ซึ่งมันเป็นจิตวิทยาที่จะทำให้คนเข้าถึงข้อมูลที่เราจะสื่อสารหรือเรียกร้อง มันคือการออกแบบข้อมูลและการส่งมอบข้อมูลร่วมกับคนทั้งทีมไปพร้อมกัน” 

Data ไม่ได้เปลี่ยนแค่โลก แต่เปลี่ยนทั้งจักรวาล 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บอกว่า ถ้าไม่มี data และการทำข้อมูลเชิงลึกเพื่อตรวจสอบกัน ป่านนี้เราอาจจะยังเชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตามการศึกษาของปโทเลมีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1-2 ก็เป็นได้ 

นั่นเพราะต่อให้ปโทเลมีจะใช้คณิตศาสตร์ในการพิสูจน์และอธิบายความเป็นศูนย์กลางของโลกอย่างเป็นระบบ แต่เมื่อโคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ เริ่ม เอ๊ะ! และลงมือเก็บสถิติการโคจรของดวงดาวต่างๆ อย่างจริงจัง เขาก็พบว่า แท้จริงแล้ว ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งนี่ถือเป็นการใช้ข้อมูลเพื่อหักล้างข้อมูลหรือความจริงชุดเก่าได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น data ชุดนี้เองที่ได้เปลี่ยนมุมมองของเราต่อจักรวาลไปอย่างสิ้นเชิง 

นอกจากนั้น สมเกียรติยังยกตัวอย่างการทำ Rose Diagram ซึ่งเป็นงาน Data Visualization ในยุควิคตอเรียของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล พยาบาลที่รวบรวมเอาสถิติการเจ็บป่วยของทหารอังกฤษและพบว่า ทหารทั้งหลายไม่ได้ตายเพราะถูกยิงแทงในสงคราม แต่พวกเขาตายเพราะแผลติดเชื้อและตอนนั้นโลกก็ยังไม่มียาปฏิชีวนะรักษา การเก็บ data และแปลงมันมาเป็นไดอะแกรมที่เข้าใจง่ายของไนติงเกลจึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โลกเห็นว่า data ที่ดูไม่มีอะไรพวกนี้ จริงๆ แล้วมันช่วยขับเคลื่อนสังคมได้อย่างกว้างขวาง เพราะเจ้า Rose Diagram นี้ได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญในการปฏิรูปการรักษาพยาบาลของอังกฤษในที่สุด

ข้อมูลมีเยอะ แต่เข้าถึงยากและแพง 

ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง Siametrics Consulting และอยู่เบื้องหลังการสร้างมูลค่าให้กับข้อมูลขององค์กรชั้นนำหลายแห่ง เสริมว่า หลังเรียนจบและวางแผนจะกลับมาทำงานที่ประเทศไทย เพื่อนหลายคนของเขาเคยค้านว่าเมืองไทยอาจจะไม่มีข้อมูลอะไรให้เขานำมาทำงานได้มาก ซึ่งณภัทรไม่เห็นด้วย เขามองว่าในประเทศไทยยังมีข้อมูลมากมายหลายประเภทให้เล่นสนุกได้เยอะมาก แต่ปัญหาคือ มันแสนจะเข้าถึงยาก บางครั้ง ได้ข้อมูลมาแล้วก็มีไม่มากพอจะประมวลผล 

ภาณุเดช วศินวรรธนะ จาก Opendeam บริษัทที่เน้นใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาทางสังคม และสิโรรส รุ่งดอนทราย นักวิเคราะห์ข้อมูล เห็นด้วยเช่นกันว่า ข้อมูลในประเทศไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด เพียงแต่เรายังจัดการมันได้ไม่ดีพอ ไม่มีเครื่องมือที่จะทำงานกับข้อมูล มากไปกว่านั้น เมื่อข้อมูลเข้าถึงได้ยากและบางทีก็มีมูลค่าแสนแพง ก็ยิ่งทำให้คนเอาข้อมูลออกมาทำงานกันน้อยลงตามไปด้วย 

พูดถึงสถานการณ์ของ Open Data ในประเทศไทย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ถอดประสบการณ์การทำวิจัยตลอดหลายปีของเขาว่า องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดข้อมูลเปิดในไทยนั้นมีด้วยกันอยู่สี่ปัจจัย นั่นคือ 

  1. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลในรายละเอียด  – ไม่ใช่เน้นแค่เพียงจำนวนของข้อมูล เช่น หากเป็นข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ก็จำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลให้ละเอียดถึงสถานที่เกิดเหตุ เวลาเกิดเหตุ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุ ฯลฯ ข้อมูลเหล่านั้นจึงจะสมบูรณ์พอให้วิเคราะห์ต่อได้ 

  2. ต้องฟรี – สมเกียรติเล่าว่า ในการทำงานวิจัยหลายชิ้นของ TDRI บางครั้งกว่าจะได้ข้อมูลมาก็ต้องเสียเงินจ่ายไปหลายแสนบาท ทั้งที่จริงๆ แล้วข้อมูลเหล่านี้ รัฐควรจะต้องเปิดให้คนเข้าถึงได้

  3. ต้องเป็นข้อมูลที่นำไปประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ต่อได้ หรือ Machine Readable – ปัญหาคือ ข้อมูลของราชการไทยส่วนใหญ่มักถูกบันทึกไว้ในหน้ากระดาษ หรือบางทีก็อยู่ในรูปของไฟล์ pdf ซึ่งคอมพิวเตอร์ประมวลผลลำบาก สมเกียรติคิดว่า น่าจะย่อมาจากคำว่า Public Data Failure มากกว่า เพราะมันยากต่อการนำข้อมูลไปใช้ต่อ

  4. ต้องไม่มีเงื่อนไขในการใช้ข้อมูล

อย่ารอรัฐ เราต้องทำงานควบคู่กันไปด้วย

ยิ่งในยุคของ IoT หรือ Internet of Things ด้วยแล้ว สมเกียรติยิ่งมองว่า โจทย์ของการทำงานกับข้อมูลอาจจะไม่ใช่แค่การนำข้อมูลมาเล่าอย่างไร แต่อาจหมายรวมถึงการทำงานในระดับนโยบายเพื่อออกกฎหมายสนับสนุนการเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ

ซึ่งตรงนี้ ฐิติพงษ์ชวนให้มองว่า ภาคประชาชนเองก็ต้องไม่ยอมจำนนต่อข้อจำกัดของข้อมูลในไทย และต้องร่วมทำงานเพื่อสร้างสรรค์วิธีการจัดเก็บและจัดการกับข้อมูลแบบใหม่ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นรัฐบาลให้ทำหน้าที่ไปด้วย หนึ่งคือเราไม่อาจรอรัฐบาลทำงานอย่างเดียวได้ และสองคือการขับเคลื่อนจากภาคประชาชนหรือเอกชนเองก็อาจจะเป็นโมเดลให้รัฐบาลนำไปปรับใช้ได้ด้วย 

เหนือสิ่งอื่นใด สิโรรสปิดท้ายว่า หากรัฐไม่ทำ Open Data ให้เราสักที เราก็เริ่มทำ Open Data นี้ด้วยตัวเอง เพราะถ้ามัวแต่รอรัฐ หลายอย่างอาจจะไม่สำเร็จสักที และอย่างน้อยที่สุด ประชาชนอย่างเราๆ ก็เป็นกำลังในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้เหมือนกัน

Data เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้งานมีน้ำยา  

เรื่องของเรื่องก็คือ การจะทำให้ data มีน้ำยาขึ้นมาได้นั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัว data เพียงอย่างเดียว เพราะต้องอาศัยความจริงจังในการจัดการกับข้อมูลและนำเสนอให้เข้าใจง่าย และคนรับข้อมูลก็ต้องนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างผลกระทบทางสังคมได้จริงอีกต่อหนึ่ง

สมเกียรติอธิบายย้อนไปที่โมเดล Rose Diagram ของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ในตอนต้น โดยชี้ให้เห็นว่า งาน Data Journalism นั้นจะวัดแค่เพียงความสำเร็จจากผลตอบรับเมื่อเผยแพร่ข้อมูลไม่ได้ แต่มันต้องกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวทั้งเชิงนโยบายและอื่นๆ เพื่อให้ data นั้นทำงานต่อในแง่ของการเป็นข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนสังคม

“หลังจากทำไดอะแกรมเรื่องทหารที่ป่วยและเสียชีวิตจากการติดเชื้อแล้ว ไนติงเกลยังต้องไปล็อบบี้ ส.ส. ในสภาอีกมาก เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันจึงเห็นได้เลยว่า การจะทำแต่ละเรื่องให้สำเร็จได้นั้น ตัว data เองอาจจะไม่เพียงพอ แต่เราต้องเล่าเรื่องให้ดี ชี้ข้อมูลให้ชัด เพื่อที่จะทำให้กระบวนการต่อจากนี้มัน impact จริงในเชิงปฏิบัติ ผ่านการทำงานของหลายหน่วยงานร่วมกัน” สมเกียรติอธิบาย 

นอกจากนั้น ผู้ร่วมเสวนายังเน้นว่า ลำพังแค่มีข้อมูลอาจจะพาสื่อไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร หากสื่อไม่มีโมเดลทางธุรกิจแบบเฉพาะตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะทั้งข้อมูลและงาน visualization ต่างก็มีราคาที่ต้องจ่าย ยิ่งไปกว่านั้น สื่อและคนอ่านเองก็จะต้องตรวจสอบข้อมูลและที่มาของข้อมูลอย่างรอบคอบด้วย

เพราะหากร่วมกัน พวกเราก็น่าจะเปลี่ยนการเสพสื่อจากอารมณ์เพียงอย่างเดียว ให้เป็นการเสพสื่อจากข้อมูลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือได้ 

 

Fact Box

The Momentum, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ป่าสาละ, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), Punch Up และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด หรือ ดีแทค ชวนสื่อมวลชน กราฟิกดีไซเนอร์ และโปรแกรมเมอร์ เข้าร่วมอบรม “Data Journalism Workshop’ เวิร์กช็อปวิธีใช้งาน Data เพื่องานเนื้อหาเชิงลึก ที่จะทำให้คุณได้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานจริง พร้อมคำแนะนำจากผู้มีประสบการณ์ ที่จะช่วยคุณอัพสกิลการทำคอนเทนต์ด้วยข้อมูลในแบบของคุณ ไม่ว่าคุณจะเป็นนักข่าว กราฟิกดีไซน์เนอร์ หรือ โปรแกรมเมอร์

เปิดรับสมัครถึงวันที่ 31 มกราคม 2563 สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://themomentum.co/djw2020/

Tags: , ,