คุณตัดสินใจว่าจะไม่ดูซีรีส์ Black Mirror ใน Netflix อีก หลังจากทนดูซีซั่นแรกจนจบ คุณรู้สึกหดหู่กับโลกดิสโทเปียในซีรีส์ที่วาดภาพให้เทคโนโลยีทุกชนิดเป็นเครื่องมือของการกดขี่และกระทำชำเราผู้ใช้ คุณเข้าใจดีว่าซีรีส์ต้องการเตือนสติให้ผู้ชมตั้งคำถามกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แต่ก็กลับรู้สึกว่าบางครั้งเทคโนโลยีไม่ได้ให้ทั้งคุณและโทษ บางครั้งเทคโนโลยีก็ไม่ได้เป็นมาตรวัดศีลธรรมอันดีงามของสังคม บางครั้งเทคโนโลยีก็เป็นแค่ของเล่นฆ่าเวลา บางครั้งเทคโนโลยีก็เปิดมุมมองใหม่ๆ มากกว่าเป็นช่องทางค้าขายสินค้า และในครั้งนี้ สัจธรรมของโลกดิจิทัลก็หลอมรวมอยู่ในฟิลเตอร์ความจริงเสริม ‘มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำ’ (Dancing Hot Dog) ของสแนปแชท (Snapchat)
เทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality: AR) เป็นอินเตอร์เฟซรูปแบบใหม่ที่มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรับเปลี่ยนจากการปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลบนพื้นที่สองมิติ สู่การปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลบนพื้นที่สามมิติที่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ถูกวางซ้อน (Overlay) กับสภาพแวดล้อมของผู้ใช้ในชีวิตจริง เป็นวัตถุจำลองที่ ‘เสริม’ เข้ามาในโลกของผู้ใช้
อดัม กรีนฟิลด์ (Adam Greenfield) ผู้เขียนหนังสือ Radical Technologies กล่าวว่าแนวคิดในการออกแบบ AR อินเตอร์เฟซ เริ่มขึ้นในปี 1960 จากการที่กองทัพอากาศสหรัฐฯ พัฒนาระบบการแสดงผลแบบเฮดอัพ (Head-Up Display: HUD) ที่แสดงข้อมูลของมาตรวัดต่างๆ ในห้องเครื่อง เช่น ปริมาณน้ำมัน เรดาห์ ระดับความสูง บนจอใสขนาดเล็กที่วางซ้อนกระจกหน้าอีกทีหนึ่ง ข้อมูลที่ลอยอยู่ตรงหน้าเสมอนี้ช่วยให้นักบินไม่ต้องละสายตาจากการไล่ล่าเครื่องบินของศัตรูหรือการหาเป้าหมายสอดแนม(1) หรือแม้แต่ตอนที่ภาพของเพพเพอร์ พอตต์ แสดงขึ้นบนหน้าจอของไอรอนแมน โดยที่ไม่รบกวนโทนี่ขณะที่เขากำลังต่อสู้กับเหล่าชิทอรีที่กำลังรุกรานโลก
ในปัจจุบัน เทคโนโลยี AR ถูกประยุกต์ให้กลายเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค ผู้เขียนจำได้ว่าเคยเห็นเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2012 ในรูปแบบแอปฯ City Lens ที่บริษัท Microsoft พยายามใช้เป็นจุดขายให้กับโทรศัพท์มือถือโนเกีย ลูเมีย เมื่อผู้ใช้เปิดแอปฯ นี้ แล้วใช้กล้องของโทรศัพท์ส่องไปตามสถานที่ต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เหล่านั้น เช่น ร้านอาหารและบริการในบริเวณใกล้เคียง ชื่อของสถานที่สำคัญ หรือเส้นทางการเดินทาง จะปรากฏขึ้นบนจอภาพในเวลาจริง โดยผู้ใช้ไม่ต้องสลับไปมาระหว่างกล้องกับเสิร์ชเอนจิน (search engine)
ปีต่อมา Google ก็ส่งกูเกิลกลาส (Google Glass) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี AR แบบสวมใส่ (wearable augmented technology) แว่นตาคู่นี้ติดกล้องที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของกูเกิลและทำหน้าที่เป็นมือถือแบบสวมใส่ที่ผู้ใช้สามารถรับสายเข้า-ออก ถ่ายภาพ ค้นข้อมูล และเช็กอีเมล ประสบการณ์การเดินเที่ยวในเมืองที่เต็มไปด้วยไอคอนบอกข้อมูลละลานตาคงเหมือนกับผู้ใช้ได้กลายร่างเป็นตัวละครในเกมแนว Open World ของค่าย Ubisoft ที่สาดข้อมูลว่าไอเทมชิ้นไหนอยู่ตรงไหน หรือศัตรูตัวนี้เหลือพลังเท่าไร หรือ Pokemon Go ที่ผู้เล่นสามารถไล่จับสัตว์ประหลาดสามมิติที่ปรากฏตัวขึ้นตามสถานที่จริง ตามหลักการแล้ว ฮาร์ดแวร์ตัวนี้ควรเป็นเพียงอุปกรณ์เสริมของโทรศัพท์มือถือ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ในทางปฏิบัติ ผู้ใช้แว่นกูเกิลเปรียบเสมือนกล้องวิดีโอเดินได้ที่เป็น ‘ส่วนเกิน’ คอยละลาบละล้วงความเป็นส่วนตัวของบุคคลรอบข้าง
มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำไม่ทำอะไรเห่ยๆ อย่างการบอกข้อมูลเชิงปริมาตร หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ มันทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากเป็นของเล่นดิจิทัลบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
มนุษย์ฮอตดอกถือเป็น ‘ความใหม่’ ในวิวัฒนาการเทคโนโลยี AR เพราะมันกระตุ้นให้เรามองโลกและสภาพแวดล้อมรอบตัวร่วมกันกับมันฉันมิตรสหาย แทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับสารในเทคโนโลยี AR
มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำเป็นหนึ่งในตัวเลือกฟิลเตอร์ (Filter) ของสแนปแชทตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฏาคมปีนี้ และได้รับความนิยมจนถูกสร้างเป็นมีม (meme) ที่มีเพจของตัวเองบนโซเซียลมีเดียอื่นๆ มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำเป็นผลผลิตตอนปลายของผลิตภัณฑ์ World Lens ที่สแนปแชทต่อยอดจากฟิลเตอร์หน้า (Face Filter) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบริษัท ผู้ใช้ World Lens รุ่นแรกๆ สามารถเอาฟิลเตอร์โมเดลสามมิติรูปก้อนเมฆร้องไห้ สายรุ้งยิ้มแป้น หรือดอกไม้จำลอง ไปตกแต่งวิดีโอในสแนปแชทเหมือนเวลาใช้ฟังก์ชันฟิลเตอร์หน้า
วิธีการเปิดใช้ฟิลเตอร์มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำในสแนปแชทค่อนข้างจะซับซ้อนกว่าผลิตภัณฑ์ World Lens รุ่นแรกๆ ผู้ใช้ต้องเปิดกล้องสแนปเแชทแล้วกดพื้นที่ว่างข้างๆ ปุ่มบันทึก เพื่อให้เมนูฟิลเตอร์ปรากฏขึ้นมา จากนั้นให้เลื่อนเมนูฟิลเตอร์ไปทางขวาเรื่อยๆ จนสุด จะเห็นใบหน้าของตัวละครฮอตดอกสามมิติ ถ้ากล้องในแอปฯ ยังเป็นกล้องหน้า สแนปแชทจะสแกนใบหน้าของเรา แล้วเอาไปปะแทนหน้าตัวละครฮอตดอกเต้นระบำ ในมุมนี้ ฟิลเตอร์จะทำงานเหมือนฟิลเตอร์หน้าทั่วไปที่เพิ่มลูกเล่นบนใบหน้าผู้ใช้ ความมหัศจรรย์บังเกิดขึ้นทันทีเมื่อเราปรับใช้กล้องหลัง มนุษย์ไส้กรอกสามมิติใส่เฮดโฟนสีเขียวและสวมขนมปังฮอตดอกเป็นเสื้อโค้ตจะปรากฏขึ้นมาบนจอโทรศัพท์ มันขยับแขนเต้นรำกับท่วงทำนองเพลง EDM ที่ดังจากลำโพงโทรศัพท์มือถือ
ผู้เขียนค้นพบว่าวิธีแอบเล่นฟิลเตอร์นี้ให้สนุกมากยิ่งขึ้นคือการเล่นฟิลเตอร์นี้ในห้องประชุม ปิดเสียงโทรศัพท์ และเอากล้องส่องไปบนพื้นที่ที่มีผิวเรียบอย่างโต๊ะ มันจะ ‘ยืน’ เต้นระบำและหมุนตัวกลับหัวอยู่บนนั้น ตรงนี้ต้องชมทีมงานของสแนปแชทที่ใส่ใจแต้มเงาไว้ใต้เท้าของมนุษย์ฮอตดอก เวลามองจะรู้สึกเหมือนมันถูกวางอยู่บนพื้นผิวอย่างมีมิติ ถ้าเราอยากให้มันมายืนในระนาบเดียวกับเรา ก็แค่เอานิ้วเลื่อนมันบนจอไปวางบนพื้นที่ที่เราต้องการ เราขยายขนาดของมันให้เล็กหรือใหญ่ขึ้นก็ได้เท่าพื้นที่ของจอโทรศัพท์ หรือจะหมุนโทรศัพท์ไปถ่ายด้านข้างของมนุษย์ฮอตดอกก็ได้
การที่มนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำถูกขยับจัดวางบนพื้นที่จริง ทำให้ทั้งผู้เขียนและชาวเน็ตนำไปเล่าเรื่องต่อผ่านการสร้างสถานการณ์สมมติได้อย่างสนุกสนาน เช่น ให้รถเข็นช็อปปิ้งชน แล้วบอกว่ามนุษย์ฮอตดอกของตัวเองกำลังถูกขโมย ให้เป็นแมสคอตในสนามฟุตบอล ให้เต้นรำอยู่ข้างๆ แฟนสาวที่กำลังเขย่าสะโพก หรือชักชวนมนุษย์ฮอตดอกเล่นมุกตลกร้าย เช่น ให้เต้นระบำข้างๆ แผงไส้กรอก ให้เต้นรำในไมโครเวฟก่อนจะปิดฝา หรือให้สวมบทบาทเป็นฆาตกรโรคจิตบุกรุกเข้ามาในบ้าน ทั้งหมดนี้ มนุษย์ฮอตดอกยินยอมเต้นรำไปกับเราในทุกๆ สถานการณ์จนกว่าแบตเตอร์รี่โทรศัพท์จะหมด
ความสนุกในการเล่นมนุษย์ฮอตดอกอยู่ที่ว่าเราจะเอามันมาเล่นบทบาทสมมติในสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่อย่างสร้างสรรค์อย่างไร ในแง่นี้ มนุษย์ฮอตดอกถือเป็น ‘ความใหม่’ ในวิวัฒนาการเทคโนโลยี AR เพราะมันกระตุ้นให้เรามองโลกและสภาพแวดล้อมรอบตัวร่วมกันกับมันฉันมิตรสหาย แทนความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับสารในเทคโนโลยี AR อย่างกูเกิลกลาสหรือระบบแสดงผลแบบเฮดอัพ
การมองโลกร่วมกับมนุษย์ฮอตดอกเต้นระบำคือการมองว่าสภาพแวดล้อมทุกที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนเป็นสนามเด็กเล่นที่ผู้เล่นมีแรงจูงใจในการเล่าเรื่องของตนเอง ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ฮอตดอกและของเล่น AR อื่นๆ จะอยู่นอกเหนือระบบทุนและกลไกการค้า ทุกๆ ครั้งที่เราเปิดมนุษย์ฮอตดอกเล่น คือการรักษาราคาหุ้นของบริษัท Snap Inc. ไม่ให้ดิ่งต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ นอกจากนั้น นิตยสาร Advertising Age ยังคาดการณ์ว่าความสำเร็จของมนุษย์ฮอตดอกจะผลักดันให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ เร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะเดียวกัน และแบรนด์สินค้าชั้นนำอย่าง Nike ที่ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อโปรโมตรองเท้าลิมิเต็ดอิดิชันตามสถานที่และเวลาที่บริษัทกำหนด(2)
ดังนั้น เราควรจะสนุกกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับมนุษย์ฮอตดอก ก่อนที่ของเล่น AR เหล่านี้จะกลายเป็น PR โฆษณาสินค้าในอนาคตอันใกล้กันเถอะ!
เชิงอรรถ:
(1) Greenfield, Adam. Radical Technologies: The Design of Everyday Life. Brooklyn, NY: Verso, 2017. Print.
(2) Sloane., Garett. “What Snapchat’s Dancing Hot Dog Means for the Future of AR.” Ad Age. 24 July 2017. Web. 27 July 2017.